สวัสดีค่ะเพื่อน ๆ กลับมาพบกับบทความแนะนำหนังและซีรีส์สนุก ๆ กันอีกแล้ว หลาย ๆ บทความก่อนหน้าเราได้แนะนำซีรีส์และหนังไปหลากหลายแนวแล้ว ไม่ว่าจะเป็น แนวกีฬา, แนวซอมบี้, สยองขวัญ, แนวไฮสคูล, หนังรักโรแมนติก, อนิเมะ, แฟนตาซี หรือจะเป็นหนังเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ประเทศเกาหลี, หนังจีนโบราณก็มีให้เลือกชมเยอะแยะมากมาย
แต่วันนี้เรากลับมาประเทศไทยกันบ้างดีกว่าค่ะ เพราะหนังที่เรารวบรวมมาแนะนำในบทความนี้คือ หนังประวัติศาสตร์ไทย ที่เรานำมารีวิวถึง 9 เรื่อง ซึ่งแต่ละเรื่องจะเป็นเรื่องราวที่อิงมาจากประวัติศาสตร์ของไทยตามข้อมูลที่ปรากฏในพงศาวดารและบันทึกต่าง ๆ ถ้าเพื่อน ๆ อยากรู้ว่าจะสนุกแค่ไหนเรามาดูไปพร้อม ๆ กันเลยดีกว่าค่ะ

🚩เรื่องราวในภาพยนต์เหล่านี้มีเนื้อหาอิงประวัติศาสตร์ไทยตามที่มีการจารึกและหลักฐานที่สามารถเชื่อถือได้ และมีการปรับแต่งเนื้อเรื่องบางส่วนให้ไหลลื่นและสนุกมากขึ้น ดังนั้นภาพยนต์เหล่าจึงมีไว้เพื่อความบันเทิง ไม่สามารถนำไปใช้ในเชิงวิชาการได้ทั้งหมดค่ะ
1. สุริโยไท

ประเภท | ประวัติศาสตร์ |
ผู้กำกับ | หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล |
นักแสดงนำ | หม่อมหลวงปิยาภัสร์ ภิรมย์ภักดี, ศรัณยู วงศ์กระจ่าง, ฉัตรชัย เปล่งพานิช และ จอนนี่ แอนโฟเน่ |
ความยาวหนัง | 300 นาที |
ปีที่ออกอากาศ | 2544 |
หลังพระอาทิตยาได้ขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร และย้ายจากเมืองพิษณุโลกมาประทับ ณ กรุงศรีอยุธยา พระเฑียรราชา และ พระสุริโยทัย พร้อมโอรสและธิดาทั้ง 5 ได้ประทับ ณ วังชัย เพื่อดำรงอิสริยยศเป็นพระเยาวราช แต่หลังสมเด็จพระบรมราชาฯ เสด็จสวรรคต สมเด็จพระรัษฎาธิราชกุมาร พระโอรสวัย 5 พรรษาในพระอัครชายาวัย 17 ปีของพระบรมราชาฯ ขึ้นครองราชย์แทน พระไชยราชา ตามที่ควรจะเป็น และหลังจากนั้นบ้านเมืองก็เต็มไปด้วยการทุจริตของขุนนางฉ้อโกง นำทีมโดยบิดาของพระอัครชายา
หลังจากนั้นไม่นานพระไชยราชาได้เข้ายึดราชบัลลังก์และสำเร็จโทษพระรัษฎาธิราชรวมถึงข้าราชการฉ้อโกงทุกคน ทรงครองราชย์แผ่เมตตาและบุญญธิการไปทั่ว รวมถึงทรงออกรบปราบหัวเมืองต่าง ๆ จนเป็นที่เคารพนับถือ และทรงแต่งตั้งพระเฑียรราชาขึ้นเป็นมหาอุปราชาสำเร็จราชการแทนพระองค์ ขณะเดียวกัน ท้าวศรีสุดาจันทร์ พระมเหสีลอบเสพสังวาสกับ ขุนชินราช ผู้ดูแลหอพระชั้นในจนสมคบคิดปลงพระชนม์สมเด็จพระไชยราชาธิราชรวมไปถึง พระยอดฟ้า พระโอรสที่ประสูตรจากท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 10 ปีเท่านั้น และสถาปนาขุนชินราชขึ้นเป็นกษัตริย์ครองบัลลังก์
หลังสินแผ่นดินพระไชยราชา พระเฑียรราชาตัดสินใจออกบวชเพื่อเลี่ยงภัยที่กำลังจะมาถึง ทางด้านพระสุริโยไทยเองก็ได้ฝึกฝนวิชาการต่อสู้ไว้ป้องกันตนและหวังกอบกู้แผ่นดินให้กลับมาเป็นปึกแผ่นอีกครั้งโดยมีเหล่าผู้จงรักภักดีคอยคุ้มกันไม่ห่างกาย
2. ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 1 องค์ประกันหงสา

ประเภท | ประวัติศาสตร์ |
ผู้กำกับ | หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล |
นักแสดงนำ | ปรัชฌา สนั่นวัฒนานนท์, จิรายุ ละอองมณี, สุชาดา เช็คลีย์ และ ฉัตรชัย เปล่งพานิช |
ความยาวหนัง | 167 นาที |
ปีที่ออกอากาศ | 2550 |
ในพุทธศักราช 2106 ขณะที่ พระเจ้าบุเรงนอง เจ้าเมืองหงสาวดีได้ตีหัวเมืองสยามเข้ามาจนถึงเมืองสองแคว พระมหาธรรมราชา ที่รักษาการรั้งหัวเมืองพิษณุโลกได้ขอความช่วยเหลือจากอยุธยาแต่กลับได้รับความเมินเฉย พระองค์จึงแปรพักต์มาเข้าร่วมกับพระเจ้าบุเรงนองเข้าตีเมืองอยุธยาแทนและมอบตัว พระนเรศ และ พระนางวิสุทธิ์กษัตริย์ พระโอรสและพระชายาเป็นตัวประกันแลกกับชีวิตของชาวสองแคว เมื่อยกทัพไปถึงอยุธยาก็ได้เจอกับการต่อต้านอย่างมั่นคงจาก พระราเมศวร พระโอรสองค์โตใน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ที่วางแผนป้องกันศึกไว้เป็นอย่างดี หลังการเจรจาพระเจ้าบุเรงนองได้ขอช้างเผือกและพระราเมศวรเป็นตัวประกันกลับหงสาวดี โดยให้คำมั่นว่าจะเลี้ยงดูตัวประกันเป็นอย่างดี
ตัดมาที่เมืองหงสาวดี พระนเรศหรือ องค์ดำ ได้ช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนคนหนึ่งเอาไว้และเขาสัญญาว่าจะตามติดองค์ดำไปตลอด ขณะที่อยู่ในหงสาวดีองค์ดำโดน มังสามเกียด พระโอรสของ มหาอุปราชนันทบุเรง และทหารคนสนิทกลั่นแกล้งอยู่เสมอ พระเจ้าบุเรงนองจึงให้องค์ดำฝึกวิชาต่อสู้กับ พระมหาเถรคันฉ่อง เพื่อให้มีวิชาไว้ป้องกันตัวเอง แต่หลังจากความสัมพันธ์ระหว่างพิษณุโลกและอยุธยาเริ่มแตกระแหงจากเหตุการณ์ที่ พระเทพกษัตรี ได้ปลิดชีพตัวเองต่อหน้าพระพักต์ของพระเจ้าบุเรงนองที่ชิงตัวนางมาได้ สงครามระหว่างล้านช้างและพิษณุโลกเริ่มต้นขึ้น ขณะเดียวกันอยุธยาเองก็มีไส้ศึกที่คอยชักใยอยู่เบื้องหลัง และพระองค์ดำเองที่โดนกลั่นแกล้งจนเกือบชีวิตเอาไม่รอดก็คิดจะหนีออกจากหงสาวดีกลับมายังเมืองพิษณุโลก
3. ซามูไร อโยธยา

ประเภท | ประวัติศาสตร์ |
ผู้กำกับ | นพพร วาทิน |
นักแสดงนำ | เซกิ โอเซกิ, บัวขาว ป.ประมุข, ธรรมรส ใจชื่น และ สรพงษ์ ชาตรี |
ความยาวหนัง | 100 นาที |
ปีที่ออกอากาศ | 2553 |
ย้อนกลับไปในสมัยอโยธยา ยามาดะ นางามาสะ ซามูไรที่ใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านญี่ปุ่นแห่งหนึ่งในกรุงศรีได้รับมอบหมายให้สืบหาหัวหน้าของกลุ่มทหารหงสาวดีที่ออกปล้นฆ่าชาวบ้าน และความจริงที่เขาค้นพบคือทหารเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นซามูไรญี่ปุ่นที่ปลอมตัวมาโดยมี คุโรดะ คอยสั่งการ หลังจากนั้นไม่นานเขาโดนคนกลุ่มนั้นซุ่มทำร้ายจนแทบเอาชีวิตไม่รอดและหนีมาจนถึงหมู่บ้านป่าแก้ว และได้ พระครูวัดป่าแก้ว ช่วยชีวิตไว้และคอยรักษาอาหารจนกลับมาเป็นปกติ
ยามาดะใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านป่าแก้วมาเรื่อย ๆ เขาเริ่มหลงไหลศิลปะมวยไทยดั้งเดิมและเริ่มฝึกฝนจนมีวิชาเก่งกล้าพอสมควร ขณะเดียวกันเขาองก็ยังคงรักษาขนบประเพณีญี่ปุ่นเอาไว้อย่างดีเยี่ยม ประกอบกับหมู่บ้านป่าแก้วเป็นสถานที่ตีดาบและผลิตนักรบเพื่อคุ้มครองพระเจ้าอยู่หัว ยามาดะจึงเอาวิชาซามูไรและมวยไทยมารวมเข้าด้วยกันและตั้งใจมั่นว่าจะใช้ทั้งสองวิชาคอยปกป้องแผ่นดินสยาม ถึงไม่ใช่แผ่นดินเกิดแต่ก็ขอให้เป็นแผ่นดินที่เขาจะตายอย่างสมศักดิ์ครี
4. ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 2 ประกาศอิสรภาพ

ประเภท | ประวัติศาสตร์ |
ผู้กำกับ | หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล |
นักแสดงนำ | พันโท วันชนะ สวัสดี, ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ, นพชัย ชัยนาม, อินทิรา เจริญปุระ และ สรพงษ์ ชาตรี |
ความยาวหนัง | 165 นาที |
ปีที่ออกอากาศ | 2550 |
หลัง พระนเรศวร หนีกลับมายังพิษณุโลกและเติบใหญ่มากพอที่จะกลายเป็นมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลกแทนสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่กลับไปครองเมืองหลวง หลายปีต่อมา พระมหาอุปราชานันทบุเรง ได้ขึ้นปกครองแผ่นดินหงสาวดีหลังพระเจ้าบุเรงนองเสด็จสวรรณคต และเหตุการณ์นี้ทำให้พระนเรศวรต้องกลับไปเยือนเมืองหงสาวดีอีกครั้งด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระเข้าบุเรงนองที่เลี้ยงดูพระองค์เหมือนลูกแท้ ๆ แม้ทราบดีว่าจะต้องเจอกับ มังสามเกียด ศัตรูที่พยามเข่นฆ่าจนพระองค์ต้องหลบหนีกลับพิษณุโลก หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีศพ พระเจ้านันทบุเรงมีพระราชโองการให้ พระนเรศวร, มังสามเกียด และ นัดจินหน่อง ยกทัพไปกำราบเมืองคังที่ไม่ยอมส่งตัวแทนเข้าร่วมพิธีและดื่มน้ำสวามิภักดิ์ และพระนเรศวรก็ใช้ไหวพริบจนสามารถกำราบเจ้าเมืองคังได้ในที่สุด
แน่นอนว่าชัยชนะของพระนเรศวรสร้างความขุ่นเคืองให้มังสามเกียดที่มีความเกลียดแค้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงได้ส่งทหารมอญตามไปลอบปลงสังหารพระนเรศวรขณะเดินทางกลับพิษณุโลก แต่เนื่องจากทหารมอญสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระนเรศวร ทหารทั้งสองจึงทูลแจ้งความจริงทั้งหมดและทำให้พระนเรศวรจัดพิธีหลั่งทักษิโณทกเพื่อประกาศตัดความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยาและหงสาวดี ทำให้เมืองพิษณุโลกไม่ขึ้นตรงต่อหงสาวดีอีกต่อไป มังสามเกียดที่โกรธแค้นถึงขีดสุดส่ง สุระกรรมา และกองทัพทหารออกไปตามล่าพระนเรศวรหมายปลิดชีวิต และเมื่อทั้งสองเมืองมาเจอกันที่แม่น้ำสะโตงก็เกิดเหตุการณ์สำคัญที่พลิกประวัติศาสตร์ชาติไทยขึ้น
5. ขุนศึก

ประเภท | ประวัติศาสตร์ |
ผู้กำกับ | ธนิตย์ จิตนุกูล |
นักแสดงนำ | รวิทย์ แก้วเพชร, สาวิณี ภู่การุณ, ปราปต์ปฎล สุวรรณบาง และ จรัญ งามดี |
ความยาวหนัง | 115 นาที |
ปีที่ออกอากาศ | 2546 |
ในยุคสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ขณะนั้นศึกระหว่างอโยธยาและพม่ายังไม่จบสิ้นและสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ สมเด็จพระเนรศวรจึงจัดหามือดาบฝีมือดีเข้ารับตำแหน่ง จาตุรงคบาต นักรบที่พร้อมยอมพลีชีพเพื่อปกป้องแผ่นดินเกิดเคียงคู่พระองค์ในสนามรบ และ เสมา ลูกชายช่างตีดาบคนหนึ่งที่เข้าร่วมประลองในครั้งในก็มีฝีมือที่โดดเด่นกว่าใคร ๆ และเขาก็ได้รับตำแหน่งเป็นครูฝึกเพลงดาบในที่สุด แต่นั่นกลับสร้างความไม่พอให้กับ ขัน นายทหารฝีมือดีที่จู่ ๆ ลูกไพร่ธรรมดา ๆ คนหนึ่งได้รับหน้าที่ตำแหน่งที่ดีและมีฝีมือทัดเทียมกับตน ยิ่งไปกว่านั้นเสมาเองก็ทำท่าทีเกี้ยวพาราสี เรไร คู่หมั้นคนสวยของเขาและดูเหมือนทั้งคู่จะชอบพอกัน ยิ่งทำให้ไฟแค้นในอกลุกโชนมากขึ้นไปอีก ดูเหมือนว่าเขาจะเป็นต่อเพราะหลังจากรู้ว่าครอบครัวตัวเองเป็นเจ้าหนี้บ้านเสมา ขุนจึงสั่งกำลังคนไปจับตัว จำเรียง น้องสาวของเสมามาขัดดอก
เมื่อเสมาบุกเข้ามาช่วยขุนก็ป้ายความผิดให้เสมากลายเป็นกบฎแผ่นดินในข้อหาฆ่านายทหารหลวง หลังเกิดเรื่องเสมาและเพื่อน ๆ หนีเข้าป่าจนได้พบกับ ขุนรณฤทธิ์พิชัย ที่ได้รับคำสั่งจากสมเด็จพระนเรศวรให้รวบรวมกองโจรและฝึกซ้อมเพื่อช่วยกองทหารของพระเอกาทศรส ขุนตัดสินใจเป็นครูฝึกเพลงดาบให้กองโจรเหล่านั้นและเข้าช่วยทำสงครามจนได้รับชัยชนะกลับมาจนได้ตำแหน่งในทหาร แต่หลังกลับเข้าวังเขากลับถูกลงโทษให้เป็นคนเลี้ยงช้างจากเรื่องโกหกที่ขันสร้างขึ้นมาก่อนหน้านี้ แต่หลังพม่าส่งทหารกองหน้าเข้าตีกรุงศรีอีกครั้งเสมาจึงตัดสินใจเข้าร่วมศึกและต่อสู้อย่างกล้าหาญไม่เกรงกลัวจนได้รับชัยชนะกลับมาอีกครั้ง และในครั้งนี้การต่อสู้ระหว่างเสมาและขันก็เริ่มขึ้นจริง ๆ เสียทีในการประลองชิงตำแหน่งจาตุรงคบาต
6. ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 5 ยุทธหัตถี

ประเภท | ประวัติศาสตร์ |
ผู้กำกับ | หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล |
นักแสดงนำ | พันเอกวันชนะ สวัสดี, ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ, นพชัย ชัยนาม และ อินทิรา เจริญปุระ |
ความยาวหนัง | 118 นาที |
ปีที่ออกอากาศ | 2557 |
หลังสมเด็จพระมหาธรรมราชาตรอมพระทับเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ขึ้นครองราชย์ต่อด้วยวัย 31 ปี พระเจ้านันทบุเรงเห็นว่าช่วงผลัดเปลี่ยนแผ่นดินเป็นช่วงเปราะบาง เป็นโอกาสเหมาะที่สุดที่จะเข้าตีและชิงกรุงศรีกลับมาเป็นเมืองขึ้นหงสาวดีอีกครั้งจึงส่งพระมหาอุปราชาหรือ มังสามเกียด โอรสเพียงหนึ่งเดียวของพระองค์ยกทัพมาแก้แค้นกรุงศรี ทางด้านพระนเรศวรเองที่ทราบข่าวก็จัดกองทัพเอาไว้พร้อมอยู่แล้วถึงแม้จะมีกำลังทหารน้อยกว่าถึงครึ่ง
เมื่อกองทัพทั้งสองเมืองเดินทางมาถึงหนองสาหร่ายก็เกิดศึกครั้งใหญ่ขึ้น ขณะที่ฝ่ายกรุงศรีกำลังเพลี่ยงพล่ำตกเป็นรองแก่หงสา ช้างทรงเสด็จของพระนเรศวรเกิดตกมันวิ่งพล่านไปทั่ว หลังฝุ่นบางตาลงพระนเรศวรถึงรู้ว่าขณะนี้พระองค์อยู่กลางวงล้อมทหารพม่าและไม่มีทีท่าจะฝ่ากลับไปได้ ขณะเดียวกันก็ทอดพระเนตรเห็นมังสามเกียดทรงช้างหลบอยู่ใต้เงาไม้รำไร พระนเรศวรจึงใช้ไหวพริบเชิญให้มังสามเกียดออกมาทำยุทธหัตถีเพื่อเป็นเกียรติแก่แผ่นดินอย่างทัดเทียมและสง่างาม
7. พันท้ายนรสิงห์

ประเภท | ประวัติศาสตร์ |
ผู้กำกับ | หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล |
นักแสดงนำ | พันเอกวันชนะ สวัสดี, พงศกร เมตตาริกานนท์, พิมดาว พานิชสมัย, นิรุตต์ ศิริจรรยา และ สรพงษ์ ชาตรี |
ความยาวหนัง | 180 นาที |
ปีที่ออกอากาศ | 2558 |
ในรัชสมัยของ พระเพทราชา บ้านเมืองเต็มไปด้วยความวุ่นวายจากขุนนางที่แอบอ้างเอาราชโองการของ พระเจ้าเสือ ไปรีดไถประชาชนและจับตัวหญิงชาวชาวบ้านจนชาวบ้านชาวเมืองต่างจงเกลียดจงชังพระเจ้าเสือเป็นอย่างมาก พระพิชัยจึงตั้งกลุ่มกองโจรขึ้นเพื่อต่อต้านขุนนางเหล่านั้นอย่างลับ ๆ หลังจากนั้นไม่นานพระเจ้าเสือปลอมตัวเป็นหนุ่มชาวบ้านชื่อ ทิดเดื่อ ออกตรวจตราความเป็นอยู่ของประชาชนและเข้าประลองมวยกับ นายสิน หนึ่งในกองโจรเพื่อแย่งชิงของรางวัลชิ้นใหญ่ที่ทั้งคู่หมายตาคือ นวล หญิงสาวชาวบ้านจนสุดท้ายทั้งคู่สนิทสนมจนตายแทนกันได้
ต่อมาไม่นานทหารหลวงบุกหมู่บ้านฉุดเอาหญิงสาวทุกคนไปจนหมด สินและกองโจรที่โดนลวงให้ออกจากหมู่บ้านทนไม่ไหวบุกเข้าช่วยนวลเมียรัก พระเจ้าเสือรู้เรื่องเข้าเลยพาทั้งคู่กลับพระนครและเปิดเผยว่าแท้จริงแล้วทิดเดื่อที่เคยชกต่อยกับนายสินคือพระองค์เอง รวมทั้งแต่งตั้งนายสินให้รับตำแหน่งพันท้ายนรสิงห์และอยู่กินกับนวลเมียรักอย่างสุขสบาย
ต่อมาพระเจ้าเสือสืบจนรู้ว่าคนที่คอยชักใยสร้างความเกลียดชังในหมู่ประชาราษฎร์คือ พระยาราชสงคราม ที่คิดกบฎ พระเจ้าเสือพร้อมกองกำลังจึงออกตามล่าไปจนถึงชายแดนผ่านแม่น้ำที่คดเคี้ยวด้วยฝีมือการคัดท้ายเรือที่เก่งกาจของพันท้ายนรสิงห์ เมื่อไปถึงชายแดนกองกำลังพระเจ้าเสือเข้าต่อสู้กับกองกำลังอันน้อยนิดของพระยาราชสงครามจนยอมมอบตัวและโดนสำเร็จโทษตามกฎหมาย
หลังขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเพทราชา พระเจ้าเสือต้องการเสด็จประพาสเมืองสาครบุรีผ่านคลองโคกขามที่มีลักษณะคดเคี้ยวอันตราย แต่ด้วยความมั่นใจในฝีมือของนายพันท้ายนรสิงห์คู่ใจจึงไม่มีใครคัดค้านได้ ขณะเดียวกันนายสินได้รับคำสั่งจาก พระนางรัตนา พระมเหสีเอกและพระยาพิชัยให้ลอบปลงพระชนม์พระเจ้าเสือ นายเสือพยายามเปลี่ยนความคิดพระยาพิชัยที่กำลังเข้าใจผิดแต่ไม่ได้ผล พันท้ายนรสิงห์จึงตัดสินใจคัดเรือจนต้นตะเคียนจนท้ายเรือเอกชัยหักและขอให้พระเจ้าเสือสำเร็จโทษถึงตาย เพื่อเป็นการช่วยพระเจ้าเสือให้รอดจากการลอบปลงพระชนม์ของพระนางรัตนาและพระยาพิชัย
8. 400 นักรบ ขุนรองปลัดชู

ประเภท | ประวัติศาสตร์ |
ผู้กำกับ | สุรัสวดี เชื้อชาติ |
นักแสดงนำ | สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ, จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม และ สรนันท์ ร.เอกวัฒน์ |
ความยาวหนัง | 121 นาที |
ปีที่ออกอากาศ | 2554 |
หลังเจ้าฟ้าเอกทัศขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ขุนรองปลัดชู เดินทางกลับมายังเมืองวิเศษไชยชาญเพื่อตระเตรียมกำลังพลให้พร้อม เนื่องจากขณะนี้บ้านเมืองอยู่ในสภาวะเปราะบาง อาจมีข้าศึกยกทัพตีเมืองได้ทุกเมื่อ และเป็นอย่างที่คาดการณ์ไว้ เพราะต่อมาไม่นาน พระราชบุตรมังระ จากฝั่งพม่ายกทัพขึ้นแผ่นดินสยามและแบ่งกำลังทหารออกเป็น 3 กอง ขุนรองปลัดชูที่ทราบข่าวได้รวบรวมเหล่ากำลังพลไว้ 400 นายจากหมู่บ้านต่าง ๆ นำมาปลุกเสกวิชาอาคมเอาไว้ป้องกันตัวขณะทำสงคราม รวมทั้งแจ้งของกำลังเสริมไปยังขุนนางชั้นผู้ใหญ่
หลังได้รับแจ้งกลับมาว่ากำลังเสริมจะตามมาทีหลังขุนรองปลัดชูและเหล่านักรบได้ออกเดินทางล่วงหน้าเข้าโจมตีกองทหารพม่าได้ถึงสองกอง ก่อนจะรู้ความจริงว่าจริง ๆ แล้ว พระยารัตนาธิเบศร์ ที่ดำรงขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในขณะนั้นไม่คิดจะส่งทหารมาช่วยแต่อย่างใด ปล่อยให้พวกเขาต้องสละชีพปกป้องแผ่นดินขณะที่เหล่าขุนนางนั่งกินนอนกินเสวยสุขโดยไม่รู้สึกทุกข์ร้อนเลยสักนิด แต่ในเมื่อทำอะไรไม่ได้ขุนรองปลัดชูจึงตัดสินใจบุกกองกำลังสุดท้ายของทหารพม่าเพื่อหวังปกป้องแผ่นดินบ้านเกิด ขณะที่ฝั่งพระราชบุตรมังระเองก็วางแผนรับมือกองกำลังขุนรองปลัดชูไว้อย่างรัดกุมเช่นกัน
9. บางระจัน ภาค 1

ประเภท | ประวัติศาสตร์ |
ผู้กำกับ | ธนิตย์ จิตนุกูล |
นักแสดงนำ | บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์, วินัย ไกรบุตร, จรัล งามดี และ บงกช คงมาลัย |
ความยาวหนัง | 127 นาที |
ปีที่ออกอากาศ | 2543 |
ในพุทธศักราช 2308 ทหารพม่าได้ยกทัพเข้าบุกกรุงศรีทั้งทางเหนือและทางใต้ กลุ่มชาวบ้านที่ยังพอเอาชีวิตรอดจากทหารพม่าออกมาได้ก็มารวมตัวที่บ้านบางระจันและจัดกองกำลังชาวบ้านขึ้น โดยมี หลวงพ่อธรรมโชติ เป็นศูนย์รวมจิตใจและคอยปลุกเสกของขลังให้ชาวบ้านที่ออกไปสู้รบ ร่วมกับ พ่อแท่น ผู้อาวุโสที่ถูกยกให้เป็นแกนนำชาวบ้าน แต่หลังจากพ่อแท่นได้รับบาดเจ็บหนัก อ้ายจัน ได้ขึ้นมาเป็นแกนนำคนใหม่และส่งสารไปขอยืมปืนใหญ่จากเมืองหลวง แต่กลับถูกปฏิเสธกลับมาเพราะกลัวว่าหากพ่ายแพ้จะโดนทหารพม่ายึดปืนใหญ่กลับเข้ามาทำลายพระนคร ชาวบ้านจึงต้องต่อสู้ด้วยอาวุธเท่าที่จะหาได้
คืนหนึ่ง อ้ายอิน แอบพาพรรคพวกบุกปล้นค่ายทหารพม่าทำให้ไม่มีคนเฝ้าเวรยาม ขณะที่ทหารพม่าบุกโจมตีค่ายบางระจันในคืนเดียวกัน เหตุการณ์นี้ทำให้สถานการณ์ของค่ายบางระจันแย่ลงไปอีก ผู้คนพากันหลบหนีเอาชีวิตรอดจนบางตา ต่อมาไม่นาน พระยารัตนาธิเบศร์ ได้เข้ามาช่วยชาวบ้านหล่อปืนใหญ่ขึ้นเพื่อใช้สู้รบกับทหารพม่า แต่ปืนใหญ่ดันแตกร้าวใช้การไม่ได้ แต่เนื่องจากไม่มีทางเลือกชาวบ้านจึงต้องร่วมมือร่วมใจกันสู้รบปกป้องแผ่นดินด้วยยุทโธปกรณ์ที่ไม่สมประกอบนัก
และทั้งหมดนี้ก็คือหนังประวัติศาสตร์ไทยทั้ง 9 เรื่องที่เรารวบรวมมาแนะนำในบทความนี้ค่ะ ถ้าได้ลองดูหนังจริง ๆ ตามลำดับที่เรียงไว้จะเห็นว่าเราได้เรียงหนังแต่ละเรื่องตามลำดับเวลาในประวัติศาสตร์เพื่อให้คนดูเข้าใจเนื้อเรื่องได้ง่ายขึ้นและเป็นไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และเนื่องจากข้อเท็จจริงบางอย่างในประวัติศาสตร์ยังคงคลุมเครือและไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน ทางผู้เขียนบทจึงมีการเสริมเติมแต่งเนื้อหาบางส่วนขึ้นเพื่อให้เนื้อเรื่องไหลลื่นและน่าติดตามมากขึ้น
และถึงแม้เรื่องราวในหนังจะไม่ได้ถูกต้องตามหน้าประวัติศาสตร์เป๊ะ ๆ จนสามารถนำไปอ้างอิงในทางวิชาการได้แต่ก็เหมาะกับการดูเพื่อความบันเทิงและเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยผ่านเรื่องราวและตัวละครในหนัง เพราะนอกจากความสนุกแล้วเรายังได้เกร็ดความรู้จากหนังเหล่านี้มากมายเลยค่ะ และหากใครอยากย้อนรอยหนังไปเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความฟินและความอิน ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, กาญจนบุรี, ราชบุรี, นครราชสีมา หรือสุพรรณบุรีก็ไม่ต้องห่วงค่ะเพราะเรามีบทความแนะนำที่พัก, ที่เที่ยว และของฝากเด็ดดังประจำจังหวัดในเรียบร้อยแล้ว