เมื่อใกล้เปิดเทอมทีไรเป็นต้องตื่นเต้นทุกครั้งไป เนื่องจากการเปิดภาคเรียนเป็นเหมือนการรีเซตตัวเองและเริ่มต้นเป็นคนใหม่อีกครั้ง น้อง ๆ หลายคนอาจจะอยากปรับเปลี่ยนคุณภาพผลการเรียนของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น อยากมีเป้าหมายให้กับตัวเอง และอยากให้ชีวิตในวัยเด็กมีความบาลานซ์ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป
ดังนั้นเพื่อช่วยให้น้อง ๆ มีความพร้อมสำหรับการเปิดเทอมในวันแรก เรามาดู “10 ข้อ เตรียมความพร้อมก่อนเปิดเทอมระดับมัธยมศึกษา” กันหน่อยดีกว่าค่ะ ว่าจะมีอะไรที่ต้องทำบ้าง ???
1. เตรียมอุปกรณ์เครื่องเขียนให้พร้อม
ไม่ว่าน้อง ๆ จะเรียนอยู่ในระดับชั้นไหนก็ตาม การมีอุปกรณ์เครื่องเขียนสำหรับการเรียนถือว่าเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดที่นักเรียนทุกคนจะต้องเตรียมตัวไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ค่ะ
อย่างน้อยน้อง ๆ จะต้องมีปากกาและสมุดจดบันทึกสักหนึ่งเล่ม แต่ถ้าเป็นไปได้ พี่ขอแนะนำว่าควรมีทั้งปากกาสีน้ำเงิน, ปากกาสีแดง, ดินสอกด, ไส้ดินสอ, ยางลบ, หมึกลบคำผิด, ปากกาเน้นไฮไลท์ และไม้บรรทัด สิ่งเหล่านี้เป็นของใช้พื้นฐานที่จะช่วยให้น้อง ๆ เรียนหนังสือได้สะดวกยิ่งขึ้น หากเป็นไปได้ก็ให้ซื้อกระเป๋าดินสอขนาดเล็ก ๆ ไว้ด้วยค่ะ เพราะเราจะหยิบจับใช้สอยและพกพาได้สะดวกมากกว่าเดิม
หากน้อง ๆ คิดว่าอุปกรณ์เครื่องเขียนเหล่านี้ไม่จำเป็น พี่อยากให้น้อง ๆ ลองนึกภาพดูว่าการที่เราจะต้องหยิบยืมสิ่งของจากเพื่อนร่วมห้องตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรียน คงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจดจำสักเท่าไหร่ (จริงไหมคะ ?) ยิ่งในกรณีที่เราต้องทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมห้องใหม่หมดตั้งแต่วันแรกที่เปิดเทอม (อารมณ์แบบฉันไม่มีเพื่อนสนิทรู้ใจสักคน 😱 อยู่ข้างกาย) การสร้างความประทับใจครั้งแรกเป็นสิ่งที่สำคัญมากนะคะ

อีกอย่างการเตรียมอุปกรณ์เครื่องเขียนให้พร้อมเป็นการบ่งบอกถึงความตั้งใจเรียนของเราด้วยว่ามีมากน้อยแค่ไหน ? หากเริ่มต้นเรียนในวันแรกน้อง ๆ ก็ไม่มีอะไรพร้อมเลยสักอย่าง พี่รับรองเลยค่ะว่า นอกจากเพื่อน ๆ จะเอือมระอาแล้ว เราอาจตกเป็นเป้าสายตาของอาจารย์ผู้สอนในวิชานั้น ๆ โดยไม่รู้ตัวก็ได้นะคะ เชื่อพี่ค่ะ พี่ผ่านมาแล้ว !! 🤣 แม้ว่าวันแรกเราจะยังไม่รู้ตารางเรียนที่แน่ชัด ว่าต้องเรียนวิชาอะไรบ้าง ? แต่เราก็ควรมีอุปกรณ์สำหรับใช้จดบันทึกไว้ติดตัวเสมอค่ะ เพราะอย่างน้อยอาจารย์ผู้สอนแต่ละวิชาก็จะต้องแจกแจงเนื้อหาที่เราควรเรียนในแต่ละเทอมก่อนเป็นอันดับแรก
แต่โดยส่วนมาก จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของพี่ บอกเลยค่ะว่าอาจารย์ผู้สอนส่วนใหญ่จะเริ่มการเรียนการสอนในวันแรกกันหมดทุกคน 😉 ไม่มีการประนีประนอมหรือยอมปล่อยให้เวลาสูญเปล่าอย่างแน่นอนค่ะ 😌
2. ศึกษาเนื้อหาที่ต้องเรียนแต่ละวิชาไว้ล่วงหน้า
ในฐานะที่เราเป็นนักเรียน น้อง ๆ ควรทราบว่าระดับชั้นที่เรากำลังเรียนอยู่นั้นมี “หลักสูตรการเรียนการสอน” อย่างไร ? และเนื้อหาแต่ละวิชามีเรื่องอะไรที่เราต้องเรียนรู้บ้าง ? 🤔
การหาหลักสูตรการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินความสามารถเลยค่ะ เพราะส่วนใหญ่ทางโรงเรียนก็จะให้คู่มือการเรียนมาก่อนเปิดเทอมอยู่แล้ว หรือไม่ น้อง ๆ อาจจะหาหลักสูตรจากในอินเทอร์เน็ต รวมถึงถามจากรุ่นพี่ก็ได้เช่นกัน 😊
จากนั้น เมื่อเราทราบแล้วว่าตัวเองต้องเรียนเนื้อหาอะไรบ้างในแต่ละวิชา ก็ขอให้น้อง ๆ ศึกษาเนื้อหาอย่างคร่าว ๆ ก่อนสักนิด เพื่อที่เวลาเริ่มเรียนจริง ๆ จะได้ตามเพื่อน ๆ ในห้องทัน เพราะอย่าลืมว่าปัจจุบันนี้การเรียนการสอนในประเทศไทยเปรียบเสมือนเราอยู่ในสนามรบที่ต้องแข่งขันกันตลอดเวลา 💪 (มีเพื่อน ๆ อีกหลายคนที่ได้เริ่มเรียนเนื้อหาก่อนหน้าจบไปแล้วในช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา)

หลังจากที่น้อง ๆ ให้เวลาตัวเองในการศึกษาและดูเนื้อหาแต่ละวิชาเสร็จแล้ว หากน้อง ๆ รู้สึกว่าข้อมูลเรื่องพวกนี้ยากเกินกว่าที่เราจะทำความเข้าใจได้เองจริง ๆ พี่ขอแนะนำให้น้อง ๆ เตรียมวางแผนลงคอร์สเรียนพิเศษควบคู่กันไปในขณะที่เปิดเทอมค่ะ วิธีนี้จะทำให้น้อง ๆ ไม่ลืมเนื้อหาที่กำลังเรียนอยู่ได้ค่ะ 😌
โดยเฉพาะกับน้อง ๆ ม.ปลาย จะมีเนื้อหาที่ยากและซับซ้อนมากขึ้น พี่อยากให้น้อง ๆ เตรียมตัวเองให้พร้อมมากที่สุด อย่างไรก็ตาม เราไม่จำเป็นต้องกดดันตัวเองมากเกินไปนะคะ เพราะเราสามารถใช้ชีวิตในวัยเด็กให้เต็มที่ไปด้วยโดยที่ไม่ละทิ้งการเรียนไปด้วยได้ค่ะ !! ไม่จำเป็นว่าจะต้องตึงเกินไปหรือหย่อนเกินไปเป็น “การสร้างความบาลานซ์ให้ชีวิต” ค่ะ 😇
3. ทำความรู้จักกับอาจารย์ผู้สอนแต่ละวิชาก่อนเริ่มเรียน
“รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” ปรัญชาแห่งพิชัยยุทธ์ที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง !! น้อง ๆ ที่อ่านมาถึงข้อนี้อาจคิดว่า “นี่ฉันต้องไปสู้รบกับอาจารย์ด้วยรึ ?” 😂 จริง ๆ แล้วก็ไม่เชิงว่าการสู้รบหรอกค่ะ แต่การที่เรารู้จักนิสัยใจคอของอาจารย์ผู้สอนแต่ละวิชาก่อนเริ่มเรียน ก็ย่อมดีกว่าที่เราไม่รู้อะไรเลย ยกตัวอย่างเช่น
อาจารย์ A เป็นคนตลก วิชาที่สอนไม่ได้มีเนื้อหาที่เครียดมากนัก ดังนั้นน้อง ๆ ก็สามารถรีแลกซ์ตัวเองในคลาสเรียนนี้ได้ค่ะ ไม่จำเป็นต้องตึงเกินไปค่ะ

ในขณะที่อาจารย์ B ต้องสอนวิชาที่มีเนื้อหาอัดแน่นมาก ทำให้อาจารย์จำเป็นต้องสอนอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันตามเป้าหมายการสอนของแต่ละสัปดาห์ ซึ่งอาจทำให้นักเรียนบางกลุ่มตามไม่ทันได้ ในส่วนนี้น้อง ๆ ก็จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับวิชาเหล่านั้น ก่อนเริ่มเรียนควรจะศึกษาเนื้อหาหรือทำโจทย์ไว้ล่วงหน้า พยายามมีสมาธิและตั้งสติในขณะที่เรียนในคลาสอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้เข้าใจและตามทันที่อาจารย์สอน
หรือในกรณีที่อาจารย์ C เป็นคนเจ้าระเบียบมาก ๆ แถมยังควบตำแหน่งคุณครูฝ่ายปกครองด้วย สิ่งที่พี่จะแนะนำให้ได้คือน้อง ๆ ต้องตั้งใจเรียนในวิชานี้ให้มากหน่อยค่ะ 😁 พยายามทำตัวเองให้ถูกกฎระเบียบของโรงเรียนในวันที่มีเรียนวิชาของอาจารย์ C รวมถึงห้ามลืมอุปกรณ์การเรียน, สมุดจด, หนังสือเรียน, ทำการบ้านให้เสร็จ และอย่าเข้าเรียนสายเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นอาจโดดหักคะแนนจิตพิสัยไม่รู้ด้วยน๊าาาาา 🤣
4. หากิจกรรมหรือชมรมที่เราชอบไว้ล่วงหน้า
ทุก ๆ โรงเรียนมักจะมีการส่งเสริมกิจกรรมที่นักเรียนชอบ เพื่อให้เด็ก ๆ ไม่รู้สึกเครียดและกดดันมากเกินไปในขณะที่เรียน สำหรับพี่คิดว่าวัยมัธยมศึกษาเป็นวัยที่เด็ก ๆ ควรจะได้ลองเรียนรู้กิจกรรมต่าง ๆ ว่าตัวเองมีความชอบและความถนัดในด้านใดบ้าง ?

ซึ่งบางโรงเรียนก็มีหลักสูตรบังคับให้นักเรียนทุกคนลงชื่อในชมรม นักเรียนบางคนที่ชอบเล่นดนตรีก็สามารถเลือกเข้าชมรมเครื่องดนตรีสากลหรือดนตรีไทยได้เลย ในขณะที่นักเรียนบางคนก็ชอบทำอาหาร ชอบงานบ้านงานเรือน ก็ลงชื่อในชมรมคหกรรมไปเลยจ้าาา หรือบางคนที่ชอบเล่นกีฬามาก ๆ ก็เข้าชมรมกีฬาที่ตัวเองถนัดได้ตามใจชอบ
โดยส่วนใหญ่แล้ว แต่ละชมรมก็จะมีการรับจำนวนสมาชิกที่จำกัดเพื่อให้นักเรียนทุกคนกระจายได้ครบทุกชมรมและไม่อัดแน่นไปที่ชมรมใดชมรมหนึ่ง ดังนั้นน้อง ๆ ควรเริ่มหาชมรมที่ตัวเองชอบไว้ล่วงหน้า และควรจะเลือกชมรมสำรองไว้ด้วย เผื่อว่าชมรมแรกน้อง ๆ สมัครไม่ทัน ก็จะได้มีชมรมที่สองไว้เลือกในยามฉุกเฉิน หากเราไม่มีแผนสำรองไว้เลย น้อง ๆ ก็อาจจะต้องอยู่ในชมรมที่ตัวเองไม่ชอบได้ค่ะ
5. เลือกวิชาเสรีที่เราอยากเรียนหรือที่เราถนัดจริง ๆ
นอกเหนือจากชมรมที่ชื่นชอบแล้ว ส่วนใหญ่ทุก ๆ โรงเรียนจะมีวิชาตัวช่วยหรือที่เรียกเป็นทางการว่า “วิชาเลือกเสรี” ซึ่งก็คือวิชาที่ทางโรงเรียนเปิดสอนขึ้นมานอกเหนือหลักสูตร เป็นวิชาที่นักเรียนทุกคนสามารถเลือกเรียนด้วยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งวิชาเลือกเสรีอาจจะจัดตามระดับชั้นเรียนหรืออาจจะเรียนรวมกันทั้ง ม.ต้น และ ม.ปลาย ก็ได้ค่ะ
อย่างไรก็ตาม เคล็ดลับในการเลือกวิชาเสรีก็คือให้น้อง ๆ เลือกตามความสนใจหรือความถนัดของตัวเอง เพราะว่าโดยทั่วไปแล้ววิชาตัวช่วยเหล่านี้จะเป็นวิชาที่เราได้เกรดสวย ๆ ค่อนข้างง่าย หากเราลงเรียนในวิชาที่ไม่ถนัดหรือไม่ชอบจริง ๆ อาจทำให้วิชาตัวช่วยกลายเป็นวิชาตัวถ่วงได้นะคะ 🤣 เนื่องจากมันจะฉุดเกรดเราให้ลดลงฮวบ ๆ เลยทีเดียว

แนะนำว่าน้อง ๆ ไม่ควรเลือกวิชาเสรีตามเพื่อนสนิทหรือเลือกตามใครทั้งนั้น รวมถึงผู้ปกครองด้วยค่ะ น้อง ๆ ควรเป็นคนตัดสินใจเองว่าเราอยากเรียนวิชาไหน จงอย่ากลัวที่จะต้องไปเริ่มต้นสังคมใหม่ ๆ ที่เราไม่คุ้ยเคยนะคะ การมีวิชาเสรีและชมรมกิจกรรมต่าง ๆ ที่โรงเรียนจัดขึ้นมา ก็เพื่อให้นักเรียนได้ทำในสิ่งที่ชอบ เป็นหนึ่งโครงการที่ช่วยส่งเสริมให้เด็ก ๆ รู้จักรักษาสิทธิของตัวเอง และเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในสังคมที่ใหญ่ขึ้น ดังนั้นจงเชื่อมั่นในตัวเองเข้าไว้ แล้วใช้หัวใจในการเลือกไปเลยจ้าาา !!
6. ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ให้หลากหลาย
ในข้อนี้น้อง ๆสามารถนำไปใช้ได้ทั้งช่วงมัธยมศึกษาไปจนถึงมหาลัยเลยค่ะ โดยเฉพาะกับน้อง ๆ ม.1, ม.4 หรือปี 1 เนื่องจากเป็นช่วงแห่งการเริ่มต้นใหม่ ซึ่งจะมีนักเรียนมากหน้าหลายตา ต่างพ่อต่างแม่มากมาย แน่นอนว่าเราทุกคนได้รับการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนมาไม่เหมือนกัน ทำให้นิสัยใจคอต่างกันไปด้วย
ในวันแรกของการเปิดเทอม น้อง ๆ จะต้องพยายามทำความรู้จักกับเพื่อน ๆ ไว้หน่อยก็ดีนะคะ อย่าอายที่จะเปิดบทสนทนากับใครก่อน โดยน้อง ๆ อาจแลกเปลี่ยนช่องทางการติดต่อสื่อสาระหว่างกันได้ อย่างเช่น เบอร์โทรศัพท์, IG, Facebook หรือ Tiktok เพื่อใช้สานสัมพันธ์ในอนาคต (รวมถึงใช้ส่องนิสัยเพื่อนคนนั้นด้วยค่ะ 🤣)

แต่น้อง ๆ อย่าเพิ่งปักหลักตีสนิทชนิดที่แบบออกตัวแรงไปก่อนนะคะ เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าเพื่อนคนไหนจะเข้ากับเราได้หรือไม่ได้ เนื่องจากโดยส่วนใหญ่แล้วการเข้าสังคมช่วงในช่วงแรก จะไม่มีใครเผยตัวตนที่แท้จริงออกมาแน่นอนค่ะ (รวมถึงตัวเราด้วย จริงไหมคะ ?)
ดังนั้นขอให้น้อง ๆ ค่อย ๆ เรียนรู้ศึกษานิสัยเพื่อน ๆ ไปก่อน จากนั้นเมื่อตัดสินใจได้แล้วก็ค่อยเริ่มทำความรู้จัก ตีสนิทกันภายหลังก็ยังไม่สายค่ะ อย่ากลัวว่าคนอื่นจะไม่เปิดใจรับเรา และอย่าไปกลัวว่าเพื่อนจะไม่คบเรานะคะ 😙 แต่จงกลัวการคบเพื่อนผิดจะดีกว่า !! บอกเลยว่าการคบเพื่อนที่ดีมีผลต่อชีวิตในวัยรุ่นของน้อง ๆ เป็นอย่างมากค่ะ เด็ก ๆ วัยนี้เป็นวัยที่ติดเพื่อนมาก น้อง ๆ จะมีชีวิตที่เป็นทุกข์หรือสุขก็ขึ้นอยู่การเลือกเพื่อนที่นิสัยเข้ากับเราได้นะคะ
7. จัดตารางเรียนพิเศษให้สอดคล้องกับเวลาชีวิตของตัวเอง
ในข้อนี้ จริง ๆ แล้วอาจจะไม่เหมาะสำหรับน้อง ๆ นักเรียน ม.ต้น สักเท่าไหร่ เพราะว่าเนื้อหาที่น้อง ๆ เรียนยังไม่เจาะลึกมากพอ น้อง ๆ ไม่จำเป็นต้องนำชีวิตในวัยเด็กของตัวเองไปยึดติดกับผลการเรียนมากนัก พี่อยากให้น้อง ๆ ม.ต้น มีความสุขในการใช้ชีวิตในวัยเด็กให้เต็มที่มากกว่าค่ะ 😇
แต่ในส่วนของน้อง ๆ ม.ปลาย นั้นนนนนนนน 🔥🔥🔥 … จะต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิงค่ะ ระยะเวลา 3 ปีก่อนที่น้อง ๆ จะเข้าสู่รั่วมหาลัยเป็นช่วงที่เวลาที่สั้นมากนะคะ แน่นอนว่าน้อง ๆ ทุกคนย่อมทราบดีว่าเมื่อเข้าสู่ ม.ปลาย น้อง ๆ จะต้องเรียนตามสายที่ตัวเองถนัด ซึ่งทางโรงเรียนจะจัดแยกไว้อย่างชัดเจน อาทิเช่น สายการเรียนแผนวิทย์ – คณิต , สายการเรียนแผนศิลป์ – คำนวณ หรือสายการเรียนแผนศิลป์ – ภาษา ซึ่งก็จะแยกย่อยออกไปได้หลายภาษาเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น ภาษาจีน เกาหลี หรือฝรั่งเศส ต่าง ๆ นานา

โดยส่วนใหญ่นักเรียน ม.ปลายในประเทศไทยจะต้องลงคอร์สเรียนเสริมกันอย่างน้อยประมาณ 2-3 คอร์สต่อเทอม ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติจริง ๆ ค่ะ แต่การที่เราจะลงคอร์สเสริมได้นั้น ไม่ใช่แค่ว่าเรามีเวลาว่างและเงินจ่ายค่าคอร์สเท่านั้นนะคะ แต่เราจะต้องจัดวางแผนตารางเรียนให้ดี ดูว่าคอร์สไหนเปิดสอนช่วงเวลาไหน มีสอนทั้งหมดกี่คอร์ส มีการชนกับอีกคอร์สหรือไม่ คอร์สไหนที่ผู้สอนเก่งแต่รับจำนวนนักเรียนจำกัดก็ควรจะยึดคอร์สนั้นเป็นคอร์สหลักก่อน และอย่าลืมที่จะหาแผนลงคอร์สสำรองไว้ด้วยนะคะ
บอกเลยว่าค่ะว่า การที่เราเรียนรู้จัดการตารางเรียนพิเศษด้วยตัวเองเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีมาก ๆ เพราะเมื่อน้อง ๆ เข้าสู่รั่วมหาลัยแล้ว น้อง ๆ จะต้องลงทะเบียนเรียนเอง โดยจะมีการแข่งขันที่สูงมาก แต่ละวิชาอาจมีอาจารย์ผู้สอนให้เลือก 2-3 ท่าน และแต่ละวิชาก็จะใช้เวลาเรียนตามที่ประกาศไว้เป็นหลัก จะไม่มีการเปลี่ยนเวลาเรียนเพื่อนักศึกษาคนใดคนหนึ่งเลยค่ะ บางวิชาเราอาจจะต้องเรียนร่วมกับเพื่อนต่างสาขา ต่างคณะ รวมถึงอาจจะต้องพร้อมกับรุ่นพี่ด้วย ดังนั้นการรู้จัดวางแผนตารางเรียนไว้ก่อนย่อมเป็นเรื่องที่ดีค่ะ
8. เตรียมตัว ทำแบบทดสอบก่อนเรียน (Quiz)
สำหรับข้อนี้ค่อนข้างสร้างความเซอร์ไพรส์จริง ๆ ค่ะ หากน้อง ๆ เป็นคนที่ไม่ซีเรียสกับการเรียนหรือไม่ได้รู้สึกกดดันกับผลการเรียนมากนัก น้อง ๆ อาจจะข้ามข้อนี้ไปก็ได้ค่ะ
แต่ถ้าน้อง ๆ ตั้งใจว่าเทอมนี้ “ฉันจะต้องเปลี่ยนเป็นคนใหม่ มีผลการเรียนที่ดีขึ้น” 😠 การฝึกทำโจทย์ไว้ล่วงหน้าถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วอาจารย์ผู้สอนจะให้นักเรียนทำแบบทดสอบก่อนเรียนเพื่อที่จะได้รู้ว่านักเรียนในห้องส่วนใหญ่มีความรู้พื้นฐานในวิชาเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน 🤔

ในกรณีที่ผลการทดสอบโดยเฉลี่ยออกมาค่อนข้างต่ำกว่ามาตรฐาน อาจารย์ผู้สอนก็อาจจะปรับแผนการสอนให้ช้าลงและปูพื้นฐานช่วงแรก ๆ ให้แน่นกว่าเดิม 🥰 แต่ในกรณีที่ผลการทดสอบโดยเฉลี่ยออกมาค่อนข้างดีหรืออยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าเป็นกังวล บางทีแผนการสอนก็อาจจะปรับเปลี่ยนไปให้เร็วขึ้น เพื่อที่นักเรียนส่วนใหญ่มีเวลาฝึกทำโจทย์และฝึกทำข้อสอบมากยิ่งขึ้น 🥶
อย่างไรก็ตาม การทดสอบก่อนเรียนของแต่ละวิชาเป็นการคาดคะเนความรู้พื้นฐานของนักเรียนในห้องเท่านั้น เพื่อที่คุณครูจะได้ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละห้อง หากห้องเรียนที่น้อง ๆ ประจำอยู่มีนักเรียนที่เรียนเก่งเยอะหน่อย อาจทำให้เราเรียนไม่ทันเพื่อน ๆ ได้ค่ะ 🥲 ดังนั้นอย่าลืมเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการ Quiz ก่อนเรียนในแต่ละวิชากันด้วยนะคะ
9. ศึกษากฎระเบียบของโรงเรียน
ข้อนี้ก็ถือว่าสำคัญมากเลยนะคะ โดยเฉพาะกับนักเรียนใหม่อย่างน้อง ๆ ม.1 หรือ ม.4 เนื่องจากกฎระเบียบของแต่ละสถาบันก็มีข้อกำหนดที่ต่างกันออกไป อาทิเช่น หากเป็นโรงเรียนรัฐบาล ก็จะมีกฎระเบียบที่เคร่งครัดสักหน่อย

ยกตัวอย่าง ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในคลาสเรียน, กฎระเบียบเรื่องการแต่งตัวและเครื่องแต่งกายที่ต้องอยู่ในกรอบ อาทิเช่น ต้องสวมนาฬิกาสีพื้นเรียบ ๆ เท่านั้น, ต้องสวมถุงเท้าสีขาวล้วน ห้ามมีลวดลาย, รองเท้านักเรียนและรองเท้าพละที่ใช้ตามข้อกำหนด รวมถึงอาจต้องใช้กระเป๋านักเรียนสีดำล้วน เป็นต้น
กฎระเบียบเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ดังนั้นพี่จึงไม่สามารถแนะนำอย่างตรงไปตรงมาได้ ทำได้เพียงขอให้น้อง ๆ ศึกษากฎระเบียบโรงเรียนของตัวเองก่อนเปิดเทอมอย่างละเอียดนะคะ
10. วางแผนสร้างสมดุลระหว่างโรงเรียนและชีวิตประจำวัน
จาก 9 ข้อที่ผ่านมา น้อง ๆ อาจรู้สึกว่าช่วงชีวิตในวัยเด็กของฉันช่างเศร้าหมองไร้ชีวิตชีวาและไม่มีความยืดหยุ่นเสียเหลือเกิน ทุกอย่างล้วนแต่เป็นข้อกำหนดที่เราจะต้องกดดันตัวเองมากเกินไป

แต่อย่างไรก็ตาม ทั้ง 9 ข้อที่พี่แนะนำมานั้น จะช่วยให้ผลการเรียนของน้อง ๆ ดีขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ และยังช่วยให้น้อง ๆ รับมือการเปิดเทอมในแรก ๆ ได้เป็นอย่างดี จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่ามีนักเรียนบางคนที่เปิดเทอมในช่วงแรก ๆ พวกเขาปรับตัวไม่ทัน ทำให้รู้สึกกดดันและไม่อยากไปโรงเรียน ซึ่งอาจทำให้เป้าหมายในการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปได้
ดังนั้นนอกจากทำตามข้อเสนอแนะทั้ง 9 ข้อไปแล้ว น้อง ๆ ก็อย่าลืมให้รางวัลกับตัวเองด้วยพักผ่อนให้เพียงพอ หาวิธีคลายเครียดให้กับตัวเองกันด้วยนะคะ โดยน้อง ๆ อาจจะมีการแบ่งเวลาไปออกกำลังกายบ้างหรือใช้เวลาในการรับชมซีรีส์หรืออนิเมะที่ชื่นชอบ เพื่อเพิ่มพลังและคืนความกระปรี้กระเปร่าให้กับร่างกาย แต่ทุกอย่างจะต้องดำเนินอยู่ใน “โปรแกรมการเรียน” ที่น้อง ๆ ยังคงสามารถรักษามาตรฐานผลการเรียนของตัวไว้ได้อย่างสมดุล อย่าลืมพยายามพิจารณาผลการเรียนรู้ของตัวเองแต่ละสัปดาห์อยู่เสมอว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ ? ด้วยนะคะ