หากพูดถึง ประเทศอินเดีย หลายคนมักจะนึกถึงความแออัด เสียงอึกทึกครึกโครม หรือการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าหลากสี แต่ถึงอย่างนั้นขนม, แกงกะหรี่ และสกินแคร์สมุนไพรกลับเป็นสิ่งที่หลายคนชื่นชอบและมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วทั้งโลก ซึ่งอินเดียถือว่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทั้งในด้านของภาษา, ฐานะ, อาหาร รวมไปจนถึงศาสนาและความเชื่อ และประเทศอินเดียก็เป็นจุดเริ่มต้นของหลาย ๆ ศาสนาที่มีอยู่บนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธ, พราหมณ์, ฮินดู, ซิกข์ และอื่น ๆ อีกมากมาย
จริง ๆ แล้วนอกจากสิ่งเหล่านี้แล้วอินเดียยังมีอีกหลาย ๆ อย่างที่น่าสนใจค่ะ แต่สิ่งที่ถ่ายทอดความเป็นอินเดียออกมาได้ดีที่สุดคงต้องขอยกให้ “หนัง” และ “ละคร” ที่สามารถทำให้เราเข้าใจประเทศอินเดียได้มากขึ้นผ่านฉากต่าง ๆ ในหนัง นอกจากนี้หนังอินเดียยังกล้าที่จะหยิบยกเอาประเด็นต่าง ๆ มาตีแผ่หรือตั้งคำถามกับสังคมอีกด้วย อย่างที่เราจะเห็นได้จากหนังสัญชาติอินเดียเรื่องล่าสุดที่โด่งดังไปทั่วโลกอย่าง Gangubai Kathiawadi ที่หยิบเอาการค้าบริการทางเพศมาตีแผ่จนทำให้หลาย ๆ คนเข้าใช้ชีวิตของโสเภณีมากขึ้น และในบทความนี้เราก็รวบรวมเอาหนังอินเดียที่มีชื่อเสียงและน่าสนใจมารีวิวในบทความนี้ บอกเลยว่าสนุกน่าติดตามไม่แพ้หนังจีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น หรือหนังฝรั่งเลยค่ะ
1. Gangubai Kathiawadi – หญิงแกร่งแห่งมุมไบ

ประเภท | ดรามา / ชีวประวัติ / ปัญหาสังคม |
ผู้กำกับ | Sanjay Leela Bhansali |
นักแสดงนำ | Alia Bhatt, Shantanu Maheshwari, Vijay Raaz, Indira Tiwari และ Seema Pahwa |
ความยาวหนัง | 154 นาที |
ปีที่ออกอากาศ | 2022 |
ไม่พูดถึงคงไม่ได้สำหรับ ‘คังคุไบ’ หนังอินเดียที่กำลังฮิตติดท็อป 10 ใน NETFLIX ตัวหนังเล่าเรื่องราวของ คังคุไบ หญิงสาวหน้าตาดีที่โดนแฟนหนุ่มหลอกให้มาขายบริการที่ ‘กามธิปุระ’ ตรอกโสเภณีชื่อดังในบอมเบย์ ในทุก ๆ วันเธอต้องโดนบังคับให้ขายบริการและพบเจอกับชายหนุ่มทุกระดับ จนกระทั่งวันหนึ่งเธอได้เจอกับสมาชิกเแก๊งมาฟียที่มาใช้บริการและทำร้ายเธอจนแทบเอาชีวิตไม่รอด แต่นั่นกลับไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกเกรงกลัวเขาเลยสักนิด คังคุไบกลับสืบหาและได้เข้าไปพูดคุยกับ การิม ลาลา หัวหน้ามาเฟียในย่านนั้นจนทำให้เธอปลอดภัยและเริ่มสนิทกับเขามากขึ้นเรื่อย ๆ
จากการสนิทสนมกับหัวหน้ามาเฟียทำให้คังคุไบเริ่มเข้าไปพัวพันกับวงการสีเทาและเริ่มมีอิทธิพลเหนือกฏหมายมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็เปรียบดั่งแม่พระของโสเภณี เพราะคังคุไบไม่เคยบังคับเด็กสาวที่มาขายบริการและเป็นที่ยอมรับของพวกเธอจนชนะเลือกตั้งจนกลายเป็นแม่เล้าใหญ่ในกามธิปุระ หลังจากนั้นเธอเริ่มจัดระเบียบการค้าประเวณีและเดินหน้าเรียกร้องสิทธิให้แก่เด็กยากไร้ รวมถึงทำให้สังคมได้รับรู้ว่าอาชีพโสเภณีที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีไม่แพ้อาชีพหมอ, ตำรวจ หรือนักวิทยาศาสตร์
คังคุไบเป็นหนังชีวประวัติที่สร้างมาจากเรื่องจริงของ ฮาร์จีวันตัส กฐิยาวาฑี ผู้หญิงที่เรียกร้องสิทธิและทำให้การค้าประเวณีกลายมาเป็นอาชีพและเปิดโอกาสให้เด็กยากไร้มีโอกาสเรียนหนังสือเทียบเท่าเด็กคนอื่น ๆ และปัจจุบันคังคุไบเปรียบเสมือนพระแม่หรือสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้โสเภณีอินเดียพึงระลึกถึงเกียติและการต่อสู้ของเธออยู่เสมอ ซึ่งหนังเรื่องนี่ถือว่าเป็นการตีแผ่อีกหนึ่งมุมมืดของประเทศอินเดียและทำให้หลายคนเข้าถึงชีวิตและความรู้สึกจริง ๆ ของโสเภณีมากกว่าความสุขฉาบฉวยเพียงครั้งคราว
2. Cobalt Blue – ปรารถนาสีน้ำเงิน

ประเภท | ดรามา / LQBTQ+ |
ผู้กำกับ | Sachin Kundalkar |
นักแสดงนำ | Prateik Babbar, Neelay Mehendale และ Anjali Sivaraman |
ความยาวหนัง | 133 นาที |
ปีที่ออกอากาศ | 2022 |
ย้อนกลับไปในยุคที่การรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดกฎหมายร้ายแรงไม่ต่างจากการก่อฆาตกรรมหรืออาชญากรรม รวมไปถึงคนอินเดียในสมัยนั้นค่อนยึดถือจารีตประเพณีโบราณอย่างเคร่งครัด ทำให้ ฐานัย ต้องเก็บซ่อนความรู้สึกที่มีให้กับ อาจารย์หนุ่ม ที่มาเช่าบ้านจากการระแคะระคายของครอบครัวที่เคร่งครัดในจารีตประเพณี ขณะเดียวกัน อนุชา น้องสาวรักอิสระของเขาเองก็พยายามแหกกรอบความหวังที่พ่อแม่และสังคมตั้งไว้ เพื่อไล่ตามความฝันในการเป็นนักกีฬาคริกเก็ตที่มีชื่อเสียง เรื่องราวของทั้งคู่ดำเนินไปเรื่อย ๆ พร้อมกับความสัมพันธ์ระหว่างฐานัยและอาจารย์หนุ่มต้องเป็นไปอย่างลับ ๆ ทั้งคู่ใช้เวลาและเก็บเกี่ยวความสุขที่มีน้อยนิดไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าสุดท้ายแล้วทั้งคู่จะไม่สามารถเอาชนะกรอบประเพณีไปได้ก็ตาม
Cobalt Blue ถือว่าเป็นหนัง LGBTQ+ เรื่องแรก ๆ ในประเทศอินเดียหลังมีการยกเลิกกฎหมายลงโทษคู่รักร่วมเพศในปี 2018 ที่ผ่านมา หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องย้อนกลับไปในช่วงที่มีการบังคับใช้กฎอย่างเข้มงวด แต่จะเน้นแสดงให้เห็นถึงความกล้า ๆ กลัว ๆ ในการเปิดเผยตัวตัวตนของทั้งฐานัยและอนุชา เนื้อเรื่องค่อนข้างจะมีความอินดี้และเน้นสื่อสารด้วยศิลปะ ไม่มีฉากร่วมเพศที่เห็นชัดเจน ถือว่าเป็นหนังอินเดียอีกหนึ่งเรื่องที่เต็มไปด้วยความสวยงามและดูได้เพลิน ๆ ค่ะ
3. The White Tiger – พยัคฆ์ขาวรำพัน

ประเภท | ดราม่า / ปัญหาสังคม |
ผู้กำกับ | Ramin Bahrani |
นักแสดงนำ | Adarsh Gourav, Priyanka Chopra Jonas และ Rajkummar Rao |
ความยาวหนัง | 125 นาที |
ปีที่ออกอากาศ | 2021 |
เรื่องราวของ พลราม เจ้าของธุรกิจที่มีชื่อเสียงในประเทศอินเดีย ชายหนุ่มเล่าถึงอดีตของตัวเองที่เกิดมามีฐานะต่ำต้อยทั้งทางการเงินและโครงสร้างวรรณะของอินเดีย ถึงแม้เขาจะมีสติปัญญาที่เฉลียวฉลาดแต่ก็ต้องติดแหง็กอยู่ในกรงของ ‘คนจน’ อย่างเลี่ยงไม่ได้ พลรามเรียนจบประถมศึกษาแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ จากนั้นก็ต้องออกมาเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านน้ำชา เงินที่หามาได้เพียงเล็กน้อยก็ต้องโดนขูดรีดจากเจ้าของที่ดินหน้าเลือดและคนในครอบครัว และสิ่งเหล่านี้ก็ผลักดันให้พลรามต้องคอยมองหาช่องโหว่และใช้เล่ห์เหลี่ยมอยู่เสมอด้วยหวังว่าจะสามารถหลุดรอดจากกรงที่กักเขามาตั้งแต่เกิดได้ในวันหนึ่ง
จนกระทั่งพลรามได้มีโอกาสเป็นคนขับรถและคนรับใช้ของ คุณอโศก และ คุณพิ้งกี้ ลูกชายคนเล็กหัวสมัยใหม่ของเจ้าของที่หน้าเลือด จากการคลุกคลีอยู่ในสถานที่แห่งใหม่ทำให้พลรามได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตที่ทันสมัยและโอ่อ่า การพูดคุยแบบคนมีการศึกษา หรือจะเป็นเส้นสายและอิทธิพลที่สามารถจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยเพียงดีดนิ้ว แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่พลรามได้เรียนรู้คือสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ได้มาจากการ ‘ดูถูก’ ‘กดขี่’ และ ‘ข่มเหง’ คนที่มีฐานะต่ำต้อยกว่า แต่นั่นกลับทำให้พลรามพร้อมและยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและความสำเร็จโดยไม่สนและไม่เสียใจกับสิ่งที่ทำเลยแม้แต่น้อย
ในเรื่องพลรามเปรียบเสมือนเป็น เสือขาวในกรงไก่ เขามองคนจนเป็นไก่ที่ถูกกักขังอยู่ในกรง คนเหล่านี้ยอมรับฐานะของตัวเอง ถึงแม้จะรู้จุดจบชีวิตของตัวเองแต่ก็ไม่เคยต่อสู้หรือวาดฝันถึงชีวิตที่ดีพร้อม แต่พลรามไม่ได้เป็นแบบนั้น เขาเกิดมาพร้อมความฉลาดและไหวพริบ เหมือนเสือขาวที่หลายสิบปีถึงจะมีสักตัว แต่ดันมาเกิดในกรงไก่ที่คอยฉุดคนอื่นให้อยู่กับที่อยู่เสมอ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เสือขาวอย่างเขาจะต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อแหกคอกไก่ออกมาเฉิดฉายให้ได้
4. Andhadhun – บทเพลงในโลกมืด

ประเภท | คอมเมดี้ / อาชญากรรม / ระทึกขวัญ |
ผู้กำกับ | Sriram Raghavan |
นักแสดงนำ | Tabu, Ayushmann Khurrana และ Radhika Apte |
ความยาวหนัง | 138 นาที |
ปีที่ออกอากาศ | 2018 |
เรื่องราวของ อากาช นักเปียโนฝีมือดีที่แกล้งตาบอดเพื่อฝึกฝนประสาทสัมผัส วันหนึ่งเขาจับพลัดจับผลูมาเห็นเหตุฆาตกรรมภายในบ้านของ ปราโมช นักแสดงชื่อดัง อากาชต้องฝืนแสดงเป็นคนตาบอดให้เป็นธรรมชาติมากที่สุดเพื่อไม่ให้ มาโนฮา ชายชู้ และ สิมิ ภรรยาของปราโมชรู้ตัว หลังจบการแสดงเขารีบปรี่เข้าไปแจ้งความแต่ก็พบว่าชายชู้เป็นตำรวจใหญ่ที่นั่นและเขากำลังสงสัยในตัวอากาชจนตามมาเช็กที่บ้านแต่ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี หลังจากนั้นไม่นานการตายของปราโมชก็กลายเป็นข่าวใหญ่ ทั้งสิมิ, อากาช และลูกสาวของปราโมชโดนสอบสวนอย่างเข้มข้น
หลังจบเรื่องปราโมชทั้งมาโนฮาและสิมิก็ยังไม่วางใจในตัวอากาชและคอยตามดูเขาเรื่อย ๆ และยิ่งสงสัยมากขึ้นไปอีกหลังอากาชกลับไปที่บ้านของปราโมชและเห็นฉากที่สิมิกำลังก่อฆาตกรรมอีกครั้ง คราวนี้เขาตกใจจนแทบจะเก็บอาการไม่อยู่ ประกอบกับเด็กข้างบ้านเขาเองก็เริ่มสงสัยในอาการตาบอดของอากาชและแอบดูเขาเงียบ ๆ หลังจากนั้นไม่นานสิมิมาเยี่ยมเขาที่บ้านและทำให้อากาชตาบอดจริง ๆ เขารู้สึกตกใจมากจนแอบหนีออกมาเจอสองผัวเมียคู่หนึ่ง เขาได้รับการช่วยเหลือให้ไปซ่อนตัวอยู่ในคลีนิคแห่งหนึ่งแต่ก็มารู้ทีหลังว่าเขาถูกหลอกให้มาขายอวัยวะ อากาชจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อเอาตัวรอดจากทุกคนที่หวังแค่ประโยชน์จากร่างกายของเขา
Andhadhun เป็นหนังอาชญากรรมระทึกขวัญที่สนุกและน่าติดตามตลอดทั้งเรื่อง อาการตาบอดและสิ่งที่อากาชพบเจอทำให้เรารู้สึกสงสัยตามไปด้วยว่าถ้าตัวเราอยู่ในเหตุการณ์เหล่านั้นจะเอาตัวรอดอย่างไร และวิธีเอาตัวรอดของอากาชก็ชวนลุ้นระลึกสุด ๆ นอกจากนี้ทั้งฝีมือการแสดงและเนื้อเรื่องก็ทำออกมาได้อย่างลงตัวไม่น่าเบื่อเลยแม้แต่น้อยค่ะ ยิ่งเป็นตอนจบของเรื่องก็ยิ่งชวนให้เราสงสัยว่าจริง ๆ แล้วอากาชนั้นตาบอดจริงหรือแกล้งทำ
5. SANJU – ซันจู

ประเภท | ชีวประวัติ / คอมเมดี้ / ดราม่า |
ผู้กำกับ | Rajkumar Hirani |
นักแสดงนำ | Ranbir Kapoor, Paresh Rawal, Manisha Koirala และ Vicky Kaushal |
ความยาวหนัง | 161 นาที |
ปีที่ออกอากาศ | 2018 |
เรื่องราวชีวิตของ ซันจู นักแสดงบอลลีวู้ดแนวหน้ากับเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ความตกต่ำเริ่มจากช่วงวัยรุ่นที่เขาหลงผิด ‘เสพยา’ จนแทบจะสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตรวมไปถึงเพื่อนและคนรัก หลังจากตั้งสติได้ซันจูก็ได้เดินทางไปบำบัดจนหายขาดและกลับมายังประเทศอินเดียอีกครั้ง ดูเหมือนว่าคราวนี้ชีวิตจะดีขึ้นแต่มันกลับแย่ได้มากกว่านี้อีก เพราะหลังจากนั้นไม่นานเขากลายเป็นผู้ต้องหาในคดี ‘ครอบครองอาวุธผิดกฎหมาย’ และโดนจำคุกตามคำสั่งศาล แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือเขากลายเป็นผู้ก่อการร้ายในสายตาคนทั้งประเทศจากการพาดหัวข่าวของสื่อที่ต้องการเพียงความสนใจจากประชาชนโดยไม่สนเลยว่าผลกรรมจะไปตกอยู่ที่ใคร
หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากเรื่องจริงของ Sanjay Dutt นักแสดงชาวอินเดียที่เคยตกเป็นเหยื่อของสังคมจากการพาดหัวข่าวแบบผิด ๆ ของสื่อไร้จรรยาบรรณ ซึ่งถือว่าสื่อ (นักข่าว) กับนักแสดงนี่เป็นคู่ปรับตลอดกาลเลยก็ว่าได้ค่ะ นอกจากนี้ในส่วนของการแสดงก็ถือว่าทำได้ดีเพราะได้ Ranbir Kapoor เข้ามารับบทตัวเอกของเรื่อง ซึ่งฝีมือการแสดงของเขาบอกเลยว่าไม่ธรรมดาและเป็นที่ชื่นชอบของคนไทยหลาย ๆ คน ขอบอกอีกหน่อยว่าในเรื่องนี้ยังได้เจ้าของเรื่องมารับบทเป็นตัวประกอบอีกด้วย
6. DANGAL – ปล้ำฝันสนั่นโลก

ประเภท | ชีวประวัติ / กีฬา / ดรามา |
ผู้กำกับ | Nitesh Tiwari |
นักแสดงนำ | Aamir Khan, Sakshi Tanwar, Fatima Sana Shaikh, Zaira Wasim และ Sanya Malhotra |
ความยาวหนัง | 161 นาที |
ปีที่ออกอากาศ | 2016 |
มหาเวียร์ ซิงค์ โพกัต มีความฝันอยากเป็นนักมวยปล้ำทีมชาติและนำความภาคภูมิใจมาสู่ชาวอินเดีย แต่เพราะขาดการสนับสนุนที่เพียงพอ ทำให้เขาต้องยอมดับไฟแห่งความฝันแล้วหันมาตั้งหน้าตั้งหาเงินมาจุนเจือครอบครัว และการตั้งท้องลูกคนแรกของภรรยาก็เหมือนเป็นการจุดความหวังของเขาขึ้นมาใหม่อีกครั้ง มหาเวียร์หวังจะปลุกปั้นลูกชายให้เป็นนักมวยปล้ำที่มีชื่อเสียงและยกธงอินเดียให้โบกสบัดทัดเทียมนานาชาติ แต่เหมือนพระเจ้าจะมองไม่เห็นความมุ่งมั่นและประทานลูกสาวมาให้แทน ไม่ใช่แค่หนึ่งแต่ลูกทั้ง 4 คนของเขาล้วนแล้วแต่เป็นผู้หญิงทั้งสิ้น
มหาเวียร์ต้องพับเก็บความฝันซ่อนเอาไว้ในใจแล้วก้มหน้าก้มตาหาเงินมาเลี้ยงลูกเมียให้สุขสบาย วันหนึ่งหลังกลับจากทำงานเขาก็ต้องตกใจเมื่อเจอเด็กชายสภาพสบักสะบอมและคนจำนวนหนึ่งยืนรออยู่หน้าบ้าน และต้องตกใจมากขึ้นไปอีกเมื่อรู้ว่าคนที่ทำร้ายเด็กชายคือ กีตา และ บาบิตา ลูกคนโตและคนรองของเขา แต่แทนที่จะโกรธและทำโทษลูก มหาเวียร์กลับมองเห็นช่องทางที่จะทำตามฝันอีกครั้ง เขาเริ่มฝึกฝนให้ลูกสาวทั้ง 2 คนเป็นนักมวยปล้ำ พาไปลงแข่งครั้งแล้วครั้งเล่า และในที่สุดวันที่รอคอยทั้งชีวิตก็มาถึง วันที่ลูกสาวของเขาได้ขึ้นไปยืนบนสนามมวยปล้ำระดับโลกเคียงคู่ประเทศชาติอื่น ๆ
DANGAL เป็นหนังที่จะปลุกเลือดนักสู้ของคุณให้กลับมาเดือดพล่านอีกครั้ง บางคนอาจจะมองในแง่มุมของคนอื่น ๆ ที่คิดว่ามหาเวียร์ก็ไม่ต่างจากพ่อแม่ทั่วไปที่ยัดเยียดความฝันตัวเองให้ลูก แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นการเชิดชูและให้เกียรติกีตาและบาบิตาที่เป็นนักมวยปล้ำหญิงอินเดียคนแรกที่เป็นตัวแทนของชาวอินเดียทั้งประเทศและสามารถคว้าชัยชนะได้สำเร็จ นอกจากนี้หนังเรื่องนี้มีรายได้ถล่มทลายจากประเทศจีนอีกด้วยค่ะ
7. PK – ผู้ชายปาฎิหารย์

ประเภท | ไซไฟ / คอมเมดี้ / ดราม่า |
ผู้กำกับ | Rajkumar Hirani |
นักแสดงนำ | Aamir Khan, Anushka Sharma, Sushant Singh Rajput และ Sanjay Dutt |
ความยาวหนัง | 152 นาที |
ปีที่ออกอากาศ | 2014 |
พีเค ได้รับภารกิจให้เดินทางมายังดาวโลกเพื่อวิจัยมนุษย์ เขามาถึงด้วยสภาพล่อนจ้อนและสร้อยคอที่เป็นรีโมทสำหรับติดต่อกับยานแม่ แต่หลังจากนั้นไม่นานสร้อยของเราก็โดนขโมยไปทำให้พีเคต้องออกตามหารีโมทไปพร้อม ๆ กับเรียนรู้การใช้ชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องแต่งกาย, ภาษา หรือเงินตราที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้า หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ได้พบกับ สิง หัวหน้าคณะดนตรีที่คอยช่วยให้พีเคสามารถติดต่อสื่อสารกับมนุษย์คนอื่น ๆ ได้ แต่ต่อมาพีเคก็ขอแยกตัวออกมาตามหารีโมทในเมืองใหญ่ต่อ
ไม่ว่าจะพยายามเท่าไหร่ถือถามใครต่อใคร ทุกคนก็ล้วนแล้วแต่บอกว่า ‘มีแค่พระเจ้าเท่านั้นที่รู้’ พีเคจึงออกตามหาพระเจ้าของทุกศาสนาเพื่อหวังเพียงสิ่งเดียวที่ต้องการ แต่ยิ่งเรียนรู้มากเท่าไหร่ในหัวของเขาก็มีคำถามมากขึ้นเท่านั้น ในสุดพีเคก็ได้มาเจอกับสิ่งที่กำลังตามหาภายในงานเทศนาของ ทพัสวี นักบวชชื่อดังที่หลายคนนับถือที่ครอบครองรีโมทของเขาไว้ แต่สุดท้ายพีเคก็โดนขับไล่ออกมาจนเจอกับ จั๊กกู นักข่าวสาวที่กำลังมองหาแพชชั่นในการทำข่าว หลังจากคุยกันจนเข้าใจทั้งคู่จึงออกตามหาพระเจ้าไปด้วยกันพร้อมความสัมพันธ์ที่เริ่มขยับใกล้ชิดกันเรื่อย ๆ
หนังไซไฟคอมเมดี้เรื่องนี้เรียกว่าดีที่สุดของหนังอินเดียเลยก็ว่าได้ สำหรับเราแล้วขอยกให้เป็นหนังอินเดียเรื่องแรก ๆ ที่ควรค่าแก่การรับชม หนังเรื่องนี้กล้าที่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับพระเจ้าในประเทศที่มีความเชื่อและมีความหลากหลายทางศาสนา พีเคเปรียบเสมือนผ้าขาวที่ทั้งใสซื่อและบริสุทธิ์ ทุกคำถามที่เขามีล้วนแล้วแต่เป็นที่อธิบายยากและถึงแม้เวลาจะผ่านมากี่สิบปีก็ยังไม่มีใครหาคำตอบจริง ๆ ได้เลยสักคน
ทั้งหมดนี้ก็คือหนังอินเดียทั้ง 7 เรื่องที่เราหยิบยกมาแนะนำในบทความนี้ค่ะ เป็นอย่างไรบ้างคะ เราเชื่อว่าตอนนี้หลาย ๆ คนคงจะรู้สึกสนใจและเปิดใจให้หนังบอลลีวู้ด (Bollywood) กันมากขึ้น เอาจริง ๆ แล้วเราเองก็เคยเป็นคนหนึ่งที่มองข้ามหนังอินเดียเพราะมีภาพจำว่าหนังหรือละครอินเดียจะต้องวิ่งไล่จับข้ามภูเขาหรือฉากบู๊เว่อร์ ๆ ล้น ๆ ไม่สมเหตุสมผล แต่เอาจริง ๆ แล้วหนังอินเดียมีหลากหลายประเภทให้เลือกและโปรดักชั่นดี ๆ เทียบเท่าประเทศอื่น ๆ เลยค่ะ
ยิ่งไปกว่านั้นหนังอินเดียยังกล้าหยิบยกเอาประเด็นอ่อนไหวทั้งการเมือง, ศาสนา หรือแม้แต่การขายบริการทางเพศมาตีแผ่และตั้งคำถามกับสังคม ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องแบบนี้อาจจะเห็นได้ยากในบางประเทศแถวนี้ ถือว่าเป็นการเปิดโลกที่ทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกสนใจประเทศอินเดียมากขึ้นแน่นอนค่ะ