ถ้าพูดถึงสัตว์เลี้ยงยอดนิยมในประเทศไทย นอกจาก น้องแมว และ น้องหมา แล้ว “กระต่าย” ก็ถือเป็นสัตว์อีกหนึ่งชนิดที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันเลยค่ะ ด้วยอุปนิสัยที่เป็นมิตร ไม่ดุ ขนนุ่ม ตากลมโต และใบหูที่ยาวเป็นเอกลักษณ์ ทำให้กระต่ายสามารถครองใจหลาย ๆ คนได้อย่างไม่น่าเชื่อ

แต่ใครที่กำลังคิดจะเลี้ยงเจ้ากระต่ายล่ะก็ บอกเลยว่าอาจจะต้องศึกษาวิธีการเลี้ยงให้ดีสักหน่อย เพราะกระต่ายนั้นเป็นสัตว์ Exotic เช่นเดียวกับ งู, ชูก้าร์ไกรเดอร์, เม่นแคระ และ แฮมสเตอร์ นั่นหมายความว่าวิธีการเลี้ยงรวมไปถึงการดูแลรักษาก็จะต่างจากสัตว์ปกติทั่วไป แถมกระต่ายยังเป็นสัตว์ที่เครียดและตกใจง่าย จึงไม่แปลกที่หลายคนจะคิดว่ากระต่ายเป็นสัตว์ที่มีอายุสั้น ทั้งที่จริงแล้วกระต่ายในบางสายพันธุ์อาจมีอายุยืนได้ถึง 13 ปีเลยทีเดียว
ในวันนี้เราจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับสายพันธุ์กระต่ายที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยค่ะ มีพันธุ์ไหนน่าสนใจบ้างนั้น ตามมาดูกันเลย
1. กระต่ายพันธุ์มินิเร็กซ์ (Mini Rex)

ขนาดของลำตัว | ขนาดเล็ก น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 1.6 – 2 กิโลกรัม |
ลักษณะของขน | ขนสั้นกำมะหยี่ นุ่ม เงางาม |
สีและลายยอดนิยม | สี blue, red, castor และ Broken |
ลักษณะนิสัย | อารมณ์ดี, เป็นมิตร เข้ากับคนง่าย |
มินิเร็กซ์ เป็นกระต่ายสายพันธุ์ขนาดเล็ก มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศฝรั่งเศส ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และเป็นการกลายพันธุ์มาจากกระต่ายสายพันธุ์เร็กซ์ (Rex) ทำให้รูปร่างเปลี่ยนไปและมีขนาดที่เล็กลง นิสัยน่ารัก อารมณ์ดี จุดเด่นอยู่ตรงขนที่สั้น และมีลักษณะที่นุ่มเหมือนขนกำมะหยี่ แวววาว คอสั้น หูหนา นิยมเลี้ยงกันอย่างมากในอเมริกา ซึ่งมินิเร็กซ์นั้นมีสีประจำสายพันธุ์อยู่เยอะมาก ๆ ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นสี blue, californian, castor, chinchilla, lynx, opal, red, seal, tortoise, white และกลุ่ม Broken ซึ่งจะเป็นสีที่ดูเลอะ ๆ นั่นเองค่ะ
2. กระต่ายพันธุ์ฮอลแลนด์ลอป (Holland Lop)

ขนาดของลำตัว | ขนาดเล็ก น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 0.9 – 1.8 กิโลกรัม |
ลักษณะของขน | ขนยาวปานกลาง นุ่ม แน่น |
สีและลายยอดนิยม | สีชินชิล่า, สีโอโปอล, สีเทาควันบุหรี่ และสีน้ำตาล |
ลักษณะนิสัย | ฉลาด เป็นมิตร อยากรู้อยากเห็น ฝึกใช้ห้องน้ำได้ |
ฮอลแลนด์ลอป กระต่ายจากเนเธอแลนด์ ถือเป็นสายพันธุ์ยอดฮิตเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะความน่ารักของกระต่ายพันธุ์นี้คือหูที่ตกลงมาแนบแก้มป่อง ๆ ไม่ชี้ขึ้นเหมือนสายพันธุ์อื่น ๆ ตัวอ้วนกลม ปุกปุย น่ารักมาก ๆ ส่วนนิสัยบอกเลยว่าสุขุม น่ารักเป็นที่สุด โครงสร้างที่ดีของกระต่ายสายพันธุ์นี้คือ หัวและลำตัวต้องสั้น กลม หูตกลงมาทั้งสองข้าง ขนขึ้นเสมอกันทั่วตัว ขนยาวปานกลาง บอกเลยว่าใครที่ได้เป็นเจ้าของฮอลแลนด์ลอป ต้องหลงรักความน่ารักหัวปักหัวปำแน่นอนค่ะ
3. กระต่ายพันธุ์ซาตินแองโกลา (Satin Angora)

ขนาดของลำตัว | ขนาดใหญ่ น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 2.4 – 3.8 กิโลกรัม |
ลักษณะของขน | ขนยาว ฟู นุ่ม |
สีและลายยอดนิยม | สีขาว ไม่มีลาย |
ลักษณะนิสัย | รักสงบ เชื่อง |
ซาตินแองโกลา เป็นกระต่ายสายพันธุ์ที่มีขนยาวที่สุดในโลก มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เมืองแองโกลา ประเทศตุรกี ซึ่งเจ้ากระต่ายแองโกลานั้นถือเป็นกระต่ายสายพันธุ์เก่าแก่ของโลกอีกด้วยค่ะ จุดเด่นของมันนอกจากมีขนนุ่มฟูและยาวมาก ๆ แล้ว ตัวของเจ้ากระต่ายสามารถใหญ่ได้ถึง 4 กิโลกรัม หรือเท่ากับเจ้าแมวขนาดย่อม ๆ เลยทีเดียว แต่ด้วยความที่ขนของมันเส้นเล็กและฟูมาก เจ้าของควรแปรงขนให้น้องบ่อย ๆ จะได้ไม่พันกันยุ่งเหยิงนะคะ
4. กระต่ายพันธุ์เนเธอร์แลนด์ดวอร์ฟ (Netherland Dwarf)

ขนาดของลำตัว | ขนาดเล็ก น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 0.5 – 1 กิโลกรัม |
ลักษณะของขน | ขนสั้น นุ่มมือ มันวาว |
สีและลายยอดนิยม | สีขาว, สีชินชิล่า, สีบลู และสีเทาเข้ม |
ลักษณะนิสัย | ซน, ขี้เล่น, ชอบสังเกต ตื่นตัวตลอดเวลา |
เนเธอร์แลนด์ดวอร์ฟ หรือที่สาวกคนรักกระต่ายเรียกกันว่า กระต่าย ND นั้น เป็นกระต่ายจากประเทศเนเธอแลนด์ที่ได้ชื่อว่ามีขนาดเล็กมาก ๆ โดยน้ำหนักตัวที่โตเต็มที่นั้นยังไม่ถึง 1 กิโลกรัมด้วยซ้ำค่ะ แต่ถึงตัวจะจิ๋ว แต่นิสัยแจ๋วสุด ๆ ทั้งซน ทั้งขี้เล่น ชอบสังเกต ตื่นตัว นิยมเลี้ยงกันมากในอเมริกา, เยอรมนี, เนเธอแลนด์ และประเทศไทยเรานี่เองค่ะ จุดเด่นของสายพันธุ์นี่คือมีลำตัวเล็ก น่ารัก และใบหูที่สั้นกว่าปกติ ทำให้เจ้าเนเธอร์แลนด์ดวอร์ฟได้รับฉายาว่า ‘อัญมณีแห่งกระต่ายสวยงาม’ เลยทีเดียว
5. กระต่ายพันธุ์นิวซีแลนด์ไวท์ (New Zealand White)

ขนาดของลำตัว | ขนาดใหญ่ น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 4 – 5.5 กิโลกรัม |
ลักษณะของขน | ขนสั้น หนา นุ่มมือ |
สีและลายยอดนิยม | สีขาวล้วนทั้งตัว |
ลักษณะนิสัย | กินเก่ง อยากรู้อยากเห็น ว่องไว |
นิวซีแลนไวท์ เจ้ากระต่ายเหนียงเยอะ จากประเทศนิวซีแลนด์ จุดเด่นของกระต่ายพันธุ์นี้คือจะมีลักษณะตัวที่ใหญ่ เรียกได้ว่าใหญ่กว่าพันธุ์ไทยเสียอีกค่ะ ส่วนขนนั้นจะมีสีขาวทั่วทั้งลำตัว สะโพกใหญ่ ไหล่กว้าง แถมตัวเมียนั้นยังให้ลูกที่ดกมาก ๆ อีกด้วยค่ะ ซึ่งกระต่ายพันธุ์นี้ลักษณะจะเหมือนกับกระต่ายไทยเลยค่ะ แต่จะต่างกันตรงที่นิวซีแลนไวท์ หัวจะกลมกว่า และมีน้ำหนักตัวที่มากกว่า เนื้อเยอะ อ้วนท้วน ส่วนอายุขัยของพันธุ์นี้จะอยู่ที่ 5 – 8 ปีค่ะ
6. กระต่ายพันธุ์ดวอร์ฟ โฮโท (Dwarf Hotot)

ขนาดของลำตัว | ขนาดเล็ก น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 1.3 กิโลกรัม |
ลักษณะของขน | ขนสั้นปานกลาง หนา นุ่มมือ |
สีและลายยอดนิยม | สีขาวล้วนทั้งตัว |
ลักษณะนิสัย | เข้าหาคน, เลี้ยงง่าย ไม่ค่อยตื่นกลัว |
เจ้ากระต่ายน่ารักปุกปุย ที่มีดวงตาเหมือนกรีดอายไลน์เนอร์ตลอดเวลาตัวนี้มีชื่อสายพันธุ์ว่า ดวอร์ฟ โฮโท เป็นกระต่ายแคระ จากประเทศฝรั่งเศส ตากลมโต ลักษณะเด่นคือจะมีเส้นสีดำหนารอบดวงตา สีขาวสม่ำเสมอกันทั่วทั้งตัว ถึงแม้จะนิยมกันมากในต่างประเทศ แต่ในไทยถือว่ายังมีไม่ค่อยแพร่หลายมากนัก เนื่องจากยังไม่ค่อยมีบรีดเดอร์พัฒนากันเท่าไหร่ ซึ่งราคาก็เลยสูงตามค่ะ แต่หากพูดถึงการดูแล เจ้าดวอร์ฟ โฮโท ถือว่าดูแลง่ายมาก ๆ แค่คอยหวีขนให้บ้างก็โอเคแล้วค่ะ ใครที่ชอบเจ้ากระต่ายที่มีหน้าตาสวยแซ่บแบบนี้ ต้องจัดสายพันธุ์นี้เลยค่ะ
7. กระต่ายพันธุ์ดัตช์ (Dutch)

ขนาดของลำตัว | ขนาดกลาง น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 1.8 – 2.5 กิโลกรัม |
ลักษณะของขน | ขนสั้นและมันวาว |
สีและลายยอดนิยม | สีดำ, สีชินชิล่า และสีน้ำตาลแดง |
ลักษณะนิสัย | ไม่ก้าวร้าว, ชอบให้ลูบหัว และเป็นมิตร |
กระต่ายสายพันธุ์ดัตช์ จากประเทศอังกฤษ กระต่ายที่ได้ชื่อว่าเหมือนใส่หน้ากากอยู่ตลอดเวลา นั่นก็เพราะสายพันธุ์นี้จะมีลายที่โดดเด่นมาก ๆ อยู่ตรงบริเวณใบหน้าและสะโพก ซึ่งเจ้าดัตช์จะมีด้วยกันอยู่หลายสี แต่มาร์คกิ้งจะเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงค่ะ โดยจะยืนพื้นอยู่ที่สีขาว ส่วนสีที่มาตัดนั้นก็จะต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น สีดำ, สีชินชิล่า, สีเทา หรือสีน้ำตาล นิสัยดี เรียบร้อย ตัวกลม หัวกลม เตี้ย ขนสั้นนุ่มนิ่ม เหมาะสำหรับเด็ก ๆ เพราะพันธุ์นี้จะไม่ก้าวร้าวค่ะ
8. กระต่ายพันธุ์ไลอ้อนเฮดท์ (Lion Head)

ขนาดของลำตัว | ขนาดเล็ก น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 1.0 – 1.7 กิโลกรัม |
ลักษณะของขน | ขนยาว ฟูหนา มีแผงคอ |
สีและลายยอดนิยม | สีน้ำตาลอ่อน, สีขาว และสีครีม |
ลักษณะนิสัย | ไม่ก้าวร้าว, เป็นมิตร และสามารถฝึกได้ |
กระต่ายไลอ้อนเฮด กระต่ายขนาดเล็กที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศเบลเยียม เป็นกระต่ายสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งมีมาได้ไม่นาน ด้วยขนที่ฟูหนาและมีแผงคอจึงได้ชื่อว่า ‘ไลอ้อนเฮด’ นั่นเองค่ะ โดยเจ้าไลอ้อนเฮดนั้นจะมีรูปร่างเล็ก กะทัดรัด โดยเป็นการผสมพันธุ์ระหว่างกระต่าย Swiss Fox และกระต่ายเนเธอร์แลนด์ดวอร์ฟ (ND) หลายคนจะนึกว่าเจ้าไลอ้อนจะเป็นกระต่ายขนาดใหญ่ แต่บอกเลยว่าใหญ่เพราะขนล้วน ๆ ใครที่ชอบกระต่ายขนฟู นุ่ม ๆ น่ากอด สายพันธุ์นี้ตอบโจทย์มาก ๆ ค่ะ
ข้อควรรู้ สำหรับผู้ที่อยากเลี้ยงกระต่าย
1. พื้นที่สำหรับเลี้ยงกระต่าย

กระต่ายนั้นเป็นสัตว์ที่ไม่ได้ต้องการพื้นที่ในการเลี้ยงมากเท่าน้องหมาหรือน้องแมวค่ะ สามารถเลี้ยงที่คอนโดหรือหอพักได้สบายใจหายห่วง แต่ถึงอย่างนั้นการมีพื้นที่ให้พวกกระต่ายได้วิ่งเล่นบ้างก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยลดความเครียดได้ ซึ่งหากใครที่เลี้ยงในคอก มีพื้นที่วิ่งเล่นอยู่แล้วก็ไม่มีปัญหา แต่ใครที่เลี้ยงในกรง การเลือกขนาดกรงที่เหมาะสมคือ กะให้พอเจ้ากระต่ายยืนแล้วหูไม่ชนกับกรงด้านบน ส่วนความยาวของกรงให้ยาวประมาณ 3 เท่าของความยาวกระต่าย เพียงเท่านี้กระต่ายของเราก็จะไม่อึดอัดแล้วค่ะ
2. อาหารกระต่าย

หลายคนมักมีความเชื่อผิด ๆ ว่ากระต่ายต้องกินผักบุ้ง, แครอท หรืออาหารเม็ดเป็นหลัก แต่จริง ๆ แล้วอาหารหลักของกระต่ายคือหญ้าแห้งประมาณ 70 – 80% แล้วเสริมด้วยอาหารเม็ดประมาณ 20% เท่านั้น ส่วนผักสดและผลไม้เรียกได้ว่าไม่จำเป็นเลยค่ะ แต่ถ้าใครอยากให้ก็อาจเสริมได้สัปดาห์ละครั้ง หรือให้ทานใบกะเพราเพื่อแก้อาการท้องอืดได้ นอกจากนี้ควรคำนึงถึงอายุของกระต่ายด้วยนะคะ เพราะชนิดของหญ้าแห้งที่ควรป้อนก็จะขึ้นอยู่กับอายุของน้องกระต่ายด้วย และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญเลยก็คือน้ำค่ะ ต้องมีติดกรงไว้ตลอดเวลา และควรเปลี่ยนบ่อย ๆ เพื่อนสุขภาพที่ดีของน้องกระต่ายนะคะ
3. โรคที่ควรระวังในกระต่าย
- โรคฮีทสโตรก ถือว่าสำคัญมากที่ผู้เลี้ยงกระต่ายควรให้ความสำคัญค่ะ ซึ่งโรคนี้นั้นจะเกิดจากอากาศที่ร้อนมากเกินไป จนกระต่ายระบายความร้อนไม่ทัน โดยน้องกระต่ายนั้นเป็นสัตว์ที่ไม่มีต่อมเหงื่อ ทำให้สามารถระบายความร้อนได้แค่ทางใบหูเท่านั้น นอกจากอากาศที่ร้อนก็ยังมีอีกหลายปัจจัยเช่น เลี้ยงในพื้นที่ที่ไม่มีการระบายอากาศ วิธีป้องกันคือให้เลี้ยงในที่ที่มีอากาศถ่ายเท, ใส่น้ำดื่มไว้เยอะ ๆ, หาบ้านเย็นสำหรับกระต่าย เพียงเท่านี้ก็จะช่วยป้องกันโรคฮีทสโตรกได้มากทีเดียว
- โรคฝี เกิดจากภาวะติดเชื้อใต้ผิวหนัง สามารถเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น โดนกัด, ฟันงอกยาวเกินไป, การทิ่มตำของวัสดุรองกรง หรือเล็บที่ยาวจนทิ่มเข้าไปในผิวหนัง ซึ่งสาเหตุเหล่านี้จะทำให้มีก้อนเนื้อบริเวณผิวหนัง พบบ่อยตรงใต้คาง, ขอบตา, ไหล่ และบริเวณกรามบนใบหน้า หากกระต่ายของใครที่มีอาการเบื่ออาหาร ซึม มีหนอง บวมอักเสบ ควรรีบพาไปหาหมอโดยด่วนค่ะ
- โรคฉี่เป็นเลือด เป็นอาการที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะ มักมีอาการท้องป่อง และมีลิ่มเลือดปนออกมากับฉี่ มักไม่มีอาการซึมใด ๆ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเม็ดสีที่เรียกว่าพอร์ไฟริน (Porphyrin) เนื่องจากดื่มน้ำน้อย อาการนี้ไม่เป็นอันตรายใด ๆ และมักจะหายไปเองภายใน 2 วันค่ะ

- โรคเห็บหมัด เห็บหมัดนั้นไม่ได้มีแค่ในน้องหมาหรือน้องแมวนะคะ เพราะหากเราดูแลเจ้ากระต่ายไม่ดี หรือชอบปล่อยให้วิ่งเล่นที่สนามหญ้าบ่อย ๆ เจ้ากระต่ายก็อาจติดเห็บหมัดได้ โดยอาการก็จะเป็นผื่นแดง ผิวหนังแห้ง คันตามลำตัว หากพบเห็นว่าน้องมีเห็บหมัดหรือมีแผล ควรพาพบแพทย์เพื่อหยอดยา และรักษาต่อไปค่ะ
เมื่อได้รับกระต่ายมาใหม่ ควรทำอย่างไร ?
ใครที่เพิ่งรับน้อง ๆ กระต่ายมาเลี้ยง แนะนำว่าควรเลือกกระต่ายที่มีอายุ 45 วันขึ้นไป หรือกระต่ายหย่านมแล้วจะดีที่สุดค่ะ เพราะหากซื้อมาตอนที่ยังไม่หย่านม โอกาศรอดของกระต่ายจะต่ำมากเนื่องจากภูมิคุ้มกันยังคงอ่อนแออยู่ ต่อมาหากรับมาแล้ว ควรถามอาหารเดิมของกระต่ายว่าให้ยี่ห้อไหนอยู่ หรือขออาหารเดิมจากผู้ขายมาเลยก็ได้ค่ะ เพราะเราไม่ควรเปลี่ยนอาหารกระทันหัน โดยระยะแรกให้อาหารชนิดเดิมไปก่อน พอครบ 3 วันก็ค่อย ๆ ผสมอาหารตัวใหม่ลงไปประมาณ 20% และค่อย ๆ เพิ่มจำนวนอาหารใหม่ขึ้นเรื่อย ๆ จนครบ 7 วัน ในระว่างนี้ต้องคอยสังเกตน้องกระต่ายด้วยนะคะว่ามีอาการท้องเสียหรือท้องอืดหรือไม่เพื่อความปลอดภัย

เมื่อปรับเรื่องอาหารแล้ว แนะนำว่า ในช่วง 7 วันแรกที่รับกระต่ายมาเลี้ยง ไม่ควรไปจับ หรืออุ้มเล่น ควรปล่อยให้เขาอยู่ในกรงเพื่อปรับสภาพแวดล้อม และทำความคุ้นชินก่อน โดยให้ใส่อาหารและน้ำให้เพียงพอ ดูและกรงและพื้นกรงให้สะอาด สังเกตอาการพื้นฐานของน้อง ๆ เช่น การหายใจ, ลักษณะอึ, ความร่าเริง หรือกินอาหารได้เยอะหรือไม่ ถ้าหากครบ 7 วันแล้ว กระต่ายมีอาการปกติ ร่าเริง และแข็งแรงดี ก็สามารถจับหรืออุ้มเล่นได้อย่างสบายใจแล้วค่ะ
บทส่งท้าย
เป็นอย่างไรกันบ้างคะทุกคน สำหรับเจ้ากระต่ายทั้ง 8 สายพันธุ์ที่เราได้แนะนำกันไป แต่ละตัวบอกเลยว่าน่ารัก ตะมุตะมิเป็นที่สุด ทั้งนี้นอกจากความน่ารักของเจ้ากระต่ายแล้ว ก่อนที่จะลงมือเลี้ยงน้องควรศึกษาวิธีการเลี้ยงให้ละเอียด รวมไปถึงค่าใช้จ่ายเวลารักษาพยาบาลด้วยนะคะ เพราะกระต่ายเป็นสัตว์พิเศษ ค่ารักษาก็ย่อมแพงกว่าสัตว์ทั่วไป ทั้งนี้ในเรื่องของความพร้อมก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมในเรื่องสถานที่เลี้ยง, การซื้ออาหาร หรือความพร้อมในเรื่องเวลา เพราะเห็นกระต่ายสันโดษแบบนี้ เขาก็มีมุมติดเจ้าของเช่นเดียวกันค่ะ ควรเล่นกับเขาให้มาก ๆ ให้ความรักและความเอาใจใส่เยอะ ๆ เพียงเท่านี้กระต่ายของเราก็จะสุขภาพดีทั้งกายและใจแล้วล่ะค่ะ