คะแนนความพึงพอใจโดยรวม 8.9 เต็ม 10
![]() |
|
ข้าว ถือว่าเป็นอาหารหลักสำหรับคนไทยและชาวเอเชีย เนื่องจากเรารับพลังงานจากข้าวมากกว่าอาหารประเภทอื่น ๆ ดังนั้นไม่แปลกใจเลยที่ในครัวของบ้านเอเชียทุกหลังจะต้องมี ‘หม้อหุงข้าว’ กันอย่างน้อยบ้านละหนึ่งใบเพื่อหุงข้าวประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิ, ข้าวกล้อง, ข้าวไรซ์เบอร์รี่, ข้าวญี่ปุ่น หรือข้าวเหนียว และนอกจากประเภทของข้าวที่หลากหลายแล้วหม้อหุงข้าวก็มีอีกหลายปรระเภทให้เลือกอีกด้วยทั้งหม้อหุงข้าวไฟฟ้า, หม้อหุงข้าวลดน้ำตาล หรือหม้อหุงข้าวไมโครเวฟสำหรับบ้านที่มีพื้นที่น้อย
ปัจจุบันวิถีชีวิตเราเปลี่ยนไปจากหลาย ๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเทคโลโลยี, ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ หากสังเกตจะเห็นได้ชัดเลยว่าเดี๋ยวนี้เรามักจะรู้สึกเหมือนทุกอย่างเต็มไปด้วยความเร่งรีบและมีเวลาแทบจะไม่พอในการจัดการภาระหน้าที่ต่าง ๆ ดังนั้นหลาย ๆ คนจึงหันมาพึ่งเทคโนโลยีหรือสมาร์ทดีไวซ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกและประหยัดเวลามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน, สมาร์ททีวี, สมาร์ทปลั๊ก, หลอดไฟอัจฉริยะ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยให้คุณสามารถจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยโทรศัพท์มือถือเพียงหนึ่งเครื่อง
แต่เทคโนโลยีไม่ได้หยุดแค่นั้น เพราะปัจจุบันแม้แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีทุกบ้านอย่างหม้อหุงข้าวก็ถูกเปลี่ยนให้เป็น Smart Device ที่สามารถสั่งงานได้ง่ายดายผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ และแน่นอนว่าถ้าจะพูดถึงอุปกรณ์เหล่านี้ Xiaomi คงจะเป็นแบรนด์แรก ๆ ที่หลายคนนึกถึง และเราก็เลือกหยิบ Xiaomi Mijia Smart Rice Cooker มารีวิวดูความเจ๋งและความน่าสนใจกันในรีวิวนี้ค่ะ
ข้อมูลจำเพาะ Xiaomi Mijia Smart Rice Cooker
![]() |
|
รีวิวก่อนใช้งาน หม้อหุงข้าว Xiaomi Mijia Smart Rice Cooker
1. ลักษณะภายนอกของหม้อหุงข้าวเสี่ยวหมี่

ลักษณะภายนอกของตัวเครื่องจะมาในโทนสีขาวสะอาดตามสไตล์ Xiaomi ค่ะ วัสดุภายนอกจะผลิตจากพลาสติก ABS และอลูมิเนียมอัลลอย ตัวเครื่องมาในทรงสี่เหลี่ยมมน ๆ น่ารัก ๆ ด้านหน้าจะมาพร้อมจอ LED สำหรับแสดงสถานะของเครื่องและปุ่มควบคุมเบื้องต้นค่ะ ปุ่มเปิดฝาหม้อด้านบนกดเปิดง่าย ฝากันน้ำล้นด้านในสามารถถอดออกมาล้างทำความสะอาดได้อย่างง่ายดายค่ะ ถือว่าง่ายกว่าหม้อหุงข้าวรุ่นอื่น ๆ หม้อหุงข้าวด้านในจะเป็นสีดำค่ะ ตัวหม้อหนาถึง 1.7 มิลลิเมตรจากการเคลือบถึง 5 ชั้น ทั้งด้านนอกและด้านในมีการเคลือบสารกันติดอย่างดีช่วยให้ข้าวไม่ติดหม้อ ด้านในมาพร้อมขีดปริมาณน้ำสำหรับเมนูต่าง ๆ ค่ะ

2. ปุ่มการใช้งานของหม้อหุงข้าวเสี่ยวหมี่ มีฟังก์ชันอะไรบ้าง ?
มาที่ปุ่มกันบ้าง หลายคนแกะกล่องออกมาแล้วก็รู้สึกมึนตึ๊บเพราะทั้งปุ่มและเมนูต่าง ๆ เป็นภาษาจีนทั้งหมดเลยค่ะ เรามาดูกันดีกว่าเจ้า Xiaomi Mijia Smart Rice Cooker เนี่ยมีฟังก์ชันอะไรบ้าง แล้วภาษาจีนแต่ละโหมดเนี่ยแปลว่าอะไร
บนหน้าจอ LED จะมีฟังก์ชันให้เราเลือกอยู่ 5 โหมดค่ะ โหมดแรกจะเป็นการหุงทั่วไปที่เซตเวลาไว้ที่ 60 นาที, ถัดไปจะเป็นฟังก์ชันหุงเร็วที่จะใช้เวลาประมาณ 40 นาที, ฟังก์ชันที่สามจะสำหรับต้มโจ๊กและเซตเวลาไว้ที่ 1 ชั่วโมง 30 นาที, โหมดที่ 4 จะเป็นการอุ่นร้อนที่สามารถทำความร้อนได้ถึง 24 ชั่วโมงเลยค่ะ และสุดท้ายจะเป็นโหมดเพิ่มเติมที่ลิงก์กับแอปพลิเคชัน โดยทั่วไปแล้วโหมดนี้จะเป็นการตุ๋นอาหารค่ะ

หลังจากเลือกโหมดที่ต้องการแล้วก็สามารถตั้งค่าเวลาได้ที่ปุ่มซ้ายสุด และกดปุ่มกลางเพื่อเริ่มต้นการทำงานของตัวเครื่อง แต่หากเปลี่ยนใจอยากใช้โหมดอื่น ๆ ก็สามารถกดปุ่มขวาสุดอีกครั้งเพื่อยกเลิกการทำงานได้ค่ะ หลังเสร็จสิ้นการทำงานทุกเมนูตัวเครื่องจะเข้าสู่โหมดอุ่นร้อนโดยอัตโนมัติและจับเวลาอุ่นร้อนไปในตัว หากไม่ต้องการใช้ฟังก์ชันนี้สามารถกดปุ่มยกเลิกการทำงานได้ตามต้องการ

3. การเชื่อมต่อแอปพลิเคชันของหม้อหุงข้าวเสี่ยวหมี่

Xiaomi Mijia Smart Rice Cooker มาพร้อมกับฟังก์ชันพิเศษ นั่นคือคุณสามารถเชื่อมต่อและใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน Mi Home ได้สบาย ๆ เลยค่ะ ในส่วนการเชื่อมต่อก็ง่ายมาก ขั้นตอนแรกเราจะต้องดาวน์โหลดแอป Mi Home มาก่อนค่ะ ในส่วนของภูมิภาค (region) เราจะต้องเลือกเป็นประเทศจีนเท่านั้น เนื่องจากหม้อหุงข้าวรุ่นนี้ผลิตและใช้ในประเทศจีนค่ะ ส่วนการเชื่อมต่อเราจะต้องกดปุ่มซ้ายและขวาสุดบนตัวเครื่องพร้อม ๆ กันก่อนค่ะ หลังจากแอปสแกนเจอตัวหม้อหุงข้าวแล้วเราก็แค่เชื่อมต่อตามคำแนะนำของแอป ใช้เวลาไม่นานก็เสร็จเรียบร้อยพร้อมใช้งานแล้วค่ะ
รีวิวการใช้งานจริง หม้อหุงข้าว Xiaomi Mijia Smart Rice Cooker
1. ทดลองหุงข้าวด้วยหม้อหุงข้าวเสี่ยวหมี่
1.1 หุงข้าวธรรมดา
สำหรับข้าวสารทั่วไปเราจะลองหุงด้วยฟังก์ชันตั้งเวลาหุงอัตโนมัติ สำหรับโหมดนี้เราจะล้างข้าวให้สะอาดเหมือนเดิมค่ะ จากนั้นใส่น้ำลงไปตามปริมาณที่ต้องการ เข้าแอปพลิเคชันเลือกประเภทของข้าวและเท็กซ์เจอร์ที่ชื่นชอบ จากนั้นเลือกเวลาที่ต้องการรับประทานได้เลยค่ะ เครื่องจะคำนวณและบอกว่าจะเริ่มหุงข้าวตอนกี่โมงเพื่อให้เสร็จทันเวลาที่เรากำหนดไว้ ถือว่าการใช้งานไม่ซับซ้อนและสะดวกมาก ๆ สำหรับวันนี้เราจะเตรียมทุกอย่างเอาไว้ตั้งแต่ตอนเย็นแล้วเซตเวลาไว้ที่ 8.30 น. ซึ่งเป็นเวลาปกติสำหรับมื้อเช้า

