ถ้าจะให้พูดถึงการนอนหลับแล้วล่ะก็…คงถือว่าเป็นกิจกรรมสุดโปรดของใครหลาย ๆ คนเลยใช่มั้ยล่ะค่ะ? เมื่อร่างกายรู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย สิ่งที่ทำให้ร่างกายกลับมาสดชื่น สดใส และมีพลัง ก็คงไม่พ้น “การนอนหลับ” เป็นแน่แท้ ซึ่งการนอนหลับไม่ใช่แค่ช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูจากความเหนื่อยล้าได้เพียงอย่างเดียวนะคะ แต่ยังช่วยให้ร่างกายของเราได้รับการพักผ่อนอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของเรานั่นเองค่ะ
การนอนหลับมีความสำคัญในทุกช่วงวัย ซึ่งรวมไปถึงทารกและเด็กเล็กที่ต้องการการนอนหลับมากในแต่ละวันซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับอายุ อย่างทารกแรกเกิดจนถึง 1 เดือนจะมีการนอนประมาณ 16 ถึง 20 ชั่วโมงและตื่นประมาณ 1 ถึง 2 ชั่วโมงระหว่างช่วงเวลานอนหลับ หลังจากพ้นช่วงทารกแรกเกิดไปหน่อย ทารกจะมีการนอนหลับน้อยลง ประมาณ 13 ถึง 15 ชั่วโมงรวมถึงการนอนตอนกลางคืน งีบตอนเช้าและงีบตอนบ่าย สำหรับเด็กในวัยหัดเดินจะมีการนอนหลับประมาณ 12 ชั่วโมงรวมทั้งการงีบหลับในช่วงบ่าย
คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่กำลังประสบปัญหาการนอนหลับของทารกและเด็กเล็กที่นอนหลับไม่ยาวบ้าง หลับไม่สนิทบ้าง หรือ หลับ ๆ ตื่น ๆ ในเวลากลางคืนบ้าง เป็นต้น ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจรูปแบบการนอนและการตื่นของทารกล่ะก็ ปัญหาการนอนหลับของลูกน้อยก็จะช่วยคลี่คลายและลดความกังวลให้กับคุณพ่อคุณแม่ได้เยอะเลยทีเดียวล่ะค่ะ ก่อนอื่นเลยนะคะ…คุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจในเรื่องประเภทการนอนของลูกน้อยกันก่อนค่ะ

การนอนหลับของทารก
ทารกจะมีการนอนหลับ 2 ประเภทหลัก ๆ ค่ะ ซึ่งมีความสำคัญมาก ๆ เลยทีเดียวนะคะ (1)
1. การนอนหลับตื้น (Light Sleep)
-
- ในช่วงที่หลับตื้นเด็กทารกจะฝัน พวกเขาอาจจะมีการขยับและส่งเสียงออกมา ตาของพวกเขาอาจจะมีการเคลื่อนไหวใต้เปลือกตาของพวกเขาและจริง ๆ แล้วพวกเขาอาจจะเปิดหรือปิดตาก็ได้ และนั่นก็อาจจะทำให้พวกเขาตื่นขึ้นได้อย่างง่ายดาย
- การนอนหลับตื้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทารกเพราะเลือดจะมีการไหลเวียนไปเลี้ยงที่สมองเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสมองของทารกที่จะได้รับการพัฒนานั่นเองค่ะ
- ความสามารถในการตื่นนอนได้ง่ายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสุขภาพและความปลอดภัยของทารก
- วิธีเพิ่มการนอนหลับตื้นได้แก่ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ วางทารกไว้บนตัวคุณแม่ การให้จุกหลอกสำหรับทารกที่ดื่มนมจากขวดนมก่อนจะวางลูกน้อยได้นอนหลับ
2. การนอนหลับลึก (Deep Sleep)
-
