วิธี ฝึกลูกนั่งกระโถน เลิกแพมเพิส – จากประสบการณ์ตรงของคุณแม่ลูก 2

สารบัญ

คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนที่กำลังตั้งคำถามอยู่ในใจใช้ไหมคะว่า เอ๊ะ….ลูกสาวหรือลูกชายของเรา มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนแล้วนะสำหรับการเลิกผ้าอ้อม? และฝึกหัดตัวเองให้ใช้กระโถนหรือเข้าห้องน้ำให้เป็น สำหรับทำธุระส่วนตัวอย่างการปัสสาวะหรืออุจจาระ และตอนนี้คุณพ่อคุณแม่ใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินความพร้อมของลูกกันบ้างเอ่ย? …ว่าลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่พร้อมแล้วรึยังสำหรับการเลิกผ้าอ้อม

สำหรับดิฉันในฐานะที่เป็นคุณแม่เช่นกัน ก็มีคำถามร้อยแปดพันเก้าก่อนจะฝึกเด็ก ๆ ให้เลิกผ้าอ้อมแล้วยอมหันมาใช้ห้องน้ำแทน หลังจากฝึกหัดลูก ๆ ได้สำเร็จแล้ว ดิฉันเลยอยากเอาประสบการณ์ของตัวเอง เพื่อเอามาแบ่งปันความรู้และเทคนิคให้แก่กันบ้าง เพื่อจะได้ช่วยคุณพ่อคุณแม่ไม่มากก็น้อย 🙂 แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องทำความเข้าใจก่อนนะคะว่า บางครั้ง เด็ก ๆ ในวัยเดียวกัน ก็อาจจะมีความสามารถในการเลิกผ้าอ้อมไม่เหมือนกัน พวกเขาอาจจะเรียนรู้การใช้ห้องน้ำได้ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งสำคัญที่สุดคือคุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตและเฝ้าดูสัญญาณความพร้อมของลูกน้อย อาทิเช่น ลูกน้อยเริ่มหยุดกิจกรรมที่กำลังทำแล้วมาจับหรือกำผ้าอ้อมของเค้าแทน หรือลูกน้อยอาจส่งสัญญาณด้วยคำพูดว่า “คุณแม่คะ คุณแม่ครับ คุณพ่อครับ คุณพ่อขา หนูปวดฉี่ค่ะ ผมปวดฉี่ครับ” เป็นต้น

อายุเด็กที่ควรเลิกใช้แพมเพิสหรือเลิกใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป

ดิฉันเองก็เป็นเหมือนคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนเลยค่ะ ที่นำเอาเกณฑ์เรื่องอายุของลูกมาเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจให้ลูกเลิกผ้าอ้อม แต่จะบอกเลยนะคะว่าไม่มีอายุไหนที่ดีที่สุดสำหรับการฝึกลูกน้อยให้เข้าห้องน้ำหรือเลิกผ้าอ้อมหรอกค่ะ เพราะเด็กบางคนนะคะ เค้าอาจจะมีความพร้อมที่จะเริ่มฝึกเข้าห้องน้ำตั้งแต่เมื่ออายุ 18 เดือน บางคนอาจจะไม่มีความพร้อมจนกว่าอายุจะล่วงเลยไปถึง 3 ปีขึ้นไปแล้ว (1) 

อายุจึงอาจจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งค่ะที่ช่วยให้เกิดการตัดสินใจของคุณพ่อคุณแม่เป็นไปได้ง่ายขึ้น เพราะอะไรน่ะเหรอคะ? ก็เพราะว่าเด็กส่วนใหญ่จะมีการพัฒนาในเรื่องของการควบคุมลำไส้และกระเพาะปัสสาวะได้ภายใน 18 เดือน หรือ 1 ขวบครึ่ง และด้วยทักษะนี้เองแหละค่ะ ที่จำเป็นสำหรับเด็กเพื่อฝึกความพร้อมให้ร่างกายของพวกเค้าสามารถใช้ห้องน้ำได้ อีกทั้งยังรวมไปถึงความพร้อมทางอารมณ์ของเด็กที่จะเริ่มเรียนรู้การใช้กระโถน ซึ่งปัจจัยนี้ก็ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคนด้วยนะคะ และขณะที่เด็กทุกคนแตกต่างกันนี่เองแหละค่ะ

ฝึกลูกเลิกแพมเพิส

เชื่อมั้ยคะว่าเด็กที่เลิกผ้าอ้อมจะอยู่ที่ประมาณ 22% ก่อน 2 ขวบครึ่ง และเด็กที่สามารถเลิกผ้าอ้อมได้ก่อน 3 ขวบครึ่งค่ะมีถึง 88%  (2) ซึ่งอาจจะมีปัจจัยบางสิ่งที่อาจจะชะลอหรือส่งผลกระทบต่อความพร้อมของเด็กในการฝึกเข้าห้องน้ำ ได้แก่ ความเจ็บป่วยในวัยเด็ก วิกฤติหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นในครอบครัว ความล่าช้าในการใช้ภาษาของเด็ก หรือแม้แต่เด็กบางคนนะคะ ที่กลัวการเข้าห้องน้ำ นั่นเองค่ะ ซึ่งมาจากประสบการณ์ของดิฉันเองนะคะ เพราะดิฉันมีลูกสองคน การฝึกลูกชายคนโตเข้าห้องน้ำตอน 2 ขวบ 2 เดือน ในขณะที่ลูกสาวคนเล็กส่งสัญญาณความพร้อมในการเข้าห้องน้ำตั้งแต่ 1 ขวบ 9 เดือนค่ะ เพราะฉะนั้นแทนที่คุณพ่อคุณแม่จะใช้อายุของลูกน้อย เพื่อมองหาสัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกน้อยของคุณแม่พร้อมแล้วหรือยังสำหรับการเลิกผ้าอ้อมและฝึกการเข้าห้องน้ำ การสังเกตพฤติกรรมของลูกก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีเช่นกันค่ะ แม่ก็เลยมีคำแนะนำง่าย ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่เองก็สามารถนำมาปรับใช้เพื่อหาสัญญาณความพร้อมของลูกได้ค่ะ

10 สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกคุณพร้อมแล้วที่จะเลิกผ้าอ้อม

  1. สามารถเข้าใจและใช้คำศัพท์เกี่ยวกับการใช้กระโถน การใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องน้ำมากน้อยแค่ไหน
  2. แสดงความสนใจที่จะใช้กระโถนหรือการสวมใส่กางเกงใน ลูกน้อยอาจมีการซักถามในเรื่องของวิธีการใส่กางเกงชั้นใน ถ้าลูกให้ความสนใจแล้วล่ะก็ คุณพ่อคุณแม่ก็รีบคว้าโอกาสนี้สร้างแรงกระตุ้นให้ลูกมีความอยากเข้าห้องน้ำเลยนะคะ 
  3. มีความอดทนในการนั่งบนกระโถนที่มากพอ เพราะเด็กบางคนแค่ 3 – 5 วินาที ก็อยากจะกระโดดออกมาจากกระโถนแล้ว แต่ในขณะที่เด็กบางคนสามารถนั่งนนถึง 3 – 5 นาที
  4. สามารถยืน นั่ง และเดินได้ด้วยตัวเอง นั่นคือลูกน้อยมีความพร้อมทางกายภาพนั่นเองค่ะ
  5. ผ้าอ้อมแห้งเป็นเวลา 2 ชั่วโมงขึ้นไป หรือหลังจากนอนกลางวันเสร็จ
  6. ดึงผ้าอ้อมกางเกงเทรนนิ่งแบบใช้แล้วทิ้งหรือกางเกงใน ยกตัวอย่างลูกสาวคุณแม่นะคะ น้องจะมีการสื่อสารให้ถอดกางเกงผ้าอ้อมออกเกือบทุกครั้งที่ต้องการปัสสาวะ หรือ อุจจาระค่ะ
  7. สามารถเข้าใจคำพูดที่คุณพ่อคุณแม่พยายามสื่อสารและทำตามที่คุณพ่อคุณแม่แนะนำได้ เช่น ถ้าคุณพ่อหรือคุณแม่ถามว่า “หนูปวดฉี่มั้ยคะ/ครับ” ถ้าลูกสามารถตอบกลับหรือพยักหน้าให้คำตอบได้ก็ถือเป็นหนึ่งสัญญาณที่บอกว่าลูกพร้อมจะฝึกเข้าห้องน้ำแล้วค่ะ
  8. เลียนแบบพฤติกรรมของคุณพ่อและคุณแม่ หรือผู้ปกครอง อย่างลูกชายคนโตของแม่นะคะ มีความอยากรู้อยากเห็นโดยการเลียนแบบคุณตาก่อน แล้วมีการเรียกร้องอยากจะทำตามในเวลาต่อมาค่ะ
  9. มีการรับรู้ว่าตัวเองกำลังปัสสาวะ หรือ อุจจาระอยู่ เช่น มองหามุมส่วนตัวเพื่อจะปัสสาวะ หรือ วิ่งเข้าห้องตัวเองเพื่อต้องการเวลาส่วนตั้ว ส่วนตัวในการถ่ายอุจจาระ เป็นต้น
  10. สามารถถอดหรือสวมใส่กางเกงในได้ในระดับหนึ่งค่ะ

เมื่อสัญญาณต่าง ๆ ส่งมาให้คุณพ่อคุณแม่รับทราบแล้วนะคะ การได้รับความร่วมมือจากลูกน้อยของคุณแม่ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญเช่นกันค่ะ เพราะนั่นคือช่วงเวลาที่ลูกและคุณพ่อคุณแม่เองจะได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันในการเลิกผ้าอ้อม และฝึกการใช้ห้องน้ำที่จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วค่ะ

วิธีการที่จะทำให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างลูกและคุณพ่อคุณแม่

  1. วิธีที่ดีที่สุดในการได้รับความร่วมมือคือการชื่นชมลูกเมื่อเขาประสบความสำเร็จในการใช้ห้องน้ำหรือไม่ก็ตาม การชื่นชมจะทำให้ลูกรู้สึกมีกำลังใจที่จะพัฒนาตัวเอง ฝึกการเข้าห้องน้ำได้สำเร็จด้วยล่ะค่ะ
  2. ไม่ควรใช้คำพูดที่รุนแรงและการตบตีเมื่อลูกล้มเหลว หรือ ฉี่รดกางเกงในหรือผ้าอ้อมเทรนนิ่ง เพราะอาจทำให้เขารู้สึกอับอายและอาจจะทำให้การฝึกล่าช้าไปอีกค่ะเชื่อมั้ยคะ ว่าถ้าคุณพ่อคุณแม่มีการตำหนิในขณะที่ลูกไม่สามารถเข้าห้องน้ำได้ทันท่วงที ลูกก็อาจจะเกิดความไม่มั่นใจและรู้สึกว่าสิ่งที่เค้ากำลังพยายามหรือฝึกอยู่นั้นไม่เกิดผลสำเร็จแล้ว แถมยังเกิดการดุด่าว่ากล่าวอีกนั้น จะส่งผลให้ลูกน้อยพาลไม่อยากเข้าห้องน้ำและไม่ให้ความร่วมมือค่ะ
  3. ให้ลูกมีทางเลือกด้วยตนเอง เช่น การเลือกกระโถนด้วยตนเอง ซึ่งในปัจจุบันก็มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ หลากหลายสี และวัสดุที่ใช้ต่าง ๆ ให้คุณพ่อคุณแม่ได้คัดสรรเยอะแยะมากมายเลยล่ะค่ะ ซึ่งอยากกระซิบดัง ๆ เลยล่ะค่ะว่า กระโถนเนี่ยแหละ คือสิ่งดึงดูดให้ลูกชายคนโตของแม่มีความสนใจจะเริ่มหัดเลิกผ้าอ้อม แล้วหันมาลองกระโถนที่ตัวเองเลือกเองอีกด้วยล่ะจ้า 
  4. การลองใช้หนังสือสำหรับเด็กหรือวิดีโอเกี่ยวกับการฝึกเข้าห้องน้ำก็เป็นสื่อที่ดีมาก ๆ ที่แม่นำมาใช้กับทั้งลูกชายและลูกสาว และก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีมาก ๆ จนแม่อยากแนะนำจริง ๆ ค่ะ




ประเภทของกระโถนสำหรับเด็ก

จากที่แม่ได้เกริ่นในเรื่องของการให้ลูกน้อยได้เลือกกระโถนให้นะคะ คุณพ่อคุณแม่ควรดูลักษณะของกระโถนที่ควรอยู่ในระดับที่ต่ำพอที่ลูกของคุณแม่สามารถจะวางเท้าลงบนพื้นได้อย่างมั่นคง และกระโถนก็ควรจะมีที่พยุงหลังและที่วางแขนเพื่อให้ลูกรู้สึกถึงความมั่นคงว่าจะไม่ล้มตึงลงจากกระโถนนะคะ ซึ่งกระโถนสำหรับเด็กก็แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. กระโถนเก้าอี้

ซึ่งจะมาพร้อมโถหรือภาชนะที่สามารถเทลงในชักโครกได้หลังลูกขับถ่ายเสร็จ ซึ่งบางประเภทก็ออกแบบมาเพื่อให้พับเก็บง่าย และเหมาะสำหรับพกพาไปใช้ในขณะเดินทาง หรือท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ นอกบ้าน หรือไว้ใช้ในยามฉุกเฉินเมื่อต้องเดินทางไกลแต่อาจจะหาห้องน้ำระหว่างทางนานเกินไปค่ะ

ฝึกเด็กๆให้ใช้กระโถน

2. เก้าอี้วางบนที่นั่งชักโครก

ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อเด็กวัยหัดเดินที่สามารถวางไว้บนที่นั่งชักโครกได้ ซึ่งจะช่วยให้ลูกรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นและไม่ต้องกลัวว่าจะตกลงไปในชักโครก หากคุณพ่อคุณแม่เลือกใช้ประเภทนี้เหมือนกับแม่นั้น ก็ขอแนะนำว่า ให้หาเก้าอี้ชักโครกเพื่อใช้รองขาเด็กเพื่อใช้เป็นบันได้เหยียบขึ้นได้ ลูกก็จะมีความมั่นใจในการขึ้น-ลง และเข้าถึงที่นั่งได้อย่างสบายและรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นด้วยค่ะ

ทริคเล็ก ๆ จากประสบการณ์ของผู้เขียน : โดยปกติแล้วนะคะ เด็กผู้ชายก็สามารถที่จะเรียนรู้การใช้ห้องน้ำแบบนั่งลง ก่อนที่จะหัดกับโถฉี่แบบติดผนัง เพราะสำหรับเด็กผู้ชายบางคน ซึ่งรวมลูกชายของแม่ด้วยล่ะค่ะ ที่รู้สึกอึดอัด กลัวการยืนบนเก้าอี้ หรือออกอาการเขินอายในการฉี่ใส่กระโถนหรือโถฉี่สำหรับผู้ชายค่ะ

นอกจากนี้การใช้กางเกงเทรนนิ่งที่ใช้แล้วทิ้ง หรือ กางเกงซับฉี่ที่สามารถซักแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ก็ถือเป็นตัวช่วยที่ดีและเป็นประโยชน์ในระยะเริ่มต้นที่ของการฝึกเลิกผ้าอ้อม และหัดการเข้าห้องน้ำนะคะ เพราะระหว่างการฝึกเลิกผ้าอ้อมนี่เองค่ะ การควบคุมกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ของเด็กในเวลากลางคืนมักจะล่าช้ากว่าการควบคุมในเวลากลางวัน (3) คุณพ่อคุณแม่บางคนจึงชอบใช้กางเกงฝึกในตอนกลางคืน หรือ ใช้เวลาออกไปข้างนอกค่ะ

อีกทั้งคุณพ่อคุณแม่ก็ควรฝึกให้ลูกน้อยได้เรียนรู้การใช้กระโถนเพื่อความปลอดภัยของตัวลูกน้อยด้วยค่ะ การเรียนรู้การใช้กระโถนและการใช้ห้องน้ำก็มีเทคนิคง่าย ๆ ดังต่อไปนี้ค่ะ

เทคนิคการใช้กระโถน และห้องน้ำ

1. พาลูกของคุณไปที่กระโถน

พาลูกของคุณไปที่กระโถนทุกครั้งที่เขาบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าลูกอยากไปหรือส่งสัญญาณว่าเค้าพร้อม การนำกระโถนไปตั้งไว้ในห้องน้ำ เป็นส่วนช่วยที่ดีนะคะ เพราะจะสามารถช่วยให้เขาได้คุ้นเคยกับกิจวัตรประจำวันได้ว่าเมื่อต้องปัสสาวะหรืออุจจาระควรเข้าห้องน้ำค่ะ และคุณพ่อคุณแม่เองก็ควรอยู่กับลูกทุกครั้ง เพราะในช่วงแรก ๆ ที่ทุกอย่างยังใหม่สำหรับลูก ลูกอาจจะกลัวว่าคุณพ่อคุณแม่อาจจะทิ้งเค้าไป หรือ เกิดความไม่มั่นใจที่จะเข้าห้องน้ำตามลำพัง แล้วเมื่อเค้าามีความพร้อมและความมั่นใจที่จะใช้กระโถนหรือเข้าห้องน้ำได้ด้วยตัวเองคนเดียวแล้ว คุณแม่ก็ค่อย ๆ ถอยออกมาได้นะจ๊ะ

2. ฝึกให้เตรียมตัวในเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการทำธุระส่วนตัว

เนื่องจากลูกของคุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มต้องการความเป็นอิสระและอยากช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถให้เขาช่วยคุณแม่ในเรื่องง่าย ๆ ในการใช้ห้องน้ำ เช่น คุณแม่อาจเริ่มต้นด้วยการให้ลูกของคุณแม่ได้ฉีกกระดาษชำระเอง ต่อมาเขาอาจต้องการยืนและดึงกางเกงของตัวเองมากขึ้นซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่คุณแม่ควรฝึกไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ค่ะ

3. ฝึกให้ลูกได้นั่งกระโถนบ่อย ๆ

ลองฝึกให้ลูกได้นั่งกระโถนและใช้ห้องน้ำเป็นประจำเพื่อสร้างให้เป็นกิจวัตรประจำวันมากขึ้น อย่างตอนแม่ฝึกลูก ๆ แม่จะหัดให้เค้านั่งเป็นเวลา เริ่มจากทุก ๆ 1 ชั่วโมง แล้วค่อยเพิ่มเป็น 1ชั่วโมงครึ่ง และ 2 ชั่วโมงตามลำดับ ทำแบบนี้เป็นประจำทุกวัน ก็จะทำให้ลูกมีความคุ้นชินกับการใช้กระโถนและการเข้าห้องน้ำมากขึ้นด้วยค่ะ

4. อย่ากดชักโครก หากลูกของคุณยังไม่เสร็จธุระ

อย่ากดชักโครกในขณะที่ลูกนั่งอยู่บนนั้น เพราะเด็กวัยนี้ยังไม่รู้ว่าตัวเองมีขนาดใหญ่กว่ารูระบายน้ำและอาจจะทำให้กลัวว่าพวกเขาจะพลัดตกลงไปก็เป็นได้ และหากลูกใช้ห้องน้ำทั่วไป คุณพ่อคุณแม่ควรหาที่วางเท้าไว้หน้าโถส้วมเพื่อให้ลูกวางเท้าได้ ซึ่งวิธีนี้ก็จะช่วยในเรื่องของลำไส้เคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้นค่ะ (1)

5. อธิบายถึงวิธีการใช้งานที่ถูกต้อง

อธิบายถึงอุปกรณ์และชิ้นส่วนต่าง ๆ ของกระโถน ว่าสามารถถอดเข้า ถอดออกได้อย่างไร และควรตั้งไว้ในจุดตำแหน่งไหนของเพื่อให้ลูกได้มีความเข้าใจว่านี่คือกระโถนสำหรับขับถ่าย ไม่ใช่ของเล่นนะจ๊ะ รวมไปถึงสายฉีด ขันน้ำ อ่างล้างมือ ที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องให้ความเข้าใจอย่างถูกต้องในการใช้ด้วยค่ะ

เมื่อลูกยอมให้ความร่วมมือแล้ว เกิดการเรียนรู้ในการใช้กระโถนและห้องน้ำได้อย่างมีกระบวนการแล้วล่ะก็ ก็ถือได้ว่าเกิดสัญญาณที่ดีที่การฝึกการเลิกผ้าอ้อม หันมาใช้กระโถนและห้องน้ำแทนจะต้องประสบผลสำเร็จอย่างแน่นอน  คุณพ่อคุณแม่พร้อมแล้วใช่มั้ยล่ะคะ งั้นเราไปเริ่มกันเลยจ้า ….แม่มีเคล็ดลับ ๆ แต่ก็ไม่ลับที่อยากจะมาเล่าสู่กันฟังด้วยล่ะค่ะ ตามไปอ่านกันและสู้ไปด้วยกันกันเลยจ้า!!




เคล็ดลับดี ๆ ที่ทำให้ลูกเลิกผ้าอ้อม และ ฝึกเข้าห้องน้ำ

  1. ใช้คำเพื่อแสดงพฤติกรรมการใช้ห้องน้ำง่าย ๆ เช่นคำว่า “ฉี่” , “อึ” และ “กระโถน”
  2. คุยและนัดแนะกับลูกให้เข้าใจว่า ลูกจำเป็นต้องบอกคุณพ่อคุณแม่ให้ทราบทุกครั้งเมื่อผ้าอ้อมเปียกหรือเปื้อน
  3. ระบุพฤติกรรมให้แน่ชัดว่าลูกจะ “ฉี่” หรือ “อึ” เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่าลูกจะฉี่หรือจะอึกันแน่ค่ะ
  4. เลือกหากระโถนที่ลูกจะได้ฝึกความสามารถในการนั่งได้อย่างมั่นใจและรู้สึกปลอดภัย คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกกระโถนที่มีคุณภาพโดยให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการเลือกก็ได้ค่ะ ในตอนแรก ๆ คุณพ่อคุณแม่อาจจะจับลูกนั่งทั้งกางเกงหรือผ้าอ้อมก่อนก็ได้ เพื่อเป็นการฝึกการเรียนรู้ในการใช้กระโถน และเมื่อลูกมีความพร้อมแล้ว ก็ค่อยถอดกางเกงได้ค่ะ
  5. จัดสรรเวลาเพื่อจะฝึกการเข้าห้องน้ำให้ลูกอย่างเต็มที่ ถ้าคุณพ่อคุณแม่รู้สึกว่าการฝึกลูกเลิกผ้าอ้อมแล้วหันมาใช้กระโถนและห้องน้ำแทนถือเป็นเรื่องที่จะทำเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ต้องทำต่อเนื่องก็ได้นั้น บอกเลยค่ะว่าไม่มีทางสำเร็จผลแน่นอน นอกจากนี้ยังจะทำให้การฝึกล่าช้าออกไปด้วยค่ะ เพราะฉะนั้นจัดเวลาที่เหมาะสมทั้งลูกทั้งคุณพ่อคุณแม่ แล้วมาฝึกฝนลูกอย่างมีวินัยนะคะ
  6. อย่าให้ลูกนั่งกระโถนหรือชักโครกที่ขัดกับความต้องการของลูกนะคะ เพราะเดี๋ยวลูกจะเกิดความกลัวและไม่อยากนั่งกระโถนหรือชักโครกเอาซะดื้อ ๆ ค่ะ เพราะฉะนั้น ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณพ่อคุณแม่ ถามลูกว่ามีความต้องการ “ฉี่” หรือ “อึ” หรือไม่นั้น หากลูกรู้สึกไม่ต้องการแล้วล่ะก็ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเคารพการตัดสินใจของลูกและไม่ควรบังคับนะคะ
  7. เด็ก ๆ วัยนี้จะแสดงพฤติกรรมชอบลอกเลียนแบบเป็นที่สุด เพราะฉะนั้น เคล็ดลับง่าย ๆ ก็คือคุณพ่อคุณแม่ก็แสดงให้ลูกเห็นเลยค่ะว่าการนั่งบนชักโครกควรนั่งอย่างไร วิธีการนั่งที่ถูกต้องเป็นแบบไหน และอธิบายให้ลูกเข้าใจไปเลยค่ะว่าคุณพ่อคุณแม่กำลังทำอะไร เพราะลูกจะเรียนรู้จากการเฝ้าดูและสังเกตจากคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นตัวอย่างนั่นเองค่ะ หรือแม้แต่การเลียนแบบพี่สาวหรือพี่ชายเอง ก็ได้ผลดีเอามาก ๆ เลย เพราะลูกสาวของคุณแม่จะเฝ้าดูทุกครั้งที่แม่พาพี่ชายเข้าห้องน้ำ และจะเกิดความสนใจอยากลองนั่งดูบ้าง อันนี้ได้ผลจริง ๆ ค่ะ…..แม่คอนเฟิร์ม!!
  8. สร้างกิจวัตรที่ดีกับลูกค่ะ ยกตัวอย่างเช่น หลังจากตื่นนอนกลางวันและพบว่าผ้าอ้อมแห้งหรือไม่มีรอยฉี่รด คุณพ่อคุณแม่อาจจะเริ่มต้นด้วยการให้ลูกนั่งบนกระโถนดูนะคะ หรือสักประมาณ 1 ชั่วโมงหลังจากที่ลูกดื่มน้ำมาก ๆ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลนะคะว่า เมื่อตอนนั่งกระโถนทำไมลูกถึงไม่ยอมฉี่ทันที คุณพ่อคุณแม่ก็อาจให้เวลาลูกสัก 2-3 นาที ไม่ควรรีบร้อนให้ลูกลุกขึ้นทันทีหลังจากนั่งไปแค่อึดใจเดียวค่ะ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็อาจหากิจกรรมเต้นรำทำเพลง หรือพูดคุย เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจไม่ให้ลูกลุกจากกระโถนอย่างรวดเร็วนั่นเองค่ะ เพราะเด็กวัยนี้กำลังอยากเล่น อยากทำซน จริงมั้ยล่ะคะ?
  9. ให้ลูกได้นั่งบนกระโถนสักประมาณ 15-30 นาทีหลังมื้ออาหาร อันนี้ก็เพื่อประโยชน์ของตัวลูกเองค่ะ เพราะการที่คุณพ่อคุณแม่ลองฝึกลูกให้นั่งถ่าย สักวันละ 1 ครั้งก็ได้ค่ะ แนวโน้มตามธรรมชาติของร่างกายที่จะมีการเคลื่อนไหวของลำไส้หลังรับประทานอาหาร หรือที่เรียกว่า Gastro-Colic Reflex (3) จะกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่ของลูกเกิดการบีบตัวซึ่งจะช่วยในการขับถ่ายได้ดีเลยล่ะค่ะ (4)
  10. คุณพ่อคุณแม่ลองขอให้ลูกนั่งบนกระโถน หากเห็นแล้วว่าลูกมีพฤติกรรมชัดเจนที่ต้องการจะเข้าห้องน้ำ เช่น การเขย่งเท้าไปมา หรือมีการนั่งยอง ๆ แล้วล่ะก็ คุณพ่อคุณแม่ก็อาจหาวิธีโน้มน้าวเพื่อลองให้ลูกได้นั่งกระโถนดูค่ะ
  11. หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่ถอดยาก ๆ อันนี้ช่วยย่นเวลาให้ลูกได้เยอะเลยจริง ๆ ค่ะ เพราะเด็ก ๆ ไม่ได้มีความสามารถมากพอในการอั้นฉี่หรืออึเหมือนผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเลือกชุดหลวม ๆ หรือเสื้อผ้าที่รัดเป้าก็ถอดง่ายขึ้นจริง ๆ ค่ะ และอีกอย่างลูกในวัยนี้ก็ยังไม่มีความสามารถถอด หรือ สวมใส่เสื้อผ้าได้เองอย่างชำนาญ แต่หากได้กางเกงที่หลวมหน่อย หรือแบบกางเกงยางยืดแบบนี้ก็ช่วยให้ลูกได้หัดฝึกถอดและสวมใส่ได้ง่ายขึ้นด้วยค่ะ
  12. ให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ แก่ลูก อันนี้เป็นวิธีที่ได้ผลมาก ๆ จริง ๆ ค่ะ จนลูกชายและลูกสาวของแม่ช่วงหัดใหม่ ๆ ชวนเข้าห้องน้ำเองโดยไม่มีการขัดขืนเลยค่ะ คุณพ่อคุณแม่ อาจหาสติกเกอร์ลายการ์ตูนที่ลูกชอบเป็นรางวัล อย่างแม่เอง ก็จะมีกล่อง mystery box ที่ข้างในจะใส่ของใช้ต่าง ๆ เช่นแปรงสีฟันลายใหม่ , ยาสีฟันสำหรับเด็ก, ยางมัดผมสีใหม่, สีเทียนหรือสีไม้ต่าง ๆ ให้ลูกเลือก เมื่อเค้าสามารถทำภารกิจในห้องน้ำเสร็จสมบูรณ์ค่ะ 
  13. จัดทำแผนภูมิเพื่อติดตามความสำเร็จ เมื่อลูกดูเหมือนจะเชี่ยวชาญในการใช้ห้องน้ำมากขึ้นจากแผนภูมิการได้ดาวหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็นำลูกเข้าสู่กระบวนการเลือกชุดชั้นในสำหรับเด็กเพื่อสวมใส่ต่อไป
  14. ตรวจสอบและให้แน่ใจว่าผู้ดูแลทุกคนรวมถึงพี่เลี้ยงเด็ก ปู่ ย่า ตา ยาย ปฏิบัติตามกิจวัตรเดิมและใช้ชื่อเดียวกันสำหรับส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและห้องน้ำเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนของลูกในช่วงเริ่มต้น คุณพ่อคุณแม่อาจจะแจ้งและทำการตกลงกับทุกคนให้รู้ว่ามีการจัดการเกี่ยวกับการฝึกเข้าห้องน้ำอย่างไรเพื่อที่ทุกคนจะได้ใช้ในแนวทางเดียวกันค่ะ
  15. ชื่นชมลูกเสมอค่ะถึงความพยายามในการใช้ห้องน้ำทั้งหมด แม้ว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม และจำไว้นะคะว่าอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นเสมอค่ะ คุณพ่อคุณแม่จะต้องเจอการฉี่รดกางเกงใน หรือ อุจจาระใส่เสื้อผ้าแน่นอน สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้คือการสงบสติอารมณ์ ทำใจให้ร่ม ๆ เข้าไว้ค่ะ และสิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรลงโทษหรือแสดงความผิดหวังเมื่อลูกพลาด แต่ให้บอกลูกว่าเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้และให้การสนับสนุน สร้างความมั่นใจให้กับลูกว่าเค้าพร้อมที่จะใช้กระโถนได้แน่นอนเหมือนเด็กโตค่ะ
  16. การให้ลูกเล่นของเล่นขณะนั่งกระโถนอยู่นั้น อาจทำให้ได้เรียนรู้การฝึกการใช้ห้องน้ำได้ไม่เต็มที่นะคะ ถึงแม้คุณพ่อคุณแม่จะต้องการให้ลูกนั่งกระโถนได้เป็นระยะเวลานานขึ้นโดยใช้ของเล่นเป็นตัวเบี่ยงเบนความสนใจ แต่ในขณะเดียวกันค่ะ ของเล่นก็จะเป็นตัวเบี่ยงเบนความสนใจของลูกออกจากการเรียนรู้ในการใช้กระโถนและห้องน้ำค่ะ

เป็นยังไงกันบ้างคะ เคล็ดลับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของการเลิกผ้าอ้อม และฝึกลูกได้ใช้กระโถนและเข้าห้องน้ำแทน คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนที่รู้สึกว่าจะเป็นงานใหญ่ซะแล้ว คงคลายกังวลและข้อสงสัยได้ไม่มากก็น้อยนะคะ เคล็ดไม่ลับต่าง ๆ นี้ คุณพ่อคุณแม่ก็นำไปลองปรับใช้ดูนะคะเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับก้าวต่อไปของลูก แต่สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่ห้ามละเลยเป็นอันขาดในขณะฝึกลูกใช้กระโถนแทนผ้าอ้อม นั่นก็คือ “ความสะอาด” นั่นเองล่ะค่ะ การเทกระโถนลงในชักโครกหลังจากการใช้งานเสร็จทุกครั้ง ล้างกระโถนด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ (แล้วก็อย่าลืมที่จะจัดเก็บอุปกรณ์ทำความสะอาดทั้งหมดให้พ้นมือเด็ก ๆ ด้วยนะคะ) และเช็ดให้แห้งด้วยทิชชูเปียกสำหรับเด็ก, กระดาษเช็ดมือหรือเครื่องเป่ามือ เพราะเด็ก ๆ ที่กำลังเรียนรู้การใช้ห้องน้ำมักจะชอบวางมือบนที่นั่งชักโครกเพื่อรั้งตัวเองได้นั่งในท่าที่ปลอดภัย คุณพ่อคุณแม่ก็ควรสอนให้ลูกล้างมือทุกครั้งหลังการใช้กระโถนและห้องน้ำอย่างถูกสุขลักษณะอนามัย เพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อโรคนั่นเองล่ะค่ะ

References: 

  1. Toilet Training
  2. Potty Training: Learning to the Use the Toilet
  3. Physiology, Gastrocolic Reflex (Gastrocolic Response)
  4. ท้องผูกในเด็ก : ปัญหาที่พบบ่อยแต่ไม่ธรรมดา โดย เสกสิต โอสถากุล พบ., วว. (กุมารเวชศาสตร์) ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
Arrani Benitez

Arrani Benitez

คุณแม่ลูกสอง ผู้รักสุขภาพ และชอบสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกเสมอ ไม่ว่าจะเรื่องของใช้ หรือโภชนาการที่ดี

Next Post