ผลลัพธ์การหุงข้าวธรรมดาทั่วไป : บอกเลยว่าตื่นเต้นมาก เราแอบมาเปิดฝาดูข้าวก่อนเครื่องเริ่มทำงานแล้วก็พบว่าสีของเมล็ดข้าวขุ่นขึ้นและปริมาณน้ำลดลง ระหว่างรอเครื่องจะเข้าสู่โหมดประหยัดพลังงานและเริ่มต้นหุงข้าวเวลา 7.30 น. โดยอัตโนมัติเลยค่ะ บอกเลยว่าเวลาค่อนข้างเป๊ะ และอีก 1 ชั่วโมงถัดมาข้าวสวยร้อน ๆ ก็พร้อมทานแล้วค่ะ ตอนเปิดฝาหม้อนี่ลุ้นมากเพราะเราค่อนข้างจะกังวลว่าข้าวที่แช่น้ำไว้ทั้งคืนจะพองจนเละเกินไปหรือเปล่า แต่เปิดออกมาแล้วรู้สึกโล่งใจสุด ๆ เพราะภายในหม้อเต็มไปด้วยข้าวเรียงเมล็ดสวย กลิ่นหอม ข้าวสุกนุ่มกำลังดี และไม่เละ ไม่แฉะอย่างที่เราคิดค่ะ เป็นฟังก์ชันที่สะดวกและเหมาะกับคนที่ไม่มีเวลาอย่างเราสุด ๆ

1.2 หุงข้าวเหนียว
เห็นในแอปฯ มีข้าวหลายประเภทให้เลือกเรามาลองหุงข้าวเหนียวบ้างดีกว่า ล้างข้าวเหนียวตามปกติและพักข้าวในกระชอนจนแห้งหมาด พยายามให้ข้าวแห้งหมาดนะคะ จากนั้นเติมน้ำสะอาดในปริมาณที่น้อยกว่าข้าวเล็กน้อย อย่างหม้อนี้เราตวงข้าวด้วยถ้วยที่ให้มา 1 ถ้วย เราจะเติมน้ำแค่ ¾ ถ้วยเท่านั้นค่ะ จากนั้นเข้าแอปฯ เลือกข้าวเหนียว เลือกเท็กซ์เจอร์ของข้าวและกดเริ่มการทำงาน เครื่องจะประมวลผลและเริ่มทำงานเลยค่ะ บนแอปฯ จะบอกเวลาเสร็จโดยประมาณเพื่อช่วยให้เราทำกิจกรรมหรือเมนูอื่น ๆ ได้โดยไม่ต้องกังวล

ผลลัพธ์การหุงข้าวเหนียว : ครบเวลาแล้วเราจะเริ่มได้กลิ่นหอมเบา ๆ เปิดฝาออกมานี่พอใจมาก ๆ เพราะข้าวเหนียวสุกกำลังดี เมล็ดใสน่ารับประทาน บางเมล็ดยังขุ่นบ้างเล็กน้อยเนื่องจากโดนน้ำน้อย แต่ข้าวเหนียวด้านล่างนุ่มสวย ไม่มีเมล็ดดิบเลยค่ะ ในส่วนของความสุกก็กำลังดี ไม่แห้งหรือแฉะมากจนเกินไป