- ในระหว่างการนอนหลับลึกทารกจะนิ่งมาก คุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่เห็นว่าทารกมีการขยับตัวมากเท่าไหร่ แต่นั่นก็จะทำให้การหายใจของพวกเขากลายเป็นปกติมากขึ้น กล่าวคือพวกเขาจะตื่นยากขึ้นนั่นเองค่ะ
- พวกเขาอาจยังคงเคลื่อนไหวโดยแสดงอาการเหมือนว่ากำลังดูดนมอยู่ หรือคุณพ่อคุณแม่อาจจะสังเกตว่าทารกเกิดอาการตกใจอะไรบางอย่า แต่นั่นก็ไม่ได้ส่งผลให้พวกเขาตื่นค่ะ
- การนอนหลับลึกเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพักผ่อนที่เต็มที่และมีคุณภาพ
รูปแบบการนอนหลับของทารก (1)
- ทารกจะมีการนอนหลับที่แตกต่างจากผู้ใหญ่อย่างสิ้นเชิง กล่าวคือทารกแรกเกิดจะมีการหลับตื้นก่อน แต่หลังจากนั้นประมาณ 20 ถึง 30 นาที พวกเขาจะเข้าสู่การนอนหลับลึกและสนิทมากขึ้น อย่างทารกบางคนมีความไวต่อการเปลี่ยนตำแหน่ง หรืออาจจะตื่นได้ง่ายขึ้นเมื่อคุณพ่อคุณแม่วางพวกเขาลง สำหรับทารกเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่ควรอุ้มต่อไปจนกว่าพวกเขาจะหยุดเคลื่อนไหวและลดการกระตุกหรือจนกว่าจะแสดงอาการว่าเข้าสู่การนอนหลับลึกแล้วค่อย ๆ วางพวกเขาลงค่ะ
- ทารกแรกเกิดจะใช้เวลาประมาณเท่ากันระหว่างการนอนหลับตื้นและการนอนหลับลึกในแต่ละรอบประมาณ 50 ถึง 60 นาที ในขั้นต้นนั้น ทารกแรกเกิดอาจจะตื่นในแต่ละรอบหรือทุก ๆ หนึ่งหรือสองชั่วโมง
- รูปแบบการนอนจะเปลี่ยนไปเมื่อทารกโตขึ้น ระหว่างสัปดาห์ที่ 12 – 16 สัปดาห์ ทารกจะเริ่มนอนหลับลึกและสนิทมากขึ้นเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ และพวกเขาก็จะตื่นนอนน้อยลงเช่นกัน คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มสังเกตได้ว่า ทารกนอนหลับได้ดีขึ้นหลังจากพวกเขามีอายุประมาณ 4 เดือนค่ะ
การยืดเวลาของการนอนหลับ (1)
- ทารกที่อายุประมาณ 2 ถึง 6 สัปดาห์ จะมีความสามารถในการนอนประมาณ 2 ถึง 4 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง และเมื่อทารกอายุประมาณ 6 ถึง 8 สัปดาห์ การนอนหลับของทารกจะมากขึ้นและนอนหลับได้ลึกขึ้นในช่วงกลางคืน แต่ทารกอาจจะตื่นบ่อยขึ้นในช่วงกลางวัน
- ทารกที่อายุประมาณ 3 เดือน พวกเขาจะสามารถนอนหลับได้ถึง 4 ชั่วโมงต่อครั้ง ซึ่งถือเป็นการนอนที่ยาวที่สุด แต่การยืดเวลาของการนอนหลับนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลากกลางคืน
- ทารกที่อายุประมาณ 6 เดือน พวกเขาอาจจะนอนหลับได้ถึง 6 ชั่วโมงในครั้งเดียว

การตื่นของทารกก็สำคัญนะจ๊ะ…พ่อจ๋า แม่จ๋า
เด็กทารกควรจะตื่นเวลากลางคืน ใช่ค่ะ คุณพ่อคุณแม่อาจจะสงสัยว่า จะตื่นทำไมจ๊ะลูก? นอนหลับยาว ๆ ก็ดีต่อสุขภาพของพวกเขานี่คะ แต่การตื่นกลางคืนก็อาจจะมีความสำคัญต่อสุขภาพของทารกได้ด้วยนะคะ อาทิเช่น
- ทารกต้องตอบสนองความต้องการของพวกเขา เช่น ทารกน้อยอาจจะหิว จึงจำเป็นต้องตื่นมาเพื่อกินนม หรือทารกบางคนรู้สึกไม่สะดวกสบายเนื่องจากผ้าอ้อมสำเร็จรูปเปียกชื้น หรือทารกบางคนที่ต้องการอ้อมกอดและความอบอุ่นจากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ
- ทารกนที่หลับลึกเกินไปเป็นเวลานานอาจมีความเสี่ยงมากขึ้นสำหรับกลุ่มอาการทารกเสียชีวิตอย่างกะทันหัน (SIDS) (1)
- ทารกจะตื่นตอนกลางคืนน้อยลงเมื่อพวกเขามีอายุที่มากขึ้น
พ่อจ๋า แม่จ๋า…หนูยังอยากตื่นบ้างนะจ๊ะในบางคราว
เมื่อทารกต้องการตื่นขึ้นมาบ้างในบางครั้งบางคราว หรือบางครั้งทารกอาจง่วงนอนมากและอาจจะตื่นยากเมื่อถึงช่วงเวลาที่ต้องให้นม ซึ่งการใช้เสียงและการสัมผัสก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยปลุกทารกน้อยได้นะคะ เพราะวิธีนี้จะช่วยกระตุ้นสมองของทารกได้ด้วยค่ะ เมื่อไหร่ที่พวกเขาตื่นแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจจะ…
- เปลี่ยนท่าของทารก
- ถอดเสื้อผ้าของทารกหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมให้พวกเขา
- สัมผัสทารกเบา ๆ ในบริเวณต่าง ๆ เช่น หน้าท้อง มือ ก้น เท้า เป็นต้น
- พูดคุยกับทารก
เหตุผลที่ทำให้ทารกตื่นบ่อย !! (1)
- ร่างกายไม่สมบูรณ์ (เช่น ทารกก่อนกำหนด)
- การให้นมที่ไม่มีคุณภาพ เช่น ทารกกินน้อยเกินไป การไม่จับลูกเรอ การให้นมลูกน้อยที่มากเกินไป เป็นต้น
- มีอาการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
- เปิดทีวีในห้องหรือมีสิ่งรบกวนอื่น ๆ เช่น เสียงดังจากสิ่งแวดล้อมภายใน หรือ ภายนอกบ้าน
- คาเฟอีนหรือยา (สำหรับมารดาที่ให้นมบุตร)
- การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรของทารก
* หากคุณพ่อคุณแม่มีความกังวลาใจ เนื่องด้วยทารกตื่นบ่อยจนเกินไป คุณพ่อคุณแม่อาจจะลองปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยถึงสาเหตุได้นะคะ
สัญญาณของความพร้อมในการนอนหลับ (2)
คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยให้ลูกน้อยนอนหลับได้โดยรับรู้ถึงสัญญาณของความพร้อมในการนอน ลูกน้อยของคุณอาจแสดงสัญญาณว่าพร้อมสำหรับการนอนหลับดังต่อไปนี้ :
- ขยี้ตา
- หาว
- เบือนหน้าหนีหรือมองไปทางอื่น
- งอแง

เคล็ดลับดี ๆ ที่ให้ลูกน้อยนอนนาน
เคล็ดลับก่อนนอน
-
- ในตอนกลางคืน คุณพ่อคุณแม่ควรปิดโทรทัศน์ และลองหากิจวัตรที่ผ่อนคลาย เช่น อาบน้ำให้ลูกน้อยในอ่างอาบน้ำเด็ก ร้องเพลงกล่อมเด็ก อ่านหนังสือหรือเล่านิทาน กิจกรรมเหล่านี้สามารถช่วยให้ลูกน้อยผ่อนคลาย แถมพวกเขายังส่งสัญญาณว่าถึงเวลานอนแล้ว อย่าให้ลูกน้อยตื่นเต้นกับการเล่นอย่างกระตือรือร้นก่อนนอน
- เมื่อลูกน้อยเริ่มส่งสัญญาณง่วงนอน ให้คุณพ่อคุณแม่วางลูกน้อยไว้ในเปลในห้องที่เงียบและมืด วิธีนี้จะช่วยให้ลูกน้อยได้เรียนรู้ที่จะไปนอนในเปลของพวกเขานั่นเอง
- อย่าโยกลูกน้อยเข้านอนหลังจากอายุประมาณ 4 ถึง 6 เดือน แต่ให้ทารกนอนลงในขณะที่พวกเขาส่งสัญญาณของการง่วง แต่ยังตื่นอยู่ (3)
- วางลูกน้อยเพื่องีบหลับทันทีที่เขาง่วงนอน หากลูกน้อยเหนื่อยเกินไปอาจทำให้พวกเขานอนหลับได้ยาก
อย่าลืมให้ลูกน้อยนอนหงาย สิ่งนี้ช่วยป้องกันอาการทารกเสียชีวิตอย่างกะทันหัน (SIDS) (3)
เคล็ดลับในการทำให้ทารกกลับไปนอนหลับ
-
- พยายามให้นมแก่ทารกแรกเกิดที่หิวโหยเมื่อพวกเขาตื่น เพื่อเป็นการสงบสติอารมณ์ เสียงที่ร้องโหยหวนมักเริ่มต้นด้วยเสียงครวญครางและดังขึ้นเรื่อย ๆ หากคุณพ่อคุณแม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของพวกเขาได้ก่อนที่พวกเขาจะอารมณ์เสีย พวกเขาก็จะกินนมและกลับไปนอนหลับได้ง่ายขึ้น
- ปิดไฟระหว่างการให้นมในตอนกลางคืนและใช้เสียงเบา ๆ ซึ่งนั่นจะทำให้ลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่เข้านอนโดยเร็วที่สุด แต่หากพวกเขาไม่รู้สึกหิวหรือไม่อยากกินนมระหว่างให้นมตอนกลางคืน หรือยังไม่ยอมกลับไปนอนหลังจากกินนมเสร็จ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องตรวจดูแล้วล่ะค่ะว่าลูกน้อยอาจจะรู้สึกไม่สบายตัวอย่างอื่น เช่น ต้องการเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือไม่
- ในขณะป้อนนม หรือ เปลี่ยนผ้าอ้อมลูกน้อย ควรให้บรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบ ๆ ให้มีแสงน้อย อย่าเล่นหรือร้องเพลงกับลูกน้อย วางพวกเขากลับเข้าไปในเปลโดยเร็วที่สุด
- พยายามสงบสติอารมณ์ เด็กเล็กมีความอ่อนไหวต่อความรู้สึกขุ่นมัวของคุณพ่อคุณแม่นะคะ
หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการเปลี่ยนแผนสำหรับวิธีรับมือกับการร้องไห้ตอนกลางคืน ขอให้แน่ใจว่าคุณพ่อคุณแม่ตกลงกันก่อนเข้านอนค่ะ
การนอนหลับจึงถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อสุขภาพกายและใจต่อทารก อีกทั้งยังช่วยพัฒนาสมองและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพวกเขาอีกด้วย การสร้างนิสัยการนอนที่ดีตั้งแต่แรกเกิดถือเป็นบันไดก้าวแรกที่จะนำไปสู่สุขภาพกายและใจที่ดีของทารกเป็นอย่างมาก การที่ทารกนอนหลับได้ไม่เพียงพอ อาจจะทำให้เกิดปัญหาในการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าลืมนำเคล็ดลับดี ๆ เหล่านี้ไปลองปรับใช้นะคะ ที่สำคัญ… คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้เวลาและความอดทนในการสอนทักษะใหม่ ๆ ให้กับลูกน้อย ร่วมด้วยกับความสม่ำเสมอจะช่วยให้ลูกน้อยได้เรียนรู้ในสิ่งที่พวกเขาต้องทำในเวลานอนหรือเวลางีบหลับได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายขึ้นค่ะ
References
- Healthy Sleep For Babies (ไฟล์จาก : California WIC Program, California Department of Public Health)
- Infant Sleep – Columbia University, Department of Neurology
- Quick Tips: Getting Baby to Sleep – University of Michigan