Hii Guys!! กลับมาพบกับบทความแนะนำเมนูอาหารอีกแล้วนะคะ หลังจากที่หลาย ๆ บทความก่อนหน้านี้เราแนะนำสูตรเมนูอาหารไปเยอะแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเมนูจากไก่, เมนูจากเส้นก๋วยเตี๋ยว, เมนูแซนด์วิช, เมนูอาหารตามสั่ง, เมนูผัก ไปจนถึงเมนูสปาเก็ตตี้ต่าง ๆ ซึ่งเมนูที่แนะนำไปส่วนใหญ่ก็จะเป็นอาหารคาวใช่ไหมล่ะคะ วันนี้เราเลยลองเปลี่ยนมาทำขนมหวานทานกันบ้างดีกว่า พูดถึงขนมหวานหลายคนถึงกับกลืนน้ำลายรอเพราะแค่คิดว่าจะได้ลิ้มชิมรสความหวานพร้อมกับสูดกลิ่นหอมของขนมก็แทบจะอดใจไม่ไหวแล้ว และแน่นอนว่าขนมหวานที่เรานำมาฝากเพื่อน ๆ เนี่ยทำง่ายและอร่อยเหมือนเดิมค่ะ มีให้เพื่อน ๆ เลือกทำทั้งขนมแบบไทย ๆ และขนมสไตล์ฝรั่งเลยค่ะ เรียกว่าบทความนี้เอาใจสายหวานเป็นพิเศษเลยแหละ
ความเป็นมาของขนมหวานไทย (1)
แต่ก่อนจะไปดูสูตรขนมหวานเรามาคุยกันในเรื่องของขนมหวานแบบไทย ๆ กันก่อนดีกว่าค่ะ เพื่อน ๆ ทราบไหมคะว่าขนมหวานที่เราทานกันอยู่ทุกวันนี้เนี่ยมีมานานหลายร้อยปีแล้ว และขนมไทยส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นมาจากความตั้งใจของ ท้าวทองกีบม้า หรือที่รู้จักในบท มารี กีมาร์ (ตองกีมาร์) จากละครดังเรื่องบุพเพสันนิวาส ที่นำขนมพื้นบ้านโปรตุเกสมาดัดแปลงให้เข้ากับวัตถุดิบไทย ๆ เท่าที่หาได้ในยุคสมัยนั้น กลายมาเป็นขนมไทยมากมายหลายชนิดที่เราเคยรับประทานกันตอนเด็ก ๆ แต่ในสมัยก่อนนี่ไม่ได้ทานขนมกันง่าย ๆ แบบนี้นะคะ เพราะคนไทยส่วนใหญ่มักจะทำขนมก็ต่อเมื่อมีแขกบ้านแขกเมืองหรือมีงานมงคลเท่านั้นค่ะ ก็ถือว่าสมัยนี้หาทานง่ายกว่ามากเพราะอยากกินขนมไทยเมื่อไหร่ก็เดินเข้าตลาดหรือร้านสะดวกซื้อก็ได้ขนมมารับประทานแล้ว แต่ขนมเหล่านั้นอาจจะใส่สารกันบูดหรือมีวิธีการทำที่เราก็ไม่แน่ใจว่าปลอดภัยมากแค่ไหน ดังนั้นวันนี้เรามาทำขนมไทยทานกันเองดีกว่าเนอะ
ไข่เป็ด VS ไข่ไก่ เลือกใช้ชนิดไหนดีนะ?
เป็นคำถามยอดฮิตที่คาใจนักทำขนมมือใหม่ว่า ‘เอ๊ะ! ฉันจะทำขนมชนิดนี้แต่ควรใช้ไข่เป็ดหรือไข่ไก่ดีนะ แล้วมันต่างกันตรงไหนเนี่ยก็เป็นไข่เหมือนกัน’ บอกเลยว่าค่อนข้างจะต่างและส่งผลต่อขนมได้อย่างชัดเจนเลยค่ะเพื่อน ๆ ถ้าเพื่อน ๆ สังเกตจะเห็นว่าไข่เป็ดเนี่ยจะมีขนาดของฟองที่ค่อนข้างใหญ่ ไข่แดงสีสดและเหนียวหนืดกว่าไข่ไก่ที่ออกสีส้มอมเหลือง ดังนั้นถ้าหากเพื่อน ๆ ต้องการทำขนมประเภทเค้ก, ขนมปัง, บราวนี่ หรือขนมหวานสไตล์ฝรั่งหน่อยเราแนะนำให้ใช้ไข่ไก่ดีกว่าค่ะ เพราะขนมประเภทนี้จะเน้นเนื้อสัมผัสที่เนียนนุ่มและความฟู ซึ่งไข่ไก่ก็ถือว่าตอบโจทย์เพราะเมื่อนำไปตีแล้วทั้งไข่ขาวและไข่แดงจะขึ้นฟูได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีกลิ่นคาวเล็กน้อย ซึ่งจะไม่ตีกับกลิ่นสังเคราะห์อย่างกลิ่นวานิลลาที่มักจะเติมเข้าไปในขนมค่ะ
แต่ทีมไข่เป็ดอย่าเพิ่งน้อยใจ เพราะขนมไทยของเราส่วนใหญ่จะเน้นใช้ไข่เป็ดมากกว่าไข่ไก่ โดยเฉพาะขนมประเภท ทองหยิบ, ทองหยอด หรือฝอยทอง ที่ค่อนข้างจะมีสีสันจัดจ้านเมื่อเทียบกับขนมชนิดอื่น สีส้มเหล่านั้นมักจะมาจากสีของไข่แดงไข่เป็ดค่ะ ขนมไทยของเราส่วนใหญ่จะมีรสชาติหวานจากน้ำเชื่อมหรือน้ำตาลมะพร้าวและมักจะมีใบเตยเป็นส่วนผสม ซึ่งเจ้าใบเตยนี้ก็มีสรรพคุณในการดับกลิ่นคาวของไข่เป็ดได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ สาเหตุที่ขนมไทยมักจะใช้ไข่เป็ดมากกว่าอาจจะเป็นเพราะไข่แดงมีสีเข้มอย่างที่กล่าวไปแล้ว และเนื่องจากขนมโดยเฉพาะฝอยทองเนี่ยต้องการความหนืด ความเหนียวเพื่อทำให้ขนมสามารถไหลเป็นสายและเนื้อแน่น และแน่นอนว่าไข่เป็ดตอบโจทย์ในด้านนี้ ขนมไทยจึงนิยมใช้ไข่เป็ดกันเป็นส่วนใหญ่ แต่เนื่องจากไข่เป็ดค่อนข้างจะให้ความเหนียว, แข็ง และมีรสสัมผัสสากหน่อย ๆ จึงมักจะมีการผสมไข่ไก่ลงไปด้วยเพื่อเพิ่มความนุ่มและทำให้ขนมอร่อยกลมกล่อมมากยิ่งขึ้นนั่นเองค่ะ
วิธีเลือกซื้อและเก็บรักษาไข่
ตอนนี้เพื่อน ๆ ก็ทราบถึงข้อแตกต่างระหว่างไข่ทั้งสองชนิดแล้ว เนื่องจากการทำขนมเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะละเอียดอ่อน และไข่ก็เป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบที่เป็นตัวกำหนดอายุและคุณภาพของขนมเลยแหละ ดังนั้นการเลือกซื้อไข่จึงค่อนข้างจะต้องมีความพิถีพิถันกันสักเล็กน้อย เรามาดูกันดีกว่าว่าไข่ที่เหมาะกับการทำขนมเนี่ยจะต้องมีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง
1. ไข่ที่ใช้ทำขนมจะต้องเป็นไข่ใหม่เท่านั้น เพราะไข่ใหม่ค่อนข้างจะมีสารอาหารที่ครบถ้วนและมีกลิ่นคาวน้อย เมื่อนำมาผสมในขนมแล้วก็จะสามารถเก็บขนมไว้ได้นานกว่าการใช้ไข่เก่า ซึ่งการเลือกซื้อไข่ใหม่เนี่ยเราจะลองจับบริเวณเปลือกไข่ค่ะ ถ้าจับแล้วรู้สึกสาก ๆ เหมือนมีแป้งติดอยู่ก็แปลว่าใช้ได้ หรือถ้าจับแล้วไม่ค่อยรู้สึกถึงความสากสักเท่าไหร่ก็ลองกะเอาไข่ใบที่มีน้ำหนักค่อนข้างเยอะและไข่ออกกลม ๆ หน่อยก็ใช้ได้แล้วค่ะ
2. ใข่ที่ดีที่สุดจะต้องเป็นไข่ที่เพิ่งออกจากฟาร์มสด ๆ ร้อน ๆ แน่นอนว่าเดี๋ยวนี้ค่อนข้างจะหาได้ยากแล้วถ้าไม่รู้จักกับเจ้าของฟาร์มเป็นการส่วนตัว ดังนั้นหลาย ๆ แบรนด์ที่ผลิตไข่ไก่จึงมักจะประทับวันที่ผลิตไว้บนเปลือกไข่ ถ้าวันที่ซื้อห่างจากวันที่ผลิตไม่เกิน 3 วัน ก็ยังถือว่าเป็นไข่ใหม่อยู่ แต่ถ้าบนเปลือกไข่มีเฉพาะวันหมดอายุเราก็ต้องนับจากวันที่ซื้อไปจนถึงวันหมดอายุอีกเหมือนเดิม ยิ่งห่างนานก็จะยิ่งใหม่ค่ะ
3. ถ้าวันนี้เปิดตู้เย็นเห็นไข่วางเรียงรายอยู่เต็มไปหมดเลยนึกอยากทำขนมขึ้นมา เราจะหาไข่ใหม่ได้ง่าย ๆ โดยการนำไข่ไปแช่น้ำ ไข่ใหม่จะจมลงสู่ก้นภาชนะ ถ้าเป็นไข่เก่าก็จะลอยปริ่ม ๆ น้ำ ส่วนไข่ฟองไหนที่ลอยขึ้นเหนือผิวน้ำแล้วแนะนำให้ทิ้งไปเลยค่ะเพราะไข่ใบนั้นกำลังจะเน่าแล้ว ไม่ปลอดภัยสุด ๆ
4. หลังจากได้ที่มาแล้วแต่ยังใช่ไม่หมดแนะนำให้เพื่อน ๆ เก็บไข่ไว้ในช่องเก็บไข่ในตู้เย็นโดยหันเอาด้านป้านขึ้น เพราะภายในด้านป้านจะมีอากาศคั่นกลางระหว่างไข่และเปลือกไข่ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ไข่ได้ยากขึ้น และไม่แนะนำให้ล้างไข่ก่อนเก็บนะคะ เพราะการล้างจะทำให้แป้งนวลที่เคลือบอยู่บนไข่หายไปหมดและเชื้อโรคเข้าสู่ไข่ได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าไข่ที่ได้มาสกปรกมอมแมมเกินไปก็สามารถใช้ผ้าเปียกเช็ดเบา ๆ เอาคราบออกและพยายามวางห่างจากฟองอื่น ๆ นิดนึง
สูตรเมนูขนมหวานจากไข่
1. เครมบรูเล่

เปิดเมนูแรกก็จัดขนมหวานสไตล์ฝรั่งเศสกันเลยจ้า เครมบรู่เล่เป็นขนมหวานอีกหนึ่งประเภทที่นิยมทานในร้านอาหารดัง ๆ ที่ราคาค่าตัวน้องก็เอาเรื่องอยู่หน่อย ๆ หน้าตาของขนมชนิดนี้จะมีลักษณะคล้าย ๆ กับพุดดิ้ง แต่จะพิเศษตรงที่ด้านบนของขนมจะมีแผ่นคาราเมลกรอบ ๆ เคลือบอยู่ มีรสชาติหวานนุ่ม เนื้อเนียน และมีกลิ่นหอมหวานของคาราเมลสุด ๆ แต่ทราบมั้ยคะว่าเราสามารถทำขนมหวานฝรั่งเศสทานได้ที่บ้าน ทั้งวัตถุดิบและวิธีการทำก็ง่ายมาก ง่ายสุด ๆ จนบางคนอาจจะนึกเสียดายเงินที่เคยซื้อทานที่ร้านเลยล่ะ ไปดูกันเลยดีกว่าว่าเจ้าแครมบรูเล่เนี่ยจะมีวิธีการทำยังไงบ้าง
วัตถุดิบเครมบรูเล่
- ไข่ไก่
- นมสด
- วิปปิ้งครีม
- เกลือ
- น้ำตาลทราย
- น้ำเปล่า
วิธีทำเครมบรูเล่
เริ่มต้นให้เพื่อน ๆ ผสมครีมและนมเข้าด้วยกันก่อนค่ะ จากนั้นนำขึ้นตั้งบนไฟอ่อน ๆ เพื่ออุ่นให้ส่วนผสมเหลวของเราร้อนค่ะ จากนั้นหันมาแยกไข่แดงและไข่ขาวกันค่ะ เราจะใช้เฉพาะไข่แดงนะคะ หลังจากได้ไข่แดงมาแล้วก็นำมาผสมกับน้ำตาล เพิ่มเกลือนิดหน่อยตัดรสชาติแล้วคนจนน้ำตาลละลายดีเลยค่ะ เลือกใช้ภาชนะที่มีขนาดใหญ่หน่อยนะคะ ขณะเดียวกันก็คอยคนนมที่ต้มไว้อยู่ตลอดนะคะ ระวังไม่ให้นมร้อนจนเดือด
น้ำตาลละลายดีแล้วให้เพื่อน ๆ มาสังเกตหม้อต้มนมต่อค่ะ ถ้าหม้อต้มเริ่มมีควันหรือขอบ ๆ มีน้ำเดือดเบา ๆ ก็แปลว่านมร้อนได้ที่แล้ว ให้ยกลงจากเตาแล้วแบ่งเทนมครึ่งหนึ่งลงในภาชนะที่ใส่ไข่ ตีเร็ว ๆ ให้เข้ากันดีด้วยตะกร้อมือ จนความร้อนของนมลดลงแล้วเราจะเทนมที่เหลือตามลงไปค่ะ คนจนส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดีอีกครั้ง พยายามอย่าตีแรงจนเกิดฟองนะคะ หลังจากนั้นให้ต้มน้ำร้อนรอไว้
ส่วนผสมในภาชนะเข้ากันดีแล้วเราจะเทส่วนผสมลงในเหยือกผ่านกระชอนเพื่อกรองเอาเศษไข่ขาวหรือเกล็ดน้ำตาลที่อาจจะหลงเหลืออยู่ออก พยายามใช้กระชอนตาถี่มากที่สุดขนมจะได้เนื้อเนียน จากนั้นเราจะหยิบภาชนะที่จะใช้ใส่แครมบรูเล่ใส่ถาด หยอดขนมลงในภาชนะเบา ๆ และเหลือขอบไว้ส่วนหนึ่ง พยายามเทเบา ๆ อากาศจะได้ไม่เข้าไปในเนื้อขนม จากนั้นหยิบถาดใส่เตาอบ เทน้ำร้อนที่ต้มไว้ลงในถาดให้สูงประมาณเกือบครึ่งของภาชนะที่ใส่ขนมค่ะ อบในเตาอบอุณหภูมิ 100 องศาประมาณ 30 นาทีขึ้นอยู่กับขนาดของภาชนะ หรือถ้าใครไม่มีเตาอบก็สามารถนำเข้าหม้อทอดไร้น้ำมันที่มีโปรแกรมอบก็ได้ค่ะ
ครบเวลาแล้วนำขนมออกมาพักให้หายร้อน จากนั้นนำใส่ตู้เย็นให้เซตตัวประมาณ 3 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำค่ะ เมื่อจะรับประทานเราจะนำออกมาจากตู้เย้น เทน้ำตาลทรายลงไปส่วนหนึ่ง พยายามเอียงถ้วยให้น้ำตาลเคลือบหน้าขนมบาง ๆ แล้วใช้เบิร์นเนอร์หรืออุปกรณ์พ่นไฟขนาดเล็กทำอาหารเผาน้ำตาลจนละลายเป็นคาราเมล หรือถ้าไม่มีเบิร์นเนอร์สามารถนำเข้าเตาอบ เปิดอุณหภูมิสูงสุด ใช้ไฟบนอย่างเดียวเพื่อเบิร์นน้ำตาลให้ละลาย จากนั้นพักให้คาราเมลแข็งขึ้นแล้วเสิร์ฟแบบเย็น ๆ ได้เลยค่ะ
2. แพนเค้กซูเฟล่

