ให้นมลูกท่าไหนดี :: วิธีแก้ปัญหา หัวนมแตก ท่อน้ำนมอุดตัน

สารบัญ

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นหนึ่งในสิ่งที่ดีที่สุดที่คุณแม่จะให้กับลูกน้อยได้ ซึ่งตัวแม่เองก็เป็นอีกคนที่เลือกนมแม่ในการเลี้ยงลูกทั้งสองคนค่ะ แต่ต้องทำความเข้าใจกันก่อนนะคะว่าแม่และลูกน้อยทุกคนอาจจะมีความแตกต่างกันและเส้นทางการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่อาจจะไม่เหมือนใคร ทั้งนี้ทั้งนั้น… ถ้าคุณแม่เรียนรู้ได้ก่อนคลอดมากเท่าไหร่ คุณแม่ก็จะเตรียมตัวได้ดีขึ้นเท่านั้นค่ะ

การสนับสนุนตลอดทาง ไม่ว่าจะจากตัวของคุณแม่เอง สามี พ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือ เพื่อนสนิทมิตรสหาย เป็นต้น สามารถช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความง่ายขึ้นจริง ๆ นะคะ เพราะนั่นจะทำให้คุณแม่มีกำลังใจที่จะทำภารกิจการให้นมลูกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุขค่ะ ก่อนที่ลูกน้อยของคุณแม่จะออกมาลืมตาดูโลกนั้น คุณแม่อาจตั้งเป้าหมายไว้ให้หนักแน่นเลยค่ะว่า “เราต้องทำได้” ซึ่งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในปัจจุบันก็ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย ซึ่งหลาย ๆ หน่วยงาน ทั้งในโรงพยาบาลที่คุณแม่วางแผนจะคลอดลูกน้อย ก็สามารถช่วยให้ความรู้กับคุณแม่ได้ตลอดทางเลยล่ะค่ะ

แม่กำลังให้นมลูก

เคล็ดไม่ลับ สำหรับแม่ ๆ ที่ให้นมลูก

อย่างที่คุณแม่หลาย ๆ ท่านรู้กันอยู่แล้วค่ะว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยให้ลูกได้รับสารอาหารที่จำเป็นตั้งแต่ช่วงแรก ๆ แต่คุณแม่ก็ยังคงมีคำถามมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ไม่น้อยเลยใช่มั้ยคะ ไม่เป็นไรค่ะ คุณแม่ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะแม่มีเคล็ดลับดี ๆ ในการให้นมลูกและพร้อมให้กำลังใจคุณแม่ทุกท่านให้สามารถบรรลุเป้าหมายเพื่อจะให้ลูกได้รับนมแม่ที่เปี่ยมไปด้วยสารอาหารชั้นเยี่ยม และพร้อมจะเผชิญความท้าทายในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ว่ามันคือเรื่องปกติและเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมาให้คุณแม่ทุกคนค่ะ ซึ่งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือการเดินทางที่มีจังหวะขึ้น ๆ ลง ๆ ในช่วงสองสามวันและสัปดาห์แรก คุณแม่อาจจะรู้สึกว่ามีปัญหาอุปสรรคมากกว่าความสนุกหรือความสุข แต่เชื่อเถอะค่ะมันจะง่ายขึ้นตามเวลาและการฝึกฝน! ใช่แล้วล่ะค่ะ… การที่คุณแม่ได้รับการฝึกฝน เพิ่มความอดทนและพยายามจะทำช่วยให้คุณเอาชนะความท้าทายในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ต้องเผชิญไปได้อย่างแน่นอนค่ะ




5 วิธี ให้ลูกเข้าเต้า ท่าไหนดี (5)

นอกจากนี้นะคะ แม่ก็มีหลายวิธีในการจัดท่าตัวเองและอุ้มลูกขณะให้นมลูกมาฝากด้วยค่ะ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการหาท่าที่เหมาะสมกับทั้งตัวคุณแม่เองและลูกน้อยค่ะ ลองท่าทั้งหมดจนกว่าคุณแม่และลูกน้อยจะรู้สึกว่าสบายตัว ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย คุณแม่อาจใช้ตำแหน่งที่แตกต่างกันสำหรับการให้นมแต่ละครั้งเพื่อใช้ในการตัดสินใจได้นะคะว่าวิธีการให้นมในท่าไหนเหมาะสมสำหรับคุณแม่และลูกน้อยมากที่สุดค่ะ โดยสามารถลองทั้ง 5 ท่านี้เพื่อดูว่าท่าไหนดีที่สุดสำหรับคุณแม่และลูกน้อยได้เลยค่ะ

1. ท่าอุ้มลูกฟุตบอล (Clutch or Football Hold)

รูปภาพจาก wicbreastfeeding.fns.usda.gov

ท่านี้ดีอย่างไร / เหมาะสำหรับใคร ?

    • คุณแม่ที่ผ่าคลอด 
    • คุณแม่ที่กำลังให้นมลูกแฝด
    • คุณแม่ที่มีหน้าอกขนาดใหญ่
    • คุณแม่ที่มีหัวนมแบนหรือกลับหัว
    • คุณแม่ที่มีน้ำนมพุ่งแรง
    • ลูกน้อยของคุณแม่ที่ชอบกินนมในท่าแนวตั้ง ซึ่งท่านี้อาจช่วยทารกที่เป็นโรคกรดไหลย้อนได้ด้วยค่ะ 
    • ท่านี้จะทำให้คุณแม่และลูกน้อยอยู่ในท่าที่สบายตัว

ทำอย่างไร ?

คุณแม่ต้องอุ้มลูกด้วยแขนข้างเดียวกันกับเต้านมข้างที่จะให้ลูกน้อยดูดโดยที่ลำตัวลูกอยู่ใต้รักแร้ ปลายเท้าลูกชี้ไปทางด้านหลังของคุณแม่ ฝ่ามือประคองทั้งต้นคอและท้ายทอยลูก ตัวอย่างเช่น สำหรับเต้านมด้านขวาให้จับทารก โดยอยู่ในท่าที่หงายขึ้นทางด้านขวา วางศีรษะของทารกไว้ใกล้หัวนมด้านขวาและหนุนหลังและขาของทารกไว้ใต้แขนขวา จับฐานศีรษะของทารกเบา ๆ ด้วยฝ่ามือขวา หมอนใต้แขนขวาช่วยรองรับน้ำหนักลูกน้อยได้ และเพื่อป้องกันหลังของคุณแม่ พยายามหลีกเลี่ยงการเอนตัวลงไปหาลูกน้อย แต่ใช้วิธีการนำลูกน้อยเข้ามาหาคุณแม่แทนค่ะ

2. ท่าลูกนอนขวางบนตัก (Cross-cradle or Transitional Hold)

รูปภาพจาก wicbreastfeeding.fns.usda.gov

ท่านี้ดีอย่างไร / เหมาะสำหรับใคร ?

    • ลูกน้อยที่ต้องการการรองรับศีรษะเป็นพิเศษ 
    • ลูกน้อยของคุณคลอดก่อนกำหนด การดูดของลูกน้อยที่ยังไม่สมบูรณ์ การอุ้มนี้อาจช่วยให้ลูกน้อยของคุณแม่อยู่กับที่ นี่คือวิธีที่คุณแม่และลูกน้อยจะอยู่ในท่าให้นมได้อย่างสบายตัว

ทำอย่างไร ?

อุ้มลูกน้อยด้วยแขนข้างตรงกันข้ามกับเต้านมข้างที่จะให้ลูกดูดนม ฝ่ามือของคุณแม่ประคองต้นคอและท้ายทอยลูก ก้นของลูกจะอยู่ตรงข้อพับข้อศอกคุณแม่ค่ะ ตัวอย่างเช่น หากคุณแม่จะให้นมลูกน้อยกับเต้าด้านขวา คุณแม่อุ้มและจับศีรษะของลูกให้อยู่ที่เต้านมด้านขวา ส่วนลำตัวและขาของทารกไปทางด้านซ้าย ถ้าสบายกว่านี้ให้หนุนแขนโดยอุ้มทารกไว้บนหมอนพาดตัก วางมือซ้ายไว้ข้างหูและคอของทารกเบา ๆ โดยให้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้อยู่ข้างหลังใบหูแต่ละข้างและฝ่ามือระหว่างหัวไหล่ของทารก หันร่างกายของทารกไปทางคุณแม่เพื่อให้ท้องของคุณแม่ได้สัมผัส จับเต้านมของคุณแม่และบีบนวดเต้านมในระหว่างการให้นมไปด้วยได้เลยนะคะ และเพื่อป้องกันหลังของคุณแม่ พยายามหลีกเลี่ยงการเอนตัวลงไปหาทารก พาลูกน้อยมาหาคุณแม่แทนค่ะ

3. ท่าลูกนอนขวางบนตัก (Cradle Hold)

รูปภาพจาก wicbreastfeeding.fns.usda.gov

ท่านี้ดีอย่างไร / เหมาะสำหรับใคร?

