ได้ยินเสียงร้องโวยวายของเจ้าตัวน้อยวัยเตาะแตะอีกแล้วใช่มั้ยคะ? คงมีคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนที่คิดสงสัยอยู่ในใจว่า ทำไม๊ ทำไมนะ? จากเด็กน้อยทารกน่ารักที่ดูจะไม่มีอิทธิฤทธิ์ ไม่มีทีท่าจะแผลงฤทธิ์ อยู่ ๆ ก็มาสร้างความประหลาดใจ เล่นใหญ่เบอร์แรงขนาดนี้ จากเด็กน้อยน่าทะนุถนอม ไหงเลยมากลายเป็นเด็กน้อยที่ดูมีแต่ความเกเร ความเอาแต่ใจ มีเสียงกรีดร้องโวยวาย ได้ยินเสียงกรี๊ดร้องไห้ทีไร คิดว่ากินลำโพงมาสิบตัว อยากจะเรียกร้องความสนใจหน่อยก็ลงไปชักดิ้นชักงอ ชักกระแด่ว กระแด่วอยู่บนพื้น…เห็นพฤติกรรมเหล่านี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่คงหนักใจอยู่ไม่น้อยเลยใช่มั้ยคะ?
ตัวแม่เองก็เจอพฤติกรรมเหล่านี้มาจากลูกชายและลูกสาวที่ทำเอากุมขมับ ส่ายหัว ส่ายหน้า และรู้สึกกังวลใจไม่น้อยเลยทีเดียวเหมือนกันค่ะ ยิ่งช่วงวัยเริ่มเข้า 2 ขวบ ยิ่งเป็นช่วงที่ตัวแม่เองรู้สึกท้อใจในการรับศึกจากเจ้าตัวแสบมากพอสมควร จนถึงต้องโทรปรึกษาคุณหมอเพื่อหากลยุทธ์ในการจัดการกับพฤติกรรมของลูกวัยเตาะแตะกันเลยล่ะค่ะ แต่คุณหมอกลับหัวเราะแม่ เพราะนั่นเป็นเหตุการณ์ปกติของ “Terrible Twos” นั่นเองค่ะ หรือเจ้าตัวน้อยในช่วงวัย 2 ขวบ กลายเป็นเจ้าตัวป่วนออกฤทธิ์ออกเดชนั่นเองค่ะ
Terrible Twos คืออะไร (1,2,3)
สำหรับเด็กบางคนก็ดูเหมือนจะไม่มีพฤติกรรมเหล่านี้ในช่วงวัยทอง 2 ขวบ แต่ในขณะที่เด็กส่วนใหญ่จะตกอยู่ในช่วงของวัยทอง 2 ขวบ หรือ Terrible Twos ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ปกติมาก ๆ ที่เด็กจะต้องผ่านช่วงพฤติกรรมที่เกเรในช่วงอายุ 18 เดือน ถึง 4 ขวบ และช่วงวัยนี้ก็ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเติบโตอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นในเรื่องทางด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมค่ะ จึงทำให้ในช่วงเวลานี้ เด็กวัยเตาะแตะส่วนใหญ่จะพัฒนาความรู้สึกของตนเองในการริเริ่มอยากทำอะไรต่าง ๆ ด้วยตัวเอง และเมื่อความปรารถนา ความต้องการของพวกเขาที่จะทำบางสิ่งบางอย่าง มันไม่ได้สอดคล้องกับความสามารถของพวกเขา จึงทำให้เกิดความไม่พอใจ หรือ รู้สึกขัดใจ เนื่องจากทักษะทางภาษาที่จะขอความช่วยเหลือจากคุณพ่อคุณแม่หรือคนรอบข้างเป็นไปอย่างไม่ราบรื่นนัก ก็ไม่แปลกที่พวกเขาจะแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่ดูไม่สุภาพหรือมีอารมณ์ฉุนเฉียวไปบ้าง
เมื่อเด็กโตขึ้น พวกเขาจะรู้สึกเหมือนว่ามีอิสระมากขึ้น พวกเขาจึงอยากทำอะไรต่อมิอะไรด้วยตนเอง เช่น แต่งตัวด้วยตนเอง อาบน้ำ แปรงฟัน กินข้าวเอง เลือกของเอง เป็นต้น หากพวกเขาหยุดหรือทำอะไรด้วยตนเองไม่ได้แล้วล่ะก็ คุณพ่อคุณแม่ก็เตรียมรับมือต่ออารมณ์ฉุนเฉียวที่เกิดจากการที่พวกเขารู้สึกหงุดหงิดและไม่มีอิสระในการทำอะไรต่าง ๆ ได้เลยค่ะ แล้วอะไรบ้างที่เป็นสาเหตุของอารมณ์ฉุนเฉียวของเด็กวัยนี้
สาเหตุที่เด็กมีอารมณ์ฉุนเฉียว (1)
อารมณ์ฉุนเฉียวอาจเกิดขึ้นเมื่อเด็ก
- เหนื่อย
- หิว
- รู้สึกไม่ได้รับการสนใจ
- กังวลหรือวิตกกังวล
แล้วอารมณ์ฉุนเฉียวของเด็กวัยนี้จะจบเมื่อไหร่ล่ะคะ? ก็เมื่อลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่เริ่มมีการพูดมากขึ้น พวกเขาจะสื่อสารด้วยคำพูด จึงทำให้อารมณ์ฉุนเฉียวของพวกเขาลดลง อีกทั้งยังพบได้น้อยลงมาก ๆ เมื่อเด็กอายุครบ 4 ขวบค่ะ
วันนี้แม่เลยอยากเอาเคล็ดลับดี ๆ ในการรับมือกับลูกน้อยวัยทอง 2 ขวบ ที่แม่เองก็เคยนำมาใช้กับลูก ๆ มาแบ่งปันกันค่ะ แม้ว่าการแก้ไขสำหรับพฤติกรรมของเด็กในวัยนี้อาจไม่ได้เป็นแบบรวดเร็วทันใจ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถนำเคล็ดลับและขั้นตอนต่าง ๆ ไปลองปรับใช้เพื่อจะรับมืได้มีวิธีรับมือกับพฤติกรรมของลูกน้อยให้เป็นไปอย่างราบรื่นขึ้น หรือคุณพ่อคุณแม่คนไหนที่มีลูกในวัยจะเข้าสู่ Terrible Twos อันใกล้นี้ ก็สามารถนำเอาเคล็ดลับเหล่านี้ มาเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับลูกน้อยในอนาคตก็ได้นะคะ
เคล็ดลับในการรับมือกับ Terrible Twos (1)
1. ต้องแน่ใจว่าลูกพักผ่อนเพียงพอ
ปล่อยให้พวกเขาได้งีบหลับเท่าที่พวกเขาต้องการ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องพยายามวางแผนโดยเฉพาะตารางการออกนอกสถานที่หรือทำธุระเป็นเวลาอื่นที่ไม่อยู่ในช่วงเวลางีบหลับของลูก เพราะเมื่อลูกนอนหลับน้อยหรือไม่เพียงพอ พวกเขาก็อาจจะรู้สึกหงุดหงิดและงอแงได้ค่ะ
2. ลูกควรกินอาหารตรงเวลา
ทำตารางเวลากับมื้ออาหาร อย่างตัวแม่เอง แม่จะทำตารางเวลาอาหารเช้า เที่ยง และเย็นเป็นกิจวัตรทุกวันตั้งแต่ 1 ขวบ การวางแผนออกนอกสถานที่ นัดพบหมอ หรือต้องออกไปทำธุระต่าง ๆ จึงเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะลูกจะไม่รู้สึกหิว แต่หากจำเป็นต้องเดินทางระยะไกล คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะมีของว่างและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพเพื่อให้ลูกน้อยได้รองท้องในขณะอยู่นอกสถานที่ เพราะความหิวมากเกินไปก็อาจเป็นสาเหตุที่จะทำให้พวกเขาโมโห อารมณ์ฉุนเฉียว และเกรี้ยวกราด เหมือนนิทานกล่องข้าวน้อยฆ่าแม่ยังไงยังงั้นเลยทีเดียวค่า สำหรับลูกบ้านไหนที่ทานยากเรามีบทความดี ๆ เกี่ยวกับเมนูอาหารสำหรับเด็กที่กินยากและเมนูอาหารวางสุขภาพสำหรับเด็กมาฝากกันค่ะ

3. อธิบายกิจกรรมที่จะต้องทำให้ลูกฟังก่อนเสมอ
พูดคุยกับลูกไว้ล่วงหน้าเลยค่ะ ว่าเราจะไปทำอะไร เที่ยวที่ไหน ไปกินร้านอาหารข้างนอกกันอย่างไร เหมือนเป็นข้อตกลงกันระหว่างคุณและลูก เพื่อลดสิ่งกระตุ้นและสาเหตุของพฤติกรรมฉุนเฉียวที่อาจเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น แม่เองจะบอกลูก ๆ เสมอว่าเมื่ออยากจะไปรับประทานอาหารข้างนอก ก็ควรนั่งทานให้เรียบร้อย ไม่ควรเดินไปเดินมา ไม่อย่างนั้นแล้ว ลูกก็อาจจะไม่ได้ไปรับประทานอาหารร้านโปรดของพวกเขาอีก พูดจาด้วยเหตุผลนะคะ ไม่ใช่เป็นการขู่ ให้พวกเขารับรู้ถึงเหตุและผลที่จะตามมา ซึ่งหากลูกอยากรับประทานเมนูโปรดที่ร้านนั้น ลูกจะรู้ว่าต้องนั่งทานให้เรียบร้อยและไม่วิ่งเล่นซุกซนในร้านอาหารค่ะ
4. อย่าแลกเปลี่ยนพฤติกรรมฉุนเฉียวด้วยสิ่งที่ลูกต้องการ
การให้ขนม ลูกอม ของเล่น หรืออะไรก็ตามที่พวกเขาต้องการมัน เพราะนั่นจะทำให้การจัดการกับพฤติกรรมของลูกจะยากขึ้นในครั้งต่อไป การหลีกเลี่ยงอารมณ์ฉุนเฉียวในระยะยาวคือการยืนหยัดและไม่ใจอ่อนกับลูกค่ะ…แม่เตือนแล้วนะคะ อิอิ
5. หากิจกรรมสร้างสรรค์ให้ลูกทำเสมอ
ลูกก็รู้สึกเบื่อได้ค่ะ คุณพ่อคุณแม่สามาระแก้เบื่อลูกได้ด้วยการพยายามหาวิธีการที่สร้างสรรค์และเป็นที่ยอมรับของสังคมแทนที่จะล้อเลียนลูกที่แสดงท่าทีเบื่อหน่าย เช่น หากคุณต้องไปทำธุระหรือติดต่อธุรกรรมอะไรนาน ๆ ลูกอาจจะรู้สึกเบื่อที่พวกเขาต้องรอเป็นเวลานาน ๆ ไม่ได้วิ่งเล่นหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ สักที…เคล็ดลับที่แม่ใช้กับลูก ๆ คือการพกหนังสือเล่มโปรดของพวกเขาไปอ่าน หรือกระดานวาดรูป ก็เป็นวิธีแก้เบื่อให้พวกเขาได้ค่ะ

6. พ่อแม่ควรมีความสม่ำเสมอและใจเย็นไว้
การอยู่บ้านเป็นที่ที่ดีที่สุดที่จะปล่อยให้ลูกของคุณได้ปล่อยอารมณ์ฉุนเฉียวของพวกเขาออกมา แต่หากอยู่ในที่สาธารณะก็ให้นำลูกออกจากสถานการณ์นั้นโดยเร็วที่สุด หากลูกของคุณระเบิดอารมณ์ออกมาเมื่อไหร่ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำคือ หายใจเข้าลึก ๆ นับ 1-100 ก็ว่ากันไป แล้วตอบสนองต่อพฤติกรรมของพวกเขาอย่างสงบ ประณีประนอมบ้าง แต่อย่ายอมตามความต้องการของพวกเขานะคะ
7. อธิบายพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูก
เมื่อลูกของคุณประพฤติตัวไม่เหมาะสม อธิบายให้ลูกรู้ค่ะว่าเหตุใดพฤติกรรมเหล่านั้นจึงไม่เป็นที่น่าพอใจ แทนที่จะให้คำอธิบายที่ยืดยาวซึ่งลูกของคุณอาจไม่สามารถเข้าใจได้ ให้คุณพ่อคุณแม่ลองพยายามบ่ายเบี่ยงความสนใจไม่ว่าจะเป็นทางคำพูดหรือท่าทาง เพื่อช่วยให้พวกเขาได้จดจ่อกับสิ่งอื่นแทน เช่น อาจจะชี้ให้ดูนกดูไม้ ชวนลูกร้องเล่นเต้นรำกับเพลงที่พวกเขาโปรดปราน หรือ แม้แต่การทำเสียงสัตว์ หมู หมา เป็ด ช้าง ก็ช่วยให้พวกเขาไม่แสดงพฤติกรรมฉุนเฉียวออกมาให้เห็น ถือเป็นการสกัดดาวรุ่ง ก่อนพุ่งแรง ได้ดีทีเดียวค่ะ

เป็นไงบ้างคะ กับเคล็ดลับละลายพฤติกรรมฉุนเฉียวของเจ้าตัวน้อย แม่ยังมีวิธีการเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สามารถป้องกันอารมณ์ฉุนเฉียวที่จะเกิดขึ้นซึ่งจะกล่าวในหัวข้อถัดไป
วิธีป้องกันอารมณ์ฉุนเฉียว ของลูกวัย 2-3 ขวบ (1)
- คุณพ่อคุณแม่ลองอ่านนิทาน หรือ เรื่องราวสมมุติที่ทำให้ลูกสามารถเข้าใจถึงเหตุและผลที่จะเกิดขึ้นเช่น อาจจะตั้งชื่อ มีตัวละคร บทบาทสมมุติว่า ถ้าเด็กชายขนมปังอยากได้ของเล่น ก็ควรจะมีการขอดี ๆ ไม่ใช่เอะอะก็ร้องโวยวายจะเอาของเล่นท่าเดียว เพราะนอกจากการร้องไห้โวยวายจะไม่ได้มาซึ่งของเล่นที่ต้องการแล้ว ยังทำให้เด็กชายขนมปังรู้สึกไม่มีความสุขในสถานการณ์ตอนนั้นอีกด้วย นี่เป็นตัวอย่างที่แม่สมมุติตอนเจรจาเรื่องของเล่นกับลูก โดยการใช้ตัวละคร อิโมจิต่าง ๆ ซึ่งก็ช่วยอธิบายให้พวกเขาเข้าใจมากขึ้น และทำให้ฉุกคิดได้ว่า การจะได้มาซึ่งของเล่น อาจไม่ต้องใช้วิธีโวยวายเสมอไป เป็นต้นค่ะ
- ยกย่องความประพฤติดี เมื่อใดก็ตามที่ลูกของคุณทำสิ่งที่ดีควรตอบแทนพวกเขาด้วยการชมเชยและความเอาใจใส่
- ให้ลูกได้มีส่วนในกิจกรรมนั้น ๆ การเสนอตัวเลือกเสื้อผ้าหรือผลไม้ที่พวกเขากิน จะทำให้พวกเขารู้สึกว่ามีอิสระมากขึ้น พฤติกรรมการโวยวายก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลง
- คุณพ่อคุณแม่พยายาม Say Yes ให้มากขึ้น เมื่อลูกต้องการบางสิ่งบางอย่าง อย่าพูดแค่ No No No เสมอไป ไม่ใช่ว่าการ Say Yes จะหมายถึงการตามใจลูกนะคะ แต่ก็เพื่อไม่ให้คุณปิดโอกาสความอิสระของพวกเขามากจนเกินไป ซึ่งจะนำมาด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั่นเองค่ะ
- เข้าใจความต้องการของลูก หากพวกเขาเหนื่อยล้า ก็อย่าพาพวกเขาไปที่ร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่ ๆ ให้ลูกได้งีบเมื่อพวกเขาอ่อนล้า หรือหากพวกเขาหิว ก็หาอะไรรองท้องให้พวกเขาก่อนค่ะ แม่เองจะมีของว่างติดกระเป๋าไว้ให้ลูก ๆ เสมอ เพราะความเหนื่อยและความหิวเป็นตัวกระตุ้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเลยล่ะค่ะ
- ให้พื้นที่และเวลากับลูกของคุณ หากในบางครั้ง ลูกต้องการระบายความโกรธออกไปโดยอยู่ในขอบเขตบ้างในบางครั้ง คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถปล่อยให้พวกเขาโกรธได้ ด้วยวิธีนี้พวกเขาสามารถดึงความรู้สึกที่อัดอั้นนั้นออกมา และควบคุมตนเองได้โดยไม่ต้องนำมาสู่พฤติกรรมฉุนเฉียวได้ค่ะ
วัยทอง 2 ขวบ หรือ Terrible Two ถือเป็นช่วงปกติของวัยก็จริง แต่การรับมือกับอารมณ์และพฤติกรรมเหล่านั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยใช่มั้ยคะ? คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าลืมนำเคล็ดลับดี ๆ ที่เอามาฝากกันในวันนี้ ไปลองหาสาเหตุและหาวิธีการรับมือกับลูกน้อยกันดูนะคะ ถึงแม้ว่าในบางครั้งสถานการณ์ ณ ตอนนั้นจะทำให้คุณพ่อคุณแม่และลูก สูญเสียความอดทนซึ่งกันและกันไปบ้าง สิ่งสำคัญคือ พยายามสงบสติอารมณ์ เมื่อลูกของคุณเริ่มแสดงอาการฉุนเฉียว แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณพ่อคุณแม่รู้สึกเป็นกังวลว่าลูกมีความต่อต้านและไม่ให้ความร่วมมือกับคุณเอาซะเลย จนลามไปถึงการทำร้ายตนเองและผู้อื่น ก็ควรปรึกษาและพูดคุยกับแพทย์ประตัวของลูก เพราะอารมณ์ฉุนเฉียวนี้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกค่ะทั้งนี้ทั้งนั้น แม่เชื่ออย่างยิ่งค่ะว่า คุณพ่อคุณแม่คือคนที่รู้จักลูกดีที่สุด และคุณจะสามารถรับมือกับลูกน้อยได้เสมอ ไม่ว่าจะเหตุการณ์ไหน สถานการณ์ไหน และวัยไหน คุณก็จะข้ามผ่านมันไปได้อย่างแน่นอนค่ะ…แม่คอนเฟิร์ม!!
References
- Temper tantrums in toddlers: How to keep the peace
- A three-center, randomized, controlled trial of individualized developmental care for very low birth weight preterm infants: medical, neurodevelopmental, parenting, and caregiving effects
- Temper Tantrums in Healthy Versus Depressed and Disruptive Preschoolers: Defining Tantrum Behaviors Associated with Clinical Problems