‘ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน’ มีความน่ากลัว คือภาวะนี้จะไม่มีสัญญาณใด ๆ เตือนล่วงหน้า แม้แต่นักกีฬามืออาชีพเองก็เป็นกันเยอะมาก ซึ่งภาวะที่ว่านี้คือการที่หัวใจผลิตกระแสไฟฟ้าผิดปกติ ทำให้การเต้นของหัวใจเปลี่ยนไปหรือหยุดเต้นไปอย่างเฉียบพลัน เนื่องจากไฟฟ้าที่ผลิตมาจากหัวใจเป็นตัวกระตุ้นให้หัวใจเต้นและส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะทั่วร่างกาย ดังนั้นถ้าหากหัวใจหยุดเต้นอวัยวะทุกส่วนก็จะหยุดทำงานคล้ายกับการชัดดาวน์ จนผู้ป่วยหมดสติและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ภายในเวลาเพียงแค่ไม่กี่นาที
โดยเหตุผลนี้ละครับทำให้กฎหมายในไทยระบุเอาไว้ว่าพื้นที่หรืออาคารสาธารณะจำเป็นต้องมี ‘เครื่อง AED’ หรือ ‘เครื่องกระตุกหัวใจ’ ติดตั้งเอาไว้ใช้สำหรับการช่วยชีวิต กระตุ้นหัวใจให้กลับมาเต้นอีกครั้ง
เครื่อง AED คืออะไร ? (1)
เครื่อง AED หรือที่ย่อมาจาก ‘Automated External Defibrillator’ เป็นเครื่องกระตุกหัวใจแบบอัตโนมัติ และหนึ่งในเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับช่วยเหลือคน โดยใช้ในกรณีเมื่อผู้ป่วยเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น ซึ่งตัวเครื่องจะมีฟังก์ชันที่ตรวจสอบและวิเคราะห์จังหวะการเต้นของหัวใจอย่างมีประสิทธิภาพ หากเครื่องตรวจสอบว่าการเต้นของหัวใจผิดปกติ เครื่องก็จะส่งสัญญาณเตือนให้กดปุ่มปล่อยกระแสไฟฟ้า

โดยเมื่อกดไปแล้วเครื่องจะทำการปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านแผ่นอิเล็กโทรดที่ติดตั้งอยู่บนหน้าอก เพื่อส่งกระแสไฟฟ้าไปยังหัวใจ เป็นการกระตุกให้หัวใจกลับมาเต้นตามปกติ ทั้งนี้เครื่อง AED ถือว่าเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ควรมีอยู่ในอาคารใหญ่หรือพื้นที่สาธารณะ เนื่องจากภาวะการหยุดเต้นของหัวใจสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า
เครื่อง AED จำเป็นต้องติดตั้งที่ไหนบ้าง ? (2)
มีการประกาศกฎกระทรวงหรือกฎหมายออกมาอย่างชัดเจนว่า เครื่อง AED จำเป็นต้องติดตั้งเอาไว้ในอาคารสาธารณะ, อาคารสูง และ อาคารสูงพิเศษ เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยในกรณีภาวะหัวใจหยุดเต้นได้ภายในเวลา 4 นาที

- อาคารสูง อาคารความสูงในระดับ 23 เมตรขึ้นไป ที่มีการใช้สอยหรือผู้คนเข้าไปอยู่
- อาคารสูงพิเศษ อาคารซึ่งสร้างขึ้นมาสำหรับการทำกิจการหรือที่พักอาศัย โดยพื้นที่ด้านในมีขนาดใหญ่กว่า 10,000 ตารางเมตร (ขนาดชั้นใดชั้นหนึ่งหรือขนาดของทุกชั้นรวมกัน)
- อาคารสาธารณะ อาคารที่คนทั่วไปสามารถเข้าไปได้จำนวนมาก อย่างเช่น โรงเรียน, สนามกีฬา, อาคารจอดรถ, ห้างสรรพสินค้า, หอประชุม หรือโรงแรม เป็นต้น
เครื่อง AED ปลอดภัยต่อการใช้หรือไม่ ?
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเครื่อง AED เป็นเครื่องมือสำหรับช่วยคนในกรณีที่มีภาวะหัวใจเต้นแผ่วหรือหยุดเต้น โดยถ้าหากเราใช้ถูกกรณีรับรองว่าเครื่องชนิดนี้ปลอดภัยอย่างแน่นอน ทั้งยังช่วยชีวิตผู้ป่วยได้อีกด้วย
ทั้งนี้มีสถิติออกมาซึ่งพบว่าในทุก ๆ นาทีหลังจากหัวใจหยุดเต้น หากไม่ได้มีการกระตุกหัวใจด้วยเครื่อง AED โอกาสในการรอดชีวิตจะลดลงไปกว่า 7 – 10% แต่ในทางกลับกันหากผู้ป่วยได้รับการกระตุกหัวใจด้วยเครื่อง AED พร้อมไปกับการทำ CPR โอกาสในการรอดชีวิตจะสูงขึ้นถึง 75% เลยทีเดียว

วิธีการใช้เครื่อง AED อย่างถูกต้อง
ก่อนที่จะเริ่มใช้เครื่อง AED เราจะต้องดูผู้ป่วยก่อนว่าสามารถใช้ได้หรือไม่ โดยผู้ป่วยต้องมีอายุตั้งแต่ 8 ขวบ และมีน้ำหนักมากกว่า 25 กิโลกรัมขึ้นไป เมื่อคาดการณ์อายุและน้ำหนักของผู้ป่วยแล้วว่าสามารถใช้เครื่อง AED ได้ ก็ให้ทำการโทร 1669 และเตรียมความพร้อมเครื่อง AED ทันที
- ขั้นตอนที่ 1 : เปิดเครื่อง AED ขึ้นมา หลังจากนั้นทำตามขั้นตอนตามที่เครื่องอธิบาย
- ขั้นตอนที่ 2 : ถอดเสื้อและแปะแผ่นตามแนวทิศทางของหัวใจ *โดยปกติแล้วแผ่นแปะทั้ง 2 ชิ้นจะมีภาพบอกไว้อย่างชัดเจนว่าต้องนำไปแปะไว้ส่วนไหนของร่างกาย*
- ขั้นตอนที่ 3 : นำสายของแผ่นอิเล็กโทรดเชื่อมต่อเข้ากับเครื่อง AED
- ขั้นตอนที่ 4 : รอให้เครื่องทำการประเมิณการเต้นของหัวใจ
- ผู้ช่วยเหลือจะต้องไม่สัมผัสกับผู้ป่วย
- ถ้าหากเครื่องพูดคำว่า ‘เคลียร์’ หรือ ‘แนะนำให้ทำการช็อค’ นั่นหมายความว่าการทำงานของหัวใจผิดปกติ สามารถกดช็อคไฟฟ้าได้
- ขั้นตอนที่ 5 : ถอยหลังออกมาจากผู้ป่วย จากนั้นกดช็อค
- ขั้นตอนที่ 6 : หลังจากเครื่องช็อคแล้วให้ทำการ CPR ต่อทันที
References :