นอกจากนี้เรายังได้ทำการทดลองแช่ข้าวเหนียวก่อนหุงด้วย ผลปรากฎว่าข้าวเหนียวค่อนข้างแฉะและเมล็ดข้าวบานมากจนเกินไป ไม่อร่อยเท่าแบบแรก ดังนั้นเราแนะนำให้หุงข้าวเหนียวแบบไม่แช่จะออกมาอร่อยน่ารับประทานมากกว่าค่ะ
2. ทดลองอบเค้กด้วยหม้อหุงข้าวเสี่ยวหมี่
มาเริ่มต้นวันดี ๆ ด้วยการอบเค้กกันต่อเลยค่ะ ภายในโหมดสำหรับอบเค้กจะมีทั้งวัตถุดิบและวิธีการทำมาให้เรียบร้อยแล้วค่ะ หลังจากผสมแป้งเสร็จเรียบร้อยแล้วเราจะอบด้วยโหมดสำหรับอบเค้ก สำหรับโหมดนี้เลือกเวลาได้ตั้งแต่ 55 นาทีไปจนถึง 1 ชั่วโมง ซึ่งภายในแอปฯ จะคำนวณและบอกเราเลยว่าการทำงานจะเสร็จประมาณกี่โมงโดยไม่ต้องใช้นาฬิกาจับเวลาหรือบวกลบเวลาด้วยตัวเองค่ะ

ครบเวลาแล้วเราจะเห็นได้เลยว่าขอบเค้กจะหลุดล่อนออกมาจากผิวหม้อ แต่น่าเสียดายที่ตอนเทออกมาฐานเค้กติดก้นหม้อแทบจะทั้งชิ้นเลย 😢 แต่สีเค้กค่อนข้างสวยและสุกเท่ากันทั้งชิ้น เนื้อเค้กไม่ฟูแต่ไม่แน่นมากจนเกินไป ถือว่าหม้อหุงข้าวรุ่นนี้สามารถอบเค้กออกมาได้ค่อนข้างดีและสูตรที่ให้มาก็ค่อนข้างจะอร่อยเลยค่ะ
แล้วถ้าเป็นเค้กสูตรอื่น ๆ ล่ะ? นอกจากสูตรจากแอปฯ แล้วเรายังลองอบบัตเตอร์เค้กด้วยค่ะ สำหรับสูตรนี้เราจะใช้เวลาอยู่ที่ 55 นาทีและไม่ลืมทาเนยจนทั่วหม้อก่อนเทแป้ง แต่หลังจากครบเวลาแล้วเนื้อเค้กยังเหลวติดไม้อยู่เลยค่ะ เราเลยอบต่อด้วยโหมดหุงข้าวด่วนอีกประมาณ 30 – 40 นาที เค้กออกมาหอมเนยสุด ๆ ผิวสวยไม่ติดหม้อเลยค่ะ แถมเนื้อเค้กยังค่อนข้างฉ่ำและแน่นเต็มปากเต็มคำมาก แต่เนื่องจากเราผสมบัตเตอร์เค้กแบบเต็มสูตรทำให้ต้องอบเค้กต่อด้วยโหมดหุงข้าว หากลดส่วนผสมลงมาให้มีปริมาณเท่า ๆ เค้กก้อนแรก น่าจะออกมาสวยและไม่ต้องอบถึง 2 ครั้งเหมือนเราค่ะ

3. ทดลองทำขาหมูพะโล้ ด้วยหม้อหุงข้าวเสี่ยวหมี่
ถัดมาลองทำอาหารคาวกันบ้างดีกว่า ขาหมูพะโล้ถือว่าเป็นเมนูที่ค่อนข้างจะต้องใช้เวลานานในการเปลี่ยนหนังหมูแข็ง ๆ ให้นุ่มอร่อยจนแทบละลายในปาก และวันนี้เราจะทดลองใช้โหมดตุ๋นด้วยเมนูนี้กันค่ะ เริ่มจากปรุงรสชาติน้ำซุปด้วยเครื่องปรุงรส ใส่เครื่องพะโล้และขาหมูชิ้นโต ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้วกดสั่งงานผ่านตัวเครื่องโดยตรงด้วยโหมดเพิ่มเติมที่เซตเป็นโหมดตุ๋นไว้แล้ว เลือกเวลาตุ๋น 3 ชั่วโมงและกดเริ่มทำงานได้เลยค่ะ

ผ่านไป 2 ชั่วโมงแอบเปิดฝาดูนี่หนังหมูเปื่อยนุ่มและน้ำซุปดูเข้มข้นพร้อมส่งกลิ่นหอมน่ารับประทานแล้วค่ะ ตุ๋นต่อจนครบเวลาและเครื่องร้องเตือนปี๊บ ๆ แล้วเราเห็นได้ชัดเลยว่าปริมาณน้ำและขนาดของหมูเพิ่มขึ้น เนื้อหมูดูฉ่ำ เปื่อย แต่ไม่เละ หนังและมันหมูค่อนข้างเด้งดึ๋งและเนื้อแดงยังเป็นเส้นสวย

ขณะที่น้ำซุปก็มีความเข้มข้นกำลังดีและน้ำไม่แห้งเลยแม้จะปล่อยทิ้งไว้นานถึง 3 ชั่วโมง ถือว่าเราค่อนข้างที่จะพอใจเพราะทำขาหมูพะโล้ออกมาได้อร่อยกำลังดีและไม่ยุ่งยากเหมือนการตุ๋นด้วยเตาแก๊สทั่วไป ทานขาหมูอร่อย ๆ กับข้าวสวยนุ่ม ๆ ที่หุงไว้ก่อนหน้านี่เข้ากันสุด ๆ

4. การทำความสะอาด ด้วยหม้อหุงข้าวเสี่ยวหมี่
ในส่วนของการทำความสะอาดนี่ค่อนข้างง่ายเลยค่ะ ตัวหม้อมีการเคลือบสารกันติดทั้งภายนอกและภายในทำให้คราบต่าง ๆ ไม่ติดหม้อและทำความสะอาดง่ายมาก ๆ ค่ะ แค่ใช้ฟองน้ำนุ่ม ๆ เช็ดก็สะอาดเหมือนเดิมแล้ว ส่วนตัวหม้อหุงข้าวก็อาจจะมีคราบติดบ้างแต่ก็เช็ดทำความสะอาดง่ายโดยไม่ทิ้งคราบเหลืองเลยค่ะ แต่ที่ถูกใจมากที่สุดคือฝาหม้อด้านในสามารถถอดออกมาล้างทำความสะอาดและใส่กลับง่าย ช่วยให้เรามั่นใจและเพิ่มความสะอาดได้อีกเยอะเลยค่ะ
หากไม่มี Wi-Fi หรือสมาร์ทโฟน สามารถใช้งานหม้อหุงข้าวรุ่นนี้ได้ไหม ?
อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่จากแบรนด์ Xiaomi มักจะเป็น Smart Device หรือถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ และเจ้า Xiaomi Mijia Smart Rice Cooker เครื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ขณะเดียวกันคนที่ใช้ชีวิตแบบไม่เน้นเทคโนโลยีหรือผู้สูงอายุอาจจะรู้สึกกังวลว่าจะสามารถใช้หม้อหุงข้าวใบนี้ได้คุ้มค่าหรือไม่เพราะดูเหมือนฟังก์ชันหลาย ๆ อย่างจะเน้นการสั่งงานผ่านแอปพลิเคชันซะเป็นส่วนใหญ่
หลังจากลองใช้งานแล้วเราพบว่าถึงจะไม่มีการเชื่อมต่อหรือสั่งงานผ่านแอปพลิเคชันก็สามารถใช้หม้อหุงข้าวได้ค่อนข้างจะคุ้มค่าเช่นเดียวกันค่ะ เนื่องจากบนตัวเครื่องมีโหมดให้เลือกค่อนข้างหลากหลายอยู่แล้ว ทั้งโหมดหุงข้าวทั่วไป, โหมดหุงเร็ว, โหมดโจ๊ก, โหมดอุ่นร้อน และโหมดเพิ่มเติมที่ตั้งค่าเริ่มต้นไว้เป็นการตุ๋นอาหาร หรือจะเป็นการอบเค้กก็สามารถทำได้เช่นเดียวกับหม้อหุงข้าวทั่วไป
แต่ข้อเสียบนตัวเครื่องที่เราพบคือปุ่มเมนูและฟังก์ชันต่าง ๆ จะเป็นภาษาจีนทั้งหมด ชื่อเมนูเป็นสีขาวและมีขนาดค่อนข้างเล็ก มองเห็นได้ยาก แนะนำให้แปะสติกเกอร์ภาษาไทยแทนเพื่อความสะดวก ส่วนข้อดีก็มีเช่นเดียวกันนะคะ ตัวเลขบอกเวลาบนหน้าจอค่อนข้างที่จะมองเห็นได้ชัดและเมื่อจบการทำงานแล้วตัวเครื่องจะเข้าโหมดอุ่นร้อนให้อัตโนมัติโดยไม่ต้องกดด้วยตัวเองเลยค่ะ
ดังนั้นเราขอสรุปว่าหม้อหุงข้าวรุ่นนี้สามารถใช้งานได้คุ้มค่าโดยไม่จำเป็นต้องสั่งงานผ่านแอปพลิเคชัน แต่หากคุณต้องการหุงข้าวที่มีลักษณ์เฉพาะอย่างข้าวไรซ์เบอร์รี่หรือต้องการทำเมนูที่หลากหลายมากขึ้นก็สามารถใช้งานผ่านแอปพลิเคชันได้ตามต้องการค่ะ
ความคุ้มค่าในการซื้อหม้อหุงข้าว Xiaomi Mijia Smart Rice Cooker
ทำอาหารคาวหวานมาครบแล้ว เราคิดว่า Xiaomi Mijia Smart Rice Cooker เป็นหม้อหุงข้าวที่ค่อนข้างจะคุ้มค่าคุ้มราคาเลยค่ะ ตัวเครื่องจะเน้นตอบโจทย์การใช้ชีวิตแบบ Smart Life โดยเห็นได้จากการที่ทางแบรนด์เอาฟังก์ชันต่าง ๆ ไปรวมไว้ในแอปพลิเคชัน ส่วนบนตัวหม้อก็เหลือไว้เฉพาะเมนูพื้นฐานทั่วไปเท่านั้น ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อาจจะเพื่อความสะดวกและคงความเป็นมินิมอลของแบรนด์ค่ะ ถึงทางแบรนด์จะเน้นความเป็น Smart Home แต่การสั่งงานจากตัวเครื่องโดยตรงแบบไม่ต้องใช้แอปพลิเคชันก็สามารถทำได้ดีเช่นเดียวกันค่ะ
ข้อดี
- ตัวเครื่องมีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบา เหมาะสำหรับครอบครัวขนาดเล็กจนถึงขนาดกลาง
- ช่องสำหรับเสียบปลั๊กติดตั้งอยู่ด้านข้างของตัวเครื่อง เสียบและถอดง่าย
- ฝาหม้อด้านในถอดทำความสะอาดและใส่กลับง่าย รวมถึงตัวหม้อเคลือบสารกันติด ทำความสะอาดง่าย
- มีการเชื่อมต่อผ่านแอปพลิเคชัน ใช้งานสะดวก มีฟังก์ชันให้เลือกหลากหลาย
- เมนูบนตัวเครื่องมีให้เลือกหลากหลาย สามารถใช้งานได้อย่างคุ้มค่าแม้ไม่เชื่อมต่อแอปพลิเคชัน
- สามารถตั้งเวลาหุงข้าวได้โดยอัตโนมัติ ตอบโจทย์ชีวิตในสมัยใหม่และคนที่มีเวลาจำกัด
- เมื่อเสร็จสิ้นการทำงานแล้วตัวเครื่องจะเข้าสู่โหมดอุ่นร้อนโดยอัตโนมัติ
ข้อที่ควรพิจารณา
- ไม่มีหูหิ้วหรือหูจับทำให้เคลื่อนย้ายได้ยาก ต้องใช้ทั้ง 2 มือยกตัวเครื่องซึ่งไม่สะดวกมากนักเมื่อเทียบกับหม้อหุงข้าวดิจิตอลรุ่นอื่น ๆ
- หากไฟดับเครื่องจะหยุดการทำงานทุกอย่างและไม่มีการเริ่มใหม่หรือทำงานต่อจากจุดที่ค้างไว้ ดังนั้นหากอุ่น, หุง หรือตั้งหุงอัตโนมัติไว้ค่อนข้างจะมีความเสี่ยงหากเกิดเหตุการณ์ไฟดับ
- ก้นหม้อภายนอกเกิดรอยขูดขีดเร็วแม้จะล้างด้วยฟองน้ำเพียงอย่างเดียว
- เมื่อเปิดฝาหม้อหุงข้าว น้ำที่อยู่ภายในซิลิโคนจะล้นและไหลลงในหม้อหากมีปริมาณมากจนเกินไป ต้องคอยเช็ดทำความสะอาดบ่อย ๆ เนื่องจากมีช่องระบายไอน้ำด้านบนเพียงด้านเดียวเท่านั้น
- เมื่อเสร็จสิ้นการทำงานแล้วไม่มี notification หรือการแจ้งเตือนเด้งมาบนมือถือ จะต้องดูเวลาหรือดูสถานะการทำงานของตัวเครื่องภายในแอปพลิเคชัน
- การใช้งานผ่านแอปพลิเคชันจะไม่สามารถใช้ร่วมกับอุปกรณ์รุ่นอื่น ๆ ที่เป็น Global Version ได้เนื่องจากหม้อหุงข้าวรุ่นนี้ผลิตขึ้นเพื่อจำหน่ายภายในประเทศจีน
ความพึงพอใจต่อ Xiaomi Mijia Smart Rice Cooker
![]() |
![]() |
คะแนนความพึงพอใจโดยรวม 8.9 เต็ม 10
จากการลองใช้งานมาครบทุกฟังก์ชันหลัก ๆ แล้ว ส่วนตัวเราค่อนข้างจะพอใจเลยค่ะสำหรับ Xiaomi Mijia Smart Rice Cooker ตัวนี้ เราสามารถสั่งงานได้หลากหลายทั้งจากตัวเครื่องโดยตรงและแบบผ่านแอปพลิเคชัน จริง ๆ แล้วเรามองว่าการทำงานหลัก ๆ ของหม้อหุงข้าวรุ่นนี้จะเป็นการหุง, อุ่น และต้มซุปหรือตุ๋น ซึ่งฟังก์ชันเหล่านี้สามารถสั่งงานได้จากตัวเครื่อง ส่วนเมนูในแอปพลิเคชันจะเป็นการลงรายละเอียดของเมนูต่าง ๆ มากกว่าค่ะ อย่างเมนูตุ๋น, โอเด้ง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นการต้มเหมือนกันแต่ต่างกันที่เวลาที่ใช้
ดังนั้นเรามองว่าสิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดสำหรับการสั่งงานผ่านแอปพลิเคชันคือการตั้งเวลาหุงข้าวล่วงหน้าเพราะฟังก์ชันนี้ไม่สามารถสั่งผ่านตัวเครื่องโดยตรงได้ นอกจากนี้บนแอปพลิเคชันยังมีรายละเอียดบอกด้วยว่าขณะนี้ตัวเครื่องกำลังทำอะไรอยู่ ภายในหม้อมีอุณหภูมิเท่าไหร่ และความร้อนในระดับต่าง ๆ ส่งผลอย่างไรต่อเมล็ดข้าว ถือว่าเป็นความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ได้อ่านเพลิน ๆ แต่ก็อาจจะมีขัดใจบ้างเล็กน้อยเนื่องจากเมื่อเสร็จสิ้นการทำงานจะมีเสียงเตือนบนตัวเครื่องเท่านั้น ไม่มีการแจ้งเตือนเด้งขึ้นมาบนโทรศัพท์มือถือ ในขณะที่ Xiaomi Smart Steam Oven หรือ Xiaomi Mi Air Purifier 3C ที่เรารีวิวไปก่อนหน้ามีในส่วนนี้มาให้ด้วยค่ะ