    • เป็นวิธีที่คุณแม่และลูกน้อยอยู่ในท่าที่สบายตัวและสะดวกสบาย 
    • ง่ายสำหรับคุณแม่และลูกน้อย  โดยเฉพาะลูกน้อยมีไม่สามารถรู้วิธีการดูดนมจากเต้าเท่าที่ควร การจับนี้สามารถช่วยนำปากของทารกเข้าสู่เต้านมของคุณแม่ได้อย่างง่ายขึ้นนั่นเองค่ะ

ทำอย่างไร ?

อุ้มลูกด้วยแขนข้างเดียวกับเต้านมข้างที่คุณแม่ต้องการจะให้ลูกดูดค่ะ ฝ่ามือประคองลำตัวและก้นลูกไว้ ศีรษะลูกอยู่ตรงข้อพับของข้อศอกคุณแม่ ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณแม่จะให้นมลูกด้วยเต้านมด้านขวา คุณแม่ก็ต้องอุ้มลูกด้วยแขนขวา ในขณะที่ลูกน้อยจะตะแคงซ้ายบนตักของคุณแม่โดยให้คุณแม่อุ้มลูกให้อยู่ในระดับหัวนม ศีรษะของลูกจะต้องวางอยู่บนแขนขวา โดยให้หลังของลูกอยู่ตามแขนและฝ่ามือด้านใน หันหน้าท้องของลูกไปทางท้องของคุณแม่ มือซ้ายของคุณแม่ก็จะมีอิสระในการพยุงเต้านมหากจำเป็นต้องช่วยจับเต้านมไปหาลูกน้อยเพื่อให้ง่ายขึ้น อีกทั้งหมอนให้นมยังสามารถช่วยพยุงแขนและข้อศอกของคุณแม่ได้ เพื่อป้องกันหลังของคุณและหลีกเลี่ยงการเอนตัวลงไปหาลูกน้อย แต่พาลูกน้อยมาหาคุณแม่แทนค่ะ

4. ท่านอนหงาย (Laid-Back or Straddle Hold)

รูปภาพจาก wicbreastfeeding.fns.usda.gov

ท่านี้ดีอย่างไร / เหมาะสำหรับใคร ?

    • คุณแม่ที่ต้องการท่าที่ผ่อนคลายโดยมีลูกน้อยเข้ามาเต้าแม่เอง

ทำอย่างไร ?

คุณแม่แค่เอนหลังบนหมอนโดยให้หน้าของลูกน้อยแนบชิดกับคุณแม่นั่นเองค่ะ คุณแม่บางคนอาจจะชอบการนั่งตัวตรงเพื่อผลลัพธ์ที่ดี แต่คุณแม่บางคนก็ชอบที่จะเอนหลังจนเกือบจะนอนราบ การที่ให้นมในท่านี้ ทำให้ทารกถูกอุ้มด้วยลำตัวของคุณแม่แทนนั่นเองค่ะ โดยที่คุณแม่อาจไม่ต้องใช้มือประคองลูก แต่คุณแม่ต้องตรวจสอบให้แน่ใจด้วยนะคะว่าร่างกายของลูกน้อย โดยเฉพาะศีรษะและไหล่ของทารกแข็งแรงอย่างเต็มที่แล้ว และวางแก้มของลูกน้อยไว้ใกล้เต้านม คุณแม่บางคนพบว่าการใช้มือข้างหนึ่งจับเต้านมมาหาลูกน้อย ก็ทำให้การให้นมเป็นไปอย่างง่ายขึ้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณแม่และสิ่งที่คุณแม่คิดว่าสะดวกสบายที่สุด ลูกน้อยของคุณแม่จะหาหัวนม จับ และเริ่มดูดนมตามธรรมชาติของพวกขาค่ะ

5. ท่านอน (Side- Lying Position)

รูปภาพจาก wicbreastfeeding.fns.usda.gov

ท่านี้ดีอย่างไร ?

    • สำหรับคุณแม่ผ่าคลอด นี่ถือเป็นวิธีที่ง่ายและสบายตัวมาก ๆ สำหรับคุณแม่ที่ยังเจ็บบาดแผลจากการผ่าคลอด

ทำอย่างไร ?

คุณแม่และลูกน้อยนอนตะแคงหันหน้าเข้าหากัน หน้าอกของลูกน้อยควรหันเข้าหาหน้าอกของคุณแม่ และปากของลูกน้อยควรอยู่ระดับเดียวกับหัวนม โดยให้คุณแม่นอนศีรษะสูงกว่าลำตัวเล็กน้อย อุ้มลูกน้อยด้วยแขนข้างเดียวกันกับเต้านมข้างที่จะให้ลูกน้อยดูด ฝ่ามือประคองลำตัวและก้นลูกไว้ ศีรษะลูกอยู่ตรงข้อพับของข้อศอกคุณแม่ ในท่านี้คุณแม่สามารถประคองหลังของลูกน้อยโดยใช้ปลายแขนได้ หนุนตัวเองด้วยหมอนหนุนหลัง แต่คุณแม่ควรระวังอย่าให้เสื้อผ้าหรือผ้าปูที่นอนหลวม ๆ ล้อมรอบลูกน้อยนะคะ เพราะอาจจะอุดปากอุดจมูกลูกได้ค่ะ

ปัญหาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่พบบ่อย (1) ได้แก่ :

1. เจ็บหัวนม หัวนมแตก

แน่นอนค่ะว่า คุณแม่หลายคนอาจจะไม่มีน้ำนมทันทีหลังคลอด และการให้ลูกได้ดูดเต้าเราบ่อย ๆถือเป็นการกระตุ้นที่ดีมาก ๆ เลยล่ะค่ะ ที่จะทำให้น้ำนมคุณแม่มาเร็วขึ้น แน่นอนว่าเมื่อน้ำนมคุณแม่ยังไม่ออก ลูกน้อยก็จะดูดกระตุ้นแรงขึ้น ๆ คุณแม่ก็อาจเกิดปัญหาการเจ็บหัวนมบ้าง หัวนมแตกบ้าง ซี่งก็มีครีมแก้การเจ็บหัวนมเพื่อเป็นการบรรเทาอาจปวดได้ดีเยี่ยมเลยค่ะ

2. ปริมาณน้ำนมต่ำ

บางครั้งคุณแม่ก็กังวลว่าจะให้นมเพียงพอสำหรับทารกหรือไม่ แน่นอนค่ะว่าน้ำนมแม่จะผลิตได้เพียงพอกับความต้องการของลูกน้อยค่ะ ซึ่งถือว่าข้อนี้คงเป็นคำถามที่ทำให้คุณแม่หลาย ๆ คนกังวลอยู่ไม่มากก็น้อย นั่นก็เป็นเหตุผลที่ทำให้คุณแม่บางท่านอาจจะเสริมนมผงในขณะที่รอให้น้ำนมหลั่งไหลให้มากพอ

3. ความต้องการของลูกน้อยที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับการเติบโต

เมื่อลูกน้อยเติบโตขึ้น ลูกน้อยก็ย่อมต้องการน้ำนมมากขึ้นตามไปด้วย ลูกน้อยจะต้องขอให้คุณแม่ให้นมพวกเขาบ่อยขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ

4. การคัดเต้านม

การคัดเต้านมถือเป็นเรื่องท้าทายอีกหนึ่งเรื่องที่คุณแม่ต้องรับมืออย่างแน่นอนค่ะ ซึ่งจะมาพร้อมกับความเจ็บปวดเนื่องจากน้ำนมที่เต็มเต้าและไม่ได้รับการดูดโดยลูกน้อย หรือการปั๊มออกนั่นเองค่ะ

5. ท่อน้ำนมอุดตัน

คุณแม่จะมีความรู้สึกเหมือนมีก้อนเนื้อเป็นไตแข็ง ๆ บริเวณใดบริเวณหนึ่งที่อาจจะสัมผัสแล้วไม่ได้เกิดขึ้นทั่วทั้งเต้านม ซึ่งมีสาเหตุมาจากท่อน้ำนมอุดตันนม คุณแม่ก็จะเกิดความเจ็บปวดในเต้านมที่ เกิดจากท่อน้ำนมระบายออกไม่ถูกวิธีหรือไม่ได้ให้ลูกดูดบ่อยนั่นเองค่ะ (2)

6. การติดเชื้อรา

ใช่ค่ะ…คุณแม่อาจจะเผชิญปัญหาในเรื่องการติดเชื้อ ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่หัวนมหรือในเต้านมของคุณได้

ดีลดี เบสท์รีวิวเลือกให้ดีลดี เบสท์รีวิวเลือกให้ดีลดี เบสท์รีวิวเลือกให้

7. การปฏิเสธจากลูกน้อย

อาจจะมีบางช่วงนะคะที่ลูกน้อยปฏิเสธที่จะกินนมแม่อย่างกะทันหันหลังจากที่กินนมแม่เป็นเวลาหลายเดือน

8. ขนาดและรูปร่างของเต้านมและหัวนม

คุณแม่แต่ละคนก็ย่อมมีหน้าอกและหัวนมในขนาดที่แตกต่างกัน จนทำให้คุณแม่หลาย ๆ คนรู้สึกไม่มั่นใจว่าเราจะสามารถให้นมลูกได้จริงหรือ? คุณแม่สบายใจได้ค่ะ ว่าขนาดและรูปร่างของเต้านมหรือหัวนมนั้น ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการให้นมลูกเลยค่ะ แต่คุณแม่อาจใช้อุปกรณ์ที่จะช่วยให้การให้นมเป็นไปอย่างง่ายขึ้นได้ค่ะ

9. อ่อนเพลีย

การดูแลทารกแรกเกิดอาจทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยล้าและยิ่งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้วล่ะก็ อาจทำให้คุณแม่รู้สึกยากขึ้นเมื่อคุณแม่อ่อนล้าค่ะ

10. รู้สึกเหมือนทิ้งลูกไปไม่ได้

การให้นมลูกบ่อย ๆ อาจทำให้คุณรู้สึกเหมือนไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง เพราะนั่นคือภารกิจที่คุณแม่อยากทำตลอดเวลา ไม่สามารถละเลยได้ คุณแม่อาจต้องขอความร่วมมือและการสนับสนุนจากคุณพ่อ หรือ ญาติที่เราไว้ใจได้นะคะ

11. ความรู้สึกเศร้าหรือซึมเศร้า

ความรู้สึกเหล่านี้อาจมาพร้อมกับการเป็นคุณแม่มือใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นกับแม่เองมาแล้วค่ะ ซึ่งการซึมเศร้าหลังคลอดเกือบทำให้แม่ล้มเลิกที่การให้นมลูกไปแล้วค่ะ แต่การปรึกษาแพทย์ก็ช่วยให้เราสามารถข้ามผ่านปัญหานี้ไปได้ค่ะ

12. ไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากคนรอบข้าง

อยากให้คุณแม่เข้าใจนะคะว่า ในขณะที่คุณแม่กำลังตัดสินใจว่าจะวางแผนให้นมลูกอยู่นั้น อาจจะมีคนรอบข้าง หรือ คนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เห็นด้วยกับการตัดสินใจของเราเสมอไป คุณแม่ก็ต้องเตรียมรับมือกับความท้าทายนี้ และหนักแน่นให้มาก ๆ ด้วยนะคะ สู้ ๆ ค่ะ

เส้นทางการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของผู้หญิงทุกคนแตกต่างกัน ดังนั้นคุณแม่อาจประสบปัญหาเหล่านี้บ้างหรือไม่มีเลย ถ้าคุณแม่เจอปัญหาแล้วล่ะก็ โปรดรู้ไว้นะคะ ว่าคุณแม่สามารถขอความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากครอบครัวและเพื่อนได้เสมอ ด้วยเวลา ความอดทนและการสนับสนุนเพียงแค่เล็กน้อยก็อาจทำให้คุณแม่สามารถเอาชนะความท้าทายในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และบรรลุเป้าหมายได้ค่ะ

เคล็ดลับดี ๆ ที่อยากให้คุณแม่ ๆ ไปลองปรับใช้

ตั้งแต่ช่วงที่ลูกน้อยคลอดออกมามีหลายสิ่งที่คุณสามารถทำได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จได้ มาดูเคล็ดลับดี ๆ ที่อยากให้คุณแม่ ๆ ไปลองปรับใช้ดูนะคะ

แม่ลูก นอนด้วยกันอย่างมีความสุข

1. อยู่ด้วยกันหลังคลอด

การให้ลูกได้อยู่กับคุณแม่หลังคลอดเป็นปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมความรู้สึกใกล้ชิดและการตอบสนองของฮอร์โมนที่เชื่อมโยงกับความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้นะคะ ซึ่งในปัจจุบันนะคะ ในหลาย ๆ กรณี คุณแม่ก็สามารถอยู่กับลูกน้อยได้ทันทีหลังการผ่าตัดคลอดเลยด้วยซ้ำค่ะ

2. ขอรับข้อมูลที่ถูกต้องจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในการให้นมลูก

ไม่กี่วันหลังคลอดนี่แหละค่ะ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่สุดสำหรับคุณแม่และลูกน้อยในการเรียนรู้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หน้าอกของคุณจะยังคงนิ่มอยู่ในสองสามวันหลังคลอด และจากนั้นเมื่อน้ำนมแม่เปลี่ยนจากน้ำนมเหลือง ( colostrum) ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงซึ่งจะใช้เวลาแค่ 1-3 วันเท่านั้นในการสร้าง (3) และน้ำนมของคุณแม่ก็จะหลั่งมาเป็นน้ำนมสีขาว หรืออยู่ในระยะน้ำนมแม่ (mature milk) (3) ลองใช้สองสามวันแรกของคุณแม่นี่ล่ะค่ะ รับข้อมูลและความรู้ที่ถูกต้องจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสิ่งนี้อาจช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตอีกด้วยค่ะ

3. อดทน

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นทักษะที่ทั้งคุณแม่และลูกน้อยกำลังได้เรียนรู้ คุณแม่ควรใช้เวลาและความอดทนในระหว่างการเรียนรู้นี้ไปด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้น การพักผ่อนก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับทั้งคุณแม่และลูกน้อย หากคุณแม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังหงุดหงิดหรือโกรธตัวเองในขณะที่พยายามให้นมลูก ให้คุณแม่หยุดก่อนนะคะและลองอีกครั้งในอีกสักครู่ค่ะ และถ้าเป็นไปได้นะคะ คุณแม่อาจจะขอให้คุณสามี ครอบครัว หรือเพื่อน ช่วยให้แรงกำลังใจและสนับสนุนเพื่อให้คุณแม่ได้พร้อมลองอีกครั้ง

4. ให้นมตามความต้องการของลูกน้อย

ในขณะที่คุณแม่กำลังให้นมลูก ลูกของคุณแม่จะกินนมระหว่างเจ็ดถึงสิบสองครั้งใน 24 ชั่วโมง (4) การให้นมอย่างสม่ำเสมอและมีประสิทธิภาพจะช่วยให้คุณมีน้ำนมเพียงพอสำหรับลูกน้อยอย่างแน่นอนค่ะ

5. ให้ลูกน้อยอยู่ในห้องเดียวกันกับคุณแม่

การให้ลูกน้อยอยู่ในห้องเดียวกับคุณแม่ในโรงพยาบาลและที่บ้าน มีประโยชน์มากมาย รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตของทารกอย่างกะทันหัน (3) นอกจากนี้การมีลูกน้อยอยู่ในห้องเดียวกับคุณแม่จะช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดีขึ้น และช่วยให้คุณแม่รับรู้ว่าเมื่อใดที่ลูกน้อยหิว เหนื่อย หรือต้องการการกอด จะช่วยให้คุณแม่รู้ได้ง่ายขึ้นเมื่อลูกพร้อมที่จะกินนมค่ะ สิ่งสำคัญคือต้องจัดสภาพแวดล้อมการนอนหลับที่ปลอดภัยสำหรับลูกน้อยทั้งกลางวันและกลางคืน หลีกเลี่ยงจุกนม และอาหารเสริม เนื่องจากทารกแรกเกิด ยังคงเรียนรู้ที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทารกจึงอาจสับสนได้ว่าพวกเขาได้รับจุกนมหรือจุกหลอกกันแน่ การดูดนมจากเต้านมบ่อย ๆ และไม่จำกัด จะทำให้ลูกน้อยพึงพอใจและมั่นใจได้ว่าปริมาณน้ำนมของคุณจะยังคงตรงตามความต้องการของลูกน้อยอยู่ค่ะ

ข้อควรรู้ : ควรให้ทารกกินนมแม่เพียงอย่างเดียว เพราะทารกไม่ต้องการอาหารหรือเครื่องดื่มอื่น ๆ จนกว่าจะอายุอย่างน้อยหกเดือน อยากให้คุณแม่มั่นใจไว้ได้เลยค่ะว่าลูกน้อยของคุณแม่จะได้รับนมแม่อย่างเพียงพอในช่วงสัปดาห์แรก ๆ หากลูกมีการปัสสาวะและการขับถ่ายอุจจาระที่เป็นไปอย่างปกติ ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าลูกน้อยได้รับนมแม่อย่างเพียงพอนั่นเองค่ะ หรือคุณแม่สามารถสังเกตได้จาก (4) :

  • ลูกน้อยมีท่าทีที่มีความสุขหลังการให้นมทุกครั้ง
  • น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจาก 3 ถึง 7 วันแรกหลังคลอด (ลูกน้อยของคุณอาจน้ำหนักลดลงเล็กน้อยในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด)
  • มีผ้าอ้อมเปียกประมาณ 6 ถึง 8 ชิ้นต่อวัน
  • มีอุจจาระประมาณ 2 ถึง 5 ครั้งขึ้นไปต่อวันในตอนแรก จำนวนนี้อาจลดลงเหลือประมาณ 2 หรือน้อยกว่าต่อวัน




เป็นไงบ้างคะคุณแม่ เคล็ดลับและเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แม่เอามาฝากกัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณแม่ ๆ ที่กำลังศึกษาข้อมูลการให้นมลูกน้อยไม่มากก็น้อยนะคะ การให้นมลูกเข้าเต้าถือเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการป้อนนมลูกน้อยเมื่ออยู่ด้วยกัน แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณแม่จำเป็นต้องแยกจากลูกเพื่อกลับไปทำงาน หรือ ทำธุระข้างนอกบ้าน แล้วล่ะก็ คุณแม่ก็อาจจะปั๊มนมเก็บไว้เป็นสต๊อกให้กับเจ้าตัวน้อย หรือ การใช้แก้วหรือขวดนมเพื่อป้อนลูกน้อยแทนก็ได้นะคะ แต่ก็แน่นอนค่ะว่ามันช่างแตกต่างจากการให้ลูกดูดนมจากเต้า ถึงแม้จะให้ความสะดวกสบายเมื่อต้องฝากลูกน้อยไว้กับคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย แต่ความอบอุ่นที่ลูกน้อยจะได้จากการดูดนมจากเต้าของคุณแม่ย่อมเทียบกันไม่ได้เลยใช่มั้ยล่ะคะ ที่สำคัญนะคะ คุณแม่พยายามให้ลูกดูดนมจากเต้าทั้งสองข้างในแต่ละครั้ง ตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกน้อยดูดนมเกลี้ยงไปหนึ่งเต้าก่อน ก่อนที่จะเริ่มอีกข้าง และอย่าจำกัดเวลาการให้ลูกน้อยดูดเต้า เพราะนั่นอาจช่วยป้องกันท่อน้ำนมของคุณแม่ไม่ให้อุดตัน และอย่าลืมนะคะว่า การดูแลสุขอนามัยก็ถือเป็นเรื่องที่คุณแม่ต้องใส่ใจ ล้างมือทุกครั้งก่อนจะให้นมลูกน้อย เลือกรับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ในแต่ละวัน เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของตัวคุณแม่เองและตัวลูกน้อยด้วยนะคะ เพราะโภชนาการที่ดี และสารอาหารที่เพียงพอ จะช่วยนำมาใช้ในการผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพให้กับลูกน้อยนั่นเองจ้า

References

  1. Common Breastfeeding Challenges
  2. เกร็ดความรู้  ท่อน้ำนมอุดตัน โดย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  3. น้ำนมแม่ ประโยชน์อเนกอนันต์ โดย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. Breastfeeding Getting a good latch
  5. 5 Breastfeeding Holds to Try
Arrani Benitez

Arrani Benitez

คุณแม่ลูกสอง ผู้รักสุขภาพ และชอบสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกเสมอ ไม่ว่าจะเรื่องของใช้ หรือโภชนาการที่ดี

Next Post
ดีลดีเบสท์รีวิวเลือกให้ดีลดีเบสท์รีวิวเลือกให้ดีลดีเบสท์รีวิวเลือกให้