ความเครียดในชีวิตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคนอยู่แล้วครับ ไม่มีใครหลีกหนีปัญหาตรงนี้ ต่อให้เราจะรวยล้นฟ้ามีเงินหลักล้านล้านที่ใช้เงินทั้งชีวิตก็ไม่มีวันหมด สามารถซื้อบ้าน, ซื้อซุปเปอร์คาร์ หรือซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม 500 ใบ ความทุกข์ก็เกิดขึ้นกับเราได้อยู่เสมอ เพราะอย่าลืมว่าการสูญเสียของรักของห่วงไม่ได้เกิดกับคนใดคนหนึ่ง แต่มันเกิดขึ้นกับทุกคนแบบไม่แบ่งชนชั้น ดังนั้นความเครียดและความทุกข์เรียกว่าเป็นสัจธรรมของชีวิตเลยก็ว่าได้

แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเราเมื่อเกิดความเครียด เราจะมีวิธีการแก้หรือรับมือกับความทุกข์ตรงนี้อย่างไรมากกว่า หลายคนอาจรู้สึกว่าความเครียดเป็นสิ่งที่จัดการได้ค่อนข้างยาก การจะดึงตัวเองออกมาจากจุดนั้นมันมากเกินความสามารถของคน ๆ หนึ่ง แต่ความจริงแล้วมันอาจไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป เพราะจริง ๆ แล้วการควบคุมหรือลดความเครียดสามารถทำได้ด้วยการปรับมุมมองความคิดเพียงเล็กน้อย รวมไปถึงการปรับพฤติกรรมของตัวเองให้มีความ Healthy หรือสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้วิธีการก็มีอยู่หลายอย่างครับ วันนี้ผมจึงอยากมาแชร์ให้ทุกคนได้อ่านกัน
ควบคุมความเครียดของตัวเอง
หากคุณเป็นคนที่มีความเครียดในชีวิตค่อนข้างเยอะ ผมแนะนำให้พยายามหาทางในการลดความเครียดลง ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายหรือหาเวลาให้กับตัวเอง เนื่องจากการปรับเปลี่ยนกิจกรรมในชีวิตหรือหาอะไรใหม่ ๆ ทำ สามารถจะช่วยลดความเครียดได้ดี เนื่องจากเราจะได้ไปโฟกัสสิ่งอื่นแทน
ส่วนใครที่รู้สึกว่ามีความกระสับกระส่ายเมื่อเกิดความเครียด แนะนำให้ใช้เทคนิคการหายใจเข้ามาช่วย
- หายใจเข้าสู่ร่างกาย ให้รู้สึกว่าท้องขยายขึ้น (แต่ไม่รู้สึกว่าฝืนตัวเอง)
- หายใจผ่านทางจมูกและปล่อยออกทางปาก
- หายใจช้า ๆ และสม่ำเสมอ อาจนับ 1 – 5 ในใจก็ช่วยได้เช่นกัน
- ทำอย่างต่อเนื่องไปประมาณ 3 – 5 นาที อาการกระสับกระส่ายจะค่อย ๆ ดีขึ้น
หากิจกรรมที่ชอบ
การหากิจกรรมที่ชอบให้กับตัวเอง เป็นการช่วยลดความเครียดและเพิ่มความสุขได้ดีมาก ๆ โดยกิจกรรมที่น่าสนใจก็จะมี การนั่งดูภาพยนตร์, ดูซีรีส์เกาหลี, ดูซีรีส์จีน, เล่นกีฬาหรือดูกีฬากับเพื่อน, การนอนแช่อยู่ในอ่างน้ำ หรือการนัดเพื่อนสนิทไปเม้าท์มอยในคาเฟ่และร้านกาแฟสวย ๆ

นอกจากนี้การใช้เวลาไปกับสิ่งที่ตัวเองชอบหรือตัวเองทำได้ดีก็ช่วยได้เหมือนกัน เช่น ร้องเพลง, เต้น หรือทำอาหาร พยายามหลีกเลี่ยงอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้เรามีความสุขได้แค่ชั่วครั้งชั่วคราวอย่าง การรับประทานอาหารขยะ หรือดื่มแอลกอฮอล์ เพราะถึงแม้ว่าในช่วงรับประทานจะมีความสุข แต่หลังจากนั้นเราก็จะกลับมาเศร้าเหมือนเดิมแบบวนลูป มิหนำซ้ำยังทำให้สุขภาพของเราแย่ลงไปด้วย
ฝึกความมั่นใจตัวเอง และเห็นคุณค่าในตัวเอง
การฝึกเห็นคุณค่าในตัวเองอาจฟังดูยาก แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้ยากอย่างที่คิดครับ เพียงแค่ปรับมุมมองและเปลี่ยนแนวคิดบางอย่างก็สามารถเห็นคุณค่าของตัวเองได้แล้ว

อย่างเช่น ถ้าหากคุณไปสมัครงานหรือสัมภาษณ์งานไม่ผ่านตามคาดหวัง แทนที่เราจะพูดกับตัวเองว่า “เราโง่แบบนี้ ก็ไม่แปลกหรอกที่จำไม่ได้งาน” แต่ให้ลองเปลี่ยนความคิดใหม่ว่าหากเราพูดกับเพื่อนสนิทของเราแบบนั้นจะมีใครชอบเหรอ ? แล้วเราพูดกับตัวเองแบบนี้ทำไม ? แทนที่จะว่าตัวเองลองเปลี่ยนเป็นให้กำลังใจตัวเอง บอกกับตัวเองว่า “เราเป็นคนเก่ง มีความพยายาม งานหน้าต้องได้แน่นอน” เพียงเท่านี้เราจะมีความสุขและเริ่มเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น ไม่ไปจมปลักกับความเศร้า
พยายามฝึกให้กิจวัตรประจำวันของคุณ ส่งผลดีต่อสุขภาพ
1. ควบคุมปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์
หลายคนอาจคิดว่าการดื่มแอลกอฮอล์สามารถช่วยให้เราหลุดออกมาจากความเครียดได้ เพราะเมื่อดื่มแล้วจะรู้สึกมึนเมาหรือมึนงงจนความเครียดหายไป แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่แบบนั้นเสมอไปครับ เพราะความเมาอาจเข้าไปกระตุ้นให้เกิดความโกรธหรือเศร้ายิ่งกว่าเดิม ยิ่งถ้าหากใครมีปัญหาโรคซึมเศร้า โรคของคุณอาจแย่กว่าเดิมได้ครับ

2. เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
การรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ไม่ได้ส่งผลดีแค่เรื่องของสุขภาพร่างกายเท่านั้น แต่มันยังดีต่อสุขภาพจิตของเราด้วย เพราะสารอาหารจะเข้าไปบำรุงสมองและการทำงานของร่างกายให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าสมองเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตอยู่แล้ว ฉะนั้นการเลือกรับประทานจึงเป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง

3. หาเวลาออกกำลังกาย
ในขณะออกกำลังกายสมองจะปล่อยสารเคมีชนิดหนึ่งออกมาที่มีผลต่ออารมณ์มาก โดยสารเคมีชนิดนี้สามารถช่วยให้การนอนหลับของเราดีขึ้นและช่วยให้สุขภาพหัวใจดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การออกกำลังกายสามารถเลือกได้ตามที่ตัวเองชอบ จะเข้าฟิตเนสหรือเล่นกีฬา อย่าง เทนนิส, กอล์ฟ, บาสเกตบอล, แบตมินตัน หรือฟุตบอล

4. นอนหลับให้เพียงพอ
ควรนอนหลับให้ได้ 7 – 8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรออย่างเต็มที่ พร้อมทำกิจกรรมในวันถัดไป หากเป็นไปได้เราควรมีเป้าหมายหรือเขียนโน้ตเอาไว้ เพื่อให้เราสามารถวางแพลนหรือจัดการธุระต่างให้เรียบร้อย และแบ่งเวลาไปใช้ในการนอนหลับได้มากยิ่งขึ้น

5. พูดคุยหรือแชร์ความคิดกับคนอื่น
การพูดคุยกับครอบครัว, เพื่อน หรือนักบำบัด ช่วยให้เราได้มีโอกาสปลดปล่อยความในใจและความเครียดออกไป อีกทั้งการพูดคุยกับผู้อื่นยังเป็นการสร้างปฎิสัมพันธ์ที่ดี ถือเป็นการฝึกเข้าสังคมให้กับเราอีกด้วย

6. ฝึกจิตใจของตัวเองให้แข็งแกร่ง
พยายามมองความเจ็บปวดให้เป็นการเรียนรู้ เพราะมันเป็นสิ่งที่ช่วยฝึกจิตใจให้เราแข็งแกร่ง อีกทั้งคุณยังสามารถเอาประสบการณ์การก้าวผ่านความเจ็บปวดไปสอนหรือซัพพอร์ตคนอื่นได้ หรือในช่วงไหนที่คุณรู้สึกเครียดก็สามารถนำไปเขียน, วาดภาพ หรือแต่งเพลง เพื่อปลดปล่อยความเจ็บปวดได้