ขนมจีน คงจะเป็นเมนูโปรดของใครหลาย ๆ คนใช่มั้ยล่ะค่ะ ส่วนเรานี่ต้องบอกเลยว่าชอบม๊ากกกกกก ก.ไก่ล้านตัว เราชอบทานขนมจีนถึงขั้นที่สามารถทานได้ทุกวันไม่มีเบื่อ ปกติทานข้าวไม่เคยเติมแต่ถ้าเป็นขนมจีนเมื่อไหร่นี่เติมไม่ต่ำกว่าสามรอบเลยค่ะ อิอิ ส่วนเหตุผลที่เราชอบทานขนมจีนก็เพราะเราชอบทานอาหารเส้นอยู่แล้ว และการทานขนมจีนก็ทำให้เราทานผักได้เยอะขึ้นและยังมีผักแปลก ๆ ให้ได้ลองทานบ่อย ๆ อีกด้วยค่ะ
นอกจากจะทานขนมจีนเส้นสดแล้วเรายังมีเส้นขนมจีนอบแห้งติดบ้านไว้อีกด้วยค่ะ เอาจริง ๆ แล้วสะดวกมากนะคะเพราะจะเอามาทานคู่กับส้มตำก็อร่อย จะทำเป็นยำขนมจีนก็สะดวก หรือวันไหนอยากทานขนมจีนแต่ขี้เกียจจะออกจากบ้านก็แค่ทำน้ำยาง่าย ๆ แค่นั้นเองค่ะ ไหน ๆ ก็พูดถึงน้ำยาขนมจีนแล้วบทความนี้เราเลยรวบรวมเอาสูตรวิธีทำน้ำยาขนมจีนมาฝากค่ะ ใครชอบทานขนมจีนเหมือนเรานี่ห้ามพลาดเลยน้าาา เพราะเหนือ ใต้ ออก ตก มีมาให้ครบจบในบทความเดียวเลยค่ะ
สูตรน้ำยาขนมจีน
1. น้ำยาแกงเผ็ดใต้

ขออนุญาตเริ่มต้นด้วยน้ำยาสุดโปรดอย่างแกงเผ็ดใต้ค่ะ ใครชอบความเผ็ดร้อนต้องถูกใจสูตรนี้แน่นอน ตัวน้ำจะมีส่วนผสมของเนื้อปลาที่โขลกรวมกับพริกแกงจนละเอียด มีความเข้มข้น หอมกลิ่นพริกแกงและใบมะกรูดอ่อน ๆ สามารถทานได้ 2 วิธีคือคนน้ำแกงให้เนื้อปลากระจายตัวจนทั่วก่อนตักราด ส่วนเราจะชอบทานอีกแบบคือรอจนเนื้อปลาตกตะกอนแล้วตักเอาเฉพาะน้ำใส ๆ มาราดขนมจีนค่ะ ถึงจะดูใส ๆ แต่รสชาติเผ็ดร้อนถึงใจมาก ๆ
วัตถุดิบน้ำยาแกงเผ็ดใต้
- ปลาทู
- ใบมะกรูด
- พริกแกงเผ็ดละเอียด
- พริกไทยป่น
- น้ำปลา
- น้ำตาล
- กะปิ
- น้ำเปล่า
วิธีทำน้ำยาแกงเผ็ดใต้
- ขั้นตอนที่ 1 : ต้มหรือนึ่งปลาให้สุกก่อนเลยค่ะ สำหรับปลาเราจะเลือกใช้แบบไหนก็ได้แต่แนะนำเป็นปลาเนื้ออ่อนจะดีกว่าปลาเนื้อแข็ง ปลาสุกดีแล้วนำมาแกะเอาเฉพาะเนื้อเตรียมไว้ ลอกหนังและเอาก้างออกให้หมดเลยนะคะ
- ขั้นตอนที่ 2 : โขลกเนื้อปลาจนขึ้นฟูพอประมาณแล้วนำพริกแกงและกะปิลงโขลกรวมกันจนได้เนื้อเนียนเข้ากันดีเลยค่ะ ตักใส่หม้อ เติมน้ำเปล่า น้ำขึ้นตั้งไฟกลางจนเดือด ฉีกใบมะกรูดและพริกไทยป่นลงไปเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม ปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำตาลเล็กน้อย รอจนเดือดอีกครั้งถึงจะปิดเตาแล้วจัดเสิร์ฟ
2. น้ำยากะทิสูตรทางใต้

น้ำากะทิเป็นน้ำยาขนมจีนยอดนิยมเลยก็ว่าได้ค่ะ จริง ๆ แล้ววิธีทำน้ำยากะทิกับน้ำแกงเผ็ดนี่จะคล้ายกันมาก ๆ ต่างกันตรงที่น้ำยากะทิจะมีรสชาติเผ็ดละมุนกว่าเนื่องจากได้ความมันของกะทิเข้ามาตัดรสพริกแกง น้ำแกงจะมีความเข้มข้นและไม่เป็นตะกอนก้นหม้อ ส่วนรสชาติควรจะมีความเผ็ดเค็มแล้วตามด้วยรสหวานอ่อน ๆ จะช่วยให้น้ำแกงมีความกลมกล่อมมากขึ้นและไม่มีรสโดดหรือจัดจ้านจนเกินไปค่ะ
วัตถุดิบน้ำยากะทิ
- เนื้อปลา
- ใบมะกรูด
- ตะไคร้
- พริกแกงน้ำยา
- น้ำตาลมะพร้าว
- น้ำปลา
- กะปิ
- กะทิ
วิธีทำน้ำยากะทิ
- ขั้นตอนที่ 1 : ต้มปลาให้สุกแล้วแกะเอาเฉพาะเนื้อมาโขลกรวมกับพริกแกงและกะปิจนได้เนื้อเนียนแล้วพักไว้ก่อนค่ะ หันมาต้มหางกะทิให้เดือดแล้วนำพริกแกงที่โขลกไว้ก่อนหน้าลงละลายให้เข้ากันดี จากนั้นตามด้วยตะไคร้และใบ้มะกรูด
- ขั้นตอนที่ 2 : น้ำแกงเดือดดีแล้วเราจะตามด้วยหัวกะทิ ปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำตาลเล็กน้อย ต้มต่อจนน้ำแกงเดือดและมีความเข้มข้นตามชอบ ยกลงจัดเสิร์ฟได้เลยค่ะ
3. น้ำยาป่าตีนไก่

มีขนมจีนแต่ไม่มีน้ำยาป่ามันก็ยังไง ๆ อยู่ใช่ไหมคะ โดยเฉพาะน้ำยาป่าตีนไก่นี่เป็นอะไรที่แซ่บม๊ากกกกกก น้ำแกงจะมีความเข้มข้นของเนื้อปลา มีผักหวาน ๆ นิ่ม ๆ ให้ทาน ส่วนตีนไก่นี่ต้มมาแบบเปื่อยจนแทบจะไม่ต้องออกแรงเคี้ยวเลยค่ะ เมนูนี้แนะนำให้ปรุงรสแบบเผ็ดเค็มนำจะอร่อยมาก ยิ่งใส่ปลาร้าก็ยิ่งหอมและอร่อยกลมกล่อม ใครสนใจสามารถตามไปกดสูตรกันได้ที่บทความ เมนูจากตีนไก่ : น้ำยาป่า
4. แกงไตปลา

นอกจากจะทานกับข้าวสวยแล้วคนใต้ยังชอบทานแกงไตปลากับขนมจีนอีกด้วยค่ะ ใครยังไม่เคยลองนี่ต้องรีบจัดแบบด่วนจี๋ ตัวน้ำแกงไตปลาจะมีความเข้มข้นจัดจ้านค่ะ รสชาติเผ็ดเค็มและหอมกลิ่นไตปลาแบบจัดจ้าน นำมาทานกับเส้นขนมจีนที่มีความนุ่มหนึบพร้อมเหนาะผักสดนี่เข้ากันมาก ๆ เมนูนี้ต้องทานคู่กับผักต้มกะทิจะช่วยลดความเผ็ดของแกงไตปลาได้ดีเลยค่ะ
วัตถุดิบแกงไตปลา
- ปลาซาบะ
- ตะไคร้
- ใบมะกรูด
- หน่อไม้
- ฟักทอง
- มะเขือพวง
- พริกแกงไตปลา
- กะปิ
- ไตปลา
- น้ำตาล
- น้ำเปล่า
วิธีทำแกงไตปลา
- ขั้นตอนที่ 1 : เราจะมาเตรียมวัตถุดิบกันก่อนค่ะ เริ่มจากหั่นฟักทอง, หน่อไม้ และเด็ดมะเขือพวงแช่น้ำเกลือเตรียมไว้ จากนั้นแกะเอาเฉพาะเนื้อปลามาฉีกเป็นชิ้นพอดีทาน เสร็จแล้วต้มไตปลากับตะไคร้และใบมะกรูดจนเดือดได้ที่ วิธีนี้จะเป็นการลดกลิ่นคาวของไตปลาค่ะ กรองเอาเฉพาะน้ำไตปลาเก็บไว้
- ขั้นตอนที่ 2 : นำน้ำไตปลาที่ได้มาตั้งไฟกลาง เติมน้ำเปล่าปริมาณตามชอบแล้วตามด้วยพริกแกงและกะปิ ต้มต่อจนเดือดแล้วนำผักแข็งอย่างฟักทองและหน่อไม้ลงต้มจนสุกดี จากนั้นค่อยตามด้วยมะเขือพวงและปลาซาบะ ใส่ใบมะกรูดเพิ่มลงไปอีกหน่อยเพื่อดับคาวปลา ปรุงรสด้วยน้ำตาลเล็กน้อย ทุกอย่างสุกดีแล้วปิดเตาตักเสิร์ฟได้เลยค่ะ
5. แกงเขียวหวาน

กับข้าวอีกหนึ่งเมนูที่เข้ากับขนมจีนก็คือแกงเขียวหวานค่ะ เมนูนี้น่าจะเป็นเมนูโปรดของใครหลาย ๆ คนเลย แกงเขียวหวานแบบข้น ๆ ใส่ไก่และเลือดชิ้นใหญ่ ๆ พร้อมมะเขือเปราะและใบโหระพาหอม ๆ แค่คิดก็อยากทานขึ้นมาแล้วใช่มั้ยคะ ยิ่งถ้าปรุงให้มีความเค็มหวานนำนี่บอกเลยว่าต้องมีเติมแน่นอน ใครอยากทำเมนูนี้สามารถจดสูตรได้ที่บทความ เมนูแกงกะทิ : แกงเขียวหวาน ได้เลยค่ะแค่เปลี่ยนจากเนื้อวัวมาเป็นเนื้อไก่เท่านั้นเอง
6. น้ำยาถั่ว
น้ำยาถั่วหรือน้ำแกงหวานเป็นเมนูที่เด็กทานได้ผู้ใหญ่ทานดีค่ะ ถึงจะเป็นน้ำแกงแต่เมนูนี้กลับมีรสชาติหวานนำ ได้ความมัน ๆ กรุบ ๆ จากถั่วลิสงและกะทิ ได้ความเปรี้ยวอ่อน ๆ พอสดชื่น ส่วนรสเผ็ดนี่แทบจะไม่มีเลยค่ะถึงสีของน้ำแกงจะดูจัดจ้านมากก็ตาม ใครชอบทานขนมจีนแต่ไม่ชอบทานรสเผ็ดต้องลองน้ำแกงสูตรนี้เลยน๊าาาา
วัตถุดิบน้ำยาถั่ว
- ถั่วลิสงคั่ว
- หอมแดง
- พริกแห้งเม็ดใหญ่
- ส้มแขก
- น้ำตาลทราย
- เกลือ
- น้ำมะขามเปียก
- กะทิ
- น้ำมันพืช
วิธีทำน้ำยาถั่ว
- ขั้นตอนที่ 1 : เราจะซอยหอมแดงก่อนค่ะ จากนั้นคั่วพริกแห้งจนหอมแล้วนำไปโขลกให้ได้เนื้อละเอียด ส่วนหอมแดงเราจะนำมาเจียวจนมีสีเหลืองทอง เทน้ำมันออกเล็กน้อยแล้วนำหัวกะทิลงเคี่ยวกับหอมเจียวจนแตกมัน ปรุงรสด้วยน้ำตาลและส้มแขก จากนั้นเติมหางกะทิลงไปแล้วเคี่ยวต่อจนเข้ากัน
- ขั้นตอนที่ 2 : ระหว่างรอน้ำแกงเดือดเราจะนำถั่วลิสงไปบดหยาบให้พอแตก จากนั้นเทลงในหม้อน้ำแกงตามด้วยพริกที่โขลกไว้ ปรุงรสด้วยเกลือและน้ำมะขามเปียกอีกเล็กน้อย เคี่ยวต่อจนน้ำแกงข้นเป็นที่พอใจแล้วปิดเตาตักเสิร์ฟได้เลยค่ะ
7. แกงปูใบชะพลู

แกงปูใบชะพลูก็เป็นอีกหนึ่งเมนูที่ได้รับความนิยมไม่แพ้ใครเลยค่ะ จุดเด่นของเมนูนี้จะอยู่น้ำแกงหอมมันและเนื้อปูชิ้นใหญ่ ๆ หวาน ๆ ได้กลิ่นหอมใบชะพูเข้ามาช่วยเพิ่มความอยากอาหาร ยิ่งได้เป็นปูม้าสดนี่ยิ่งฟินค่ะ นอกจากจะอร่อยแล้วเมนูนี้ยังทำง่ายอีกด้วยนะคะเพราะมีวิธีการทำคล้ายกับน้ำยากะทิเลย เพื่อน ๆ สามารดูวิธทำเมนูนี้ได้ที่บทความ เมนูแกงกะทิ : แกงปูใบชะพลู
8. แกงป่าปลากระป๋อง
อยากกินน้ำยาป่าแต่หาเนื้อปลาสดไม่ได้เราขอแนะนำสูตรนี้เลยค่ะ แกงป่าปลากระป๋องเป็นเมนูที่ทำง่ายมาก ๆ ใช้เวลาไม่ถึง 20 นาทีก็ได้ทานแล้ว น้ำแกงจะมีความเข้มข้นของเนื้อและน้ำปลากระป๋อง เราจะปรุงให้มีกลิ่นหอมของกระชายและผักเพื่อไม่ให้กลิ่นปลากระป๋องเด่นจนเกินไป ส่วนรสชาติปรุงให้มีรสเผ็ดเค็มเป็นหลักค่ะ
วัตถุดิบแกงป่าปลากระป๋อง
- ปลากระป๋อง
- ลูกชิ้นปลา
- ต้นหอม
- ผักชีลาว
- กระชาย
- พริกแกงเผ็ด
- น้ำตาล
- น้ำปลา
- น้ำปลาร้า
- น้ำเปล่า
วิธีทำแกงป่าปลากระป๋อง
ขั้นตอนที่ 1 : เราจะแยกเอาเฉพาะเนื้อปลากระป๋องออกมาก่อนค่ะ จากนั้นนำเนื้อปลามาโขลกรวมกับพริกแกงและกระชายให้เข้ากัน เทใส่หม้อแล้วตามด้วยน้ำเปล่า, น้ำปลากระป๋อง และน้ำปลาร้า นำขึ้นตั้งเตาจนเดือดใส่ลูกชิ้นปลา จากนั้นปรุงรสด้วยน้ำปลาและน้ำตาลเล็กน้อย ปิดท้ายด้วยการหั่นต้นหอมและผักชีลาว กดให้จมแล้วปิดเตาตักเสิร์ฟได้เลยจ้า
9. น้ำเงี้ยว

ปิดท้ายกันด้วยน้ำแกงขนมจีนแบบภาคเหนืออย่างน้ำเงี้ยวค่ะ ใครไปถึงภาคเหนือแล้วไม่ได้ทานเมนูนี้นี่ถือว่าพลาดมากเลยน้าาา น้ำเงี้ยวจะต่างจากน้ำยาสูตรอื่น ๆ ตรงที่ตัวน้ำแกงจะมีความเข้มข้น ได้หมูมาเป็นชิ้น ๆ รสชาติเผ็ด เปรี้ยว หวาน ส่วนใหญ่แล้วคนภาคเหนือมักจะทานคู่กับผักกาดดองและถั่วงอกค่ะ ใครอยากลองทำจดสูตรกันได้ที่บทความ สูตรอาหารเหนือ : ขนมจีนน้ำเงี้ยว
ทั้งหมดนี้ก็คือน้ำยาขนมจีนทั้ง 9 สูตรที่เรานำมาฝากในบทความนี้ค่ะ เป็นอย่างไรบ้างคะ มีน้ำแกงสูตรไหนถูกใจเพื่อน ๆ บ้างเอ่ยย? เอาจริง ๆ แล้วขนมจีนเองก็เป็นเมนูที่มีความหลากหลายและมีน้ำแกงให้เลือกทานเยอะเหมือนกันนะคะเนี่ย เพื่อน ๆ คนไหนกำลังเบื่อการทานขนมจีนแบบเดิม ๆ ก็สามารถลองเลือกเมนูที่เราแนะนำไปในบทความนี้มาลองทำดูได้น้าาา รับรองว่าจะต้องอร่อยถูกใจและกลายเป็นเมนูโปรดเมนูใหม่ของเพื่อน ๆ แน่นอนค่ะ