สิ่งที่ต้องรู้ก่อนยื่นภาษีออนไลน์ (สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา)
1. เงินรายได้ของเราเป็นแบบประเภทไหน
มนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ประจำทุกเดือนจะจัดอยู่ในประเภท “การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประเภทที่ 1” ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องทำงานให้ครบปี (12 เดือน) ก่อนถึงจะค่อยยื่นภาษี ไม่ว่าคุณทำงานมากี่เดือนก็ยื่นได้ค่ะ และต้องยื่นไปตามความจริง จากนั้นระบบจะคำนวณให้เองว่าคุณต้องเสียภาษีหรือไม่
หมายเหตุ : หากคุณมีรายได้มากกว่า 1 ช่องทาง อาทิเช่นคุณเป็นฟรีแลนซ์ (ประเภทที่ 2) ด้วย หรือคุณขายของออนไลน์ (ประเภทที่ 8) ด้วย นั่นหมายความว่าเงินได้สุทธิของคุณมีมากกว่า 1 ประภท ตอนยื่นก็ต้องระบุรายได้ตรงนี้ด้วยค่ะ
2. เงินเดือนเท่าไร ต้องยื่นภาษี? (1,2)
สำหรับคนโสดที่มีรายได้เงินเดือนเพียงอย่างเดียว
ถ้าเรามีเงินเดือนเกิน 10,000 บาท/เดือน (หรือมีรายได้รวมแล้วเกิน 120,000 บาท/ทั้งปี) เรามีหน้าที่จะต้องยื่นภาษี (ภ.ง.ด.91) โดยไม่มีข้อยกเว้น ซึ่ง การยื่นภาษี – การเสียภาษี ไม่เหมือนกัน การยื่นภาษีในบางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีเสมอไป อาทิเช่น
- ในกรณีที่จ่ายประกันสังคม และมีเงินเดือนอยู่ในช่วง 10,000-26,583.33 บาท ไม่ต้องเสียภาษี แต่หากเงินเดือนสูงกว่านี้จะต้องเสียภาษี
- ในกรณีที่ไม่จ่ายประกันสังคม และมีเงินเดือนอยู่ในช่วง 10,000-25,833.33 บาท ไม่ต้องเสียภาษี แต่หากเงินเดือนสูงกว่านี้ต้องเสียภาษี
สำหรับคนมีคู่สมรสหรือคนที่มีรายได้ประเภทอื่น สามารถดูได้ในตารางเลยค่ะ (1,2)
บุคคลธรรมดาและผู้ถึงแก่ความตาย มีเงินได้พึงประเมิน ดังนี้ | ||
ประเภทเงินได้ | โสด | สมรส |
เงินเดือนเพียงอย่างเดียว | มากกว่า 120,000 / ทั้งปี ต้องยื่น ภ.ง.ด.91 |
มากกว่า 220,000 / ทั้งปี ต้องยื่น ภ.ง.ด.91 |
เงินได้ประเภทอื่น | มากกว่า 60,000 / ทั้งปี ต้องยื่น ภ.ง.ด.90 |
120,000 / ทั้งปี ต้องยื่น ภ.ง.ด.90 |
3. เงินได้สุทธิ และ อัตราภาษี คำนวณอย่างไร? (กรณีวางแผนลดหย่อนภาษี)
อันที่จริงแล้ว หากคุณใช้วิธีการยื่นภาษีออนไลน์ คุณไม่จำเป็นต้องคำนวณเองก็ได้ เพราะระบบจะทำการคำนวณให้เองว่าคุณต้องจ่ายภาษีหรือไม่ แต่หากคุณอยากรู้ที่มาของเงินได้สุทธิและภาษีที่จ่ายว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อจะได้คำนวณและวางแผนในการลดหย่อนภาษีได้สะดวก เรามาดูวิธีคิดกันค่ะ
เงินได้สุทธิ = เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน
เงินได้ : รายได้ตลอดทั้งปีของคุณ
ค่าใช้จ่าย : รัฐกำหนดว่ารายได้ประเภทที่ 1-2 ให้คิดค่าใช้จ่ายเป็น 50% ของรายได้ทั้งปี หรือสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
ค่าลดหย่อน : รัฐกำหนดค่าลดหย่อนไว้ที่ 60,000 บาท และคุณสามารถบวกค่าลดหย่อนส่วนตัวอื่น ๆ เพิ่มไปได้อีก อาทิเช่นประกันสังคม (ลดได้สูงสุด 9,000 บาท), ประสุขภาพ, ค่าลดหย่อนคู่สมรส, LTF (กองทุนรวมหุ้นระยะยาว), RMF (กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ) และอื่น ๆ อีกมากมายเป็นต้นค่ะ
ตัวอย่าง การคำนวณเงินได้สุทธิ
- เงินได้ : คุณมีรายได้เดือนละ 40,000 บาท ซึ่งในปีที่ผ่านมา คุณได้ทำงาน 12 เดือน คิดเป็น 40,000 × 12 = 480,000 บาท
- ค่าใช้จ่าย : 50% ของรายได้ทั้งหมด แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ดังนั้นค่าใช้จ่ายทั้งปีของคุณคือ 240,000 บาท แต่จากข้อกำหนดลดได้สูงสุดได้เพียงแค่ 100,000 บาท เท่านั้น
- ค่าลดหย่อน : พื้นฐาน 60,000 + ประกันสังคม 9,000 = 69,000 บาท
480,000 - 100,000 - 69,000 = 311,000 บาท
ซึ่งเมื่อได้ค่าเงินได้สุทธิมาแล้ว เราก็ต้องมาดูว่าเงินจำนวนนั้นอยู่ในเลทอัตราภาษีของเงินได้บุคคลธรรมดาช่วงไหน เพื่อที่จะได้รู้ว่าตัวเองต้องเสียภาษีกี่บาท แต่หากเงินได้สุทธิน้อยกว่า 150,000 บาท ก็ไม่ต้องคำนวณหาภาษีที่ต้องเสียค่ะ เพราะคุณได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แต่ยังต้องยื่นภาษีเหมือนเดิมนะคะ อย่าเข้าใจผิดว่าในเมื่อไม่ต้องเสียแล้วภาษีคือไม่ต้องยื่นภาษี
อัตราภาษีของเงินได้บุคคลธรรมดา |
|
เงินได้สุทธิ | อัตราภาษี |
น้อยกว่า 150,000 บาท | ยกเว้น |
150,000 – 300,000 บาท | 5% |
300,000 – 500,000 บาท | 10% |
500,000 – 750,000 บาท | 15% |
750,000 – 1,000,000 บาท | 20% |
1,000,000 – 2,000,000 บาท | 25% |
2,000,000 – 5,000,000 บาท | 30% |
มากกว่า 5,000,000 บาท | 35% |
มาต่อกันที่ตัวอย่างจากคำนวณหาค่าเงินได้สุทธิมาแล้วคือ 311,000 บาท จากนั้นมาคำนวณอัตราภาษีซึ่งจะใช้เป็นการคำนวณแบบขั้นบันได ไล่ตามตารางไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงช่วงเงินได้สุทธิของเรา โดยในแต่ละขั้นเราจะใช้สูตร
เงินที่ต้องเสียภาษี = เงินได้สุทธิ × อัตราภาษี
- ในขั้นที่ 1 : 150,000 เราไม่ต้องเสียภาษี = 0
- ในขั้นที่ 2 : อยู่ในช่วง 150,000-300,000 ที่ต้องเสียภาษี 5% ซึ่งก็คือ 150,000 × 5% = 7,500 บาท
- ในขั้นที่ 3 : เงินของเราจริง ๆ คือ 311,000 บาท ซึ่งอยู่ในช่วง 300,000-500,000 ที่ต้องเสียภาษี 10% ดังนั้นในขั้นที่ 3 เรามีเงินเกินมา 311,000-300,000 = 11,000 บาท จึงได้ว่า 11,000 × 10% = 1,100 บาท
- ดังนั้นเงินที่ต้องเสียภาษี : 7,500 + 1,100 = 8,600 บาท
สรุปจากตัวอย่าง :
สมมุติว่าคุณมีเงินเดือน 40,000 บาท ที่จ่ายประกันสังคมด้วย คุณจะมีเงินได้สุทธิอยู่ที่ 311,000 บาท และต้องเสียภาษีเป็นจำนวนเงิน 8,600 บาท
หากคุณวางแผนจัดการค่าหย่อนไม่ดีก็ต้องจ่ายเต็มจำนวนตามที่เราคำนวณไปข้างต้น แต่หากคุณมีค่าลดหย่อนส่วนอื่นอีกที่ไม่ใช่แค่ประกันสังคม ก็จะช่วยให้คุณได้ลดจำนวนเงินที่ต้องจ่ายค่าภาษีลงไปอีกค่ะ
วิธียื่นภาษีออนไลน์ สำหรับมือใหม่อย่างละเอียดทุกขั้นตอน
ต่อไปนี้จะเป็นตัวอย่างการยื่นภาษีออนไลน์สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีของมนุษย์เงินเดือนทั่วไป สามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 2564
ขั้นตอนที่ 1 : ไปที่เว็บไซต์ กรมสรรพากร www.rd.go.th จากนั้นกดที่ยื่นภาษีออนไลน์ตรงไหนก็ได้ตามรูปเลยค่ะ

ขั้นตอนที่ 2 : จากนั้นมันจะลิงก์ไปยังหน้า “ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ซึ่งในกรณีที่ยื่นภาษีออนไลน์ครั้งแรก คุณจะต้องสมัครสมาชิกก่อนโดยให้กดที่ช่อง “ยื่นภาษี ภ.ง.ด.90/91” ตามรูปเลยค่ะ

ขั้นตอนที่ 3 : จากนั้นระบบจะเข้าหน้า login ให้คุณ แต่เนื่องจากคุณยังไม่มีข้อมูลในระบบ ต้องให้กด “สมัครสมาชิก” ก่อนตามรูปเลยค่ะ

ขั้นตอนที่ 4 : จากนั้นระบบจะถามว่าคุณได้รายได้เป็นแบบประเภทใด หากคุณเป็นมนุษย์เงินหรือรับค่าจ้างแลกแรงงาน ให้กดที่สัญชาติไทยในประเภทบุคคลธรรมดาตามรูปเลยค่ะ

ขั้นตอนที่ 5 : จากนั้นก็ให้กดกรอกข้อมูลรายละเอียดตามจริงที่ระบบขึ้นมาให้กรอก สำหรับเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรให้คุณใช้เลขบัตรประชาชน 13 หลักกรอกลงไปได้เลยค่ะ

ขั้นตอนที่ 6 : ในส่วนนี้ให้ใส่ที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้ หากตรงไหนที่มีเครื่องหมายดอกจัน ( * ) หมายความคุณจะต้องกรอกช่องนั้นโดยไม่สามารถเว้นช่องว่างได้ และในช่องที่เป็นรหัสผ่านคุณจะต้องจำรหัสที่ตั้งนั้นไว้ให้ดี เพราะต้องใช้ในการเข้าระบบทุกครั้งหลังจากนี้เป็นต้นไปค่ะ

ขั้นตอนที่ 7 : ระบบจะติ๊กประเภทการชำระภาษีของเราให้เองอัตโนมัติ จากนั้นให้กดยันยืนลงทะเบียน

ขั้นตอนที่ 8 : เมื่อยืนยันเรียบร้อยแล้ว ระบบจะขึ้นใหม่แจ้งให้ทราบว่าตอนนี้ได้ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบเรียบร้อยแล้ว จากนั้นให้กดปุ่ม ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/ภ.ง.ด.91 และให้ใส่หมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักในช่องหมายเลขผู้ใช้ และกรอกรหัสผ่านที่คุณสร้างไว้

ขั้นตอนที่ 9 : เมื่อเข้าสู่ระบบเรียบร้อยแล้ว ระบบจะให้ทำการยืนยันตัวตนอีกครั้ง โดยรอบนี้ให้กรอกรหัสหลังบัตรประชาชน และกรอกหมายเลขโทรศัพท์ของคุณลงไป จากนั้นกดที่ปุ่ม “ขอรหัส OTP”

ขั้นตอนที่ 10 : จากนั้นระบบจะส่งรหัส OTP มายังหมายเลขโทรศัพท์ของคุณ ให้คุณใช้รหัส OTP ที่ได้รับกรอกลงไป

ขั้นตอนที่ 11 : ในครั้งแรกที่คุณเข้าระบบ จะมีเงื่อนไขข้อกำหนดการใช้งานต่าง ๆ รวมถึงสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งคุณจะต้องกดยอมรับเงื่อนไขการใช้บริการโดยการติ๊กถูกในส่วนด้านล่าง และกด “ตกลง”

ขั้นตอนที่ 12 : จากนั้นในกรณีที่คุณเคยกรอกข้อมูลในระบบ My Tax Account มาก่อน ระบบจะเอาข้อมูลเกี่ยวกับค่าลดหย่อยภาษีของประกันสังคม, เบี้ยประกันต่าง ๆ หรือเงินค่าบริจาคมาคิดรวมไว้ให้ โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องกรอกข้อมูลเองเลย ซึ่งระบบจะถามคุณว่าต้องการนำข้อมูลจาก My Tax Account มาใช้ในการยื่นภาษีออนไลน์ครั้งนี้หรือไม่? ก็ใช้กดที่ “ต้องการ” แต่ในกรณีที่คุณมีข้อมูลอย่างอื่นที่ตอนนี้ไม่ตรงกับข้อมูล My Tax Account ก็ยังสามารถแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลได้นะคะ ส่วนใครที่ยังไม่เคยใช้ระบบ My Tax Account มาก่อน ก็ไม่ต้องกังวลไปค่ะ สามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้ตามปกติเช่นกัน ระบบ My Tax Account แค่ช่วยให้คุณไม่ต้องกรอกข้อมูลซ้ำซ้อนเท่านั้น


ขั้นตอนที่ 13 : จากนั้นระบบจะทำการแสดงข้อมูลของคุณว่ามีอะไรบ้าง เมื่อคุณตรวจสอบเรียบร้อยแล้วให้คุณกดที่ “ใช้ข้อมูลเพื่อยื่นแบบ” เพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

ขั้นตอนที่ 14 : จากนั้นระบบก็จะแสดงแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี ภ.ง.ด.90/91 ที่คุณได้กรอกข้อมูลส่วนตัวและที่อยู่ไว้แล้วใน ขั้นตอนที่ 6 หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ให้คุณกดที่ “ยื่นแบบ online” และกดที่ “ทำรายการต่อไป” ตามรูป (หมายเหตุ ระบบจะขึ้น ป๊อปอัปข้อความแจ้งเตือนมาให้คุณกด ok ได้เลยค่ะ)
ขั้นตอนที่ 15 : หน้านี้จะเป็นการถามว่าคุณโสดหรือมีคู่สมรสหรือไม่ก็ให้กรอกข้อมูลไปตามความจริง หากมีคู่สมรสก็กรอกข้อมูลในฝั่งขวาเพิ่มเติม จากนั้นก็ให้กดที่ “ทำรายการต่อไป” ตามรูป
ขั้นตอนที่ 16 : หน้านี้จะเป็นการเลือกประเภทของรายได้ของคุณ หากคุณมีรายทางเดียวคือเงินเดือน ก็ให้ติ๊กถูกที่ช่องแรก ในส่วนของฝั่งซ้ายเป็นประเภทค่าลดหย่อน ซึ่งระบบจะติ๊กถูกให้ในที่ลูกศรชี้ไว้เองอัตโนมัติค่ะ หากคุณมีค่าลดหย่อนส่วนอื่นที่ต้องการระบุเพิ่มเติมก็ให้ติ๊กช่องที่คุณต้องการในหน้านี้เลยค่ะ จากนั้นกดที่ “ทำรายการต่อไป”
ขั้นตอนที่ 17 : ในของหน้านี้ คุณจะต้องมีหนังสือรองรับการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือที่เรียกว่าใบ 50 ทวิจากบริษัท เพื่อที่จะได้กรอกจำนวนเงินรายได้ทั้งปีของคุณ, กรอกจำนวนภาษีหัก ณ ที่จ่าย, และกรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของบริษัท (หมายเหตุ ช่องสีเทาคือช่องที่ระบบจะคำนวณให้เอง คุณมีหน้าที่กรอกแค่ช่องสีขาวเท่านั้นค่ะ) จากนั้นกดที่ “ทำรายการต่อไป”
ขั้นตอนที่ 18 : หน้านี้จะเป็นการแสดงจำนวนเงินที่คุณใช้ในการลดหย่อนภาษีส่วนตัวเพิ่มเติมจาก 60,000 บาท ซึ่งระบบจะคำนวณใส่ตัวเลขมาให้แล้ว คุณสามารถแก้ไขได้หากคุณมีการลดหย่อนในส่วนอื่น ๆ แต่ถ้าไม่มีก็กดที่ “ทำรายการต่อไป”
ขั้นตอนที่ 19 : หน้านี้จะทำการคำนวณทุกอย่าง โดยจะคำนวณเงินได้สุทธิ (เงินได้สุทธิ = เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) และดูว่าเงินได้สุทธิของเราอยู่ในตารางอัตราภาษีของเงินได้บุคคลธรรมดาช่วงไหน เพื่อจะคำนวณในขั้นต่อไป ในกรณีนี้ของผู้เขียนมีเงินได้สุทธิน้อยกว่า 150,000 บาท จึงไม่ได้ต้องเสียภาษี นั่นเองค่ะ
หมายเหตุ หน้านี้เราไม่ต้องกรอกอะไรและไม่ต้องคำนวณอะไร ระบบแค่แสดงให้ดูว่าเราต้องเสียภาษีกี่บาทเท่านั้น จากนั้นก็กด “ทำรายการต่อไป”
ขั้นตอนที่ 20 : ตรวจสอบรายละเอียดข้อมูลต่าง ๆ อีกครั้งก่อนทำการยืนยันการยื่นภาษี จากนั้นกด “ยืนยันการยื่นแบบ” เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยแล้วค่ะ
หมายเหตุ: ขอย้ำอีกครั้งว่าสำหรับผู้ที่ต้องการยื่นแบบกระดาษ ต้องยื่นภายในวันที่ 31 มีนาคม แต่สำหรับผู้ที่ยื่นผ่านระบบออนไลน์ สามารถยื่นได้ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. นะคะ
References
- ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นในระหว่างปีภาษีมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกกรณีหรือไม่? โดยเว็บไซต์หลักของกรมสรรพากร
- ใครบ้างมีหน้าที่ยื่นแบบฯ โดยเพจ กรมสรรพากร : The Revenue Department