จากข่าวเด็กเล็กโดนครูทำร้ายที่ดังกระฉ่อนและทุกคนให้ความสนใจเป็นอย่างมากในตอนนี้ คงหนีไม่พ้นคลิปวิดีโอครูพี่เลี้ยงทำร้ายนักเรียนชั้นอนุบาลจากโรงเรียนดังในย่าน กทม. แห่งนึง ที่มีโรงเรียนในเครืออยู่มากมาย ซึ่งจากเหตุการณ์ในข่าวนั้นได้ส่งผลกระทบจิตใจต่อคนเป็นพ่อเป็นแม่มาก ๆ รวมถึงคนอื่น ๆ ในสังคมต่างก็รู้สึกไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ซึ่งสาเหตุที่เรื่องได้แดงขึ้นมานั้น เกิดจากการที่พ่อแม่ของเด็ก ๆ ในข่าวสังเกตพฤติกรรมของลูกที่เปลี่ยนไป รวมถึงหลักฐานอย่างกล้องวงจรปิดในห้องเรียนที่เป็นเครื่องพิสูจน์ชั้นดีในการเอาผิดครูพี่เลี้ยงและโรงเรียน
แน่นอนค่ะว่าเหตุการณ์เหล่าสามารถเกิดขึ้นกับบุตรหลานของใครก็ได้ และหากเกิดกับบุตรหลานของคุณ ผู้ปกครองควรจะมีวิธีการรับมือและปฏิบัติตัวอย่างไร หากต้องเผชิญกับปัญหาดังกล่าว และคุณจะป้องกันอย่างไรไม่ให้เป็นเหตุการณ์วัวหายล้อมคอก เพราะโรงเรียนหลาย ๆ แห่ง ก็ไม่ได้มีกล้องวงจรปิดในห้องเรียนให้คุณสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ ดังนั้นวันนี้เราจึงมีวิธีสังเกตพฤติกรรมของลูกมาฝากคุณกันค่ะ
วิธีสังเกตพฤติกรรมของลูก เมื่อเด็กรู้สึกไม่สบายใจและหวาดกลัว (1)
คุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าลูก ๆ ของคุณ จะเจออะไรบ้างในแต่ละวัน ขณะที่พวกเขาอยู่ที่โรงเรียน หากเด็ก ๆ ไม่เล่าหรือแบ่งปันเรื่องราวให้คุณได้ฟัง ว่าวันนี้เขาทำอะไรบ้าง กับใคร ที่ไหน อย่างไร แล้วคุณจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกของคุณมีอะไรในใจ หรือพวกเขารู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกหวาดกลัว และหวาดระแวงหรือเปล่า? ดังนั้นคุณต้องสังเกตพฤติกรรมลูกของคุณค่ะ
1. สังเกตจากการเล่นของลูก
เด็กจะแสดงออกผ่านการเล่น คุณสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับความรู้สึกของพวกเขาได้เพียงแค่ใช้เวลาร่วมกับเขาและสังเกตดูพฤติกรรมเขาเล่น
เด็กที่เครียดและอารมณ์เสียมักเล่นเกมส์ต่อสู้กับของเล่น แสดงความคิดเห็นโดยพูด เช่น “มีการต่อสู้เกิดขึ้น ตีอย่างรุนแรง” หรือ “ดูน่ากลัวทีเดียว” วิธีนี้สามารถช่วยให้เขาพูดถึงสิ่งที่รบกวนจิตใจได้
แม้ว่าคุณจะไม่ได้เริ่มพูดคุย แต่คุณทำให้ลูกรู้สึกสบายใจกับคุณ เป็นการปูทางให้ลูกเปิดใจพูดเกี่ยวกับปัญหาของเขา แต่ถ้าลูกไม่ต้องการพูดก็ให้ปล่อยเวลาไปสักพัก รอจนกว่าเขาจะพร้อมที่จะบอกคุณว่ามีอะไรรบกวนใจของเขา
2. สังเกตเห็นว่าลูกกังวล หรือกลัวเกินไปที่จะพูด

หากคุณกังวลว่าลูกอาจถูกทารุณกรรม คุณสามารถถามลูก เช่น คุณครูและเพื่อนที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง ทำอะไรกันบ้าง “ลูกสามารถบอกแม่ได้นะถ้าลูกอยากบอก”
เด็กอาจไม่เข้าใจว่าเขากำลังถูกทำร้าย เขาอาจมองว่าครูกำลังโกรธหรือรำคาญเขา ซึ่งเด็กมักไม่พูดถึงเรื่องนี้ เพราะคิดว่าเป็นความผิดของตนเอง หรือการถูกผู้ทำร้ายโน้มน้าวให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ “เป็นความลับ” หรือ “ทำไปเพราะรัก”
ถ้าลูกเปิดใจที่จะพูด เขามักจะถามว่าคุณว่า คุณจะบอกใครเกี่ยวกับสิ่งที่เขากำลังจะบอกคุณหรือไม่ ตัวคุณเองก็อย่าสัญญาว่าจะไม่บอก แต่อธิบายว่าคุณจะบอกเพียงแค่คนที่สามารถให้ความช่วยเหลือเรื่องนี้ได้เท่านั้น
3. ลูกก้าวร้าว หรือประพฤติเปลี่ยนไป ?
