ไหน ๆ ขอดูมือคุณพ่อคุณแม่ที่ยังคอยอุ้มลูกมือหนึ่งและขับรถมือหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่งขับรถส่วนอีกคนหนึ่งคอยอุ้มลูกอยู่บ้างคะ? วันนี้แม่ขอให้รีบเหยียบเบรกการเดินทางก่อนเลยค่ะ หากทำได้คุณแม่อยากให้ฝากลูกหลานไว้กับผู้ปกครองทานอื่นหรืออาจจะจ้างพี่เลี้ยงไว้สักหนึ่งวันนะคะ เพราะวันนี้แม่จะพาคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ หรือคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมองหาความปลอดภัยให้กับลูกน้อยในทุกย่างก้าวของการเดินทางด้วยรถยนต์ เพื่อสร้างความอุ่นใจทั้งตัวคุณและลูก เพราะมีหลาย ๆ บทความที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วค่ะว่า มีอุปกรณ์ตัวหนึ่งที่สามารถช่วยชีวิตและลดความเสี่ยงจากภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับลูกน้อยของคุณได้ ซึ่งอุปกรณ์ตัวนั้นก็คือเจ้า “คาร์ซีท (car seat)” หรือเบาะนั่งนิรภัยในรถสำหรับเด็กนั่นเองค่ะ เพราะเจ้าตัวคาร์ซีทตัวนี้แหละค่ะจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือการเสียชีวิตของเด็กได้มากกว่า 70 % (1) เมื่อเปรียบเทียบกับการคาดเข็มขัดนิรภัย
นอกจากนี้แพทย์และผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพอื่น ๆ ยังมีคำแนะนำเกี่ยวกับคาร์ซีทเพิ่มเติมอีกว่าสามารถช่วยลดโอกาสที่พ่อแม่จะวางลูกไว้ในสภาพแวดล้อมของการนอนในรถที่ไม่ปลอดภัย (1) เพราะจากการที่ตัวคุณแม่เองก็สังเกตเห็นได้จากคนรอบตัวที่มีเบาะนอนในรถยนต์ด้านหลังไว้ให้ลูกน้อยงีบ ซึ่งหากเรามีการใช้เบาะอย่างไม่เหมาะสมแล้วล่ะก็ จากเด็ก ๆ ที่กำลังนอนหลับฝันดี จะกลับกลายเป็นตื่นมาเห็นฝันร้ายจากอันตรายที่อาจเกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนนก็เป็นได้เลยนะคะ ผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ คนจึงมีข้อมูลให้กับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมองหาคาร์ซีทให้ลูกน้อยเพื่อช่วยป้องกันอันตรายที่อาจจะได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยไปจนถึงขั้นเสียชีวิตมาให้ศึกษากันเบื้องต้น ซึ่งวันนี้แม่เลยอยากจะหยิบยกถึงประเด็นสำคัญมาสรุปให้ได้อ่านกันเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่จะใช้ประกอบในการตัดสินใจกันค่ะ
ทำไม คาร์ซีท หรือ เบาะรถยนต์สำหรับเด็ก จึงมีความสำคัญ?
การใช้คาร์ซีทหรือที่เรียกว่าเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการปกป้องลูกน้อยของคุณเมื่ออยู่ในรถ เพราะอุบัติเหตุในท้องถนนเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อโดยเฉพาะกับประเทศไทยที่ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ อย่างอุบัติเหตุรถชนกันก็เป็นอีกหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตและบาดเจ็บสำหรับเด็ก ๆ เลยนะคะพ่อจ๋าแม่จ๋า ดังนั้นคาร์ซีทจึงถึงออกแบบมาเพื่อปกป้องเด็ก ๆ สำหรับการณ์นี้โดยเฉพาะ
การใช้คาร์ซีทจึงเป็นกฎหมายในทุกรัฐของสหรัฐอเมริกา (2) รวมไปถึงประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายมีข้อกำหนดให้ใช้อย่างชัดเจน และตัวคุณแม่เองผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาก็ขอคอนเฟิร์มให้หนักแน่นอีกเสียงหนึ่งค่ะว่า ลูกน้อยหอยสังข์ของแม่ก็ใช้คาร์ซีทตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อออกจากโรงพยาบลามาที่บ้านค่ะ และด้วยกฎระเบียบที่เอาจริงของที่นี่จึงเห็นได้ว่าไม่มีครอบครัวไหนที่ไม่ใช้คาร์ซีทเลยค่ะ

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นการดูแลลูกให้ปลอดภัยก็ขึ้นอยู่กับการเลือกที่นั่งนิรภัยที่เหมาะสมและการใช้งานอย่างถูกต้อง คาร์ซีทที่ดีที่สุดคือแบบที่เหมาะกับน้ำหนัก ขนาด และอายุของเด็ก รวมถึงต้องเหมาะสำหรับยานพาหนะของคุณด้วยนะคะ (2) จะมาเลือกแบบสุ่มสีสุ่มห้า เลือกตามใจพ่อจ๋าแม่จ๋า แบบนั้นไม่ได้นะจ๊ะ ^^ แต่การเลือกคาร์ซีทที่ดีจะมีปัจจัยอะไรบ้าง ที่คุณพ่อคุณแม่ควรทราบเพื่อต้องมาดูกันค่ะ
วิธีเลือกซื้อ คาร์ซีท (Car Seat) ที่เหมาะสมที่สุด (2)
- เลือกคาร์ซีทที่ได้มาตรฐาน : คุณพ่อคุณแม่อาจจะอ่านจากฉลากของที่นั่งที่ระบุไว้ได้เลยค่ะ อย่างสหรัฐอเมริกาก็จะดูตามมาตรฐานจาก Federal Motor Vehicle Safety Standard 213 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่คาร์ซีททุกตัวจะต้องผ่านการทดสอบว่าอยู่ในเกณฎฑ์ด้านความปลอดภัยนั่นเองค่ะ
- มีคู่มือมาให้อย่างละเอียด : เรียนรู้วิธีติดตั้งคาร์ซีทและการใช้สายรัด อย่าคิดว่าก็ตอนที่เห็นในร้านค้าจัดแสดงมันตั้งแบบนี้ได้หรือคิดว่ารัดแบบนั้นได้แล้วเราจะปฏิบัติตามก็ได้ แบบนี้เป็นวิธีที่ผิดนะคะ เพราะนั่นอาจจะไม่ใช่วิธีการติดตั้งที่ถูกต้อง ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณพ่อคุณแม่จะต้องอ่านคู่มืออย่างละเอียด ทำความเข้าใจและศึกษาให้ดีก่อนทำการติดตั้ง เพื่อความปลอดภัยของตัวลูกน้อยของคุณเองค่ะ
- การติดตั้งและใช้งานไม่ซับซ้อน แต่ต้องมีความปลอดภัย : เพราะหากคุณพ่อคุณแม่ติดตั้งและใช้งานไม่เป็น เนื่องจากวิธีต่าง ๆ ค่อนข้างยุ่งยาก อาจจะทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมรอบนอก เพื่อตรวจสอบความมั่นใจในการใช้คาร์ซีทสำหรับลูกน้อย ซึ่งในบางร้านอาจจะมีบริการหลังการขายมาให้ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นอย่ารีรอที่จะขอความช่วยเหลือ เพราะหากติดตั้งไม่ถูกต้องแล้วล่ะก็ จะเกิดโทษมากกว่าประโยชน์ค่ะ
- คาร์ซีทมือสอง : หากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดที่มีงบจำกัด ก็สามารถเลือกซื้อคาร์ซีทมือสองได้ค่ะ แต่ก็มีข้อควรระวังในการใช้คาร์ซีทมือสองที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องทำการศึกษาอย่างละเอียดมากยิ่งขึ้นนะคะ อาทิเช่น
-
- ไม่ควรเลือกคาร์ซีทที่เราเองก็สังเกตได้ว่าเบาะนั่งอาจมีความขัดข้อง เพราะมันอาจเสียหายในรูปแบบที่คุณมองไม่เห็น และอาจจะเกิดอันตรายตามมาได้ค่ะ
- ไม่ควรใช้คาร์ซีทที่ไม่มีชิ้นส่วนหรือไม่มีวันที่ผลิต รวมถึงหมายเลขรุ่นที่ชัดเจน หรือแม้กระทั่งไม่มีคู่มือมาให้ ก็ไม่ควรเลือกซื้อเป็นอย่างยิ่งค่ะ นอกจากนี้ควรตรวจสอบที่นั่งสำหรับวันหมดอายุด้วยก็จะดีมาก ๆ เลยค่ะ
- หากคุณพ่อคุณแม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับประวัติของคาร์ซีทไม่ว่าจะเป็นการมีรอยแตกหรือร่องรอยของการสึกหรออื่น ๆ ทางที่ดีอย่าใช้มันเลยค่ะ เพราะเราต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกเป็นอันดับหนึ่งค่ะ
คาร์ซีท (Car Seat) มีกี่ประเภท
1. คาร์ซีทสำหรับทารกเท่านั้น (- group 0+) (2)
คาร์ซีทประเภทนี้เหมาะสำหรับเด็กแรกเกิดหรือเด็กที่มีน้ำหนักตัวอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 13-16 กิโลกรัม และหากลูกของคุณเริ่มพัฒนาโตขึ้นคุณพ่อคุณแม่จะต้องเลือกซื้อที่นั่งอื่นเมื่อลูกของคุณโตเร็วกว่านั้นนะคะ คาร์ซีทแบบนี้จะถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึงน้ำหนัก 16 กิโลกรัม หรืออายุ 15 เดือน (4) ขึ้นอยู่กับรุ่นและยี่ห้อของคาร์ซีทนั้น ๆ ค่ะ

1.1 การติดตั้งคาร์ซีทสำหรับเด็กทารก
ควรติดตั้งคาร์ซีทสำหรับเด็กทารกให้หันหน้าไปทางด้านหลังของรถเสมอ เด็กเล็กมีโอกาสน้อยที่จะเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บสาหัสเมื่ออยู่ในที่นั่งหันหลัง นั่นเป็นเพราะด้านหลังของคาร์ซีทจะรองรับศีรษะ คอ และลำตัวของทารกในการชน ในเด็กวัยนี้อย่างที่คุณพ่อคุณแม่รู้ดีว่าคอของเด็กทารกนั้นมักไม่แข็งแรงพอที่จะรองรับศีรษะเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งทาง American Academy of Pediatrics (AAP) (2) ได้แนะนำให้ทารกและเด็กเล็กนั่งในที่นั่งที่หันหน้าไปทางด้านหลังจนกว่าจะถึงขีดจำกัดในด้านน้ำหนักและความสูงในเกณฑ์ที่แนะนำไว้ ทั้งนี้ทางผู้ผลิตที่นั่งและผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยก็ยังบอกด้วยนะคะว่าให้ทำตามขนาดของเด็กไม่ใช่อายุ เด็กเล็กสามารถหันหน้าไปทางด้านหลังได้จนถึงอายุ 3 หรือ 4 ขวบเลยค่ะ (2)
![]() | Chuchob คาร์ซีทกระเช้าหิ้ว | |
![]() | JOIE ตะกร้าหิ้วเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก รุ่น Gemm | |
![]() | GOOD BABY คาร์ซีท Artio แบบกระเช้า สีฟ้า |
คาร์ซีทสำหรับทารกเท่านั้นสะดวกสบายเนื่องจากได้รับการออกแบบให้สามารถถอดออกจากรถแล้วใช้เป็นเบาะรองนั่ง/เก้าอี้ หรือที่โยกได้ หลายรุ่นแยกออกจากฐานโดยให้คุณปล่อยฐานที่ติดตั้งไว้ในรถ บางส่วนสามารถคลิกเข้าไปในรถเข็นเพื่อให้เข็นไปรอบ ๆ หากลูกน้อยของคุณอยู่ในคาร์ซีทแบบนี้ เพื่อความปลอดภัยอย่าวางลูกไว้พื้นผิวที่สูง ๆ เช่น เคาน์เตอร์ครัวหรือโต๊ะเครื่องแป้งนะคะ แม้ว่าคาร์ซีทสำหรับทารกใช้งานง่าย แต่การนั่งคาร์ซีทนานเกินไปอาจจะจำกัดการเคลื่อนไหวของทารกโดยที่เราไม่รู้ตัว และอาจทำให้พวกเขาขาดการกระตุ้นพัฒนาทักษะทางประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวได้ค่ะ (2)
2. คาร์ซีทแบบหันหน้าไปข้างหน้าเท่านั้น (- group 1) (2)

คาร์ซีทแบบนี้ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันเด็กที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 9-18 กิโลกรัม หรืออายุ 9 เดือน ถึง 4 ขวบ (4) ส่วนใหญ่แล้วเมื่อเด็กมีส่วนสูงมากกว่าเบาะหรือน้ำหนักที่มากขึ้นในช่วงวัยอนุบาล พ่อแม่ก็จะใช้คาร์ซีทแบบหันไปข้างหน้าพร้อมสายรัดแบบเต็มรูปแบบ นั่นคือการล็อคตรงบริเวณหน้าอกและระหว่างขาทั้งสองข้าง และจะให้นั่งคาร์ซีทแบบนี้นานที่สุดจนกระทั่งผ่านขีดจำกัดของความสูงและน้ำหนักถึงจะเปลี่ยนไปใช้แบบบูสเตอร์ซีทที่ต้องใช้เข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้ใหญ่ของรถนั่นเองค่ะ ถ้าจะให้แม่แนะนำจากประสบการณ์แล้วล่ะก็ การเลือกซื้อคาร์ซีทแบบนี้ควรพิจารณาในรุ่นที่สามารถปรับระดับสายรัดและระดับความสูงให้เหมาะสมกับลูกเมื่อพวกเขาโตขึ้น จะได้ใช้ไปได้นาน ๆ นั่นเองค่ะ
3. คาร์ซีทแบบปรับได้หลายรูปแบบ หรือ Convertible Car Seat (- group 0+/1/2/3) (2)
ตัวนี้จะถูกออกแบบมาให้คุณแม่สามารถเลือกได้ว่าจะให้ลูกหันหน้าไปด้านหลังหรือหหมุนให้ลูกหันมาด้านหน้า โดยแนะนำว่าเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอย่างน้อย 18 กิโลกรัม ควรหันไปด้านหลัง อย่างเด็กที่ตัวใหญ่หน่อยที่มีน้ำหนักมากถึง 30 กิโลกรัมหรือประมาณ 36 กิโลกรัมก็สามารถใช้ตัวนี้ได้ โดยหันหน้าไปข้างหน้าอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับรุ่นของคาร์ซีทด้วยค่ะ

คาร์ซีทบางรุ่นก็อาจจะเรียกว่า “all-in-one” หรือ “3-in-one” อย่างที่แม่เลือกใช้ เพราะสามารถจะเปลี่ยนจากเบาะแบบหันหลังเป็นแบบหันหน้า แล้วจากนั้นก็เปลี่ยนไปเป็นเบาะเสริม (booster seats) ก็ได้เมื่อลูกโตขึ้นค่ะ โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีราคาสูงกว่าแบบแรก ๆ สักหน่อย แต่ซื้อแล้วใช้ได้ยาวเลยค่ะ
3.1 ข้อควรพิจารณาสำหรับคาร์ซีทรุ่น Convertible Car Seat
คาร์ซีทเป็นแบบมีน้ำหนักมากและไม่สามารถพกพาได้ ควรใช้สำหรับการเดินทางเท่านั้น (ไม่ควรใช้นอกรถ) สามารถประหยัดเงินได้เนื่องจากคุณอาจไม่จำเป็นต้องซื้อคาร์ซีทแบบแรก (สำหรับทารกเท่านั้น) เพราะสามารถปรับได้หลายรูปแบบ จึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับทารกที่ตัวใหญ่กว่าซึ่งโตเร็วกว่าที่นั่งสำหรับทารกเท่านั้นและยังต้องหันหน้าไปทางด้านหลัง
4. เบาะนั่งเสริม หรือ Booster seats (group 2/3) (2)
เบาะนั่งแบบนี้จะเหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 15-36 กิโลกรัม หรือมีอายุประมาณ 4-11 ขวบ ตัวเบาะนั่งเสริม หรือ booster seats (3) จะเหมือนเป็นที่นั่งที่ช่วยให้เด็ก ๆ ที่โตแล้ว มีความปลอดภัยในรถยนต์มากยิ่งขึ้น และจะช่วยยกระดับการนั่งของเด็กให้สูงขึ้นเพื่อให้เข็มขัดนิรภัยสามารถพาดผ่านกระดูกบริเวณหน้าอกและเชิงกรานซึ่งเป็นส่วนที่แข็งแรงกว่าช่วงท้องและลำคอ ซึ่งอาจสร้างความเสียหายร้ายแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุค่ะ และควรเลือกที่นั่งที่มีฉลากระบุว่าเป็นไปตามมาตรฐานด้วยนะคะ
4.1 ประเภทของ Booster Seats
-
- บูสเตอร์ซีทแบบสามารถปรับตำแหน่งเข็มขัดได้ (belt-positioning boosters) ซึ่งจะช่วยยกเด็กให้สูงขึ้นเพื่อให้สามารถใช้เข็มขัดนิรภัยบนหน้าตักและไหล่ของรถได้อย่างปลอดภัย
- แนะนำให้ใช้บูสเตอร์ซีทหลังสูง (High-back boosters) เมื่อรถของคุณมีเบาะหลังที่ต่ำ
- สามารถใช้บูสเตอร์แบบไม่มีหลัง (backless boosters) สำหรับเด็กที่มีศีรษะได้รับการหนุนขึ้นไปที่ด้านบนของหูโดยที่เบาะหลังหรือที่รองศีรษะของรถ
บูสเตอร์ซีทหลังสูง (High-back boosters)
บูสเตอร์แบบไม่มีหลัง (backless boosters)
ควรให้ลูกใช้คาร์ซีท จนถึงเมื่อไหร่
แล้วเด็ก ๆ เขาจะสามารถหยุดใช้คาร์ซีทเสริมได้เมื่อไหร่ล่ะคะ เป็นคำถามที่อยู่ในใจคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านเลยทีเดียว ข้อควรพิจารณาว่าลูกอาจไม่ต้องใช้คาร์ซีทแล้วก็ต่อเมื่อลูกโตพอที่จะใช้เข็มขัดนิรภัยบนตักและไหล่ของยานพาหนะในขณะที่นั่ง
โดยให้หลังพิงเบาะของรถโดยที่พวกเขาสามารถให้เข่างอเหนือขอบเบาะได้เองโดยไม่ต้องงอ เข็มขัดนิรภัยตรงหน้าตักสามารถวางอยู่ที่ด้านบนของต้นขาของเด็ก ๆ ได้ และสายคาดไหล่สามารถพาดผ่านตรงกลางหน้าอกของพวกเขาได้อย่างสะดวกสบาย เมื่อเด็กสูงถึงประมาณ 150 เซนติเมตร หรือมีอายุประมาณ 8-12 ปี
เป็นไงบ้างคะ สำหรับทริคเล็ก ๆ ในการเลือกคาร์ซีทประเภทต่าง ๆ ที่หวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านที่กำลังศึกษาหาข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจเพื่อเลือกซื้อคาร์ซีทให้ลูกน้อยอยู่ไม่มากก็น้อยนะคะ ไม่ว่าคุณจะใช้ปัจจัยใดในการเลือกซื้อคาร์ซีท ก็ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับวัย อายุ ส่วนสูงและประโยชน์ในการใช้สอยของครอบครัวของท่าน การมีคาร์ซีทดี ๆ ไว้ให้ลูกน้อย ก็ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดจริง ๆ ค่ะ ผู้เชี่ยวชาญหรือคุณหมอหลาย ๆ ท่านจึงแนะนำให้ซื้อคาร์ซีทสำหรับเด็กก่อนที่ทารกจะคลอดถ้าเป็นไปได้ สิ่งสำคัญคือต้องซื้อคาร์ซีทที่เหมาะกับรถของคุณและเหมาะสำหรับทารกแรกเกิด (4)
หากคุณแม่จะต้องคลอดบุตรกระทันหัน จะได้มีคาร์ซีทเพื่อขับรถกลับบ้านกับทารกแรกเกิดได้อย่างปลอดภัย ซึ่งก็ถือว่าเป็นความคิดที่ดีเยี่ยมเลยทีเดียว ใช่มั้ยคะ? เพราะ Safety First ปลอดภัยไว้ก่อน เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับลูกน้อยที่เรารอคอยมาถึง 9 เดือน เพราะเพียงแค่เสี้ยววินาที ก็อาจจะพรากชีวิตเขาไปจากเราได้ การใช้คาร์ซีทจึงเป็นการช่วยเพิ่มความปลอดภัย และลดความเสี่ยงที่จะเกิดจากอุบัติเหตุที่เราไม่คาดฝันได้มาก ๆ เลยล่ะค่ะ
Resources