ไหนใครชอบทานอาหารใต้ยกมือขึ้น ? บทความนี้เอาใจพี่บ่าวพี่สาวโดยเฉพาะโดยการยกด้ามขวานมาไว้ในครัวของเรา! นั่นก็คือการเปิดตำราแกะสูตรลับกับเมนูอาหารใต้ที่ดูเหมือนจะยากแต่ทำได้ทุกครัวเรือนค่ะ
ต้องบอกก่อนนะคะว่าภาคใต้ของเราเนี่ยค่อนข้างจะมีสภาพอากาศร้อนชื้นมีฝนตกชุก หรือที่เรียกกันว่า “ฝนแปดแดดสี่” (1) ทำให้คนใต้ชอบทานอาหารรสจัดที่มีความเผ็ดร้อนเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายค่ะ ดังนั้นคนใต้จึงนิยมทำแกงเผ็ด ๆ ซะส่วนใหญ่ แล้วด้วยความที่ฝนมันตกบ่อยใช่ไหมคะ ต้นไม้ใบหญ้าเลยงอกงามเป็นพิเศษคนใต้ก็เอาพืชพรรณพวกนี้เนี่ยมาเป็นส่วนประกอบหลักในอาหาร ทำให้แต่ละเมนูเต็มไปด้วยสมุนไพรและสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ตอนนี้หลายคนคงอยากทราบแล้วว่าอาหารใต้ตัวท็อปแต่ละเมนูจะมีวิธีทำอย่างไรบ้าง อย่ารอช้าไปดูกันเลย
1. แกงไตปลา

ถ้าพูดถึงอาหารใต้แล้วสิ่งแรกที่เราจะนึกถึงต้องเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้อย่างแกงไตปลาแน่นอน (คนใต้เรียกว่า แกงพุงปลา) ด้วยรสชาติเผ็ดร้อน กลมกล่อม อัดแน่นไปด้วยคุณค่าของผักต่าง ๆ ที่เป็นวัตถุดิบหลักทำให้เมนูนี้เป็นอาหารปักษ์ใต้ขึ้นหิ้งในใจของใครหลาย ๆ คน และด้วยความที่แกงไตปลาเนี่ยมีส่วนผสมมากมายหลายอย่าง หลายคนเลยคิดว่ามันต้องทำยากแน่ ๆ แต่จริง ๆ แล้วแกงไตปลาทำง่ายราวกับดีดนิ้ว จะทำอย่างไรไปดูกันเลยดีกว่า
วัตถุดิบแกงไตปลา
- ไตปลาสำเร็จรูป
- พริกแกงไตปลา
- ปลาย่าง
- ใบมะกรูด
- น้ำมะขามเปียก
- น้ำตาลปี๊บ
- ข่า
- ตะไคร้
- ผักสด เช่น หน่อไม้ต้มสุก, ฟักทอง, มันเทศ, มะเขือเปราะ, ถั่วฝักยาว, ถั่วพู หรือเม็ดขนุน
วิธีทำแกงไตปลา
ตั้งหม้อใส่น้ำพอประมาณ ใส่ข่ากับตะไคร้ทุบ รอน้ำเดือดแล้วใส่ไตปลาสำเร็จรูปในปริมาณที่พอเหมาะลงไปต้มจนเดือดอีกครั้ง หลังจากนั้นนำมากรองกากเพื่อไม่ให้น้ำแกงขุ่น ตั้งไฟอีกครั้งและใส่เครื่องแกง คนให้เรื่องแกงละลายเติมน้ำมะขามเปียกและน้ำตาลปี๊บลงไป ซึ่งสองอย่างนี้จะช่วยให้น้ำแกงของเรามีรสนุ่มกลมกล่อมค่ะ
เพื่อน ๆ ควรเติมเครื่องปรุงรสทีละน้อย ๆ เพื่อไม่ให้นำแกงมีรสโดดมากเกินไป ชิมรสชาติให้มีรสเผ็ดนำ เค็มตาม ปิดท้ายด้วยรสหวานกลมกล่อม และน้ำแกงไม่ควรมีรสเปรี้ยวนะคะ เพราะเราใส่น้ำมะขามเปียกเพื่อดับความคาวของไตปลาเท่านั้นเอง
หลังจากน้ำแกงเดือดแล้วให้เพื่อน ๆ ใส่ผักลงไปเลยค่ะ ในขั้นตอนนี้ควรใส่ผักแข็งอย่างหน่อไม้, ฟักทอง, มะเขือเปราะ และมันเทศลงไปก่อน พอผักเริ่มนุ่มแล้วใส่เนื้อปลาและผักที่เหลือลงไป คนให้เข้ากันและรอเดือดอีกนิด ชิมรสชาติอีกหน่อย
หลังจากน้ำเดือดแล้วปิดไฟ ยกลงจากเตา และจัดลงจานพร้อมเสิร์ฟเลยค่ะ จะทานคู่กับข้าวสวยร้อน ๆ หรือขนมจีนเส้นเหนียวนุ่มก็เข้ากันไปหมด ยิ่งทานเหนาะกับผักสดยิ่งอร่อยและดีต่อสุขภาพมากเลยค่ะ
2. แกงเหลือง ปลากะพงมะพร้าวอ่อน (แกงส้มปักษ์ใต้)

แกงเหลือง เป็นอีกหนึ่งเมนูที่หลาย ๆ คนชื่นชอบด้วยรสชาติเผ็ดเปรี้ยวอร่อยคล่องคอ แต่ถ้าเพื่อน ๆ มาเที่ยวภาคใต้แล้วถามหาแกงเหลืองคนใต้จะงงแน่นอนค่ะ เพราะคนใต้เรียกแกงเหลืองว่า “แกงส้ม” และวิธีทำแกงส้มฉบับชาวใต้ก็มีวิธีต่างจากภาคอื่นนิดหน่อยนั่นก็คือคนใต้จะใส่ “กะปิ” เข้าไปด้วย ทำให้น้ำแกงมีความหอมและรสกลมกล่อมขึ้น ส่วนผสมที่พบเห็นได้บ่อยและเข้ากับแกงเหลืองมาก ๆ เลยก็คือปลาค่ะ ลองคิดถึงตอนที่เราตักเนื้อปลาหวาน ๆ ทานพร้อมข้าวสวยหอม ๆ และซดน้ำแกงเปรี้ยวหวานกลมกล่อมตามสิคะ แค่คิดก็น้ำลายสอแล้ว อย่ารอช้าไปดูวิธีทำแกงเหลืองปลากะพงมะพร้าวอ่อนกันเลยดีกว่า
วัตถุดิบแกงเหลือง
- ปลากะพงสด
- ยอดมะพร้าวอ่อน
- พริกแกงเหลือง
- กะปิ
- น้ำเปล่า
- น้ำปลา
- น้ำตาล
- น้ำมะนาว
วิธีทำแกงเหลือง
ตั้งหม้อใส่น้ำ ละลายพริกแกงกับกะปิในปริมาณที่ต้องการ เปิดไฟรอน้ำเดือด ระหว่างรอก็มาหั่นยอดมะพร้าวอ่อนให้มีขนาดพอดีคำจะได้ทานง่ายและสุกเร็วขึ้นด้วยค่ะ หลังน้ำเดือดแล้วปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำตาล หลังจากชิมจนได้รสชาติที่ต้องการแล้วใส่ยอดมะพร้าวของเราลงไปเลย หลังจากนั้นก็รอวนไป
หลังน้ำแกงเดือดและมะพร้าวอ่อนของเราสุกแล้ว ก็ใส่เนื้อปลาตามไปค่ะ หลังจากใส่เนื้อปลาแล้วรอน้ำแกงเดือดแล้วก็ห้ามคนน้ำแกงเด็ดขาดเลยนะคะ ไม่งั้นน้ำแกงของเราจะคาวและไม่อร่อย หลังจากเนื้อปลาสุกแล้วก็ใส่น้ำมะนาวแล้วปิดไฟทันทีเพื่อไม่ให้น้ำมะนาวขม แค่นี้แกงเหลืองร้อน ๆ รสเผ็ดเปรี้ยวถึงใจก็พร้อมเสิร์ฟแล้วค่ะ
3. คั่วกลิ้งหมูสับ หรือเนื้อสับ

หันมาเอาใจสายเนื้อกันบ้างกับอีกหนึ่งเมนูเผ็ดร้อนขึ้นชื่อของปักษ์ใต้ และนั่นก็คือ “คั่วกลิ้งเนื้อ” ค่ะ เนื้อนุ่ม ๆ ผัดกับพริกแกงหอม ๆ พร้อมสมุนไพรไทยที่ดีต่อสุขภาพเน้น ๆ ยิ่งทานคู่กับผักสดกรอบ ๆ รับรองว่าเติมข้าวหมดหม้อแน่นอน ซึ่งเมนูก็เป็นอีกหนึ่งเมนูที่ดีต่อสุขภาพมาก ๆ เช่นกันนะคะ โดยเฉพาะความเผ็ดร้อนของพริกไทยอ่อนกับเนื้อวัวนุ่ม ๆ ขอบอกว่าเข้ากันสุด ๆ
วัตถุดิบคั่วกลิ้ง
- เนื้อสันในวัว หรือหมูสับ
- พริกแกงคั่วกลิ้ง
- พริกชีฟ้าแดง
- พริกไทยอ่อน
- กระชายอ่อน
- ใบมะกรูด
- น้ำมันพืช
- น้ำปลา
- ซีอิ๊วขาว
- น้ำตาลทราย
วิธีทำคั่วกลิ้ง
เตรียมเนื้อ หรือหมูสับ หลังจากนั้นซอยพริกชีฟ้า, กระชาย และใบมะกรูดพักไว้
ตั้งเตาใส่น้ำมันเล็กน้อย พอน้ำมันเริ่มร้อนใส่พริกแกงลงไปผัดให้หอม ขั้นตอนนี้ควรใช้ไฟอ่อน ๆ พริกแกงจะได้ไม่ฉุนมากและไม่ไหม้ด้วยค่ะ หลังจากพริกแกงหอมแล้วใส่เนื้อตามไปเลย ผัด ๆ คลุก ๆให้เนื้อเริ่มสุกหลังจากนั้นปรุงรสด้วยน้ำตาลทราย, น้ำปลา และซีอิ๊วขาว แต่ระวังอย่าใส่น้ำปลาเยอะเกินไปเพราะพริกแกงบางร้านมีความเค็มอยู่แล้วค่ะ หลังจากนั้นชิมรสชาติให้มีความเผ็ด เค็ม และหวานปลายลิ้น
หลังจากปรุงจนได้รสชาติที่พอใจแล้วก็ใส่พริกชีฟ้า, พริกไทยอ่อน และกระชายลงไปผัดให้เข้ากัน หลังจากสมุนไพรของเราหอมได้ที่แล้วก็ปิดไฟและโรยใบมะกรูดปิดท้ายเป็นอันพร้อมเสิร์ฟค่ะ
4. กุ้งผัดสะตอกะปิ

“ด้ามขวานแดนสะตอ” เพื่อน ๆ เคยได้ยินคำนี้ไหมคะ และแน่นอนว่าพูดถึงอาหารใต้แล้วจะไม่มีเมนูสะตอมันก็กระไรอยู่ เราเลยจัดเมนูสุดฮิต “กุ้งผัดสะตอกะปิ” มาเอาใจสาวกอาหารใต้เสียหน่อย ซึ่งอาหารใต้รสกลาง ๆ หญิงทานได้ชายทานดีเมนูนี้ทำง่ายมาก ๆ เลยค่ะ มีส่วนผสมแค่ไม่กี่อย่างแต่รสชาติอร่อยทะลุจักรวาล อย่ารอช้าไปดูวิธีการทำกันเลย
วัตถุดิบผัดสะตอกะปิกุ้งสด
- กุ้งสด
- หมูสับ
- สะตอข้าว
- กะปิ
- พริกขี้หนู
- กระเทียม
- หอมแดง
- มะนาว
- น้ำปลา
- น้ำตาลปี๊บ
- น้ำมันพืช
วิธีทำผัดสะตอกะปิกุ้งสด
ปอกเปลือกกุ้งและผ่าหลังเอาเส้นดำออกให้เรียบร้อย ปอกหอม, กระเทียม และเด็ดพริกขี้หนูเตรียมไว้ หลังจากนั้นให้เพื่อน ๆ ตำพริกขี้หนู, กระเทียม, หอมแดง, น้ำตาลปี๊บให้เข้ากันแล้วใส่กะปิเป็นอย่างสุดท้าย ตำต่อจนส่วนผสมทั้งหมดเข้ากัน
ตั้งกระทะใส่น้ำมัน พอน้ำมันเริ่มร้อนนำส่วนผสมที่ตำไว้ใส่ลงไปผัดให้หอม ถ้าส่วนผสมข้นเดินไปสามารถเติมน้ำได้แต่อย่าให้เหลวเกินไปนะคะ เสร็จแล้วใส่เนื้อหมูลงผัดต่อให้เริ่มสุกตามด้วยกุ้ง ปรุงรสด้วยน้ำปลาเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติ
หลังจากหมูและกุ้งสุกได้ที่แล้วก็ใส่พระเอกอย่าสะตอข้าวลงไป ส่วนสาเหตุที่ใช้สะตอข้าวเพราะสะตอชนิดนี้มีรสชาติหวานและกลิ่นไม่แรงเท่าสะตอชนิดอื่นค่ะ หลังใส่สะตอแล้วผัดให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันอีกครั้ง บีบน้ำมะนาวลงไปนิดหน่อยก็พร้อมรับประทานจ้า
5. ขนมจีนน้ำยาปักษ์ใต้

ถ้าเพื่อน ๆ เคยมาเที่ยวภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราชต้องเคยเห็นร้านขนมจีนตั้งเรียงรายอยู่ทุกซอกทุกซอยแน่นอน และน้ำยาขนมจีนแบบปักษ์ใต้ก็เป็นที่ชื่นชอบสำหรับใครหลาย ๆ คน ด้วยน้ำแกงสีเหลืองที่เต็มไปด้วยความเข้มข้นของน้ำแกงและเนื้อปลาที่อัดแน่นทุกอณูของหม้อ อร่อยจัดจ้านจนต้องยกซดจนหลายคนอยากลองทำดูบ้าง เราเลยแกะสูตรน้ำยาปักษ์ใต้มาแบ่งเพื่อน ๆ ค่ะ
วัตถุดิบน้ำยากะทิ ปักษ์ใต้
- เนื้อปลา
- พริกแกงกะทิ
- กะปิ
- หัวกะทิและหางกะทิ
- น้ำปลา
- น้ำตาลปี๊บ
- ใบมะกรูด
- ตะไคร้
- ส้มแขกแห้ง
วิธีทำน้ำยากะทิ
ตั้งหม้อใส่น้ำและตะไคร้ทุบกับใบมะกรูดรอจนน้ำเดือด ตามด้วยปลาสดต้มต่อจนสุก หลังจากนั้นตักปลาออกเลาะเนื้อออกจากตัวปลาแยกไว้ระวังอย่าให้มีก้างหรือหนังปลาติดมาค่ะ ส่วนน้ำต้มปลาก็เอาไปกรองตะไคร้ใบมะกรูดออกและพักไว้เพื่อทำเป็นน้ำแกง นำเนื้อปลามาโขลกกับเครื่องแกงและกะปิ กะให้มีความเผ็ดตามชอบเลยค่ะ ส่วนน้ำแกงจะข้นมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณเนื้อปลาที่ใส่ไป หลังจากนั้นก็จัดการโขลก ๆ ตำ ๆ ให้ส่วนผสมเนียนและเข้ากัน
ตั้งหม้อใส่พริกแกงที่เราตำไว้ผัดรวมกับหัวกะทิให้แตกมันและหอม หลังจากนั้นใส่น้ำต้มปลาและหางกะทิปริมาณตามชอบเลยค่ะ รอให้น้ำแกงเดือดและปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บและน้ำปลาตามด้วยส้มแขกแห้งสักชิ้นสองชิ้น คนให้เข้ากันสักหน่อย ชิมรสชาติให้ออกเค็มนำหวานตามและมีรสเปรี้ยวนิด ๆ ปลายลิ้น
หลังจากได้รสชาติที่พอใจแล้วเพื่อน ๆ สามารถเติมลูกชิ้นได้นะคะ เสร็จแล้วก็ฉีกใบมะกรูดลงไปสองสามใบเพื่อความหอมแล้วปิดเตา แค่นี้นำแกงขนมจีนกะทิปักษ์ใต้อร่อย ๆ ก็พร้อมเสิร์ฟ เตรียมผักสดรอได้เลยจ้า
ขอกระซิบอีกนิดนึง ถ้าเพื่อน ๆ ไม่ชอบทานกะทิแต่อยากทานขนมจีนน้ำยา ภาคใต้ก็มีน้ำยาขนมจีนที่เรียกว่า “น้ำยาใส” ค่ะ ซึ่งวิธีการทำก็เหมือนน้ำยากะทิเลยแต่ต่างกันที่น้ำยาใสจะไม่ใส่กระทิ หน้าตาของน้ำยาก็เป็นน้ำแกงใส ๆ คล้ายซุปเลยค่ะ อาจจะมีเนื้อปลานอนก้น ถ้าใครชอบทานแบบข้น ๆ ก็คนให้เนื้อปลากระจายตัวหน่อย แต่ถ้าอยากลองทานขนมจีนใส ๆ ก็ตักน้ำด้านบนราดเส้นขนมจีนเลยค่ะ แต่ขอเตือนไว้ก่อนว่าน้ำแกงเผ็ดร้อนเอาเรื่องค่ะ
6. น้ำพริกกุ้งสับ

มาถึงเมนูสุขภาพอย่างน้ำพริกกันแล้วนะคะ สายรักสุขภาพต้องชอบแน่นอนเพราะอัดแน่นไปด้วยประโยชน์จากผักและโปรตีนจากเนื้อกุ้ง ซึ่งน้ำพริกก็เป็นอีกหนึ่งเมนูฮิตที่ไม่ว่าจะทานคู่กับผักสดหรือผักสุกก็เข้ากั๊นเข้ากัน ทานเพลิน ๆ ผักหมดครึ่งไร่แน่นอนค่ะ
วัตถุดิบน้ำพริกกุ้งสับ
- กุ้งสด
- กะปิ
- พริกขี้หนู
- กระเทียม
- มะเขือพวง
- มะนาว
- น้ำตาล
- น้ำปลา
วิธีทำน้ำพริกกุ้งสับ
นำกุ้งไปย่างหรือต้มหลังจากนั้นนำเนื้อมาฉีกหรือสับหยาบ ๆ หลังจากนั้นนำกะปิไปห่อใบตองแล้วย่างไฟให้หอม โขลกกะปิและกระเทียมให้เข้ากัน ตามด้วยพริกขี้หนูและน้ำตาล หลังจากตำจนเข้ากันดีแล้วใส่มะเขือพวงบุให้พอแตกและใส่เนื้อกุ้งตามลงไป บีบมะนาวปิดท้ายและชิมรสให้ออกเผ็ดเปรี้ยวเค็มตามชอบ ถ้าน้ำพริกข้นเกินไปสามารถเติมน้ำต้มสุกได้ค่ะ ทานคู่กับผักที่เตรียมไว้
7. ใบเหลียงผัดไข่

ใครไม่รู้จักใบเหลียงยกมือขึ้น ✋ ใบเหลียงหรือใบเขลียงก็คือพืชชนิดหนึ่งที่มีเฉพาะในภาคใต้ค่ะ (2) รสชาติจะออกมัน ๆ หวาน ๆ และมีลักษณะคล้ายใบมันปู ทานดิบก็ได้ ทานสุกก็ดี ภาคใต้นิยมนำมาต้มกะทิ, ทานคู่กับน้ำพริก, ผสมในไข่เจียว และอีกเมนูที่นิยมคือผัดกับไข่ค่ะ
วัตถุดิบใบเหลียงผัดไข่
- ใบเหลียงอ่อน
- ไข่ไก่หรือไข่เป็ด
- กระเทียม
- น้ำมันพืช
- น้ำปลา
- น้ำตาล
- ซอสหอยนางรม
- ซีอิ๊วขาว
วิธีทำใบเหลียงผัดไข่
เลือกเด็ดเฉพาะใบเหลียงอ่อน ๆ วิธีสังเกตุก็คือใบอ่อนจะมีสีเขียวอ่อนอมน้ำตาล ๆ และหักง่ายค่ะ หลังจากนั้นก็นำไปล้างน้ำและผึ่งพักไว้ ถ้าใบเหลียงมีขนาดใหญ่ก็สามารถตัดได้ตามต้องการเลย ตั้งกระทะรอน้ำมันร้อน ระหว่างนั้นก็หันไปทุบกระเทียมและสับหยาบ ๆ รอไว้ เมื่อน้ำมันเริ่มร้อนแล้วก็ใส่กระเทียมลงไปเลยค่ะ ผัดจนกระเทียมหอมหรือออกสีเหลือง ๆ
เมื่อกระเทียมของเราได้ที่แล้วก็ใส่ใบเหลียงต่อเลย ผัด ๆ คลุก ๆ ด้วยความรวดเร็วจนใบเริ่มเหี่ยวก็เขี่ยไว้ขอบ ๆ กระทะแล้วลดไฟอ่อน หลังจากนั้นตอกไข่ใส่กระทะเลยค่ะ ใช้ตะหลิวยีให้ไข่ผสมกันเล็กน้อยและผัดจนไข่เริ่มเกาะตัวก็ปรุงรสด้วยน้ำตาล ซีอิ๊วขาว และซอสหอยนางรมเล็กน้อย หลังจากนั้นก็เอาใบเหลียงลงมาคลุก
และอีกหนึ่งเคล็ดลับท่าไม้ตายก็คือ เกลี่ยใบเหลียงกับไข่มารวมไว้กลางกระทะ จับขวดน้ำปลาให้มั่น ใช้มืออีกข้างเร่งไฟแรง หลังจากนั้นราดน้ำปลาลงขอบกระทะให้เสียงดังซู่ ๆ ลดไฟแล้วคลุกต่ออีกนิดหน่อย ชิมรสชาติอีกนิดนึงเป็นอันเสร็จเรียบร้อย ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ผัดของเรามีกลิ่นหอมน้ำปลาและตัวไข่จะเกรียมเล็กน้อยนั่นเอง
8. ข้าวยำปักษ์ใต้

ข้าวยำปักษ์ใต้ หรือ ข้าวยำน้ำบูดู อาหารที่ครบเครื่องไปด้วยสมุนไพรและสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เมนูนี้ถูกใจสายรักสุขภาพแน่นอนค่ะ เพราะตัวข้าวยำประกอบไปด้วยผักพื้นบ้านหลายชนิด เพิ่มรสชาติด้วยความมันของมะพร้าวคั่วและความหอมของน้ำบูดูที่เปรียบเสมือนปลาร้าแดนด้ามขวาน ถ้าจะให้เหมือนต้นตำรับต้องทานกับดอกดาหลาที่มีกลิ่นหอมเย็นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ถึงแม้ว่าจะมีวัตถุดิบค่อนข้างเยอะแต่รับรองว่าไม่เกินความสามารถของเพื่อน ๆ แน่นอนค่ะ
วัตถุดิบข้าวยำ
- ข้าวสาร
- น้ำเปล่า
- กุ้งแห้งป่น
- พริกป่น
- มะพร้าวคั่ว
- ถั่วงอก
- ตะไคร้ซอย
- มะม่วงเปรี้ยว
- ถั่วฝักยาวซอย
- ใบมะกรูดซอย
- ส้มโอ
- มะนาวหั่นแว่น
- ถั่วพูซอย
- ดอกดาหลา
- ใบชะพลูซอย
น้ำเคยข้าวยำ
- น้ำบูดู
- ปลาอินทรีย์เค็ม
- น้ำตาลปี๊บ
- หอมแดง
- น้ำเปล่า
- ตะไคร้
- ใบมะกรูด
- ข่า
วิธีทำข้าวยำ
ขั้นตอนแรกก็หุงข้าวเตรียมไว้เลยค่ะ เพื่อน ๆ อาจจะใส่ดอกอัญชัญหรือทำเป็นสีสันอื่น ๆ ก็ได้นะคะเพื่อความสวยงามก็เก๋ไปอีกแบบ หลังจากหุงข้าวแล้วก็มาตั้งหม้อต้มปลาอินทรีย์จนสุกแล้วฉีกเอาแต่เนื้อพักไว้ เสร็จแล้วก็ตั้งหม้ออีกครั้ง ใส่น้ำบูดูและเนื้อปลาฉีก ทุบหอม, ตะไคร้ และข่าใส่ลงในหม้อ ฉีกใบมะกรูดตาม เคี่ยวต่อจนน้ำงวดเล็กน้อย ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บให้มีรสเค็มนำและตามด้วยหวานค่ะ เคี่ยวต่อจนน้ำข้นเลย หลังจากน้ำข้นได้ที่แล้วก็นำมากรองและใส่ถ้วยพักไว้
น้ำบูดูพร้อมแล้วก็มาจัดการกับข้าวยำกันต่อ เริ่มด้วยการตักข้าวสวยของเราใส่ถ้วย จัดเรียงผักต่าง ๆ ลงไปให้สวยงาม เวลาทานก็ราดน้ำยำสักสามสี่ช้อน บีบมะนาวนิดหน่อย คลุกเคล้าอีกนิดนึงก็เอนจอยได้เลยค่ะ
ขอแนะนำอีกนิดว่าเครื่องข้าวยำไม่มีกำหนดตายตัว เพื่อน ๆ อยากใส่ผักชนิดไหนก็ได้ตามชอบเลยค่ะไม่ถือว่าผิดสูตร
9. หมูฮ้อง

หมูฮ้อง หรือสามชั้นต้มซีอิ๊ว เป็นเมนูเด็ดประจำจังหวัดภูเก็ตค่ะเพื่อน ๆ เมนูนี้เป็นหมูสามชั้นต้มเปื่อย ๆ มีกลิ่นหอมเตะจมูกชวนหิว หากได้ชิมหนึ่งคำแล้วจะโดนคาถาทำให้วางช้อนไม่ได้เลยค่ะ สำหรับคนที่กำลังลดน้ำหนักหรือรักษาหุ่นอยู่ ของอร่อยสิ่งนี้ถือเป็นชาเลนจ์ที่ยากจะห้ามใจ ถ้าเผลอทานไปแล้วก็คิดซะว่ามันคือกะหล่ำปลีต้มก็แล้วกันค่ะ เพื่อความสบายใจเนอะ
วัตถุดิบ
- เนื้อหมูสามชั้น
- รากผักชี
- โป๊ยกั๊ก
- อบเชย
- พริกไทยขาวเม็ด
- พริกไทยดำเม็ด
- กระเทียม
- เกลือ
- น้ำตาล
- ซีอิ๊วขาว
- ซีอิ๊วดำหวาน
- น้ำเปล่า
วิธีทำหมูฮ้อง
ล้างทำความสะอาดและหั่นเนื้อหมูให้มีชิ้นหนาเท่า ๆ กันหมูจะได้สุกทั่วถึงพร้อมกันค่ะ คั่วอบเชย, พริกไทยขาว, พริกไทยดำ, โป๊ยกั๊ก และกระเทียมให้หอม หลังจากนั้นนำมาโขลกรวมกับรากผักชีให้ละเอียด แนะนำให้โขลกพริกไทย, อบเชย, โป๊ยกั๊กให้ละเอียดเป็นผงก่อนนะคะแล้วค่อยใส่กระเทียมกับรากผักชีตามลงไป
หลังจากเครื่องโขลกของเราผสมกันได้ที่แล้วก็ตักใส่กะละมังหรือหม้อ ใส่เกลือ, ซีอิ๊วขาว. ซีอิ๊วดำหวาน และน้ำตาลทรายแดงลงไป ผสมให้เข้ากันแล้วนำหมูลงไปหมักเลยค่ะ อย่าลืมคลุกให้เนื้อหมูผสมกับน้ำหมักให้ทั่วนะคะ ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีให้เครื่องปรุงเข้าเนื้อ
หมักหมูได้ที่แล้วก็ตั้งกระทะแล้วเอาหมูหมักลงไปผัดเลยค่ะ เพื่อน ๆ อาจจะใส่หรือไม่ใส่น้ำมันก็ได้ ผัดจนหมูเริ่มสุกก็ใส่น้ำเปล่าลงไปให้ท่วมเนื้อหมูเลย หลังจากนั้นก็ปิดฝาตุ๋นทิ้งไว้ประมาณหนึ่งชั่วโมงค่ะ หรือถ้าเพื่อน ๆ มีหม้ออัดแรงดันก็จะประหยัดเวลาได้เยอะเลย ครบหนึ่งชั่วโมงแล้วเพื่อน ๆ ก็ค่อยเปิดฝาแล้วเช็คดูให้เนื่อหมูเปื่อยนุ่มแต่ไม่ถึงกับเละ และชิมรสชาติให้ออกเค็ม ๆ หวาน ๆ แล้วมีรสเผ็ดของพริกไทยแรกหน่อย ๆ ก็เป็นอันใช้ได้แล้วล่ะค่ะ ปิดไฟแล้วยกลงจากเตาทานร้อน ๆ ได้เลย
เป็นอย่างไรบ้างคะกับเมนูอาหารใต้ที่เรานำมาฝากวันนี้ แต่ละเมนูนี่แค่อ่านก็ได้กลิ่นหอม ๆ ลอยมาตามลมแล้ว แต่ถ้าเพื่อน ๆ สังเหตุก็จะเห็นได้ชัดเลยนะคะว่าอาหารใต้จะมีรสชาติค่อนข้างเผ็ดร้อนและประกอบไปด้วยสมุนไพรซะเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นอาหารใต้จึงเหมาะสำหรับสายสุขภาพแน่นอน (ยกเว้นเมนูสุดท้าย) ถ้าใครสนใจก็ลองทำตามสูตรที่เรานำมาแนะนำได้นะ รับรองว่าอร่อยไม่แพ้ร้านดังเลย ส่วนทางนี้ขอตัวไปเตรียมหม้อเตรียมกระทะก่อน ไว้เจอกันใหม่ ขอให้เจริญอาหารนะคะ สวัสดีค่ะ
References: