สวัสดีค่ะเพื่อน ๆ กลับมาพบกันอีกแล้วกับบทความแนะนำเมนูอาหารดี ๆ จาก bestreview.asia หลังจากที่หลาย ๆ บทความก่อนหน้าเราได้ชวนเพื่อน ๆ ทำขนมทานเล่นกันไปแล้วต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นบราวนี่, เค้ก, คุกกี้, เมอแรงค์, พายข้าวโพด, มัฟฟิน, บลูเบอร์รีชีสพาย, คัสตาร์ด หรือจะเป็นขนมญี่ปุ่นอย่างโดรายากิและดังโงะ จะว่าไปแล้วเราก็ทำขนมกันมาเยอะเหมือนกันนะคะเนี่ย แต่วันนี้ทุกอย่างจะต่างออกไปเพราะเราจะกลับมาห่มสไบและเข้าครัวปรุงขนมไทยรสเลิศทานกันค่ะ สำหรับเพื่อน ๆ ที่ชื่นชอบอาหารไทยจะต้องถูกใจบทความนี้เป็นพิเศษแน่นอนเลย
สำหรับขนมไทยก็เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่โด่งดังไปทั่วโลกและยังสะท้อนถึงความเป็นไทยอยู่ในทุกอณูที่ใครได้ทานก็ต้องหลงรัก ด้วยความที่ขนมไทยจะมีสีสันสวยงาม ผ่านกระบวนการทำขนมที่ประณีตอ่อนช้อยสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของคนทำ ขนมส่วนใหญ่จะมีรสชาติหวานเย็นชื่นใจช่วยดับความร้อนและลดกระหายได้เป็นอย่างดีค่ะ นอกจากความอร่อยแล้วขนมไทยยังมีอีกหนึ่งเอกลักษณ์คือการใช้น้ำลอยดอกมะลิหรือดอกกระดังงาที่มีกลิ่นหอมสดชื่น ช่วยเพิ่มความอร่อยของขนมได้เป็นอย่างดีและช่วยกลบกลิ่นของวัตถุดิบบางชนิดได้อีกด้วย และขนมที่เรานำมาฝากเพื่อน ๆ ในวันนี้มีตั้งแต่ประเภทที่สามารถทำได้ง่าย ๆ และพบเห็นได้ทั่วไปไปจนถึงขนมมงคลโบราณเลยค่ะ ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลยดีกว่า
“ท้าวทองกีบม้า” คือใคร? เกี่ยวอะไรกับขนมไทย?
ท้าวทองกีบม้า หรือ มารี กีมาร์ เป็นหญิงต่างชาติชาวโปรตุเกสที่มีชื่อเสียงสมัยอยุธยาค่ะ หากใครเคยดูละครเรื่องบุพเพสันนิวาสจะต้องรู้จักกันแน่นอน ย้อนไปในสมัยอยุธยาตอนปลาย นางมารี กีมาร์ได้แต่งงานกับคอนสแตนติน ฟอลคอน ขุนนางชาวกรีกคนหนึ่ง ซึ่งหลังจากแต่งงานแล้วนางมารี กีมาร์ได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าห้องเครื่องต้นวิเสท (ครัวอาหารหวาน) และได้รับตำแหน่ง “ท้าวทองกีบม้า” ขณะที่ทำงานเป็นหัวหน้าห้องเครื่องนางมารี กีมาร์ก็ได้นำขนมโปรตุเกสหลากหลายชนิดมาดัดแปลงโดยใช้วัตถุดิบที่สามารถหาได้ง่ายในเมืองไทย รวมทั้งประดิษฐ์ขนมขึ้นมามากมายจนเป็นที่ชื่นชอบมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง, ขนมหม้อแกง, ขนมสัมปันนี, ขนมผิง, ลูกชุบ หรือขนมทองม้วน เป็นต้น ถือได้ว่าท้าวทองกีบม้าเป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่ทำให้ขนมไทยมีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมมากในสมัยนั้น และเรามักจะนึกถึงเธออยู่เสมอเมื่อพูดถึงขนมไทยค่ะ
สูตร เมนูขนมไทย
เมื่อเกริ่นถึงความเป็นมาของขนองไทยดัง ๆ ไปพอสมควรแล้ว เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่าจะมีขนมไทยเมนูไหนที่คุณสามารถทำตามง่าย ๆ บ้าง? ซึ่งรายการต่อไปนี้ในบางเมนูนั้นก็ไม่ได้เป็นเมนูจากท้าวทองกีบม้าทั้งหมดนะคะ เพราะเราจะพยายามนำเสนอเมนูขนมไทยที่หลากหลาย ทั้งแบบสวยงาม, แบบเน้นทานอร่อย, แบบทำง่าย/หาวัตถุดิบง่าย และแบบสามารถถนอมอาหารได้ด้วย ซึ่งจะมีเมนูอะไรบ้างมาดูกันค่ะ
1. กล้วยไข่เชื่อม

เริ่มต้นกันที่เมนูง่าย ๆ อย่างกล้วยไข่เชื่อม ซึ่งการนำผลไม้มาเชื่อมก็เป็นวิธีการถนอมอาหารอย่างชาญฉลาดของคนไทยค่ะ กล้วยหนึ่งเครือมีเยอะจนทานไม่ทัน จะปล่อยเอาไว้ให้เน่าก็เสียดาย เลือกเก็บหวีที่สุกแขวนไว้ทาน ส่วนหวีที่ยังห่าม ๆ กับจับมาปอกเปลือกแล้วเชื่อมให้ความหวานซึมเข้าเนื้อกล้วยเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา กล้วยที่โดนเคลือบด้วยน้ำเชื่อมก็จะอ่อนนุ่มจนแทบไม่ต้องออกแรงเคี้ยว รสหวานละมุนของน้ำเชื่อมแผ่ซ่านไปทั่วทั้งปาก แต่จะทานกล้วยเชื่อมอย่างเดียวก็กลัวจะแสบคอ เคี่ยวกะทิและเกลือเล็กน้อยให้ออกเค็มปะแล่ม ๆ แล้วใส่ใบเตยเพิ่มกลิ่นหอม นำมาทานคู่กันช่วยตัดรสหวานและเสริมให้เมนูนี้อร่อยลงตัว
วัตถุดิบกล้วยไข่เชื่อม
- กล้วยไข่ห่าม
- ใบเตย
- เกลือป่น
- น้ำตาลโตนด
- น้ำตาลทรายขาว
- กะทิ / กะทิกล่องสำเร็จรูป
- น้ำสะอาด
วิธีทำเชื่อมกล้วยไข่
ก่อนอื่นเราจะต้องเตรียมน้ำเชื่อมกันก่อน เริ่มจากมัดใบเตย 2 ใบใส่ลงในหม้อที่จะใช้เชื่อม ตามด้วยน้ำตาลทรายและน้ำตาลโตนด และน้ำสะอาด จากนั้นนำไปตั้งไฟกลางค่อนอ่อน เคี่ยวไปเรื่อย ๆ จนน้ำตาลละลายและใบเตยส่งกลิ่นหอม ปิดเตา ตักใบเตยออกและพักไว้ให้หายร้อน หันมาเตรียมน้ำใส่ภาชนะที่จะแช่กล้วย ใส่เกลือลงไปประมาณครึ่งช้อน จากนั้นปอกกล้วย ลอกเอาเส้นออกให้หมดแล้วแช่น้ำเกลือทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที
ครบเวลาแล้วนำน้ำเชื่อมขึ้นตั้งเตาอีกครั้ง เปิดไฟกลางค่อนแรงจนน้ำเชื่อมเดือดแล้วใส่กล้วยลงไปในหม้อ น้ำเชื่อมจะต้องท่วมกล้วยนะคะ คนเบา ๆ ให้กล้วยโดนความร้อนและโดนน้ำเชื่อมจนทั่ว จากนั้นปรับเตาเป็นไฟกลางค่อนอ่อนแล้วเชื่อมไปเรื่อย ๆ จนกล้วยอ่อนนุ่มและใสขึ้น ระหว่างเชื่อมคอยกดเบา ๆ ให้กล้วยจมน้ำเชื่อมจนทั่ว ปิดเตาแล้วยกลงมาพักให้หายร้อน
ตั้งหม้ออีกหนึ่งใบ ใส่กะทิลงไปแล้วเปิดไฟกลางค่อนอ่อน มัดใบเตยใส่ลงไปสัก 2 ใบ ปรุงรสด้วยเกลือให้ออกเค็มอ่อน ๆ คนให้เกลือละลายและน้ำกะทิใกล้จะเดือดปิดไฟทันที นำลงมาพักไว้ จากนั้นตักกล้วยใส่ถ้วยแล้วราดน้ำกะทิลงไปตามชอบ พร้อมเสิร์ฟ
2. ทับทิมกรอบ

ถัดมาเป็นเมนูทับทิมกรอบที่ทั้งหน้าตาสวยงามและมีรสชาติอร่อยจับใจ เมนูนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ความกรอบของแห้วและสีสันจากธรรมชาติอย่างดอกอัญชันและใบเตย โดยจะได้เป็นสีฟ้าและสีเขียวของทับทิมกรอบจะตัดกับน้ำกะทิสีขาวนวล เพิ่มความเย็นสดชื่นด้วยน้ำแข็งบด ในส่วนของรสชาติจะมีรสหวานเย็นชื่นใจผสมผสานกับรสชาติเค็มอ่อน ๆ ของน้ำกะทิและหอมกลิ่นควันเทียนอบอวลอยู่ในปาก เป็นอีกหนึ่งเมนูคลายร้อนที่เหมาะกับเมืองไทยมาก ๆ ค่ะ
หมายเหตุ : ทั้งนี้เพื่อน ๆ สามารถใช้สีจากน้ำหวานในการทำทับทิมกรอบก็ได้เช่นกันนะคะ อย่างสีแดงและสีเขียวก็ใช้น้ำหวานเฮลบลูบอยเป็นตัวช่วนในการเพิ่มสีสันที่สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
วัตถุดิบทับทิมกรอบ
- แห้วดิบปอกเปลือก (เพื่อน ๆ ที่หาซื้อแห้วไม่ได้สามารถเปลี่ยนเป็นแอปเปิ้ลได้ค่ะ)
- น้ำดอกอัญชันเข้มข้น
- น้ำใบเตยเข้มข้น
- น้ำหวานเฮลบลูบอย สีต่าง ๆ
- แป้งมันสำปะหลัง
- เกลือป่น
- กะทิอบควันเทียน
- น้ำสะอาด
- น้ำเชื่อม
- น้ำแข็ง
วิธีทำทับทิมกรอบ
เริ่มกันเลยค่ะ ก่อนอื่นเราจะเทน้ำสะอาดลงในหม้อแล้วนำขึ้นตั้งไฟจนเดือด ระหว่างรอน้ำเดือดก็หยิบแห้วมาหั่นให้เป็นชิ้นขนาดตามต้องการ แบ่งใส่ถ้วยแยกไว้เพื่อย้อมสี นำน้ำใบเตย, น้ำอัญชัน และน้ำหวานสีแดง ลงคลุกแห้วที่แยกไว้และคลุกเคล้าจนแห้วติดสีจนทั่ว หลังจากแห้วติดสีดีแล้วนำแป้งมันลงคลุกจนเคลือบแห้วมิดเลยค่ะ ใส่ลงไปเยอะ ๆ ได้เลย

เตรียมแห้วเสร็จน้ำก็เดือดได้ที่พอดี นำแห้วใส่ตะแกรงแล้วร่อนเอาแห้งส่วนเกินออกสักหน่อย จากนั้นนำลงต้มในน้ำเดือดจัด รอสักครู่หนึ่งแล้วค่อยใช้ทัพพีคนให้แห้วแยกตัวออกจากกัน ให้หมั่นสังเกตแห้วที่ลอยขึ้นมาจะมีสีใสขึ้นแปลว่าสุกแล้ว ตักทับทิมกรอบออกมาแช่ในน้ำเชื่อมเพื่อหยุดความร้อน น้ำเชื่อมไม่ต้องเข้มข้นมากนะคะ
หลังจากตักออกมาจนหมดแล้วหันมาเทน้ำกะทิใส่หม้อ ใส่เกลือลงไปเล็กน้อย ใส่น้ำเชื่อมลงไปอีกหน่อยแล้วคนผสมให้เกลือละลาย นำขึ้นตั้งไฟให้พอร้อนแล้วยกลง จากนั้นตักทับทิมกรอบใส่ภาชนะ ราดด้วยน้ำกะทิและปิดท้ายด้วยน้ำแข็ง เสร็จเรียบร้อยพร้อมรับประทาน
3. ตะโก้เผือก / ตะโก้ข้าวโพด

อีกหนึ่งเมนูขนมไทยรสชาติอร่อยกลมกล่อมที่มีการผสมผสานระหว่างตัวตะโก้หวาน ๆ และหน้ากะทิเด้ง ๆ เค็ม ๆ ซึ่งเมนูนี้ค่อนข้างจะเป็นที่นิยมและเป็นขนมไทยที่สามารถหาทานได้ง่ายในปัจจุบันค่ะ ส่วนใหญ่แล้วตะโก้จะมีลักษณะเป็นชิ้นเล็ก ๆ ขนาดพอดีคำ นิยมห่อด้วยกระทงใบตองหรือใบเตยสานที่ช่วยให้ขนมมีกลิ่นหอมมากขึ้น ส่วนไส้ด้านในสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามใจชอบ ไม่ว่าจะเป็นเผือก, สาคู, หัวมัน หรือแห้ว ก็ได้ค่ะ
วัตถุดิบตะโก้ข้าวโพด
- ข้าวโพดและเผือกต้มสุก
- แป้งข้าวเจ้า
- แป้งท้าวยายม่อม
- น้ำใบเตย
- ใบเตยสำหรับทำภาชนะใส่ขนม
- น้ำตาลมะพร้าว
- น้ำตาลทราย
- เกลือ
- น้ำสะอาด
- กะทิ
วิธีทำตะโก้ข้าวโพด
ก่อนอื่นเราจะต้องเตรียมใบเตยสำหรับทำภาชนะใส่ขนมตะโก้ก่อนค่ะเราจะเรียกว่า “กระทงใส่ขนมตะโก้” นะคะ เริ่มจากนำใบเตยไปล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย ต่อมาก็เช็ดให้แห้งและนำใบเตยมาพับให้เป็นทรงสีเหลี่ยม จากนั้นใช้ที่เย็บกระดาษเย็บให้กระทงเป็นทรงติดกัน (เพื่อน ๆ อาจจะไม่ต้องเย็บเป็นทรงสี่เหลี่ยมที่สวยงามก็ได้นะคะ หากเพื่อน ๆ ยังไม่มีทักษะมากพอ เราแนะนำให้เพื่อน ๆ ใช้ใบตองทำเป็นกระทงทรงง่าย ๆ ก็ได้เช่นกันค่ะ) จากนั้นให้นำกระทงทั้งหมดมาวางเรียงใส่ถาดขนาดใหญ่ไว้นะคะ เพราะเวลาตักแป้งและหน้ากะทิใส่กระทงจะได้ไม่หกเลอะเทอะนั่นเองค่ะ

ผสมแป้งข้าวเจ้าและแป้งท้าวยายม่อม (ในส่วนของแป้งท้าวยายม่อมจะใส่น้อยกว่าแป้งข้าวโพดประมาณครึ่งหนึ่งนะคะ) เพิ่มความหวานด้วยน้ำตาลทรายและน้ำตาลโตนด เติมเกลือตัดรสชาติเล็กน้อย ใส่น้ำสะอาดลงไปพอประมาณ และตามด้วยน้ำใบเตยเพิ่มสีสันให้ขนม นำส่วนผสมทั้งหมดใส่ในกระทะทองเหลือง (กระทะทองเหลืองจะผัดง่ายกว่าทำให้ขนมไม่ติดกระทะค่ะ) นำขึ้นตั้งเตาเปิดไฟอ่อนแล้วเคี่ยวเลยค่ะ เคี่ยวไปเรื่อย ๆ ให้น้ำตาลและส่วนผสมทั้งหมดละลายเข้ากันดี

ขั้นตอนนี้จะต้องเคี่ยวตลอดเวลาจนกว่าส่วนผสมจะสุกและเหนียวขึ้นนะคะ และในระหว่างนั้นให้เพื่อน ๆ ใส่เผือกต้มตามลงไปผัดในเนื้อแป้ง เพื่อที่เวลาทานแล้วจะได้รสสัมผัสการเคี้ยวหลากหลายรวมถึงให้ขนมมีกลิ่นหอมจากเผือกด้วยค่ะ ผัดให้เนื้อแป้งและเผือกเข้ากันดี แต่อย่าผัดแป้งให้เผือกของเราเละเกินไปนะคะ พยายามควบคุมให้เผือกยังคงเป็นรูปทรงชิ้น ๆ อยู่ให้มากที่สุดค่ะ
เมื่อแป้งสุกดีแล้วจะมีสีใสขึ้น ให้เพื่อน ๆ ปิดเตาแล้วตักขนมใส่กระทงที่เตรียมไว้ได้เลยค่ะ โดยระหว่างที่หยอดขนมนั้น จะต้องเหลือพื้นที่ไว้สำหรับใส่หน้ากะทิไว้ด้วยนะคะ แนะนำให้หยอดลงไปสักประมาณ ¾ ของตัวกระทง และเหลือ ¼ ไว้สำหรับใส่หน้ากะทิค่ะ ระหว่างที่ตักแป้งใส่กระทงนั้นอาจจะเหนียวและลำบากหน่อยนะคะ ไม่ต้องตกใจไปหากพบว่ารูปทรงมันไม่สวยได้ดั่งใจ เพราะเพื่อน ๆ สามารถใช้หน้ากระทิเป็นตัวปกปิดความไม่สวยเหล่านี้ได้ค่ะ

เมื่อหยอดขนมจนครบแล้วต่อมาเราจะทำหน้ากะทิกันต่อ ให้เพื่อน ๆ ใส่น้ำกะทิลงในกระทะทองเหลืองเช่นเดิม จากนั้นเติมน้ำตาลทรายเพิ่มความหวาน เติมเกลือตัดรส และใส่แป้งมันลงไปพอประมาณเพื่อทำให้น้ำกะทิข้นขึ้น นำหม้อขึ้นตั้งบนเตาแล้วเคี่ยวไปเรื่อย ๆ จนกว่าน้ำตาลจะละลายและส่วนผสมข้นเหนียวขึ้นเช่นกันค่ะ ระหว่างที่เคี่ยวกะทินั้นแนะนำให้ใช้ตะกร้อมือจะช่วยทำให้การเคี่ยวสะดวกและง่ายยิ่งขึ้นมากค่ะ

เมื่อได้หน้ากะทิเป็นที่พอใจแล้ว ให้นำมาหยอดใส่ขนมตะโก้ในส่วนที่เราเหลือไว้ จากนั้นตกแต่งด้วยเผือกหรือข้าวโพดตามใจชอบ พักทิ้งให้เย็นแล้วนำมารับประทาน (หากเพื่อน ๆ พอจะมีเวลาว่างสักหน่อย เพื่อน ๆ อาจตกแต่งหน้าขนมตะโก้เป็นดอกไม้ก็ได้นะคะ โดยจะใช้ตัวเผือกเป็นเกสรและข้าวโพดเป็นกลีบดอกไม้นั่นเองค่ะ เป็นการสร้างมูลค่าให้แก่ขนมมากยิ่งขึ้น)
4. ขนมชั้นดอกกุหลาบ

ขนมชั้นก็เป็นอีกหนึ่งขนมไทยที่หลาย ๆ คนรู้จักและเคยรับประทานกันมาบ้างแล้ว ซึ่งความโดดเด่นของขนมชนิดนี้จะอยู่ที่ลักษณะของแป้งที่ซ้อนเรียงสลับสีเป็นชั้นอย่างสวยงามพร้อมกลิ่นหอม ๆ และรสชาติหวานเบา ๆ มาพร้อมกับเนื้อสัมผัสนุ่ม เด้ง ละมุนลิ้น แต่ขนมชั้นชิ้นสี่เหลี่ยมมันค่อนข้างที่จะธรรมดามากไปหน่อยค่ะ วันนี้เราจะมาเพิ่มความสวยงามและมูลค่าของขนมชั้นด้วยการนำขนมมาพับเป็นรูปดอกกุหลาบสีแดงแสนสวย หรือเพื่อน ๆ คนไหนไม่ชอบสีแดงจะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีฟ้าก็สวยเหมือนกันนะคะ
วัตถุดิบขนมชั้นดอกกุหลาบ
- แป้งข้าวเจ้า
- แป้งมัน
- แป้งท้าวยายม่อม
- น้ำตาลทราย
- เกลือ
- กะทิ
- น้ำแดงเข้มข้น
วิธีทำขนมชั้นดอกกุหลาบ
มาเตรียมน้ำกะทิกันก่อนค่ะ เทกะทิใส่หม้อ เติมน้ำตาลลงไปตามชอบ ใครชอบหวานมากหรือหวานน้อยก็ใส่ได้เลยค่ะ เติมเกลือตัดรสชาติเล็กน้อยแล้วเปิดเตาไฟกลางค่อนอ่อน คนไปเรื่อย ๆ จนน้ำตาลละลายดีแล้วปิดเตาพักไว้ก่อนค่ะ หันมาเทแป้งข้าวเจ้า, แป้งมัน และแป้งท้าวยายม่อมลงในภาชนะ จากนั้นเทน้ำกะทิที่เราทำไว้ลงไปตอนร้อน ๆ เลยค่ะ ค่อย ๆ เทและคนแป้งไปพร้อม ๆ กันนะคะเพื่อป้องกันไม่ให้แป้งเกาะติดกันเป็นก้อน ใส่น้ำกะทิลงไปจนกระทั่งได้แป้งเหลว ๆ เลยค่ะ คราวนี้คนแป้งไปเรื่อย ๆ จนแน่ใจว่าแป้งละลายเข้ากับน้ำกะทิดีและไม่มีเม็ดแป้งเล็ก ๆ แบ่งแป้งออกเป็นสองถ้วยแล้วใส่น้ำแดงลงในถ้วยหนึ่งใบ คนผสมให้เข้ากัน (หากทำหลายสี เพื่อน ๆ ก็ต้องแยกเป็นถ้วยเล็ก ๆ หลาย ๆ สีเลย ตามรูปเลยค่ะ)

หันมาตั้งหม้อนึ่งให้พร้อม จากนั้นนึ่งถาดเปล่าประมาณ 1 – 2 นาทีค่ะ เสร็จแล้วเปิดฝาแล้วหยอดแป้งลงไปเลยค่ะ อยากหยอดสีอะไรก่อนก็เลือกได้ตามความชอบเลย ไม่ต้องหยอดหนามากนะคะ พยายามเกลี่ยให้แป้งเรียบเนียนทั่วทั้งพิมพ์ดอกกุหลาบแล้วปิดฝา นึ่งต่อประมาณ 3 – 5 นาทีค่ะ ครบเวลาแล้วเปิดฝาโดยระวังไม่ให้น้ำหยดโดนขนมนะคะ จากนั้นนำแป้งอีกหนึ่งสีหยอดลงในพิมพ์ดอกกุหลาบ เกลี่ยให้เรียบเนียนแล้วปิดฝานึ่ง 3 – 5 นาที ทำสลับกันไปเรื่อย ๆ จนหมด ชั้นสุดท้ายหนึ่งขนมไว้ 8 นาทีเพื่อให้แน่ใจว่าขนมสุกดีค่ะ

ครบเวลาแล้ว เพื่อน ๆ จะเห็นว่าแป้งนั้นสุกและเปลี่ยนเป้นสีขุ่นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด จากนั้นให้นำพิมพ์ดอกกุหลาบหรือถาดออกมาพักให้หายร้อน สำหรับพิมพ์ดอกกุหลาบสามารถแกะขนมออกมาได้เลย แต่วันนี้เราจะทำขนมชั้นกุหลาบ ดังนั้นเราจะตัดขนมในถาดให้เป็นเส้นหนาประมาณหนึ่งนิ้ว จากนั้นลอกขนมออกจากชั้นแล้วม้วนและพับให้เป็นรูปดอกกุหลาบ วางบนภาชนะแล้วจัดเสิร์ฟได้เลยค่ะ
หมายเหตุ : สำหรับเพื่อน ๆ ที่ทำดอกกุหลาบเอง แนะนำเมื่อทำเสร็จแล้วให้ใส่ในถ้วยพลาสติกใสทรงกลมขนาดเล็กไว้นะคะ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวดอกกุหลาบของเราคืนสภาพนั้นเองค่ะ
5. ขนมลูกชุบ

หลายคนคงจะเคยทานลูกชุบกันมาบ้างแล้ว ซึ่งเจ้าขนมชนิดนี้เนี่ยจะมีความแตกต่างจากขนมไทยชนิดอื่นค่อนข้างมากค่ะ เพราะลูกชุบนั้นมีลักษณะหลากหลายขึ้นอยู่กับคนปั้นแถมยังมีสีสันสวยงามซึ่งแตกต่างจากขนมไทยชนิดอื่นที่มักจะมีรูปทรงตายตัวและเป็นสีอ่อน ๆ แต่เพื่อน ๆ ทราบไหมคะว่าลูกชุบที่เพื่อน ๆ ชอบทานกันเนี่ยใช้วัตถุดิบน้อยและมีวิธีการทำที่ง่ายมาก ๆ เลยค่ะ เพียงแค่เตรียมในส่วนของถั่วเขียวกวน วุ้น และสีผสมอาหาร หลังจากนั้นก็ต้องใช้ความสามารถทางด้านศิลปะของเพื่อน ๆ ล้วน ๆ เลย ใครอยากปั้นเป็นรูปอะไรก็จัดไปอย่าให้เสีย ลงสีให้เสร็จเรียบร้อยแล้วชุบวุ้นให้สีสดและเงางาม แค่นี้ลูกชุบก็พร้อมทานแล้วค่ะ ทั้งอร่อยและสนุกสุด ๆ ไปเลย
วัตถุดิบลูกชุบ
- ถั่วเขียวเลาะเปลือก
- แป้งข้าวเหนียว
- น้ำตาลทราย
- ผงวุ้น
- กะทิ
- สีผสมอาหาร
- น้ำสะอาด
วิธีทำลูกชุบ
นำถั่วเขียวมาล้างทำความสะอาดและแช่น้ำทิ้งไว้หนึ่งคืนเพื่อปล่อยให้ถั่วได้ดูดน้ำและนิ่มลงค่ะ จากนั้นนำถั่วที่พองนิ่มแล้วมานึ่งจนถั่วสุกนุ่มดีแล้วนำถั่วออกมาพักให้หายร้อนค่ะ ถั่วเย็นดีแล้วนำถั่วและกะทิมาปั่นรวมกันจนทั้งถั่วและกะทิเนียนเข้ากันดี เทส่วนผสมลงในกระทะแล้วเติมแป้งข้าวเหนียวและน้ำตาลลงไปตามระดับความหวานที่ต้องการเลยค่ะ
จากนั้นนำกระทะขึ้นตั้งบนเตาเปิดไฟอ่อน ๆ แล้วกวนส่วนผสมทั้งหมดในกระทะเนียนเป็นเนื้อเดียวกันและแห้งขึ้น ต้องกวนไปในทิศทางเดียวกันและกวนจนกระทั่งถั่วแห้งจนปั้นเป็นก้อนได้แล้วก็ปิดเตาแล้วนำส่วนผสมออกมาเกลี่ยในถาดและพักจนหายร้อนค่ะ ถั่วเย็นดีแล้วนำแป้งมาปั้นเป็นแท่งยาวขนาดเท่า ๆ กัน จากนั้นแบ่งแป้งมาปั้นเป็นรูปทรงต่าง ๆ ตามต้องการเลยค่ะ อย่าลืมล้างมือก่อนปั้นด้วยนะคะ

หลังจากได้รูปทรงที่สวยงามจนพอใจแล้วนำไม้จิ้มฟันหรือไม้เสียบลูกชิ้นขนาดเล็ก ๆ เอาไว้เพื่อความสะดวกในการตกแต่งค่ะ ปั้นแป้งจนหมดแล้วหยิบสีผสมอาหารมาแต่งแต้มตกแต่งตัวแป้งที่ปั้นไว้ได้เลย หลังจากนั้นเราจะนำผงวุ้นมาผสมกับน้ำและใส่น้ำตาลเพิ่มรสชาติเข้าไปอีกนิด นำขึ้นเตาแล้วต้มจนเดือด จากนั้นนำวุ้นอุ่น ๆ มาเทใส่ภาชนะทรงสูงแล้วนำแป้งที่ปั้นไว้ลงชุบวุ้นให้ทั่ว นำขึ้นมาแล้วทำตัวต่อไปเรื่อย ๆ หลังจากนั้นทำซ้ำอีก 2 รอบเพื่อเพิ่มความเด้งและความอร่อยค่ะ รอจนวุ้นชั้นสุดท้ายเย็นสนิทแล้วนำไม้จิ้มฟันออก ตัดแต่งให้สวยงามแล้วจัดเสิร์ฟได้เลยค่ะ

หมายเหตุ : เพื่อน ๆ สามารถเปลี่ยนขนมลูกชุบธรรมดา ๆ ให้เป็นขนมวุ้นหน้าลูกชุบ (2in1) ก็ได้เช่นกันนะคะ เพราะขนมทั้งสองชนิดนี้ สามารถทานเข้ากันได้อย่างลงตัวจริง ๆ ทั้งหอมหวานและสดชื้นสุด ๆ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ตัวขนมให้ดูน่าทานมากยิ่งขึ้นอีกด้วยนะคะ (อย่าลืมไปหาใบไม้สวย ๆ มาตกแต่งด้วยนะคะ และอย่าลืมล้างทำความสะอาดใบไม้เหล่านั้นก่อนนำมาใช้ด้วยเช่นกันค่ะ)
6. ขนมกลีบลำดวน

บางคนอาจจะเคยทานขนมชนิดนี้อาจจะยังไม่ทราบว่าเจ้าขนมดอกไม้หน้าตาน่ารักนี้มีชื่อเรียกว่าขนมกลีบลำดวน ซึ่งที่มาของชื่อก็มาจากลักษณะหน้าตาของขนมที่มีความคล้ายคลึงกับดอกลำดวนนั่นเองค่ะ แถมทั้งขนมและดอกไม้จริงก็มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เหมือนกันเลย เมนูนี้เป็นอีกหนึ่งเมนูที่ทำง่ายและเก็บไว้ได้นาน ส่วนผสมหลักมีแค่แป้งสาลี น้ำตาล และน้ำมันพืชแค่นั้นเองค่ะ นำผสมทั้งหมดมานวดให้เนียนเป็นเนื้อเดียวกันแล้วนำเข้าเตาอบ ใช้เวลาไม่นานขนมกลีบลำดวนก็กรอบนุ่มชวนรับประทาน แต่ยังไม่หมดแค่นี้นะคะเพราะเราจะนำขนมไปอบด้วยเทียนอบขนมต่อจนความหอมของเทียนแทรกซึมเข้าไปอยู่ในทุกอณูของเนื้อขนม กัดเข้าไปกลิ่นจะกระจายอบอวลอยู่ในปากผสมผสานไปกับความนุ่มและรสชาติหวานอ่อน ๆ ของตัวขนมได้เป็นอย่างดี
วัตถุดิบขนมกลีบลำดวน
- แป้งสาลีเอนกประสงค์
- น้ำตาลไอซิ่ง
- เกลือป่น
- น้ำมันพืช
วิธีทำขนมกลีบลำดวน
ก่อนอื่นเราจะนำแป้งและน้ำตาลไอซิ่งมาร่อนผ่านตะแกรงประมาณ 2 – 3 รอบ ให้ส่วนผสมเข้ากันและเนื้อแป้งเนียนละเอียด ตัดรสชาติด้วยเกลือป่นเล็กน้อย ไม่ต้องใส่เกลือเยอะมากนะคะยิ่งนำเกลือไปปั่นให้ละเอียดก่อนก็ยิ่งดีค่ะจะได้ไม่มีรสเค็มเป็นจุด ๆ จากนั้นค่อย ๆ ใส่น้ำมันลงไปทีละน้อย ๆ แล้วนวดผสมแป้งไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งแป้งและน้ำมันเนียนเข้ากันดีและแป้งสามารถปั้นเป็นก้อนได้ ยิ่งใช้เวลานวดน้อยเท่าไหร่ขนมก็จะยิ่งนุ่มมากขึ้นเท่านั้นนะคะ หรือใครอยากเพิ่มสีสันก็ใส่สีผสมอาหารลงไปในขั้นตอนนี้ได้เลยค่ะ
ได้แป้งมาแล้วเราก็จะนำแป้งมาปั้นให้เป็นก้อนกลมขนาดเท่า ๆ กัน ตอนอบจะได้สุกพร้อมกัน อยากได้ดอกเล็กหรือใหญ่ก็สามารถปั้นแป้งได้ตามชอบเลยค่ะ จากนั้นใช้มีดผ่าก้อนกลม ๆ ออกเป็นสี่ส่วน หยิบเอาแป้งหนึ่งส่วนมาปั้นเป็นก้อนกลม หยิบแป้งสามส่วนที่เหลือวางลงในถาดที่รองด้วยกระดาษไขในลักษณะคล้ายกลีบดอกไม้ พยายามวางให้ปลายด้านหนึ่งติดกันนะคะ เสร็จแล้วนำก้อนที่แบ่งมาปั้นวางลงไปตรงกลางคล้ายเกสรดอกไม้ค่ะ ทำไปเรื่อย ๆ จนหมด
ได้ดอกลำดวนมาแล้วเราจะมาอบดอกไม้กันค่ะ นำถาดขนมเข้าเตาอบในอุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส เปิดไฟบน – ล่าง ใช้เวลาประมาณ 15 – 20 นาที ครบเวลาแล้วพักขนมในเตาอบต่ออีก 10 นาทีแล้วนำออกมาพักนอกเตาอบจนเย็นสนิท หลังจากขนมเย็นสนิทแล้วเราจะหยิบขนมออกมาเรียงในหม้อ เว้นที่ว่างไว้ตรงกลางด้วยนะคะ เรียงขนมเสร็จแล้วเราจะวางถ้วยใบเล็ก ๆ ลงไปตามด้วยเทียนอบขนม จากนั้นจุดเทียนแล้วปิดฝาให้สนิทเลยค่ะ ต้องปิดฝาให้สนิทนะคะ เมื่อไม่มีอากาศเทียนจะดับอัตโนมัติและปล่อยควันออกมา และควันเหล่านั้นจะถูกดูดซับเข้าไปในเนื้อขนมทำให้ขนมมีกลิ่นหอม การอบเทียนจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงและควรจะอบเทียนซ้ำ 2 – 3 รอบเพื่อความหอมค่ะ หลังจากอบเทียนครบแล้วสามารถนำออกมาใส่ภาชนะรับประทานได้เลย
7. อาลัวกุหลาบ

จากกระแสฮือฮาของขนมอาลัวในโซเชียลทำให้ขนมอาลัวที่เกือบจะถูกลืมไปแล้วกลับมามีชีวิตอีกครั้งและมันก็ทำให้เราอยากจะลองลิ้มรสชาติที่เคยเลือนหายไปจากความทรงจำอีกครั้งหนึ่ง ส่งผลให้วันนี้เราได้ไปค้นหาสูตรและวิธีการทำขนมอาลัวและพบว่าขนมหน้าตาสวยงามชนิดนี้ใช้วัตถุดิบน้อยและวิธีการทำที่ไม่ยุ่งยากเลยสักนิด แน่นอนว่าหญิงไทยใจงามอย่างเราจะมัวรอช้าไม่ได้รีบลงมือกวนแป้งจนสุกใสและดัดแปลงขนมอาลัวรูปทรงธรรมดา ๆ ให้เป็นรูปดอกกุหลาบที่ดูอ่อนช้อยสวยงาม กลีบดอกแต่ละกลีบได้ถูกบรรจงบีบออกมาอย่างประณีต แต่งแต้มสีสันให้ดูน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นจึงนำขนมไปอบเป็นเวลาหลายชั่วโมงเพื่อให้ตัวขนมมีสัมผัสกรอบนอกนุ่มในพร้อมกับรสชาติหวานละมุนลิ้น
วัตถุดิบอาลัวกุหลาบ
- แป้งสาลีเอนกประสงค์
- น้ำตาลทราย
- กะทิ
- นมสด
- สีผสมอาหาร
วิธีทำอาลัวกุหลาบ
ผสมแป้งสาลีและน้ำตาลเข้าด้วยกัน ลดเพิ่มความหวานได้ตามชอบเลยค่ะ คนจนน้ำตาลและแป้งเข้ากันดีแล้วค่อย ๆ ทยอยใส่กะทิและนมสดลงไปทีละน้อย ๆ แล้วคนให้เข้ากันจนน้ำตาลละลายดีและแป้งไม่จับเป็นก้อน แป้งจะต้องเหลวเป็นน้ำหน่อยนะคะ หลังจากส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดีแล้วกรองแป้งด้วยกระชอนแล้วเทลงในกระทะ แนะนำให้ใช้กระทะแบบ non – stick เพราะขนมจะไม่เละติดกระทะค่ะ นำกระทะขึ้นตั้งบนเตา เปิดไฟอ่อน ๆ แล้วกวนแป้งไปเรื่อย ๆ แป้งจะเริ่มใสและเหนียวมากขึ้น ช่วงแรก ๆ แป้งจะเหนียวและดูไม่ค่อยสวยงามสักเท่าไหร่ แต่หลังจากกวนจนแป้งสุกได้ที่แล้วแป้งจะเริ่มกวนง่ายมากขึ้น ช่วงที่แป้งจะเริ่มสุกให้เร่งเวลาในการกวนแป้งด้วยนะคะ หากเพื่อน ๆ กวนช้าเกินไปอาจจะทำให้แป้งไหม้ได้ เมื่อแป้งเพียงเล็กน้อย ก็จะทำตัวขนมมีกลิ่นไหม้ทั้งหมดเลยค่ะ

หลังจากกวนแป้งได้ที่แล้วปิดเตา คนให้หลายความร้อนเล็กน้อยแล้วแบ่งแป้งออกมาผสมสีตามชอบ คนให้สีเนียนไปกับเนื้อแป้งแล้วตักใส่ถุงบีบ เตรียมร่มแต่งหน้าเค้ก โดยให้ตัดกระดาษไขชิ้นสี่เหลี่ยมพอดีกับขนาดดอกไม้วางบนร่มแต่งหน้าเค้กก่อนนะคะ เพื่อกันไม่ให้ดอกกุหลาบเคลื่อนตัวหลุดมือ

จากนั้นใช้หัวบีบรูปกลีบกุหลาบบีบแป้งให้เป็นฐานเกสรก้อนกลม ๆ ก่อนนะคะ และก็ค่อย ๆ ทำกลีบกุหลาบตูมก่อน โดยการทำให้กลีบชิดกับเกสรให้มากที่สุด และจากนั้นก็ค่อย ๆ ส่งกลีบกุหลาบบานเป็นกลีบบาง ๆ ซึ่งการทำกลีบบานนั้นจะยากสักหน่อยนะคะ ระหว่างที่บีบให้เพื่อน ๆ ทำเป็นคลื่น ๆ และตอนจะจบแต่ละกลีบให้เพื่อน ๆ หมุนข้อมือออก หรือทำอย่างไรก็ได้ให้ปลายกลีบกุหลาบมันม้วนเล็กน้อยค่ะ (เพื่อความสวยงามและสมจริง) เมื่อได้ดอกกุหลาบขนาดที่ต้องการแล้วให้ใช้หัวบีบอีกอันที่เป็นหัวสำหรับทำใบไม้แต่งเติมที่ดอกกุหลาบเพื่อความสวยงาม โดยให้เพื่อน ๆ ย้ำที่ตัวใบ้ไม้สัก 2-3 ครั้งแล้วปล่อยออกเบา ๆ เป็นแนวตรง จะได้ใบ้ไม้ที่ดูอ่อนช้อยสมจริงมากยิ่งขึ้นค่ะ

เมื่อได้ตัวดอกกุหลาบแล้วให้ใช้ไม้พายพลาสติกที่แบน ๆ แซะฐานกุหลาบอย่างเบามือ แล้วปาดตัวดอกกุหลาบลงในถาดอบขนม โดยให้นำเข้าเตาอบด้วยอุณหภูมิ 50 – 60 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 5 – 6 ชั่วโมงก็สามารถนำออกมารับประทานได้ค่ะ หรือหากเพื่อน ๆ อยากได้ความหอมที่เป็นอาลัวสมัยก่อน ก็ให้นำไปตากแดดสัก 1-2 แดด ก็ได้ค่ะ (ซึ่งความสวยงามมันไม่เหมือนแบบอบนะคะ แต่จะอร่อยกว่าแบบอบแน่นอนค่ะ)
8. ทองหยิบ

ถัดมาก็จะเป็นในส่วนของขนมมงคลโบราณที่เป็นที่นิยมตั้งแต่อดีตขนถึงปัจจุบันกันบ้างค่ะ ขนมทองหยิบมักจะใช้ในงานมงคลต่าง ๆ เพราะเป็นตัวแทนถึงความร่ำรวย หยิบจับอะไรก็จะเป็นเงินเป็นทองไปเสียหมด ขนมชนิดนี้ทำมาจากไข่เป็ดและน้ำเชื่อมเข้มข้น มีรสชาติหวาน เย็น ละมุนลิ้น ไม่มีกลิ่นคาวของไข่เลยแม้แต่น้อย จะมีก็แต่กลิ่นหอมมะลิอ่อน ๆ จากน้ำลอยดอกมะลิที่ใช้ผสมน้ำเชื่อม ยิ่งได้แช่เย็นก่อนทานก็จะยิ่งเย็นชื่นใจ ช่วยให้คนทานหายเหนื่อยคลายร้อนไปได้มาก ตัวขนมสีส้มเข้มจับจีบสวยงามดูแล้วสบายตา ในส่วนของวัตถุดิบและวิธีการทำนั้นง่ายแสนง่าย ไปดูกันเลยค่ะ
วัตถุดิบทองหยิบ
- ไข่เป็ด
- น้ำตาลทรายขาว
- น้ำสะอาดลอยดอกมะลิ
วิธีทำทองหยิบ
ก่อนอื่นเราจะต้องทำน้ำเชื่อมก่อนค่ะ นำเชื่อมจะเป็นส่วนประกอบที่สำคัญสำหรับขนมตระกูลทองต่าง ๆ ซึ่งจะต้องใช้น้ำเชื่อมข้นและน้ำเชื่อมใสค่ะ สำหรับน้ำเชื่อมใสเราจะผสมน้ำลอยดอกมะลิและน้ำตาลในปริมาณที่เท่ากัน นำขึ้นตั้งไฟอ่อน ๆ จนน้ำตาลละลายและน้ำใสดี จากนั้นนำลงมาเทใส่ถาดหรือภาชนะที่ค่อนข้างกว้างเล็กน้อย พักไว้ให้เย็น ต่อมาก็ใช้หม้อหรือกระทะใบเดิมนี่แหละค่ะเติมน้ำและน้ำตาลลงไปอีกครั้งเพื่อทำน้ำเชื่อมข้น โดยครั้งนี้เราจะใส่น้ำตาลให้เยอะกว่าน้ำเพื่อที่จะได้น้ำเชื่อมเข้มข้น จากนั้นนำขึ้นไฟอ่อน ๆ แล้วคนให้น้ำตาลละลายดี ปิดเตาพักไว้ก่อน

ต่อมาก็จะเป็นในส่วนของไข่เป็ด เราจะตอกไข่เป็ดลงในภาชนะ อยากใช้ไข่มากน้อยแค่ไหนก็เลือกได้ตามชอบเลยค่ะ แต่พยายามแค่ไข่ให้ใกล้ก้นภาชนะไข่จะไม่แตกค่ะ ตอกไข่แดงและไข่ขาวลงไปพร้อม ๆ กันได้เลย จากนั้นล้างมือให้สะอาดแล้วใช้อุ้งมือของเราค่อย ๆ ช้อนไข่แดงขึ้นมา ใช้มืออีกข้างหยิบเอาไข่ขาวออกให้หมด พยายามเอาออกให้ได้มากที่สุดนะคะ จากนั้นวางไข่แดงลงในภาชนะอีกหนึ่งใบที่รองผ้าขาวบางไว้เรียบร้อยแล้ว ทำต่อไปเรื่อย ๆ จนหมดแล้วตีไข่แดงให้แตกเป็นเนื้อเดียวกันแล้วบีบไข่แดงผ่านผ้าขาวบางลงในภาชนะ ขำไข่แดงไปตีให้ขึ้นฟูอีกครั้งด้วยตะกร้อมือหรือตะกร้อไฟฟ้า
คราวนี้เราจะกลับมาที่น้ำเชื่อมข้น เปิดเตาไฟอ่อน ๆ รอให้น้ำเชื่อมร้อนเดือดจนขึ้นฟองละเอียด ขณะเดียวกันก็นำถาดน้ำเชื่อมใสมาวางใกล้ ๆ กัน เตรียมภาชนะที่จะใส่ทองหยิบให้พร้อม จะใช้ถ้วยตะไลใบเล็ก ๆ หรือถ้วยพลาสติกก็ได้ค่ะ น้ำเชื่อมเดือดดีแล้วปิดเตา รอจนน้ำเชื่อมนิ่ง ไม่มีฟองปุด ๆ แล้วตักไข่แดงค่อย ๆ หยอดลงในน้ำเชื่อมให้เป็นแผ่นกลม หยอดไปเรื่อย ๆ จนเต็มกระทะ แต่ระวังอย่าหยอดไข่ลงไปติดกันมากนะคะ จากนั้นเปิดเตาไฟอ่อน ๆ อีกครั้งให้น้ำเชื่อมเดือด เมื่อไข่สุกดีแล้วจะมีสีเข้มและฟูขึ้นมาเล็กน้อย พลิกกลับด้านแล้วต้มต่อจนสุกสวย ปิดเตาแล้วตักขนมแกว่งน้ำเพื่อล้างฟองออกให้หมด สะบัดให้เชื่อมเชื่อมหลุดกลับลงไปในกระทะแล้วนำขนมลงมาแช่ในน้ำเชื่อมใสจนขนมอุ่นพอที่จะจับได้ ใช้มือจับจีบขอบขนมเข้าด้วยกัน เอาด้านฟูขึ้นแล้วพับจีบเพื่อเอาด้านฟูไว้ข้างในค่ะ วางขนมลงในถ้วยแล้วจัดทรงให้สวยงาม หยอดไข่ลงในน้ำเชื่อมข้นแล้วทำต่อไปเรื่อย ๆ จนหมด พักขนมไว้ด้านนอกหรือในตู้เย็นให้เซตตัวแล้วนำมาจัดเสิร์ฟได้เลยค่ะ
หมายเหตุ : ตอนแรก ๆ หากเพื่อนยังจับจีบไม่สวย ก็ไม่อย่าเพิ่งท้อแท้หรือล้มเลิกไปก่อนนะคะ มันอาจจะมีบ้างในบางครั้งที่จีบแตกไม่เป็นทรง ไม่สวยหรือไม่ได้รูปที่เราต้องการ ขอให้เพื่อนพยายามทำต่อไปเรื่อย ๆ ถือเป็นการฝึกความอดทนไปในตัวค่ะ ทั้งนี้เพื่อน ๆ สามารถนำทองคําเปลวแบบกินได้มาติดไว้ข้างบนสุดเพื่อความสวยงามและเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ขนมด้วยก็ได้นะคะ
9. ทองหยอด

ตามมาติด ๆ กับพี่น้องตระกูลทอง ทองหยอดเป็นอีกหนึ่งเมนูขนมมงคลที่เป็นตัวแทนของคำอวยพรที่ตั้งใจจะให้ผู้รับมีแต่ความสุขความร่ำรวย ซึ่งทองหยอดจะใช้วัตถุดิบและวิธีการทำที่ไม่แตกต่างจากขนมทองหยิบเลยค่ะ จะเพิ่มมาแค่แป้งที่จะทำหน้าที่ช่วยยึดให้ไข่คงรูปกลมสวย ทองหยอดจะมีลักษณะกลม ฉ่ำน้ำเชื่อม และมีรสชาติหวานเย็นชื่นใจ สามารถใช้ไข่และน้ำเชื่อมที่เหลือจากการทำขนมทองหยิบมาใช้ต่อได้เลยค่ะ นำมาต้มในน้ำเชื่อมข้นและแช่ในน้ำเชื่อมใสจนขนมเย็นสนิทก็สามารถนำมารับประทานได้แล้วค่ะ
วัตถุดิบทองหยอด
- ไข่เป็ด
- แป้งทองหยอด
- น้ำเชื่อมข้น
- น้ำเชื่อมใส
- น้ำลอยดอกมะลิ
วิธีทำทองหยอด
ขั้นตอนแรกก็เตรียมน้ำเชื่อมข้นและน้ำเชื่อมใสให้พร้อมเลยค่ะ สำหรับทองหยอดเราจะทำน้ำเชื่อมข้นให้เข้มข้นน้อยกว่าทองหยิบนิดหน่อย ยิ่งใช้น้ำเชื่อมที่เหลือจากการทำทองหยิบได้ก็ยิ่งดีเลยค่ะเพราะน้ำเชื่อมที่ผ่านการใช้งานมาแล้วจะมีส่วนผสมของไข่และเข้มข้นกว่าน้ำเชื่อมที่เพิ่งทำใหม่ ๆ เพียงแค่เติมน้ำลงไปอีกเล็กน้อยเพื่อเจือจาง ส่วนไข่เป็ดก็แยกไข่แดงและไข่ขาวออกเหมือนเดิม นำมากรองด้วยผ้าขาวบางและตีให้ขึ้นฟู จากนั้นนำแป้งทองหยอดมาผสมเล็กน้อย ซึ่งตัวแป้งทองหยอดก็คือแป้งข้าวเจ้าที่ผ่านการอบควันเทียนมาแล้วนั่นเองค่ะ นำแป้งมาผสมกับไข่ให้มีความข้นขึ้นมาเล็กน้อย
เตรียมแป้งเสร็จแล้วหันมาตั้งเตา เปิดไฟกลางจนน้ำเชื่อมข้นเดือดพล่าน ปรับลดเป็นไฟกลางค่อนอ่อนให้น้ำเชื่อมมีฟองหยาบจากนั้นใช้ช้อนตักแป้งขึ้นมาประมาณครึ่งช้อน ใช้นิ้วปาดแป้งออกจากช้อนแล้วใช้ช้อนตัดให้แป้งหล่นลงในกระทะอีกที ถ้าเชื่อมมีฟองมากพอฟองเหล่านั้นจะช่วยให้ขนมเป็นเมล็ดกลม น้จะต้องเดือดตลอดเวลานะคะ ทำไปเรื่อย ๆ จนเต็มกระทะแล้วต้มต่อจนแป้งที่ลอยขึ้นมามีสีเข้มขึ้น ดูใสและมันวาว หยอดน้ำลอยดอกมะลิลงไปเล็กน้อยเพื่อเจือจางน้ำเชื่อมให้อยู่ในระดับที่พอดีแล้วตักขนมออกมาแช่น้ำเชื่อมใสแล้วเริ่มต้นหยอดแป้งในกระทะอีกครั้ง แป้งสุกดีแล้วตักขนมในน้ำเชื่อมใสออกมาสะเด็ดน้ำเชื่อมแล้วนำขนมในกระทะลงแช่ต่อ นำขนมที่เสร็จเรียบร้อยแล้วจัดใส่จานพร้อมเสิร์ฟ
10. ฝอยทอง

ขอปิดท้ายเมนูขนมไทยด้วยขนมมงคลชนิดสุดท้ายในตระกูลทองอย่างฝอยทองค่ะ ฝอยทองจะนิยมนำมาใช้เป็นขนมมงคลในงานมงคลสมรสเพื่อเป็นตัวแทนของความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างสองครอบครัวและเป็นการอวยพรให้คู่บ่าวสาวครองรักกันยาวนานเหมือนเส้นยาว ๆ ของขนม ซึ่งขนมชนิดนี้ถือว่าเป็นขนมไทยที่ค่อนข้างจะต้องใช้ความประณีตและความเชี่ยวชาญเล็กน้อย เนื่องจากเราจะต้องทำให้ขนมเรียงเส้นสวยงามและมีขนาดเท่า ๆ กันถึงจะออกมาสวยน่ารับประทาน แต่เราเชื่อว่าเพื่อน ๆ จะต้องผ่านชาเลนจ์นี้ไปได้แน่นอนค่ะ สามารถกดเข้าไปดูวัตถุดิบและวิธีทำได้ที่ เมนูของหวานจากไข่: ฝอยทอง
เป็นอย่างไรบ้างเจ้าคะแม่นาย ขนมไทยที่อิฉันนำมาแนะนำมีแต่ขนมอร่อย ๆ และมีวิธีการทำไม่ยากทั้งนั้นเลยใช่ไหมเจ้าคะ ขนมทั้ง 10 ชนิดที่เรานำฝากในบทความนี้มีของโปรดเพื่อน ๆ บ้างมั้ยเอ่ย? โดยเฉพาะขนมตระกูลทองนี่เราคิดว่าเพื่อน ๆ หลายคนน่าจะชอบนะคะ หรือจะเป็นขนมลูกชุบและขนมกลีบลำดวนก็อร่อยมาก ๆ เลยค่ะ เป็นเมนูที่เราแนะนำให้เพื่อน ๆ ลองทำทานกัน ขนมกลีบลำดวนจะมีรสสัมผัสที่คล้าย ๆ กับคุกกี้ มีรสหวานละมุนและแทบจะละลายในปาก เพื่อน ๆ ลองแล้วจะต้องยกให้เป็นขนมโปรดเหมือนเราแน่นอนเลย และสำหรับเพื่อน ๆ คนไหนที่เพิ่งหัดทำขนมและกำลังมองหาอุปกรณ์เครื่องครัวดี ๆ อยู่ก็สามารถกดเข้าไปดูเครื่องครัวพร้อมสาระความรู้ในการใช้เครื่องครัวได้ตามลิงก์เลยนะคะ รับรองว่าเพื่อน ๆ จะต้องถูกใจแล้วไม่ผิดหวังแน่นอน เอาล่ะค่ะ วันนี้ต้องขอตัวไปออกกำลังกายก่อนแล้วเพราะเผลอชิมขนมไปซะเยอะเลย ไว้เจอกันบทความหน้า โชคดีมีแฮงค่ะ