หากลูกมีความก้าวร้าว การพูดคุยอาจช่วยให้คุณพบเหตุผลของการก้าวร้าวนี้ได้ เริ่มต้นด้วยการบอกเด็กว่าพฤติกรรมที่ไม่ดีเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และเพราะเหตุใด เช่น เพราะมันจะทำร้ายคนอื่นหรือทำให้พวกเขาเดือดร้อน จากนั้นก็เปิดโอกาสให้ลูกพูดถึงสาเหตุของความโกรธ
สิ่งนี้อาจยังไม่ได้ผลในทันที เพราะเด็กที่กำลังโกรธอาจไม่ฟังคุณในตอนนั้น อย่ายอมแพ้ยกธงขาวไปสะก่อนนะคะ เด็กๆจะรู้ตัวเมื่อพวกเขาประพฤติตัวไม่ดี และสิ่งสำคัญคือต้องหาสาเหตุให้ได้ว่าทำไม หรือหากมีความต่อต้านไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากเจอบุคคลใดบุคคลหนึ่ง พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเหล่านี้ ก็อาจเป็นเบาะแสให้คุณหาสาเหตุถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
หากคุณสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกมีแล้ว แล้วกลับมาคิดว่าทำไมลูกถึงไม่บอกคุณว่าเกิดอะไรขึ้นตั้งแต่แรก คุณต้องหาวิธีที่ทำอย่างไรให้ลูกกล้าเปิดใจคุยกับคุณ การที่จะให้ใครสักคนเชื่อใจ เปิดใจคุยกับคุณนั้น มันต้องเริ่มที่ตัวคุณก่อน
ทำอย่างไรให้ลูกกล้าเปิดใจ กล้าคุยกับคุณ (2,3)
1. สังเกตจากบทสนทนาเล็กๆน้อย ๆ ที่คุยกับลูก
การสังเกตจากบทสนทนาเล็กๆ น้อยๆ ที่เปิดให้ลูกและคุณได้คุยกัน โดยที่คุณหยุดกิจกรรมที่ทำอยู่ วางทุกอย่างเพื่อตอบสนองลูก บางครั้งอาจทำให้คุณหงุดหงิด เพราะที่ต้องหยุดกิจกรรมที่ทำอยู่แล้วมาตอบคําถามของลูก แต่คุณสามารถบอกให้ลูกรอได้ แล้ว เมื่อคุณเสร็จสิ้นจากสิ่งที่ทำอยู่แล้วมาตอบคำถาม พูดคุยด้วยความใส่ใจ มีการสบตากันระหว่างคุณและลูก การตอบสนองเช่นนี้เป็นสิ่งสําคัญในการสร้างความใกล้ชิด เขามันบ่งบอกว่าคุณใส่ใจกับบทสนทนาของลูก จะทำให้ลูกไว้ใจคุณ อยากคุยกับคุณ และสําคัญไปกว่านั้น คุณสามารถต่อยอดบทสนทนาไปสู่การไถ่ถามเรื่องราว กิจกรรมที่ลูกได้ทำที่โรงเรียนได้
พ่อแม่ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลูกตั้งแต่วัยเด็กทำให้เมื่อลูกก้าวสู่วัยรุ่น วันที่มีความว้าวุ่น วัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ลูกก็ยังอยากจะพูดคุยกับคุณ อยากปรึกษาเรื่องที่เกิดขึ้นกับเขา ดังนั้นการให้เวลา ใส่ใจกับบทสนทนาของลูกเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
2. ถามคําถามที่ไม่ตัดสิน เพื่อได้คําตอบที่แท้จริง
“วันนี้มีสิ่งดีๆ อะไรเกิดขึ้นบ้างในโรงเรียน?” “เพื่อนๆที่โรงเรียนพูดคุยเกี่ยวกับแฟนบ้างมั๊ย?” “วันนี้นั่งทานอาหารกลางวันกับใคร?” หรือ”ผลแข่งขันฟุตบอลอย่างไรบ้าง?” คำถามเหล่านี้จะทำให้ลูกอยากคุยกับคุณมากกว่า ถามว่า “วันนี้ที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง? ”
คําถามที่เริ่มต้นด้วยคำว่า “ทําไม” มักจะทําให้เด็กรู้สึกโดนรุกราน เค้นเอาคำตอบ “ทําไมคุณใส่ที่ชุดนี้?” จะทำให้ลูกรู้สึกเหมือนกำลังทำอะไรผิด มันจะดีกว่าถ้าถามว่า “ลูกคิดว่าเพื่อนลูกเขาจะใส่ชุดอะไรไปทริป?”
3. อย่าเข้าไปหาทางออกและให้คําแนะนําถ้าลูกยังไม่ได้ขอ
ลูกของคุณต้องการโอกาสที่จะระบาย และเขาจะไม่อยากฟังแนะนํา เมื่อเขาไม่ได้ขอ เขาต้องการโอกาสที่จะคิดหาทางออกด้วยตัวเขาเอง ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยลูกให้เพิ่มความมั่นใจและความสามารถ ถ้าคุณกระโดดเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา จะทําให้เขารู้สึกไร้ความสามารถ แต่เมื่อคุณมีโอกาสที่ประจวบเหมาะในบทสนทนา คุณสามารถสะท้อนความรู้สึก แล้วช่วยระดมความคิดแก้ปัญหาร่วมกับลูก จะพบว่ามีประโยชน์มากขึ้นในการพูดคุยกันแบบนี้ – และจะช่วยให้ลูกมีแนวโน้มที่ลูกจะอยากพูดคุยกับเราเมื่อพวกเขามีปัญหา

4. คุณต้องแน่ใจได้ว่าคุณมีเวลาให้กับลูกๆ แต่ละคน ในทุกๆวัน
คุณต้องแน่ใจว่าคุณได้มีเวลานั่งคุยลูกๆ ของคุณในทุกวัน แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ฟังเรื่องราวไฮไลท์ประจำวันของลูก โดยเป็นผู้ฟังที่เหมือนกับว่าเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน ซึ่งการนั่งคุยกันก็เปลี่ยนไปตามวัยของลูก ในวัยเตาะแตะก็เล่นไปแล้วคุยไป พอโตขึ้นหน่อยก็อาจจะนั่งดูทีวีด้วยกัน คุยวางแผนกิจกรรมในวันหยุด แต่พอโตเข้าสู่วัยรุ่นก็อาจจะนั่งคุยกันระหว่างดื่มนมก่อนนอน อันนี้ก็แล้วแต่บริบทของแต่ละบ้าน แต่เน้นว่าเป็นการคุยที่ใช้เวลาได้อย่างมีคุณภาพ
แต่อย่าคาดหวังว่าลูกจะบอกทุกความรู้สึกที่เขามีในใจของเขาระหว่างที่คุยกัน หรือช่วงเวลาที่คุณอยากรู้ อยากจะคาดคั้น แต่ถ้าตัวคุณเองให้ความสม่ำเสมอ และเวลาที่เพียงพอในการคุยกัน การเชื่อใจก็จะเกิดขึ้น โอกาสที่ลูกอยากบอกเรื่องราวที่คับข้องใจก็จะเป็นไปได้มากขึ้น
5. สร้าง “ช่วงเวลาพิเศษ” กับลูกๆให้เป็นกิจวัตรของคุณ
เช่น คุณพ่อกับลูกสาวอาจไปทานอาหารมื้อเที่ยงด้วยกันเดือนละครั้ง หรือเล่นบาสเก็ตบอลด้วยกันสัปดาห์ละครั้ง หรือคุณแม่และลูกชายอาจจะใช้เวลาพูดคุยอัพเดทชีวิตของลูกในระหว่างทางขับรถไปเรียนว่ายน้ำ เด็กๆ มักรอเวลานี้ ที่จะได้ใช้เวลาส่วนตัวกับพ่อแม่ และนี่อาจจะเป็นเวลาที่ดีที่ลูกได้บอกเรื่องราวที่รบกวนจิตใจของเขา
6. ลูกไม่ตอบสนอง และไม่ได้อยากคุยกับคุณ
หากลูกไม่ตอบสนอง ไม่ได้อยากคุยกับคุณ คุณต้องย้อนกลับไปดูว่าคุณเริ่มต้นอย่างไร คุณกำลังคุยกับลูกในเชิงบวกหรือไม่? ลูกมีความคิดหลายสิ่งอยู่ในหัวหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกมส์ เรื่องฟุตบอล ต่างๆ ควรหลีกเลี่ยงการคุยในช่วงนั้นเพราะลูกจะเต็มไปด้วยอารมณ์ ดังนั้นหาวิธีที่จะเผชิญหน้ากับลูกด้วยความเป็นมิตร และไม่คาดคั้นลูกจนเกินไป กลับไปดูที่ข้อ 5 ลองสร้างช่วงเวลาพิเศษกับลูกเพื่อกระชับความสัมพันธ์
7. ลูกเผลอพูดคำพูดที่ทำร้ายจิตใจคุณ
หากลูกตอบคุณทำด้วยคำพูดที่ทำร้ายจิตใจ เช่นการดูถูก ถากถาง หรือไม่ใส่ใจ – พยายามอย่าตอบกลับด้วยความโกรธ
แต่แสดงความเปราะบางและเจ็บปวดด้วยทำอุทาน “อุ๊ย!” และเดินหันหลังให้ (ก่อนที่คุณจะมีอารมณ์แล้วอยากเฆี่ยนตี) ลูกของคุณจะรู้สึกแย่ที่ได้ทำร้ายความรู้สึกของคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณไม่ได้ตอบกลับลูกด้วยความรุนแรง
เตือนตัวเองว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ลูกอาจทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจ และหากตอบโต้ด้วยความรุนแรงอาจมีผลต่อความสัมพันธ์ของคุณและลูกได้ ย้ำตัวเองอยู่เสมอว่า การใกล้ชิดกับลูกเป็นสิ่งสำคัญ
หลังจากนั้นเมื่อคุณสงบอารมณ์ ก็เข้าไปสัมผัสลูกเบาๆ เพื่อบอกลูกว่าคุณต้องการพูดคุยกับลูกมากแค่ไหน และคุณเจ็บแค่ไหนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ลูกของคุณอาจจะสำนึกผิด ขอโทษ และเรียนรู้ ปรับตัวให้ดี แต่หากไม่เป็นเช่นนั้นแสดงว่า ความสัมพันธ์ของคุณและลูก ต้องได้รับการซ่อมแซม ปรับปรุง แก้ไข และบอกกับลูกว่าคุณรักลูกมากแค่ไหนและต้องการอยู่ใกล้ๆกับลูก ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกคนในบ้านต้องปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพ จากนั้นถามลูกว่ามีอะไรในใจที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกหรือไม่
8. มีเวลาให้กับลูก
เด็กๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้มีวาระที่จะต้องรอพูดในกำหนดการประชุม เด็กจะพูดเมื่อเขาต้องการจะพูด ถ้าเขารู้สึกว่าคุณคือผู้ฟังที่ดี และตัวคุณเองก็ต้องฟังอย่างไม่ได้จ้องจะเอาข้อมูลจากลูกอย่างเห็นได้ชัด เพราะจะทำให้เขารู้สึกต่อต้านไม่อยากเล่า

ถ้าลูกอยู่ในวัยเด็กเล็กมักจะพูดโดยไม่ลังเล คุณใช้กลยุทธ์การตั้งคำถามในช่วงเวลาอันมีค่า เช่น ถามในขณะอยู่ในรถ หลังจากอ่านหนังสือเล่มโปรดด้วยกันเสร็จ หรือขณะที่ระบายสี ให้พูดคุยกับลูก ให้ลูกได้เล่าสิ่งมี่อยู่ในใจ
สำหรับเด็กโต การที่ลูกจะคุยกับคุณนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของคุณและลูก หากเป็นความสัมพันธ์ที่ดี ลูกก็ไม่กังวลที่จะบอกคุณ แต่อย่าลืมว่าวัยรุ่นรักความเป็นส่วนตัวและต่อต้านการล้ำเส้น
ใช้เวลาที่มีอยู่ให้คุ้มค่าในการพูดคุยกับลูก ไม่ว่าคุณกำลังทำอาหารอยู่ และลูกกำลังนั่งระบายสี ก็สามารถพูดคุยกันได้ทุกเวลา และมี่สำคัญไม่ใช่เพียงแต่มีเวลาให้เท่านั้นนะคะ การเปิดใจฟังนี่เป็นสื่งที่ขาดไม่ได้ เพราะลูกจะรู้ได้หากว่าคุณตั้งใจสิ่งที่ลูกกำลังพูดอยู่หรือไม่
9. ใช้การสื่อสารทางอ้อม
เด็ก ๆ มักจะเปิดใจมากขึ้นเมื่ออยู่ในรถ เดินเล่น หรือในที่มืด เพื่อลดการสบตา จำไว้ว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะทำให้ลูกได้พูดคุย เพียงแค่คุณปิดปากและฟัง แน่นอนว่าลูกของคุณรู้ว่าคุณอยู่ที่นี้และพร้อมจะรับฟัง
10. รับฟังมากขึ้น
นี่คือส่วนสำคัญที่สุดในการช่วยให้ลูกได้เปิดใจ อย่าพูดแทรก ให้ลูกรู้ว่าคุณเข้าใจแล้วเงียบ เพื่อที่จะให้ลูกได้พูดมากขึ้น หากลูกไม่พูด คุณก็สามารถตั้งคำถามด้วยน้ำเสียงที่เป็นมิตร โดยไม่ให้เขารู้สึกว่ากำลังโดนสอบสวน
References
- Talking to children about feelings
- Talking to your teenager
- จิตวิทยาการเลี้ยงดูและอบรมเด็ก โดย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล