12 สูตร สารพัดเมนูข้าวต้ม อาหารเช้าย่อยง่าย ทำง่าย ทานคล่องคอ

“ข้าวต้ม” เป็นอีกหนึ่งเมนูที่สามารถทานได้แทบตลอดทั้งวัน ไม่ว่าจะเป็นตอนเช้าหรือตอนเย็นรวมไปถึงช่วงดึก จริง ๆ แล้วข้าวต้มแทบจะไม่แตกต่างจากข้าวสวยที่เราทานกันเป็นประจำทุกวันเลยค่ะ เพียงแต่ข้าวต้มจะมีน้ำเยอะ เมล็ดข้าวสุกนิ่มกว่า ระยะเวลาในการทำนานกว่าข้าวธรรมดานิดหน่อย แต่ถ้าต้มนานจนเกินไปข้าวต้มก็จะเละกลายเป็นโจ๊ก ซึ่งทั้งข้าวสวย ข้าวต้ม และโจ๊กเป็นอาหารประเภทเดียวกัน แค่ต่างกันตรงเทกซ์เจอร์และลักษณะภายนอกนั่นเอง

โดยจุดกำเนิดของข้าวต้มน่าจะมาจากประเทศจีน เพราะคนจีนนิยมทานข้าวต้มเป็นอาหารเช้ากันอย่างแพร่หลาย และข้าวต้มสูตรแรก ๆ ที่คนไทยรู้จักก็น่าจะเป็นข้าวต้มขาวหรือข้าวต้มกุ๊ยที่เป็นที่นิยมในหมู่แรงงานชาวจีนที่เข้ามาทำงานในไทยเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว หลังจากนั้นการทานข้าวต้มก็เป็นที่นิยมมาเรื่อย ๆ ซึ่งปัจจุบันเรามีข้าวต้มอยู่ 2 ชนิดหลัก ๆ คือข้าวต้มขาว/ข้าวต้มกุ๊ยที่มักทานคู่กับกับข้าวแยกอีกจาน และข้าวต้มเครื่อง/ข้าวต้มที่ใส่เนื้อสัตว์ลงไปผสมด้วยอย่างที่เราทานกันบ่อย ๆ ค่ะ

ข้าวต้มขาว/ข้าวต้มกุ๊ย ข้าวต้มทรงเครื่อง

การทานข้าวต้มช่วงเช้าและช่วงดึกนั้นมีข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดมาก ๆ คือ

ข้าวต้มที่ทานกันในช่วงเช้า มักจะเป็นข้าวต้มที่ปรุงรสชาติมาอย่างดีพร้อมกับใส่เครื่องเคียงต่าง ๆ มาครบในหนึ่งถ้วย ไม่ว่าจะเป็นข้าวต้มหมู, ข้าวต้มไก่, ข้าวต้มทะเล ถ้าจะเพิ่มไข่เค็ม, ไข่ลวก หรือไข่เยี่ยวม้าก็จะใส่มาในถ้วยข้าวต้มเลย เวลาทานก็ผสมคลุกเคล้าทุกอย่างในถ้วยให้เข้ากันแล้วตักทาน อาจจะมีการเพิ่มพริกน้ำส้มหรือพริกป่นเข้าไปอีกเล็กน้อยเพื่อรสชาติ แต่ส่วนใหญ่แล้วข้าวต้มตอนเช้าก็มักจะมีรสชาติเบา ๆ อ่อน ๆ ทานเข้าไปแล้วอุ่นท้อง

ข้าวต้มรอบดึก มักจะเป็นข้าวต้มเกลือหรือข้าวต้มกุ๊ย เสิร์ฟมาในถ้วยเล็ก ๆ ราคา 5-10 บาท รสชาติจะเค็มอ่อน ๆ มีแค่ข้าวเปล่า ๆ อย่างเดียว คนส่วนใหญ่จึงนิยมสั่งกับข้าวมาทานคู่กัน ซึ่งกับข้าวสำหรับข้าวต้มเกลือนี่มีเป็นร้อยชนิดเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นผัดผัก, ปลาเค็ม หรือไข่เค็ม ถ้าสังเกตแล้วกับข้าวที่ทานคู่กับข้าวต้มรอบดึกมักจะเป็นอาหารที่มีรสชาติจัดจ้านสักหน่อยและมีหลากหลายชนิด นั่นอาจจะเป็นเพราะคนที่ทานข้าวต้มรอบดึกส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่เพิ่งออกจากร้านขายแอลกอฮอล์และต้องการอาหารร้อน ๆ เพื่อช่วยให้สร่างเมา และอาหารรสจัดก็เป็นตัวช่วยได้อย่างดี แถมข้าวต้มยังมีน้ำให้ซดและอ่อนนุ่ม ไม่ต้องเคี้ยวเยอะเหมือนข้าวสวยธรรมดา

ดังนั้นความต่างของข้าวต้มรอบเช้าและข้าวต้มรอบดึกก็คือ สำหรับรอบเช้าข้าวต้มมักจะเสิร์ฟมาในถ้วยเดียว มีรสชาติเบา ๆ เหมาะสำหรับทานเป็นมื้อแรกหลังอดอาหารมาตลอดทั้งคืน ส่วนข้าวต้มรอบดึกจะทานกับกับข้าวที่มีรสจัดช่วยให้สร่างเมาได้มากขึ้นนั่นเองค่ะ

สินค้าลดราคาในช้อปปี้ & ลาซาด้า - ดีลดี เบสท์รีวิวเลือกให้สินค้าลดราคาในช้อปปี้ & ลาซาด้า - ดีลดี เบสท์รีวิวเลือกให้สินค้าลดราคาในช้อปปี้ & ลาซาด้า - ดีลดี เบสท์รีวิวเลือกให้




วิธีต้มข้าวให้สวยน่ารับประทาน

หลายคนอาจจะประสบกับปัญหาทำข้าวต้มแล้วข้าวที่ได้อาจจะเละจนจะเรียกว่าโจ๊กก็ไม่ใช่ จะเป็นข้าวต้มก็ไม่เชิง หรือบางคนข้าวยังเป็นเมล็ดอวบไม่ต่างอะไรจากข้าวสวยธรรมดา ๆ แถมบางครั้งน้ำต้มข้าวยังใสแจ๋วเหมือนแค่นำข้าวมาผสมกับน้ำเปล่าเฉย ๆ ดูไม่สวย ไม่น่ารับประทานเอาเสียเลย วันนี้เราเลยมาพร้อมกับวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ค่ะ เรามีเคล็ดลับในการต้มข้าวต้มให้ออกมาสวย เมล็ดบานนุ่ม นำข้าวขุ่นและมีกลิ่นหอมมาฝาก ขอบอกว่าวิธีนี้ทำง่ายและต้องถูกใจเพื่อน ๆ หลายคนแน่นอนเลย

ใช้ข้าวเก่า ทำข้าวต้ม

ขั้นตอนแรกเราจะต้องตรวจเช็กดูก่อนค่ะว่าข้าวที่เรามีอยู่เนี่ยเป็นข้าวเก่าหรือข้าวใหม่ ถ้าเป็นข้าวเก่าเราจะต้องนำข้าวสารมาล้างทำความสะอาดเพื่อเอาคราบฝุ่นและสิ่งสกปรกต่าง ๆ ออกไปก่อนสัก 1 – 2 รอบ จากนั้นนำข้าวใส่หม้อพร้อมกับน้ำสะอาดในปริมาณที่เยอะหน่อยและใบเตยอีกสัก 3 – 4 ใบเพื่อความหอม เคล็ดลับในการต้มข้าวเก่าคือเราจะล้างข้าวสารข้าวเหนียวใส่ตามไปด้วยในอัตราส่วน 10:1 คือข้าวขาว 10 ถ้วยและข้าวเหนียวอีก 1 ถ้วย เพราะข้าวเหนียวจะช่วยทำให้น้ำข้าวต้มเหนียวข้น ดูไม่ใสเหมือนกับการต้มธรรมดา และตอนที่ทานเข้าไปแล้วจะได้สัมผัสหนึบ ๆ เล็กน้อยค่ะ จากนั้นเราจะนำขึ้นตั้งไฟแรงแล้วคอยคนข้าวไปเรื่อย ๆ จนกว่าข้าวจะสุกพองตัวขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวไหม้ติดก้นหม้อ แต่ถ้าขณะที่กำลังต้มน้ำในหม้องวดมากจนเกินไปสามารถเติมน้ำร้อนเพิ่มลงไปได้อีก แนะนำให้ใช้น้ำร้อนนะคะเพราะน้ำเย็นจะทำให้อุณหภูมิในหม้อลดลงและทำให้ข้าวบูดเร็วขึ้น ส่วนใครจะใช้น้ำสต๊อกร้อน ๆ ก็ได้ค่ะ หลังจากข้าวสุกบานจนพอใจแล้วเราถึงจะปรุงรสชาติหรือเพิ่มเนื้อสัตว์

ใช้ข้าวใหม่ ทำข้าวต้ม

สำหรับข้าวใหม่เราจะนำมาล้างน้ำก่อนเช่นเดียวกันค่ะ หากใครไม่ชอบข้าวเต็มเมล็ดก็สามารถเปลี่ยนมาใช้ปลายข้าวสารหรือข้าวหักแทนได้ แต่ลักษณะที่ออกมาจะคล้าย ๆ กับโจ๊กนิดนึง ข้าวใหม่เป็นข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยว ในเมล็ดข้าวยังมีความชื้นอยู่ค่อนข้างสูงและยังมียางเคลือบเมล็ดข้าวอยู่ ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องผสมข้าวเหนียวก็ได้ค่ะ แต่หากใครชอบข้าวเหนียว ๆ หนึบ ๆ ก็สามารถเติมข้าวเหนียวลงไปได้ในอัตราส่วนข้าวขาว 10 ถ้วยต่อข้าวเหนียวครึ่งถ้วย จากนั้นเราจะต้องต้มน้ำกับใบเตยให้เดือดจัดก่อนถึงจะใส่ข้าวลงไป จากนั้นคอยคนข้าวตลอดเวลาเพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวไหม้ก้นหม้อ คนจนเมล็ดข้าวแตกบานจนพอใจแล้วก็สามารถเพิ่มรสชาติหรือเนื้อสัตว์ได้เลยค่ะ หากขณะคนข้าวน้ำในหม้อแห้งมากจนเกินไปก็สามารถเติมน้ำร้อนลงไปได้เช่นเดียวกัน แค่นี้ข้าวต้มข้น ๆ เมล็ดข้าวบานนิ่มก็พร้อมรับประทานแล้วค่ะ


1. ข้าวต้มขาว

ข้าวต้มขาว
ข้าวต้มขาว

เริ่มต้นกันที่ข้าวต้มขาวหรือข้าวต้มกุ๊ยที่สามารถหารับประทานได้ง่ายในช่วงตี 1 ตี 2 แต่วันนี้ไม่ต้องออกไปให้ไกลเพราะคุณเองก็สามารถทำข้าวต้มกุ๊ยทานเองได้ง่าย ๆ ที่บ้าน วิธีการทำข้าวต้มกุ๊ยเรียกว่าง่ายแสนง่าย ง่ายที่สุดรองลงมาจากการต้มบะหมี่และต้มไข่เลยค่ะ ก่อนอื่นเราจะต้องนำข้าวมาล้างทำความสะอาดก่อน จากนั้นนำข้าวลงหม้อ ตามด้วยน้ำสะอาดและใบเตย นำหม้อขึ้นตังเตา เปิดไฟแรง ๆ แล้วคอยคนไปเรื่อย ๆ จนข้าวพองและบานตามความต้องการ หลังจากนั้นเราจึงจะเพิ่มรสชาติด้วยเกลือพอประมาณ ค่อย ๆ เติมไปทีละนิดจนข้าวต้มมีรสชาติเค็มอ่อน ๆ ไม่จืดชืด เนื่องจากข้าวต้มกุ๊ยเป็นข้าวเปล่า ๆ ไม่มีรสชาติมากนัก เมนูนี้จึงนิยมนำมาทานคู่กับกับข้าวอย่างผัดผักบุ้ง, ยำกุนเชียง, ยำปลาเค็ม, ปลาทอด, หมูสับนึ่งไข่เค็ม หรือผักผัดน้ำมันหอยค่ะ


2. ข้าวต้มเจ

ข้าวต้มเจ
ข้าวต้มเจ

ถัดมาเป็นข้าวต้มที่เหมาะสำหรับคนทานมังสวิรัติหรือคนที่กำลังทานอาหารเจค่ะ สำหรับเมนูนี้ข้าวจะมีรสชาติหวานจากผักและไม่มีการเติมเครื่องปรุงอย่างอื่นเลยค่ะ สำหรับวัตถุดิบที่ใช้ในการทำข้าวต้มเจก็จะมีธัญพืชต่าง ๆ ตามแต่สะดวก ไม่ว่าจะเป็นถั่วลันเตา, ข้าวโพด, หัวไชเท้า ,ฟักทอง, เห็ด หรือฟักเขียว สามารถใช้ผักหลายชนิดพร้อม ๆ กันก็ได้ค่ะ ช่วยให้ข้าวต้มมีสีสันน่ารับประทานและอร่อยขึ้น เพราะผักส่วนใหญ่มีรสชาติหวานอยู่ในตัวแล้ว วิธีการทำก็ง่ายมาก ๆ เลยค่ะ ขั้นตอนแรกเราจะนำผักทั้งหมดมาหั่นเป็นเต๋าสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ก่อน ส่วนข้าวโพดเราจะต้มให้สุกแล้วนำซังข้าวโพดมาต้มเป็นน้ำสต๊อกสำหรับทำข้าวต้ม ได้ทั้งข้าวโพดและนำสต๊อกมาแล้วเราจะล้างข้าวก่อนหนึ่งรอบ จากนั้นต้มข้าวด้วยน้ำสต๊อกพร้อมกับข้าวโพด ต้มไปเรื่อย ๆ จนเมล็ดข้าวเริ่มสุกบานจะตามด้วยผักที่สุกยากอย่างฟักเขียว, หัวไชเท้า หรือฟักทอง ต้มไปอีกจนผักสุกและเมล็ดข้าวบานเต็มที่ก็จะใส่ผักที่เหลือตามลงไป ตัดรสด้วยเกลือเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความกลมกล่อม จากนั้นเคี่ยวต่ออีกนิดจนเมล็ดข้าวสุกและข้าวต้มข้นตามชอบก็สามารถรับประทานได้แล้วค่ะ


3. ข้าวต้มหมูสับ

ข้าวต้มหมูสับ
ข้าวต้มหมูสับ

ข้าวต้มหมูสับเป็นข้าวต้มที่หลาย ๆ คนชื่นชอบและหาทานได้ง่ายมาก ๆ เลย สำหรับข้าวต้มหมูสับเราจะต้มข้าวกับน้ำสต๊อกหมูจนเมล็ดข้าวบานนิ่มก่อน ระหว่างรอเราจะปรุงรสชาติหมูสับด้วยซีอิ๊วขาวและพริกไทย ในส่วนของเครื่องเคียงก็จะมีขิงอ่อนซอย, ต้นหอมและผักชีซอย, กระเทียมเจียว และพริกไทยป่นค่ะ หลังจากเมล็ดข้าวบานได้ที่เราจะปั้นหมูเป็นก้อนแล้วนำลงต้มในหม้อเดียวกันเลยค่ะ ต้มจนหมูสุกดีแล้วตักใส่ถ้วย โรยหน้าด้วยขิงซอย, ต้นหอม, ผักชี, กระเทียมเจียว และพริกไทยป่น พร้อมเสิร์ฟจ้า สำหรับเมนูนี้ตัวข้าวต้มจะไม่มีรสชาติมากนักค่ะ ได้กลิ่นหอมขิงและพริกไทยอ่อน ๆ เราจะเน้นรสชาติที่หมูสับซะมากกว่า เวลาเคี้ยวหมูแล้วรสชาติเค็ม ๆ เผ็ด ๆ ของพริกไทยจะออกมา จากนั้นตักข้าวต้มตามเข้าไปอีกหนึ่งคำเพื่อเจือจางใกล้รสชาติอ่อนลงและอร่อยกลมกล่อม ทั้งอุ่นท้องและฟินสุด ๆ เลย


4. ข้าวต้มไก่ฉีก

ข้าวต้มไก่ฉีก
ข้าวต้มไก่ฉีก

เปลี่ยนจากหมูสับมาเป็นไก่ฉีกกันบ้าง วัตถุดิบสำหรับเมนูนี้ก็จะมีเนื้ออกไก่, ข้าวสาร, น้ำสต๊อกไก่, ตั้งฉ่าย, ต้นหอม, ผักชี, ขิง, เกลือ, ซอสปรุงรส และพริกไทยป่นค่ะ ก่อนอื่นเราจะทำน้ำสต๊อกด้วยการต้มโครงและอกไก่กับน้ำเปล่าก่อน ใส่เกลือเพิ่มรมชาติอีกเล็กน้อย ต้มไฟแรงไปเรื่อย ๆ จนน้ำเดือดและใกล้สุกได้ที่แล้วจะมีฟองและน้ำมันลอยออกมา ช้อนฟองและน้ำมันออกให้หมด จากนั้นตักอกไก่ออกมาก่อนค่ะ ปรับเตาเป็นไฟกลางค่อนอ่อนแล้วตุ๋นโครงไก่ไปเรื่อย ๆ จนเปื่อยได้ที่ก็นำออกมากรองเอาเฉพาะน้ำไปต้มกับข้าวจนสุกบาน ใส่ตั้งฉ่ายเพิ่มรสชาติเล็กน้อย เมล็ดข้าวสุกบานตามต้องการแล้วเราจะตักใส่ถ้วย ฉีกอกไก่วางลงไป ตามด้วยซอยขิง, ต้นหอม และผักชีโรยหน้า ราดซอสปรุงรสเล็กน้อย และโรยพริกไทยป่น ปิดท้ายด้วยไข่ต้มความสุกตามระดับที่คุณพอใจ เมนูนี้เราจะเน้นรสชาติของข้าวต้มเป็นหลัก ข้าวต้มจะต้องมีรสเค็มอ่อน ๆ เข้ากับความหวานธรรมชาติของเนื้อไก่ได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ


5. ข้าวต้มปลากระพง

ข้าวต้มปลากระพง
ข้าวต้มปลากระพง

มูฟมาที่ข้าวต้มปลากันบ้างค่ะ สูตรนี้เราจะใช้เนื้อปลากะพงเป็นพระเอกเพราะเนื้อปลากะพงมีรสชาติหวาน แน่น ชิ้นใหญ่สะใจ ส่วนน้ำสต๊อกเราจะใช้น้ำสต๊อกปลา ทำได้โดยการต้มกระดูกปลากับข่า, กระเทียม และรากผักชีเพื่อดับกลิ่นคาว จากนั้นนำเนื้อปลาลงลวกในน้ำต้มกระดูกปลาแล้วกรองเอาเฉพาะน้ำมาต้มกับข้าวจนเมล็ดบานตามชอบ ตักใส่ถ้วย วางเนื้อปลาลงไป โรยหน้าด้วยต้นหอม, คึ่นฉ่าย และพริกไทยป่น เหยาะซอสปรุงรสลงไปเล็กน้อย เสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มเต้าเจี้ยวที่ทำมาจากเต้าเจี้ยว, น้ำตาล, น้ำมะนาว, กระเทียมสับ และพริกขี้หนูสับ  สำหรับเมนูนี้จะมีกลิ่นหอมชวนน้ำลายสอมากเลยค่ะ ข้าวต้มมีกลิ่นหอมข่าอ่อน ๆ และปลากะพงจะเนื้อหวาน ฉ่ำ ไม่มีกลิ่นคาวเลยแม้แต่น้อย ยิ่งได้ทานพร้อมน้ำจิ้มเต้าเจี้ยวเปรี้ยว ๆ เผ็ด ๆ จะยิ่งสดชื่นมากยิ่งขึ้น


6. ข้าวต้มกุ้ง

ข้าวต้มกุ้ง
ข้าวต้มกุ้ง

ใครไม่ชอบทานปลาจะเปลี่ยนมาเป็นเมนูกุ้งก็ไม่ว่ากันค่ะ สำหรับข้าวต้มกุ้งแนะนำให้เลือกใช้กุ้งแชบ๊วยตัวใหญ่ ๆ เบือกเอาแบบสด ๆ ตัวใส เนื้อแน่น เด้ง นำมาปอกเปลือก ผ่าหลัง แล้วดึงเอาเส้นดำออกให้เรียบร้อย ขยำเกลือแล้วแช่น้ำโซดาไว้สักพัก ส่วนเปลือกกุ้งก็จะล้างให้สะอาดแล้วนำมาคั่วกับเกลือจนสุกหอมแล้วใส่น้ำลงไปต้มจนเดือดได้ที่ กรองเอาเปลือกกุ้งออกให้หมดแล้วล้างข้าวสารลงต้มในน้ำสต๊อกกุ้ง หลังจากเมล็ดข้าวบานสวยแล้วเราจะนำกุ้งที่แช่ไว้มาล้างน้ำอีกหนึ่งครั้งแล้วนำลงต้มให้พอสะดุ้ง ชอบสุกมากสุกน้อยเลือกได้ตามความชอบเลยค่ะ ปิดเตา ตักใส่ถ้วย โรยหน้าด้วยคึ่นฉ่าย, ตั้งฉ่าย, กระเทียมเจียว และพริกไทย ทานร้อน ๆ ฟินสุด ๆ ข้าวต้มจะมีกลิ่นหอมมันกุ้งพร้อมเผ็ดร้อนพริกไทยนิด ๆ ส่วนเนื้อกุ้งกัดเข้าไปแล้วจะเด้งสู้ฟันพร้อมปล่อยรสชาติหวานฉ่ำออกมาเมื่อเคี้ยว เป็นมื้อเช้าที่สมบูรณ์แบบสุด ๆ ไปเลย


7. ข้าวต้มทะเล

ข้าวต้มทะเล
ข้าวต้มทะเล

ส่วนใครที่เลือกไม่ได้ว่าฉันจะกินอะไรดี? ก็จัดเมนูอาหารทะเลไปเลยค่ะ สำหรับข้าวต้มทะเลจะใช้วัตถุดิบไม่แตกต่างจากข้าวต้มปลาและข้าวต้มกุ้งสักเท่าไหร่ เราจะนำกระดูกปลาและเปลือกกุ้งมาต้มรวมกับข่า, รากผักชี และพริกไทยดำเม็ดเพื่อทำน้ำสต๊อก เสร็จแล้วกรองเอาเฉพาะน้ำมาต้มกับข้าวจนเมล็ดข้าวบานตามชอบ ระหว่างต้มข้าวเราจะปรุงรสด้วยซอสปรุงรสและเกลือเล็กน้อย ระหว่างรอต้มข้าวเราก็จะนำอาหารทะเลที่เตรียมไว้ไปลวกให้สุกรอเลย ส่วนขิง, ต้นหอม และคึ่นฉ่ายนำมาซอยรอไว้ก่อน ข้าวต้มสุกแล้วตักใส่ถ้วยแล้วตกแต่งด้วยอาหารทะเลและผักได้เลยค่ะ เมนูนี้รสชาติจะอยู่ที่น้ำข้าวต้มที่มีรสชาคิเค็ม ๆ หอม ๆ หวานหน่อย ๆ ส่วนอาหารทะเลจะหวานและสด ยิ่งคึ่นฉ่ายโดนความร้อนก็จะยิ่งส่งกลิ่นหอม ทานพร้อมกับข้าวและอาหารทะเลจะเข้ากันมาก ๆ


8. ข้าวต้มโบราณ

ข้าวต้มโบราณ
ข้าวต้มโบราณ

ถัดมาเป็นข้าวต้มโบราณที่มีวิธีทำที่ง่ายและอร่อยสุด ๆ ค่ะ สำหรับวัตถุดิบของเมนูนี้จะมีเนื้อหมู จะใช้กระดูกอ่อนหรือหมูสับก็เลือกได้ตามชอบเลย ส่วนวัตถุดิบอื่น ๆ จะมีกระเทียม, พริกไทยดำเม็ด, ผักชี, ต้นหอม, ตั้งฉ่าย, เกลือ, น้ำปลา และซอสปรุงรสค่ะ ก่อนอื่นเราจะนำข้าวและน้ำสะอาดมาตั้งเตา เปิดไฟแรงคนจนเมล็ดข้าวสุกก่อนเลย จากนั้นปรับเตาเป็นไฟกลางค่อนอ่อนแล้วตุ๋นข้าวไปเรื่อย ๆ ระหว่างรอก็หันมาใช้ครกตำกระเทียม, พริกไทย และรากผักชีให้เข้ากัน แบ่งกระเทียมส่วนหนึ่งมาตำหยาบ ๆ แล้วเจียวให้เหลืองกรอบ ใช้น้ำมันเจียวกระเทียมผัดตั้งฉ่ายและเครื่องที่ตำไว้ก่อนหน้าต่อเลยจ้า ผัดจนเครื่องหอมฟุ้งแล้วใส่เนื้อหมูตามลงไปได้เลย ผัด ๆ คลุก ๆ ไปเรื่อย ๆ จนหมูสุกเราจะปรุงรสชาติด้วยเกลือ, น้ำปลา และซอสปรุงรส คลุกเคล้าให้เข้ากันอีกครั้งแล้วปิดเตาพักไว้ก่อน หันมาดูข้าวต้มของเรากันบ้าง ถ้าข้าวเริ่มบานแล้วก็เทหมูสับที่ผัดไว้ลงไปได้เลยค่ะ คนให้ส่วนผสมทุกอย่างเข้ากันดีแล้วปิดเตา ผักใส่ถ้วย โรยหน้าด้วยต้นหอมผักชีซอยและกระเทียมเจียว หรือใครจะซอยขิงและโรยพริกไทยป่นเพิ่มเข้าไปอีกก็จะยิ่งหอมอร่อยมากขึ้นจ้า


9. ข้าวต้มแห้ง

ข้าวต้มแห้ง
ข้าวต้มแห้ง

เปลี่ยนบรรยากาศมาทานข้าวต้มแห้งกันบ้าง หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามข้าวต้มแห้งร้านดังที่มีรายหลักล้านแต่ยังไม่มีโอกาสได้ไปลองทานสักที วันนี้เรามาเข้าครัวทำข้าวต้มแห้งทานแก้ขัดกันไปก่อน ก่อนอื่นเราจะมาเตรียมเครื่องข้าวต้มให้พร้อมก่อน เริ่มจากปรุงรสหมูสับด้วยกระเทียมและพริกไทยโขลกละเอียดตามด้วยซีอิ๊วขาวและซอสหอยนางรม คลุกเคล้าส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากันแล้วปั้นเป็นก้อน ๆ รอไว้ค่ะ ต่อมาก็นำกระดูกหมูมาต้มจนเปื่อยสำหรับใช้ทำน้ำซุป เพิ่มรสชาติด้วยเกลือ, ซีอิ๊วขาว และพริกไทยดำเม็ด หลังจากน้ำซุปเดือดและกระดูกหมูเปื่อยได้ที่แล้วนำหมูสับที่ปั้นไว้ลงต้มในหม้อน้ำซุปจนสุกแล้วตักขึ้นมาพักไว้ก่อน ก่อนจะรับประทานเราก็จะมาปรุงข้าวต้มแห้งถ้วยต่อถ้วย เริ่มจากตักข้าวสวยหุงสุกใส่ถ้วยกะปริมาณตามชอบ ตามด้วยหมูสับ, กระเทียมเจียว, คึ่นฉ่าย, ต้นหอม, ตั้งฉ่าย และพริกไทยป่น เสิร์ฟพร้อมน้ำซุปกระดูกหมูร้อน ๆ ฟิน ๆ ก่อนทานก็ตักน้ำซุปราดลงไปบนข้าวทีละนิดทีละหน่อยไม่ให้ข้าวแห้งเกินไป แค่คิดก็น้ำลายสอแล้วค่ะ

หมายเหตุ : เครื่องที่ใส่ในข้าวต้มแห้งสามารถเปลี่ยนเป็นอาหารทะเล หรือแม้แต่เครื่องในสัตว์ก็ยังได้นะคะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ทานค่ะ


10. ข้าวต้มเวียดนาม

ข้าวต้มเวียดนามหรือข้าวต้มเลือดหมู
ข้าวต้มเวียดนามหรือข้าวต้มเลือดหมู

ข้าวต้มเวียดนามหรือข้าวต้มเลือดหมูเป็นเมนูขึ้นชื่อของอำเภออรัญประเทศค่ะ ลักษณะเด่นของข้าวต้มชนิดนี้คือตัวข้าวจะเป็นสีดำ ๆ น้ำตาล ๆ เพราะมีการผสมเลือดหมูลงไปด้วยค่ะ สำหรับวิธีการทำเราจะนำหมูสับมาผัดกับกระเทียม, พริกไทย และรากผักชีโขลก จากนั้นปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาวและผงปรุงรสเล็กน้อย หมูสุกดีแล้วเติมน้ำเปล่าและข้าวสวยหุงสุก ตามด้วยวัตถุดิบหลักอย่างเลือดหมูสด ต้มต่อไปเรื่อย ๆ จนเมล็ดข้าวสุกบานและข้นขึ้นตามชอบ ก่อนทานเราจะตักข้าวใส่ถ้วย ตามด้วยถั่วงอกลวก, ต้นหอม, ผักชี และเลือดหมูก้อนต้มสุก ใครอยากจะเพิ่มเครื่องในด้วยก็ไม่ว่ากันค่ะ ในส่วนของรสชาติก็จะมีความเค็มนิด ๆ และอร่อยกลมกล่อมคล้าย ๆ กับข้าวต้มทั่วไปเลยค่ะ ส่วนใครอยากเพิ่มความจี๊ดจ๊าดจะทานคู่กับพริกน้ำส้มและหริกป่นก็อร่อยเหมือนกันจ้า


11. ข้าวต้มไข่

ข้าวต้มไข่
ข้าวต้มไข่

อีกหนึ่งเมนูข้าวต้มที่บางคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นชินสักเท่าไหร่ ข้าวต้มไข่เป็นเมนูที่มีหน้าตาน่ารักและสีสันน่ารับประทานเหมาะสำหรับเด็ก ๆ มาเลยค่ะ สำหรับการทำบอกเลยว่าไม่ยาก เราจะใช้น้ำสต๊อกหมูในการต้มข้าวสวยหุงสุกและแครอทหั่นเต๋า ต้มไปเรื่อย ๆ จนเมล็ดข้าวสุกบานแล้วปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาวและเกลืออีกเล็กน้อย ถ้าทำให้เด็ก ๆ แนะนำให้ต้มแบบนิ่มหน่อยนะคะ ระหว่างรอข้าวสุกหยิบไข่มาตอกแล้วตีให้พอเข้ากันคล้าย ๆ ไข่เจียวเลยค่ะ เมล็ดข้าวบานนิ่มได้ที่แล้วเร่งไฟแรงแล้วราดไข่ลงไปให้ทั่ว อย่าเพิ่งคนนะคะ ปล่อยให้ไข่สุกเซตตัวเป็นชิ้นก่อนแล้วค่อยคนให้ไข่กระจายตัว ต้มต่อจนไข่สุกดีแล้วโรยด้วยคึ่นฉ่ายสับ ตักใส่ถ้วยพร้อมเสิร์ฟค่ะ เมนูนี้บอกเลยว่าทั้งหอมและอร่อย ถ้าเด็ก ๆ ไม่ชอบคึ่นฉ่ายจะเปลี่ยนมาเอาใจด้วยสาหร่ายก็หอมอร่อยสไตล์ญี่ปุ่นสุด ๆ รับรองว่าเด็ก ๆ ต้องถูกใจแน่นอน


12. ข้าวต้มสามกษัตริย์

ปิดท้ายด้วยเมนูทรงโปรดของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือในหลวงรัชกาลที่ 5 ของไทย เมนูข้าวต้มสามกษัตริย์จะเป็นข้าวต้มที่ทานคู่กับเนื้อสัตว์สามชนิด นั่นก็คือกุ้ง ปลาหมึก และปลาทูสด ซึ่งปลาทูคืออาหารทรงโปรดของในหลวงรัชกาลที่ 5 นั่นเองค่ะ สำหรับวัตถุดิบในเมนูนี้จะมีข้าวสาร, เนื้อสัตว์ทั้ง 3 ชนิด, กระเทียม, คึ่นฉ่าย, น้ำปลา, ซอสปรุงรส, น้ำมันพืช และพริกไทยป่น ส่วนวิธีการทำเราจะต้องแล่เอาเนื้อปลาทูออกมาก่อนค่ะ ระวังไม่ให้มีก้างติดมาด้วยนะคะ เสร็จแล้วเตรียมกุ้งและปลาหมึกให้พร้อม นำเนื้อสัตว์ทั้งหมดมาต้มให้สุกเตรียมไว้ก่อน ส่วนข้าวสารจะต้องล้างให้สะอาดแล้วนำไปผัดรวมกับกระเทียมสับจนส่งกลิ่นหอม เติมน้ำสะอาดหรือน้ำที่ใช้ต้มเนื้อสัตว์ลงไปให้พอท่วม ต้มต่อจนเมล็ดข้าวสุกบาน ปรุงรสชาติด้วยน้ำปลาและซอสปรุงรส นำเนื้อสัตว์ใส่ลงในหม้อเพื่อต้มรวมกัน ข้าวต้มเดือดอีกครั้งปิดเตาแล้วตักเสิร์ฟได้เลยค่ะ โรยหน้าด้วยคึ่นฉ่ายหั่นและพริกไทยป่นหอม ๆ เป็นเมนูทรงโปรดที่สามารถทำตามได้ง่าย ๆ เลยค่ะ






เป็นอย่างไรบ้างคะกับเมนูข้าวต้มที่เรานำมาแบ่งปันเพื่อนๆ ในบทความนี้ เมื่อพูดถึงข้าวต้มแล้วหลาย ๆ คนมักจะนึกถึงข้าวต้มหมูหรือข้าวต้มไก่ขึ้นมาเป็นลำดับแรก ๆ เพราะข้าวต้มทั้งสองชนิดนี้หาทานได้ง่ายและเป็นที่นิยมได้มากที่สุดในปัจจุบัน และหลายคนก็อาจจะยังไม่ทราบว่านอกจากข้าวต้มหมูและข้าวต้มไก่แล้วเรายังมีข้าวต้มอีกหลากหลายชนิดที่ทำง่ายและอร่อยไม่แพ้กัน โดยเฉพาะข้าวต้มไข่นี้เราขอเชียร์ให้เพื่อน ๆ ลองทำเป็นพิเศษเลยค่ะ ยิ่งได้เปลี่ยนจากน้ำสต๊อกหมูเป็นน้ำสต๊อกดาชิแล้วโรยสาหร่ายนี่บอกเลยว่าฟินมาก ทานไปก็ได้กลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่นไปเต็ม ๆ แต่สำหรับเพื่อน ๆ คนไหนอยากทานข้าวต้มขาวแต่ยังเลือกเครื่องเคียงที่ทานคู่กันไม่ได้ก็สามารถเข้าดูบทความแนะนำเมนูอาหารอื่น ๆ ของเราได้นะคะ ไม่ว่าจะเป็นเมนูจากซี่โครงหมู, เมนูจากไก่, เมนูจากขา (ตีน) ไก่, เมนูไข่ต้ม, เมนูจากขาหมู หรือเมนูจากหมูสามชั้นและหมูกรอบเราก็มีค่ะ รับรองว่ามื้อต่อ ๆ ไปของเพื่อน ๆ จะอลังการและไม่จำเจแน่นอน

Ningning

Ningning

Hi guys, I'm Ningning. Graduated from NSTRU in Business English Program. I'd like to sing a song even though my voice is ... Nice to meet you :)

Next Post