ผลิตภัณฑ์ที่เราใช้ตั้งแต่แชมพู, สบู่อาบน้ำ, ผงซักฟอก, ผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ, สีย้อมผม, สกินแคร์ ไปจนถึงเครื่องสำอาง สามารถทำให้คุณเกิดอาการแพ้ได้ซึ่งมันส่งผลทำให้ผิวหนังระคายเคือง, บวม, คัน และเป็นลมพิษ รวมไปถึงคนที่เป็นสิวผดสิวเทียมที่พยายามรักษาสิวเท่าไหร่ก็ไม่หายสักที ไม่ว่าคุณจะใช้อะไรก็มักจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมทุกครั้ง คือ “หน้าพังยับเยิน” บางทีคุณอาจจะกำลังหลงทางไปกับการประเคนผลิตภัณฑ์รักษาสิวและการรักษาความสะอาดมากเกินไป จนมองข้ามเรื่องสำคัญอย่างผลิตภัณฑ์จำพวกสกินแคร์หรือเครื่องสำอางที่ใช้แต่งหน้าทุกวัน ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสูตรที่เหมาะสำหรับผิวของคุณหรือไม่? เราเรียกอาการเหล่านี้ว่า “อาการแพ้เครื่องสำอางหรือแพ้ครีมบำรุง” แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเริ่มมีอาการแพ้เมื่อไหร่? หรือเราแพ้สารตัวไหน? อย่าพึ่งเป็นกังวลไปค่ะ เพราะวันนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับอาการแพ้มาฝากกัน
สารทั่วไปในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ทำให้แพ้ได้
คุณรู้หรือไม่สารเคมีหรือส่วนผสมในเครื่องสำอางบางตัวก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้แก่คนบางกลุ่มได้เช่นกัน ซึ่งมันสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ทุกเพศทุกวัยและคุณก็อาจจะเป็นหนึ่งในนั้น ในเมื่อเราไม่รู้ว่าเราแพ้อะไรบ้าง บางทีสถิติข้อมูลของคนที่มีอาการแพ้สารต่าง ๆ ในเครื่องสำอางค์ก็อาจจะเป็นประโยชน์ต่อเราได้ และนี่คือสารที่อาจจะก่อให้เกิดอาการแพ้ค่ะ
1. น้ำยางจากธรรมชาติ (1)
บางคนคิดว่าน้ำยางจากธรรมชาติคงไม่มีผลเสียอะไรต่อเราหรอก แต่จริง ๆ แล้วประชากรทั่วไปประมาณ 1-6% แพ้น้ำยางธรรมชาติ (1) ซึ่งมันมักจะมาในรูปแบบ กาวยึดติดผมปลอม, สีทาหน้าแบบอ่อนโยน, อายไลเนอร์ และกาวติดขนตา เป็นต้น ซึ่งอาการแพ้ก็จะมีตั้งแต่การระคายเคืองผิวหนังแบบที่มีผื่นขึ้นไปจนถึงปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ดังนั้นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเครื่องสำอางไหนมีน้ำยางเป็นส่วนประกอบ? ไม่ยากเลยค่ะให้คุณมองหาคำเหล่านี้ในส่วนผสมดูค่ะ
-
- Natural Rubber Latex
- Natural Latex Rubber
- Rubber Latex
- Natural Latex
- Latex Rubber
- Natural Centrifuged Latex
- Natural Liquid Latex
- Aqueous Latex Adhesive
- Latex
ส่วนมากก็จะลงท้ายด้วยคำว่า Latex หรือมี Latex อยู่ในคำเหล่านี้เสมอ ซึ่งเป็นทริคง่าย ๆ สำหรับตัวผู้เขียนเองในการจำ เพราะเอาจริง ๆ บางครั้งเราก็จำคำศัพท์ต่าง ๆ ไม่หมดหรอกค่ะ 🙂
2. น้ำหอม (2)
ต้องยอมรับนะคะว่าน้ำหอมกับเครื่องสำอางเป็นของคู่กัน แต่น้ำหอมในที่นี้คงไม่ได้หมายถึงน้ำหอมเพียว ๆ อย่างเดียว เพราะน้ำหอมในเครื่องสำอางส่วนใหญ่อาจประกอบด้วยส่วนผสมหลายอย่างที่ทำให้คุณแพ้ได้ ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ทำการวิจัยอย่างละเอียดเกี่ยวกับสารที่ก่อภูมิแพ้จากน้ำหอมอ (2) และนี่ก็คือ 26 รายการของส่วนผสมในน้ำหอม
-
- Amyl cinnamal
- Amylcinnamyl alcohol
- Anisyl alcohol
- Benzyl alcohol
- Benzyl benzoate
- Benzyl cinnamate
- Benzyl salicylate
- Cinnamyl alcohol
- Cinnamaldehyde
- Citral
- Citronellol
- Coumarin
- Eugenol
- Farnesol
- Geraniol
- Hexyl cinnamaladehyde
- Hydroxycitronellal
- Hydroxyisohexyl 3-cyclohexene carboxaldehyde (HICC), (also known as Lyral)
- Isoeugenol
- Lilial
- d-Limonene
- Linalool
- Methyl 2-octynoate
- g-Methylionone
- Oak moss extract
- Tree moss extract
เยอะจนน่าปวดหัวเลยใช่มั้ยคะ หากคุณจำไม่หมดก็อาจจะเลือกผลิตภัณฑ์ที่มี คำว่า fragrance-free = ปราศจากน้ำหอม หรือ without perfume = ไม่มีน้ำหอม ก็ได้ค่ะ น่าจะพอช่วยคุณในการเลือกซื้อได้บ้างไม่มากก็น้อยนะคะ
3. สารกันบูด วัตถุกันเสีย (preservative) (2)
วัตถุกันเสีย (preservative) ไม่ได้มีแค่ในอาหาร แต่ในเครื่องสำอางบางชนิดก็นิยมใส่มาเพื่อรักษาความสด และเพื่อลดกลิ่นเหม็นหืน เพราะมันช่วยป้องกันหรือชะลอการเน่าเสียอันเนื่องมาจากแบคทีเรีย, เชื้อรา หรือยีสต์ และช่วยป้องกันการเปลี่ยนแปลงเนื้อสัมผัสอีกด้วย
ซึ่งผลิตภัณฑ์เกือบทุกชนิดที่เป็นน้ำหรือมีน้ำเป็นส่วนประกอบต้องมีสารกันบูดเสมอ ไม่ว่าจะเป็น parabens, imidazolidinyl urea, Quaternium-15, DMDM hydantoin, phenoxyethanol, methylchloroisothiazolinone, และ formaldehyde ทั้งหมดนี้สามารถทำให้ผิวหนังของคุณเกิดอาการแพ้ได้
4. สีย้อมผม หรือ สีจากสารเคมี (2)
สารแต่งสี สีย้อม หรือสารเคมีในสี ต่าง ๆ เหล่านี้ก็มีส่วนทำให้คุณแพ้ได้ ซึ่งคุณจะต้องหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ p-phenylenediamine (PPD) คือ พาราฟีนิลีนไดอะมีนที่ทำจากน้ำมันถ่านหิน มักพบได้ในผลิตภัณฑ์ย้อมผมหรือน้ำยาเปลี่ยนสีผม และ Coal-tar เป็นน้ำมันจากถ่านหินเช่นกัน ซึ่งมักพบได้ในผลิตภัณฑ์แชมพูสูตรลดอาการคันหนังศรีษะและสูตรขจัดปัญหารังแคค่ะ
นอกจากสารที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผลิตภัณฑ์เสริมความงามที่มีกรดอัลฟา-ไฮดรอกซี (alpha-hydroxy acids) อาจทำให้บางคนมีอาการแพ้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผลิตภัณฑ์ยารักษาสิวที่มีระดับ AHA มากกว่า 10% ขึ้นไปที่ต้องควรระมัดระวังให้มากเลยค่ะ
สำหรับครีมลดริ้วรอยที่มี Retin-A ก็อาจทำให้บางคนเกิดอาการระคายเคืองเมื่อสัมผัสได้เช่นกัน และหลาย ๆ คน ก็มีอาการ “แพ้ครีมกันแดด” เพราะสารที่ใช้ป้องกันบางตัวก็อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อผิวหนัง และทำให้ผิวหนังของคุณอักเสบได้ คุณสามารถเลือกใช้เป็นครีมกันแดดสำหรับผิวบอบบางหรือครีมกันแดดสำหรับผิวเป็นสิวได้ เพราะสูตรเหล่านี้จะมีความอ่อนโยนต่อผิวหนังมากที่สุด
วิธีป้องกันอาการแพ้เครื่องสำอาง
1. รู้ว่าแพ้อะไรบ้าง และควรหลีกเลี่ยง
วิธีป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับอาการแพ้เครื่องสำอางคือการที่เราต้องรู้ก่อนว่าเราแพ้อะไร และเราจะต้องหลีกเลี่ยงตัวไหนบ้าง ซึ่งวิธีง่าย ๆ ที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเองคืออ่านฉลากส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อย่างละเอียด และหลีกเลี่ยงส่วนผสมที่คุณคิดว่าอาจจะแพ้ได้
โดยทั่วไปหากคุณเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ตัวไหนใหม่ ๆ ที่คุณไม่คุ้นเคย คุณจะรู้ได้ทันทีว่าคุณเริ่มแพ้หรือไม่ หลังจากนั้นให้ตรวจสอบส่วนผสมเด่น ๆ ในผลิตภัณฑ์ตัวที่คุณเริ่มแพ้ และหลีกเลี่ยงส่วนผสมนั้นในผลิตภัณฑ์ตัวอื่น ๆ หรือหากจะเอาให้มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์เลย คุณอาจเลือกผลิตภัณฑ์จากส่วนผสมที่คุณเคยหรือใช้มาก่อนและคุณรู้จักเป็นอย่างดีว่ามันจะไม่ทำร้ายผิวของคุณอย่างแน่นอนก็ได้ค่ะ
2. มองหาสูตรที่เหมาะสำหรับคุณ
มองหาสูตรที่เหมาะสำหรับคุณ หากมันเป็นการยากเกินไปที่จำคำศัพท์เกี่ยวกับส่วนผสมที่ควรหลีกเลี่ยงทั้งหมดได้ ให้คุณมองหาผลิตภัณฑ์ที่เขียนว่า
-
- hypoallergenic = แพ้ง่าย
- fragrance-free = ปราศจากน้ำหอม
- without perfume = ไม่มีน้ำหอม
- for sensitive skin = สำหรับผิวบอบบาง
- dermatologist tested = ได้รับการทดสอบโดยแพทย์ผิวหนัง
- sensitivity tested = ผ่านการทดสอบสำหรับผิวที่บอบบางแพ้ง่าย
- non-irritating = ไม่ระคายเคือง
หมายเหตุ : อันที่จริงวิธีนี้เราไม่ค่อยอยากแนะนำเท่าไหร่นะคะ เพราะบางแบรนด์ก็แค่เขียนบอกไปผ่าน ๆ ไปเท่านั้น แต่เมื่อตรวจดูส่วนผสมก็ยังคงใส่สารที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้อยู่ดี ซึ่งเนื่องจากคนเรามีสารที่แพ้ต่างกันไป อย่างที่ว่าร้อยพ่อพันแม่ เพราะฉะนั้นบางทีสูตรที่คุณคิดว่าดีแล้ว มันอาจจะมีสารที่ทำให้คุณแพ้ได้ ดังนั้นทางที่ดีคุณควรอ่านฉลากดูส่วนผสมเพื่อความรอบคอบอีกครั้งค่ะ
3. ทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ไม่เคยใช้ก่อนเสมอ
และสิ่งสำคัญเมื่อซื้อผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ๆ ที่คุณไม่คุ้ยเคย ก็อย่าพึ่งเชื่อใจอะไรง่าย ๆ คุณจะต้องทดสอบผลิตภัณฑ์ในบริเวณผิวที่บอบบางที่สุด อาทิเช่น ท้องแขน โดยการแต้มผลิตภัณฑ์ในปริมาณเล็กน้อยดูก่อนและรอประมาณ 48-72 ชั่วโมง (บางคนก็ทำซ้ำ 1-2 สัปดาห์ เพื่อความมั่นใจ) จากนั้นให้สังเกตอาการเปลี่ยนแปลงในตัวคุณ ดูว่ามันมีความความไวต่อส่วนผสมในผลิตภัณฑ์หรือไม่ หากคุณมีอาการบวมแดง คัน หรือแสบร้อน โปรดจงอย่าใช้ผลิตภัณฑ์นั้น!! เพียงเท่านี้ก็ช่วยคุณไม่ให้เกิดอาการแพ้เครื่องสำอางได้เยอะเลยค่ะ
หากคุณไม่แน่ใจว่าจะทดสอบด้วยตัวเองได้ คุณสามารถทดสอบด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ซึ่งคุณสามารถอ่านได้จากหัวข้อ “การทดสอบสารก่อภูมิแพ้“
หมายเหตุ หากคุณทดสอบแล้วและคุณจะเริ่มใช้งานผลิตภัณฑ์จริง ๆ คุณไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่คุ้ยเคยหลายชนิดทีเดียวพร้อมกันทุกตัว เพราะหากคุณมีอาการแพ้คุณจะหาสาเหตุได้ยากมากค่ะ คุณควรใช้ผลิตภัณฑ์ไปทีละตัว ๆ อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ แล้วสังเกตอาการของตัวเองเพื่อความแน่ใจอีกครั้ง
อาการแพ้เครื่องสำอางเป็นอย่างไร?
อาการแพ้สารในเครื่องสำอางมักจะมีความรุนแรงไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับตัวบุคคล อาชิเช่น ผื่นขึ้นที่ผิวหนัง, คันตามผิวหนัง, ผิวหนังลอก, หน้าบวม, ระคายเคืองตาจมูกและปาก, เป็นลมพิษ, หายใจไม่ออก และสุดท้ายบ้างคนอาจจะแพ้อย่างรุนแรง เราเรียกว่า “อาการแพ้ Anaphylaxis” ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ (2)
สำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืดหรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ สิ่งที่ควรระวังเพิ่มขึ้นมาคือน้ำหอมในเครื่องสำอาง เพราะการสูดดมบ่อย ๆ อาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจของคุณได้เช่นกัน คุณอาจจะมีอาการหายใจไม่ออก, ไอแบบมีเสมหะ, มีน้ำมูกไหลคัดจมูก, ปวดศีรษะ, ปวดหน้าอก และหายใจไม่ออก เป็นต้นค่ะ (2)
หากคุณพบอาการแพ้ตามที่เรากล่าวมาทั้งหมดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากความไวต่อสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้อาจรุนแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปได้
การทดสอบสารก่อภูมิแพ้
สำหรับคนที่สะดวกทดสอบสารก่อภูมิแพ้ด้วยตัวเอง เพราะคุณก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหน และคุณก็ไม่อยากเสี่ยง คุณสามารถทราบชื่อสารก่อภูมิแพ้ได้จากการทดสอบทางการแพทย์ดังต่อไปนี้ค่ะ
1. การทดสอบ Patch Test (2)
สิ่งนี้จะช่วยให้คุณสามารถรู้ได้ว่าคุณแพ้สารอะไรบ้างที่ส่งผลตรงต่อผิวหนังของคุณ ไม่ว่าจะเป็นอาการบวมหรืออาการระคายเคือง Patch Test จะเป็นการหยดสารก่อภูมิแพ้จำนวนเล็กน้อยบนผิวหนังของคุณและปิดทับให้สนิทเป็นเวลา 48 ชั่วโมง
และหลังจาก 72-96 ชั่วโมง แพทย์จะตรวจผิวหนังของคุณอย่างละเอียดเพื่อหาอาการแพ้ต่าง ๆ อย่างเช่น ผื่นแดง ผื่นคัน หรือลมพิษ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้คุณทราบว่าคุณแพ้สารตัวไหนค่ะ หากผู้ป่วยมีผิวบอบบางมากการทดสอบแบบ Patch Test อาจมีประสิทธิภาพดีไม่เพียงพอที่จะช่วยระบุสารก่อภูมิแพ้ได้ คุณอาจจะต้องใช้วิธีอื่น ๆ ร่วมด้วยค่ะ
2. การทดสอบ Prick Test (2)
Prick Test คือการทดสอบแบบที่หยดสารก่อภูมิแพ้ลงบนผิวหนังของคุณ และจะใช้เข็มแทงผิวหนังในจุดเดียวกัน จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจสอบผิวหนังในบริเวณที่คุณโดนเข็มฉีดลงไป ซึ่งโดยปกติจะทดสอบตรงบริเวณท้องแขน และอาจเกิดอาการคันมีผื่นแดงขึ้นหรือบวมได้ หากคุณแพ้แพ้สารตัวนั้น
3. การทดสอบ Intradermal Test (2)
มันมีวิธีการทดสอบที่คล้ายกับการทดสอบ Prick Test แต่จะต่างตรงที่การทดสอบแบบ Intradermal Test จะเป็นการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในผิวหนังชั้นบนสุดของคุณ และแพทย์ตรวจสอบอาการแพ้ที่เกิดขึ้น
4. การทดสอบ Allergy Blood Test (2)
การทดสอบแบบ Allergy Blood Test จะเป็นการเก็บตัวอย่างเลือดของคุณและหยดสารก่อภูมิแพ้ลงไป เพื่อดูว่ามีการสร้างแอนติบอดีหรือไม่ หากมีการผลิตแอนติบอดีเพื่อตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ แสดงว่าคุณมีแนวโน้มที่จะแพ้สารนั้นค่ะ
สำหรับใครที่อยากอ่านบทความเกี่ยวผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสำหรับผิวแพ้ง่ายคุณสามารถเข้าไปอ่านได้จาก แชมพูสำหรับผิวแพ้ง่าย, รองพื้นสำหรับผิวเป็นสิวผิวแพ้ง่าย, ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าสำหรับผิวบอบบาง และ ยาย้อมผมที่ไม่มีแอมโมเนีย เป็นต้นค่ะ
References