ถึงแม้ว่าตอนนี้เราจะอยู่ในยุคที่จำเป็นจะต้องกักตัวอยู่ภายในบ้านและออกจากบ้านเฉพาะในยามที่จำเป็น เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อโรคโควิด 19 (ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและควรจะทำอยู่แล้ว) แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการอยู่บ้านตลอด 24 ชั่วโมง จะทำให้ร่างกายของเราแข็งแรงหรือมีสุขภาพที่ดีอยู่ตลอด เพราะอย่าลืมว่าอาการปวดหัว, อาการไข้, อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย สามารถเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากโรคประจำตัวและสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ร่างกายของเราเจ็บป่วยขึ้นมาได้ รวมไปถึงอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่น การหกล้มหรือโดนมีดบาดก็เป็นอะไรที่เกิดขึ้นได้ตลอดเช่นเดียวกัน
เมื่อเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือมีบาดแผลตามร่างกาย สิ่งที่เราควรจะทำเป็นอันดับแรกเลยคือการหายาเพื่อมารักษาหรือบรรเทาอาการในเบื้องต้น ซึ่งยาที่ว่านี้เราจะเรียกว่า ‘ยาสามัญประจำบ้าน’ ที่ทุกบ้านควรจะมีเก็บไว้ภายในตู้ยา เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กล่าวไปข้างต้น เราจะได้สามารถหยิบมาใช้ได้ในทันที ทำให้เรารีบแก้ไขอาการป่วยต่าง ๆ ได้ทันถ่วงที ถ้าหากทิ้งไว้นานเข้า ปัญหาที่คุณมองว่าเล็กอาจกลับกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นได้ อย่างเช่น แผลติดเชื้อ หรือ อาการไข้ที่ไม่ยอมลดลงจนเกิดอาการช็อกได้
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อพูดถึงยาสามัญประจำบ้านแล้ว ก็ต้องบอกว่ามันมีหลายประเภทและหลายหมวดหมู่มาก จนหลายคนไม่รู้ว่าอะไรที่ควรมีติดบ้านไว้บ้าง ดังนั้นวันนี้ผมจึงถือโอกาสมาแชร์ข้อมูลที่น่าสนใจ รวมไปการแนะนำประเภทของยาที่ทุกคนควรซื้อเก็บเอาไว้ ซึ่งจะมีอะไรบ้างมาดูไปพร้อมกันเลยครับ
ยาสามัญประจำบ้าน คืออะไร ?
หากพูดให้เข้าใจได้ง่าย “ยาสามัญประจำบ้าน” เป็นยาที่สามารถซื้อได้ทั่วไป โดยที่ร้านค้าต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตขายยา เพราะประชาชนทั่วไปสามารถที่จะนำเอายาสามัญประจำบ้านมาดูแลอาการป่วยในเบื้องต้นได้ เรียกว่าเป็นการเพิ่มเข้าถึงมากขึ้นกว่าเดิม ไม่จำเป็นจะต้องเดินทางไปขอยาสามัญประจำบ้านหรืออยู่ในการดูแลจากทางแพทย์และเภสัชกร แต่อย่างไรก็ดีตัวยาที่เข้าค่ายว่าเป็นยาสามัญประจำบ้านนั้นก็จะต้องได้รับการตรวจสอบและอยู่ในหลักของความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ (1)

อาการเจ็บป่วยรวมไปถึงอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นอะไรที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้ว่าคุณจะอยู่ภายในบ้านก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น อาการไข้ขึ้น, อาการปวดหัว, อาการปวดตัว, อุบัติเหตุจากมีดบาด, โดนน้ำร้อนลวก หรืออื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งการที่เรามียาสามัญประจำบ้านติดไว้ในบ้าน จะช่วยให้เรารักษาอาการและบรรเทาได้ในทันที โดยที่ไม่ปล่อยทิ้งไว้ให้อาการหนักขึ้น ในขณะเดียวกันหากเป็นอุบัติเหตุมันก็เหมือนเป็นการปฐมพยาบาลในเบื้องต้นนั่นเองครับ
ยาสามัญประจำบ้าน ที่ควรมีติดบ้าน
1. ยาดมและยาหม่องแก้วิงเวียนศีรษะ

อาการนี้อาจเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นโรคประจำตัวหรือการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ซึ่งตัวช่วยที่สามารถบรรเทาอาการนี้ได้ดีขึ้นได้คือ ‘ยาดม’ หรือ ยาหม่อง ก็สามารถใช้ได้เช่นเดียวกันครับ
2. ยาลดไข้และบรรเทาอาการปวด
อาการไข้คือร่างกายของเราจะมีอุณหภูมิตั้งแต่ 37.2 องศาขึ้นไป (วัดจากปรอทวัดไข้) โดยสาเหตุของการเกิดไข้สามารถเกิดได้จากหลากหลายอย่าง ซึ่งการยาสามัญประจำบ้านที่คนเลือกใช้กันก็จะเป็น ‘พาราเซตามอล’ อย่างไรก็ดีการรับประทานนั้นก็จะต้องใช้อย่างถูกวิธี โดยภายในหนึ่งวันไม่ควรจะกินเกิน 8 เม็ด เพราะหากใช้เกินกำหนดมันอาจทำให้เสียชีวิตจากอาการตับวายได้ (4)
3. ยาและเกลือแร่แก้ท้องเสีย
เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยเกิดอาการท้องเสีย เนื่องจากรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีการเจือปนสิ่งสกปรกอยู่ ดังนั้นสิ่งที่ควรจะต้องมีติดบ้านคือ ผงถ่านแก้ท้องเสีย เพื่อดูดซับเอาพิษและสารเคมีออกไปจากร่างกาย รวมไปถึงผงน้ำตาลเกลือแร่เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดการช็อกจากการขาดน้ำ
4. ยาลดน้ำมูกและแก้แพ้
เนื่องจากจมูกเป็นส่วนที่ใช้สำหรับการกรองอากาศ ดังนั้นเมื่อเราสูดฝุ่นหรือสิ่งสกปรกเข้าไป อาจทำให้เกิดการระคายเคืองและอักเสบ จนเกิดภูมิแพ้และมีน้ำมูกตามมา โดยยาที่บรรเทาอาการเหล่านี้ได้คือ ‘คลอร์เฟนิรามีน’ แต่อย่างไรก็ดีคุณไม่ควรจะกินเมื่อต้องขับรถหรือมีกิจกรรมสำคัญ เพราะมันอาจทำให้คุณเกิดอาการง่วงนอนได้ (4)
5. ยาแก้ไอน้ำดำ
ยาแก้ไอน้ำดำจะมีฝิ่นซึ่งเป็นตัวออกฤทธิ์หลักในการหยุดอาการไอ เป็นยาที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่ในอดีต แต่อย่างไรก็ดีการรับประทานก็จะต้องรับประทานให้ถูกต้อง คือ 3 – 4 ครั้งต่อวัน แต่ถ้าให้แนะนำควรที่จะจิบเวลาเกิดเวลาไอเท่านั้นครับ (4)
6. ยาธาตุน้ำแดงสำหรับลดอาการท้องอืด
อาการท้องอืดเกิดจากภายในลำไส้และกระเพาะอาหารมีลมอยู่ ซึ่งลมจะทำให้เรามีความรู้สึกไม่สบายตัว จนอาจทำให้เรานอนไม่หลับและกระทบต่อการทำงาน ทั้งนี้การช่วยบรรเทาอาการตรงนี้ได้คือการรับประทานยาธาตุน้ำแดง เพราะมันจะเข้าไปขับลมออกจนเรารู้สึกดีขึ้น
7. ยาทารักษาแผลสด
แผลที่เกิดจากอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็น การหกล้มหรือโดนมีดบาด โดยเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้แม้จะอยู่ภายในบ้าน ดังนั้นสิ่งที่ควรมีติดไว้นั่นคือยาทารักษาแผลสด จากนั้นตามด้วยการปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ยา เพื่อที่จะทำให้แผลหายได้เร็วขึ้น รวมไปถึงป้องกันสิ่งสกปรกมาเกาะแผล
8. ยาลดกรด
คนที่มีการรับประทานไม่ค่อยตรงเวลาหรือเกิดความเครียดสะสม อาจเกิดปัญหาหนึ่งที่พบเจอได้บ่อยนั่นคือกรดภายในกระเพาะจนเกิดแผล รวมไปถึงอาการอย่างหนึ่งที่เรียกว่ากรดไหลย้อน ซึ่งการที่จะบรรเทาได้อาจต้องรับประทานยา อะลูมินา-แมกนีเซีย ครับ (5)
9. น้ำเกลือล้างแผล
ก่อนที่เราจะทำการทายาอะไรก็ตามบนแผล เราควรที่จะกำจัดสิ่งสกปรกออกด้วยน้ำเกลือล้างแผลก่อนครับ เพราะน้ำเกลือเป็นน้ำสะอาดและบริสุทธิ์ ไม่ทำลายเนื้อเยื่อของเรา ถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการล้างแผล
10. ยาสำหรับทาผิวหนัง
ปัญหาผดผื่นและระคายเคืองผิวหนังจนเกิดรอยแดงบนร่างกาย เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับใครหลายคน ดังนั้นคาลาไมน์โลชั่น ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่จะต้องมีติดบ้าน เพราะมันใช้งานง่ายและไม่มีผลข้างเคียง
11. ยาระบาย
อาการท้องผูกเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับใครหลายคน ซึ่งการปล่อยไว้ให้เกิดบ่อย ๆ อาจไม่เป็นผลดีสักเท่าไหร่ครับ ซึ่งยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณอย่างหนึ่งที่ช่วยคุณได้นั่นคือ ‘ยาระบายมะขามแขก’ เพราะเมื่อรับประทานไปแล้วมันจะกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนตัวของลำไส้ จนเกิดการขับถ่ายออกมา อย่างไรก็ดีคุณไม่ควรจะรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน 5 – 7 วัน เพราะผลที่ตามมาในอนาคตคือคุณอาจไม่สามารถขับถ่ายออกได้ด้วยตัวเองหากไม่ใช้ยาระบาย (6)
12. ยาแก้เมารถ เมาเรือ หรือการเดินทางอื่น ๆ
การเดินทางไปเที่ยวตามจังหวัดต่าง ๆ ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่หลายคนชอบทำกัน เพื่อที่จะได้สัมผัสกับธรรมชาติและหลีกหนีความวุ่นวายในตัวเมือง แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่ไม่ทำเอาทริปเที่ยวกร่อยมานักต่อนักแล้วนั่นคืออาการเมารถหรือเมาเรือ ที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะอย่างรุนแรง ในบางคนอาจรุนแรงถึงขั้นเกิดการอาเจียนได้เลยทีเดียว ดังนั้นยาที่ผมอยากแนะนำให้เก็บเอาไว้นั่นคือ ‘ไดเมนไฮดริเนท’ สำหรับบรรเทาอาการข้างต้น
วิธีการเก็บรักษายาที่ถูกต้อง (7)
1. เก็บยาให้พ้นจากแสงแดด
ไม่ว่าจะเป็นยาอะไรก็แล้วเมื่อโดนกับแสงแดดโดยตรงแล้ว มันจะทำให้ประสิทธิภาพของยาแย่ลง เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว ตัวยาอาจไม่สามารถออกฤทธิ์เข้าไปรักษาอาการต่าง ๆ ได้ ดังนั้นคุณควรเก็บยาให้พ้นจากแสงแดด และไม่ควรแกะยาออกมาจากแผงหากถึงเวลารับประทานยาครับ
2. เก็บยาให้พ้นความชื้น
เมื่อยาโดนเข้ากับความชื้นอาจทำให้ตัวยาละลายไป อีกทั้งตัวเคลือบที่เป็นแคปซูลอาจเกิดการพองตัวขึ้นได้ ดังนั้นคุณควรเก็บไว้ภายในตู้อย่างมิดชิด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวยาสัมผัสกับความชื้น
3. เก็บยาไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม
โดยปกติแล้วการเก็บยาจะมีคำแนะนำอยู่บนฉลากอยู่แล้ว ดังนั้นคุณสามารถเก็บได้ตามที่ผู้ผลิตบอกเลยครับ ทั้งนี้ส่วนใหญ่แล้วอุณหภูมิที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 18 – 25 องศาครับ
4. เก็บยาไม่ให้สัมผัสกับอากาศ
การเก็บยาที่ถูกต้องควรจะต้องเก็บไว้ในภาชนะที่ปิดอย่างแน่นหนาไม่ให้สัมผัสกับอากาศ เนื่องจากภายในอากาศต่าง ๆ จะมีก๊าซซึ่งอาจทำให้ยาหมดอายุเร็วกว่าที่ควรจะเป็นนั่นเองครับ
References :
- ยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ – ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ สภาเภสัชกรรม
- ความหมายของอักษรย่อและตัวเลขที่แสดงใน เลขทะเบียนตำรับยา – กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค
- ฉลากยาน่ารู้ ดูให้ดีก่อนซื้อ – คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล
- แนะใช้ยาสามัญประจำบ้าน – คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล
- ยาน้ำลดกรด อะลูมินา-แมกนีเซีย – สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
- ยาระบายมะขามแขกแคปซูลสามารถใช้ขนาดสูงสุดได้กี่เม็ด – คลังข้อมูลยา
- การเก็บรักษายา – คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล