เมื่อพูดถึง “แบคทีเรีย” เราเชื่อว่าหลาย ๆ คนจะต้องนึกถึงสิ่งมีสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดเล็ก ๆ ที่ทำให้อวัยวะภายในร่างกายของเราทำงานผิดปกติจนเกิดเป็นโรคต่าง ๆ ใช่มั้ยคะ ? แต่จริง ๆ แล้วแบคทีเรียก็เหมือนมนุษย์เราที่มีทั้งแบคทีเรียที่ดีและไม่ดี ซึ่งแบคทีเรียบางชนิดก็ไม่ได้ให้โทษแก่ร่างกายเสมอไป อย่างเช่น “โพรไบโอติกส์ (Probiotics)” ก็จัดว่าเป็นจุลินทรีย์ที่ดีต่อลำไส้ และยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายอย่างเลยนะคะ

ทำให้ปัจจุบันนี้ผู้คนเริ่มหันมาทานโพรไบโอติกส์เสริมระหว่างมื้ออาหารกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โยเกิร์ต, นมเปรี้ยว, กิมจิ, ถั่วหมัก, นัตโตะ, ซุปมิโซะ หรือคอมบูชา รวมถึง “อาหารเสริมโพรไบโอติกส์” เองก็ค่อนข้างได้รับความนิยมอย่างมากด้วยเช่นกัน เนื่องจากอาหารเสริมเหล่านี้มีความสะดวกต่อการทาน แถมยังช่วยให้คุณได้รับโพรไบโอติกส์แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยในปริมาณที่เหมาะสม ถือว่าเป็นตัวช่วยที่ดีและเร็วที่สุดที่จะปรับความสมดุลในร่างกายให้แข็งแรง วันนี้จึงรวบรวมข้อมูลดี ๆ เกี่ยวกับโพรไบโอติกส์ รวมถึงรีวิวอาหารเสริมโพรไบโอติกส์ที่ดีที่สุดมาฝากคุณกันค่ะ
โพรไบโอติกส์ (Probiotics) คืออะไร ?
โพรไบโอติกส์เป็นจุลินทรีย์ที่ดีต่อร่างกาย มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “จุลินทรีย์ประจำถิ่น” เราสามารถพบโพรไบโอติกส์ได้มากที่สุดในลำไส้ใหญ่ค่ะ ปกติแล้วในลำไส้ของเราก็จะมีจุลินทรีย์นับล้านล้านตัวอาศัยอยู่ในนั้นเปรียบเสมือนโลกใบเล็ก ๆ ที่มีทั้งจุลินทรีย์ดีและจุลินทรีย์ไม่ดีผสมกันไปหลายสปีชีส์เลยค่ะ
ดังนั้นจำนวนและสายพันธุ์ของโพรไบโอติกส์ของแต่ละคนก็จะมีความแตกต่างกันไปไม่เหมือนกัน บางคนก็มีความจำเป็นต้องทานโพรไบโอติกส์เสริมให้แก่ร่างกาย (กดเลื่อนอ่านสาเหตุที่ต้องทานอาหารเสริมโพรไบโอติกส์) ในขณะที่บางคนก็มีระบบทางเดินอาหารสมดุลอยู่แล้วจึงไม่ต้องทานโพรไบโอติกส์เพิ่มเติมเสริมใด ๆ

สรุป โพรไบโอติกส์เป็นจุลินทรีย์ชนิดดี หากร่างกายของเราได้รับในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพหลาย ๆ อย่าง เช่น ช่วยส่งเสริมระบบทางเดินอาหารให้มีสุขภาพดีขึ้นโดยการช่วยฟื้นฟูไมโครไบโอมในลำไส้ให้สมดุล, ช่วยเสริมภูมิต้านทาน ลดความรุนแรงของโรคภูมิแพ้ได้, ปรับปรุงการย่อยอาหารและการดูดซึมสารอาหาร เป็นต้น (7-9) (กดเลื่อนอ่านประโยชน์ของโพรไบโอติกส์เพิ่มเติม)
ทำไมต้องทานอาหารเสริมโพรไบโอติกส์ (Probiotics) ? (1)
|
หากร่างกายของเราของมีจุลินทรีย์ชนิดดีอยู่เยอะก็ถือว่าความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่หากเมื่อไรก็ตามที่จุลินทรีย์ประจำถิ่นเหลือน้อยลง เนื่องจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง อาทิเช่น การรับประทานอาหารที่แปรรูปมากเกินไป การทานยารักษาบางชนิด หรือแม้แต่ความเครียดเองก็สามารถทำลายระบบนิเวศของแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ได้
เมื่อความสมดุลของจุลินทรีย์ถูกรบกวน โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ก็จะตามมาโดยมิได้นัดหมาย ทำให้เราจะต้องหาโพรไบโอติกส์มาทานเพื่อเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ที่ดีแก่ลำไส้ ซึ่ง “อาหารเสริมโพรไบโอติกส์” ก็ถือว่าเป็นวิธีเพิ่มจุลินทรีย์ที่ง่ายและสะดวกที่สุดค่ะ |
โพรไบโอติกส์ VS พรีไบโอติกส์ ต่างกันอย่างไร ? (1,2)
แม้ว่าพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) และโพรไบโอติกส์ (Probiotics) จะมีชื่อที่คล้ายกันมาก แต่ทั้งนี้หน้าที่การทำงานของทั้ง 2 ก็มีความแตกต่างกันคนละแบบค่ะ

พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) เป็นไฟเบอร์และคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ลำไส้เล็กไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้ ดังนั้นพรีไบโอติกส์จะถูกส่งไปยังลำไส้ใหญ่ต่อและจะถูกย่อยโดยแบคทีเรียชนิดโพรไบโอติกส์ นี่จึงเป็นสาเหตุที่มันกลายเป็นจุลินทรีย์ที่ดีเพราะสามารถจัดการกับอาหารที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้นั่นเองค่ะ ดังนั้นกล่าวง่าย ๆ ก็คือ “พรีไบโอติกส์เป็นอาหารของโพรไบโอติกส์ ที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตแบคทีเรียที่ดีในลำไส้” โดยเฉพาะกับแบคทีเรีย Bifidobacteria และ Lactobacillus ที่สามารถเพิ่มจำนวนได้เยอะมากกว่าแบคทีเรียโพรไบโอติกส์ชนิดอื่น ๆ
สรุป โพรไบโอติกส์ = จุลินทรีย์ที่ดี , พรีไบโอติก = อาหารของโพรไบโอติกส์
การเลือกซื้ออาหารเสริมโพรไบโอติกส์
1. เลือกที่เป็นซินไบโอติกส์ (Synbiotics = Prebiotics + Probiotics) (3-6)
หากอาหารเสริมยี่ห้อไหนมีการผสมพรีไบโอติกส์เพิ่มเข้ามา เราจะเรียกผลิตภัณฑ์เหล่านี้ว่า “อาหารเสริมซินไบโอติกส์ (Synbiotics)” ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่างเลยค่ะ ทั้งเพิ่มการเผาผลาญไขมัน, ปรับปรุงการดูดซึมแร่ธาตุในร่างกาย, ส่งเสริมการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน, ช่วยลดอาการท้องร่วงและอาการท้องผูกอย่างรุนแรง

หมายเหตุ : แต่ทั้งนี้ก็มีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากทานอาหารเสริมซินไบโอติกส์ได้เช่นกันค่ะ เพราะคุณอาจจะมีอาการปวดท้อง, ท้องอืด, แน่นท้อง, อาหารไม่ย่อย หรือท้องร่วงได้ ในกรณีนี้แนะนำให้เลือกอาหารเสริมที่ “ปราศจาก Fructooligosaccharides (FOS)” เนื่องจากเส้นใยอาหารชนิด FOS อาจทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้ในบางคนค่ะ
หมายเหตุ : นอกจากนี้การผสมกันของพรีไบโอติกส์และโพรไบโอติกส์บางชนิดก็สามารถทำให้เกิดปฏิกิริยากับยารักษาโรคบางตัวได้ด้วยค่ะ ดังนั้นไม่แนะนำอาหารเสริมซินไบโอติกส์สำหรับคนที่มีโรคประจำตัว หรือหากคุณต้องการทานจริง ๆ ก็ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนเสมอ
2. เลือกสายพันธุ์ของโพรไบโอติกส์ที่เหมาะสมกับคุณ (10,12)
อาหารเสริมโพรไบโอติกส์ของแต่ละยี่ห้อก็จะมีจุดขายที่ต่างกันออกไป บางยี่ห้อก็อาจจะเน้นไปที่โพรไบโอติกส์สายพันธุ์เดียว ในขณะที่บางยี่ห้อก็จะใส่โพรไบโอติกส์มาให้หลายชนิด แม้ว่าตอนนี้นยังไม่มีการระบุที่ชัดเจนว่าโพรไบโอติกส์ชนิดไหนที่ดีที่สุด แต่อาหารเสริมส่วนใหญ่จะนิยมใช้ Lactobacillus และ Bifidobacteria เนื่องจากทั้ง 2 ชนิดทนต่อกรดในกระเพาะอาหารมากกว่าชนิดอื่น โดยรายการข้างล่างนี้ ถือว่าเป็นแบคทีเรียโพรไบโอติกส์ชนิดที่ปลอดภัยต่อการรับประทาน ทั้งยังมีหน้าที่ที่ต่างกันออกไปด้วยค่ะ

- Lactobacillus ช่วยย่อยน้ำตาลแลคโตส, กระตุ้นระบบขับถ่ายและภูมิต้าน, ช่วยลดคอเลสเตอรอล, ลดอาการท้องร่วง, ปรับปรุงโรคลำไส้แปรปรวน (IBS)
- Bifidobacteria ช่วยให้อาการของโรคลำไส้แปรปรวน (IBS) ดีขึ้น, ลดอาการท้องเสียและท้องผูก, กระตุ้นระบบเผาผลาญและภูมิคุ้มกัน
- Saccharomyces Boulardii บรรเทาอาการท้องร่วง
- Streptococcus Thermophilus ป้องกันโรคท้องร่วง ท้องผูก
- Bacillus Coagulans ปรับปรุงอาการลำไส้แปรปรวน (IBS), ลดอาการท้องร่วง และก๊าซ
หมายเหตุ : โพรไบโอติกส์สายพันธุ์ต่าง ๆ จะมีหน้าที่การทำงานที่แตกต่างกัน หากคุณไม่เห็นผลลัพธ์ภายใน 7-14 วัน แสดงว่าโพรไบโอติกส์ที่คุณกำลังกินอยู่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่เหมาะกับร่างกายของคุณ แนะนำให้เปลี่ยนเป็นสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ตรงตามความต้องการค่ะ
3. ปริมาณของโพรไบโอติกส์ (หน่วย CFU) (1, 11)
โพรไบโอติกส์มีหน่วยวัดเป็น CFU ย่อมาจาก Colony Forming Units ที่แสดงจำนวนแบคทีเรียต่อโดส โดยทั่วไปแล้วอาหารเสริมโพรไบโอติกส์จะมีจำนวนแบคทีเรียดีตั้งแต่ 1 – 100 Billion CFU เลยค่ะ ดังนั้นหากคุณเพิ่งเริ่มทานครั้งแรกแนะนำให้เลือกอาหารเสริมที่มีโพรไบโอติกส์อย่างน้อยที่สุดเริ่มต้นที่ 1 Billion CFU ก่อน และจากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มจำนวนโพรไบโอติกส์ให้สูงขึ้นหากยังไม่เห็นผลการเปลี่ยนแปลง

หมายเหตุ : แต่ทั้งนี้ความคิดที่ว่ายิ่งจำนวน CFU สูงเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้นอาจจะไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะแม้ว่าโพรไบโอติกส์จะเป็นจุลินทรีย์ที่ดีต่อลำไส้ แต่การทานในปริมาณที่มากเกินไปก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกันค่ะ
4. รูปแบบการทาน และ รูปแบบการจัดเก็บ (ตามอุณหภูมิ)
|
โพรไบโอติกส์แบบเม็ด = สะดวกต่อการทาน เก็บรักษาง่ายสำหรับโพรไบโอติกส์ชนิดเม็ดจะมีทั้งแบบเม็ดยาและแบบแคปซูล ซึ่งบางยี่ห้อก็ออกแบบมาให้เคี้ยวได้ด้วย แต่ทั้งนี้โพรไบโอติกส์แบบเม็ดจะมีต้องผ่านกระบวนการความร้อนซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพของอาหารเสริมลดลงได้ แนะนำให้เลือกยี่ห้อหรือแบรนด์ที่น่าเชื่อถือและมีมาตรฐานสักหน่อยนะคะ เพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับโพรไบโอติกส์ที่มีคุณภาพที่สุด ส่วนในการเก็บรักษานั้น บางยี่ห้อก็อาจต้องแช่ตู้เย็นไว้หลังเปิดขวดแล้ว หรือบางยี่ห้อก็ระบุอย่างชัดเจนว่าควรรับประทานให้หมดภายใน 3 เดือนหลังเปิดขวด เนื่องจากโพรไบโอติกส์จะมีอายุสั้นกว่าอาหารเสริมชนิดอื่น ๆ ดังนั้นโปรดรายละเอียดข้างกล่องของแต่ละยี่ห้อด้วยนะคะ |
|
โพรไบโอติกส์แบบผง = ทานง่ายรสชาติอร่อย เก็บรักษาง่ายโพรไบโอติกส์แบบผงก็จะแยกประเภทการทานได้ 2 แบบคือแบบชงละลายน้ำและแบบกรอกปากชนิดที่กลืนได้เลย โดยส่วนตัวแล้วเราช่วยแบบกลืนทีเดียวค่ะ เพราะรสชาติอร่อย ส่วนมากมักจะเป็นรสผลไม้ที่ความเปรี้ยวเล็กน้อยหรือไม่ก็เป็นรสขนมหวานคล้ายเยลลี่ช่วยทำให้ทานง่ายยิ่งขึ้น โดยอาหารเสริมโพรไบโอติกส์ประเภทนี้จะเหมาะมากสำหรับคนที่กลืนเม็ดยาลำบาก แถมยังเป็นซองแยกมาให้ ทำให้สะดวกต่อการพกพาไปข้างนอกอีกด้วยค่ะ |
|
โพรไบโอติกส์แบบน้ำเข้มข้น = ผสมกับเครื่องดื่มได้หลากหลาย เก็บรักษายากโพรไบโอติกส์แบบน้ำจะมีความเข้มข้นสูง สามารถผสมกับเครื่องดื่มได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำผลไม้หรือชา ไม่จำเป็นต้องคนหรือเขย่าให้ยุ่งยาก ในส่วนของการเก็บรักษาบางยี่ห้อก็ออกแบบมาให้แช่เย็นตลอดเวลาเพื่อให้แน่ใจว่าแบคทีเรียเหล่านั้นจะยังมีชีวิตอยู่ เพราะหากถูกทิ้งไว้นอกตู้เย็นหรือสัมผัสกับความร้อนนานเกินไปก็จะทำให้แบคทีเรียตายได้ ดังนั้นโปรตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณสะดวกทานอาหารเสริมแบบใดก่อนสั่งซื้อด้วยนะคะ |
5. ระยะตามการใช้งานที่ตั้งไว้
ในส่วนนี้จะเป็นปริมาณสุทธิที่ต้องการซื้อ บางคนอาจจะกลัวว่าอาหารเสริมโพรไบโอติกส์ที่ซื้อมาเป็นสายพันธ์ุที่ไม่ตรงตามความต้องการของร่างกาย จึงได้พยายามซื้อขนาดเล็กหรือซื้อแบบแบ่งขายมากินหมดภายใน 1 อาทิตย์ เพื่อทดลองประสิทธิภาพดูก่อน แต่วิธีเหล่านี้ก็ไม่ถูกต้องเสมอไปค่ะ เพราะอาหารเสริมโพรไบโอติกส์จะเริ่มทำงานและจะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7-14 วัน ดังนั้นคุณควรกะปริมาณให้พอดีต่อการใช้งานด้วยนะคะ แนะนำให้ซื้อขนาดที่สามารถกินได้เกิน 2 อาทิตย์ขึ้นไปค่ะ
5 สัญญาณดีที่บอกว่าโพรไบโอติกส์กำลังทำงาน : ประโยชน์ของ Probiotics
เมื่อคุณทานอาหารเสริมโพรไบโอติกส์ที่มีคุณภาพ คุณอาจสังเกตเห็นได้ถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกหลายประการดังต่อไปนี้ค่ะ
1. ย่อยอาหารได้ดีขึ้น
แบคทีเรียนับล้านตัวในลำไส้ของคุณมีบทบาทสำคัญในการย่อยอาหาร หากไมโครไบโอมในลำไส้ของคุณไม่สมดุล (มีแบคทีเรียไม่ดีเยอะเกินไป) คุณอาจประสบปัญหาท้องอืดและปวดท้องได้ ดังนั้นผลลัพธ์จากการทานโพรไบโอติกส์เข้าไปสิ่งแรกที่คุณจะสัมผัสได้ทันทีคือการย่อยอาหารที่ดีขึ้น อาการท้องอืด มีก๊าซในท้อง หรือปวดท้องจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดค่ะ

2. การบีบตัวของลำไส้ ปกติมากขึ้น
หากแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ของคุณมีน้อยเกินไป ก็จะส่งผลให้ลำไส้แปรปรวน (IBS) หรือลำไส้เคลื่อนไหวผิดปกติได้ ตัวอย่างเช่น อาการท้องร่วงบ่อย ๆ คือสัญญาณที่บอกให้รู้ว่าตอนนี้แบคทีเรียก่อโรค (แบคทีเรียไม่ดี) ในลำไส้ของคุณมีเยอะมากเกินไป ดังนั้นเมื่อทานโพรไบโอติกส์จำนวนแบคทีเรียที่ดีก็จะเพิ่มมากขึ้นและเข้าไปปรับสมดุลแบคทีเรียในลำไส้ให้แข็งแรงทำให้อาการของลำไส้แปรปรวน (IBS) ลดลงไปด้วย
3. เพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกาย
หลายคนอาจสงสัยว่าทานโพรไบโอติกส์จะช่วยเพิ่มพลังงานอย่างไร ? ต้องบอกก่อนว่าเดิมทีร่างกายของเราได้รับพลังงานมาจากสารอาหารใช่มั้ยคะ ? ซึ่งสารอาหารก็มาจากการดูดซึมของลำไส้อีกที เมื่อลำไส้ทำงานผิดปกติก็ดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง จนทำให้คุณขาดสารอาหารและได้รับพลังงานไม่เพียงพอ ดังนั้นการที่คุณทานโพรไบโอติกส์เข้าไป มันจะช่วยซ่อมแซมลำไส้ของคุณ และทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เหมาะสม ส่งผลให้ระดับพลังงานเพิ่มขึ้นนั่นเองค่ะ

4. อารมณ์ดีขึ้น (15)
ลำไส้และสมองมีการทำงานหลาย ๆ อย่างที่สอดคล้องกัน ลำไส้สามารถผลิตสารสื่อประสาทบางชนิดได้เช่นเดียวกับในสมอง อย่างฮอร์โมนแห่งความสุข “เซโรโทนิน” โดยกว่า 90% ของเซโรโทนินในร่างกายจะถูกสร้างขึ้นในทางเดินอาหารแต่เมื่อลำไส้ของคุณป่วยจากความไม่สมดุลของแบคทีเรีย ก็จะส่งผลให้มันผลิตเซโรโทนินได้น้อยลง และกลายเป็นผลเสียต่ออารมณ์ของคุณนั่นเองค่ะ
5. ภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น
การจะมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงได้นั้น คุณจะต้องได้รับสารอาหารหลากหลายชนิดเข้าไปเสริมสร้างภูมิคุ้มกันใช่มั้ยคะ? ไม่ว่าจะเป็น วิตามิน B, ซิงค์ หรือวิตามิน C แต่ทั้งนี้สารอาหารต่าง ๆ นั้นมาจากอาหารที่เรากินเข้าไป ซึ่งต้องผ่านการดูดซึมของลำไส้ก่อนและจากที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าหากลำไส้ของเราไม่แข็งแรงการดูดซึมอาหารก็จะทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร นอกจากนี้อาจทำให้เกิดการอักเสบในลำไส้ได้ จนเกิดเป็นภาวะลำไส้รั่ว ทำให้เศษอาหารสารพิษอื่น ๆ เข้าสู่กระแสเลือดจนไปกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการทานโพรไบโอติกส์จะช่วยฟื้นฟูเกราะป้องกันลำไส้ให้แข็งแรง ทำให้เศษอาหารอนุภาคขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าสู้กระแสเลือดของคุณได้อีกต่อไป
ทานโพรไบโอติกส์ มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง ?

1. ทานโพรไบโอติกส์ครั้งแรก (1,7)
พึงระลึกไว้เสมอว่าการทานโพรไบโอติกส์อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงทางเดินอาหารเช่น ท้องเสีย, ปวดท้อง, มีก๊าซในท้อง และรวมถึงอาการคลื่นไส้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณเริ่มรับประทานครั้งแรก บอกเลยว่ามีอาการเกือบทุกคนค่ะ แต่โดยทั่วไปแล้วอาการเหล่านี้จะหายไปเองประมาณ 2 สัปดาห์ หากอาการเหล่านี้รุนแรงหรือไม่ดีขึ้น คุณควรหยุดทานโพรไบโอติกส์และปรึกษาแพทย์ทันทีค่ะ
2. ทานโพรไบโอติกส์ในปริมาณที่มากเกินไป (1,7)
แม้ว่าโพรไบโอติกส์จะปลอดภัยสำหรับผู้คนส่วนใหญ่ แต่ทั้งนี้ก็ควรระมัดระวังปริมาณที่ทานในแต่ละวัน เพราะหากคุณทานโพรไบโอติกส์มากเกินไป ก็จะทำให้มีลมในท้องเกิดเป็นอาการท้องอืด แน่นท้อง และทำให้ผายลมบ่อย ๆ เอาได้ค่ะ
3. ทานโพรไบโอติกส์ช่วงระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง (1,7)
ทานในช่วงที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำเช่น ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง, ผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน, ผู้ที่ใส่สายสวนหลอดเลือดดำ หรือผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดเมื่อไม่นานมานี้ การทานโพรไบโอติกส์ก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายด้วยเช่นกันค่ะ
ควรทานโพรไบโอติกส์ตอนไหนดี ? (13, 14)

หลาย ๆ คนในที่นี้อาจเกิดความสับสนเกี่ยวช่วงเวลาในการทานโพรไบโอติกส์ตอนไหนจะเห็นผลดีที่สุด เพราะบางแบรนด์ก็แนะนำให้ทานขณะที่ท้องว่าง ในขณะที่บางแบรนด์ก็ให้ทานพร้อมอาหารไปเลย เรามาดูตัวอย่างสายพันธ์ุโพรไบโอติกส์ที่นิยม ๆ กันค่ะว่าชนิดไหนต้องทานช่วงไหนบ้าง ?
- หากเป็นจุลินทรีย์ Saccharomyces boulardii สามารถทานช่วงไหนก็ได้
- หากเป็นจุลินทรีย์ Lactobacillus และ Bifidobacterium ควรทานก่อนอาหาร 30 นาที
จริง ๆ แล้วไม่มีข้อกำหนดตายตัวว่าจะต้องทานก่อนอาหาร หลังอาหาร หรือช่วงท้องว่าง เพราะประเด็นสำคัญของการทานโพรไบโอติกส์คือคุณต้องทานอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำค่ะ
บทสรุป
เนื่องจากโพรไบโอติกส์เป็นจุลินทรีย์มีอยู่ตามธรรมชาติในร่างกายของคุณ โดยทั่วไปแล้วถือว่าอาหารเสริมที่มีโพรไบโอติกส์ค่อนข้างปลอดภัย แต่ทั้งนี้ในบางคนก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้, ปวดท้องเล็กน้อย, ท้องร่วง หรือท้องอืด ในช่วง 2-3 วันแรกหลังจากเริ่มรับประทาน
หากคุณเป็นคนที่จัดอยู่ในกลุ่มระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ (เช่น ผู้ที่รับเคมีบำบัด), เป็นโรคร้ายแรง หรือเพิ่งได้รับการผ่าตัด คุณจะต้องเพิ่มความระมัดระวังในการทานอาหารเสริมโพรไบโอติกส์ เพราะอาจมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ แนะนำให้ปรึกษาพูดคุยกับแพทย์ของคุณเสมอก่อนที่จะเริ่มทานอาหารเสริมโพรไบโอติกส์
References :
- Probiotics – Health Professional
- Health Effects and Sources of Prebiotic Dietary Fiber
- Probiotics, Prebiotics, and Synbiotics
- Probiotics, Prebiotics, and Synbiotics: Gut and Beyond
- Efficacy, safety, and tolerability of fructooligosaccharides in the treatment of irritable bowel syndrome
- Mechanisms of Action of Prebiotics and Their Effects on Gastro-Intestinal Disorders in Adults
- Probiotics
- Effects of probiotics on gut microbiota: mechanisms of intestinal immunomodulation and neuromodulation
- Impact of probiotics on colonizing microbiota of the gut
- Microorganisms with Claimed Probiotic Properties: An Overview of Recent Literature
- Beneficial Properties of Probiotics
- A Review of the Advancements in Probiotic Delivery: Conventional vs. Non-conventional Formulations for Intestinal Flora Supplementation
- The impact of meals on a probiotic during transit through a model of the human upper gastrointestinal tract
- Effect of Lactobacillus rhamnosus HN001 and Bifidobacterium longum BB536 on the healthy gut microbiota composition at phyla and species level: A preliminary study
- Microbes Help Produce Serotonin in Gut