ตามมาติด ๆ กับเจ้าแพนเค้กก้อนฟูดูนุ่มนิ่มน่าบีบ ถ้าเพื่อน ๆ จำได้แพนเค้กซูเฟล่เคยเป็นของหวานยอดฮิตที่กว่าจะได้ทานนี่ต้องต่อแถวรอเป็นวัน ๆ เลยนะคะ แต่วันนี้อยากทานจนอดใจไม่ไหวเพราะคิดถึงสัมผัสนิ่ม ๆ ของเจ้าก้อนฟู ๆ จนต้องแกะสูตรมาลองทำเองที่บ้านค่ะ สูตรของเราอาจจะไม่ได้เด้งดึ๋งเหมือนทานที่ร้าน แต่ถ้าใครเซียนแล้วรับรองว่าทำออกมาอร่อยถูกใจและหน้าตาใกล้เคียงร้านดังแน่นอน นอกจากความหอม ความนุ่มนิ่มแล้วเราจะเพิ่มความอร่อยด้วยเนยสดที่วางบนหน้าแพนเค้ก เมื่อเคยความร้อนเนยก็จะค่อย ๆ ละลายช้า ๆ แทรกซึมอยู่ในเนื้อเค้ก กลายมาเป็นความฉ่ำและกลิ่นหอมยั่วใจ เพิ่มความหวานละมุนด้วยน้ำผึ้งหอม ๆ โคตรจะฟิน
วัตถุดิบแพนเค้กซูเฟล่
- ไข่ไก่
- แป้งเค้ก
- ผงฟู
- น้ำตาลไอซิ่ง
- นมสด
- เนยสด
- น้ำผึ้ง
- น้ำมะนาว
วิธีทำแพนเค้กซูเฟล่
ขั้นตอนแรกเราจะแยกไข่แดงและไข่ขาวก่อนค่ะ พักไข่ขาวไว้ก่อนและเริ่มผสมไข่แดง, นมสด, ผงฟู และแป้งเค้กด้วยกัน แนะนำให้ร่อนผงฟูและแป้งเค้กผ่านตะแกรงเพื่อกันไม่ให้แป้งจับตัวเป็นก้อนมากจนเกินไปนะคะ จากนั้นคนส่วนผสมทั้งหมดให้เป็นเนื้อเดียวกัน ช่วงแรกแป้งจะค่อนข้างเหนียวและหนืดหน่อย ๆ เป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องตกใจค่ะ
มาที่ส่วนของไข่ขาวกันบ้าง เราจะใส่น้ำมะนาวลงในไข่ขาวเล็กน้อย จากนั้นจึงใช้ตะกร้อไฟฟ้าตีจนไข่ขาวขึ้นฟองฟู ๆ หยาบ ๆ ซึ่งน้ำมะนาวจะช่วยให้ไข่ขาวฟูง่ายและยุบตัวช้าลงค่ะ จากนั้นเราจะค่อย ๆ ใส่น้ำตาลลงไปในไข่ขาวทีละน้อย ๆ ตีไปเรื่อย ๆ ไข่จะฟูและเป็นฟองละเอียดเหมือนครีม ตักไข่ขาวประมาณหนึ่งใส่ลงในภาชนะที่มีไข่แดง ค่อย ๆ ตะล่อมให้เข้ากัน แบ่งใสเรื่อย ๆ และตะล่อมช้า ๆ จนส่วนผสมทั้งหมดเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ระวังอย่าตะล่อมมากจนเกินไปนะคะเดี๋ยวไข่ยุบตัว
ตั้งกระทะแบบแบนบนเตา ใช้ไฟกลางค่อนอ่อน ทาเนยเล็กน้อยแล้วใส่แพนเค้กลงไปเป็นก้อน ปิดฝาและปล่อยทิ้งไว้จนแป้งสุก เปิดฝา กลับด้านแป้งแล้วเทน้ำลงไปรอบ ๆ อย่าให้โดนแป้ง ปิดฝาแล้วอบต่อประมาณ 4 นาที ตักออกมาใส่ภาชนะ โรยหน้าด้วยน้ำตาลไอซิ่ง วางเนยและราดด้วยน้ำผึ้ง พร้อมรับประทานจ้า
3. บาสก์ชีสเค้ก (ชีสเค้กหน้าไหม้)

ยังคงอยู่กับการทำเค้ก แต่คราวนี้เราจะเปลี่ยนมาทำเค้กจากฝั่งสเปนกันบ้างค่ะ บาสก์ชีสเค้กนี่เรียกว่ารันวงการเค้กทุกชนิดเลยทีเดียวเพราะเค้กชนิดนี้มีความพิเศษตรงที่ “หน้าไหม้” ใช่แล้วค่ะเพื่อน ๆ ชีสเค้กตัวนี้ด้านบนจะไหม้จนกลายเป็นสีดำ ๆ น้ำตาล ๆ แต่ยังสามารถทานได้นะคะแถมยังเพิ่มความอร่อยให้กับตัวเค้กได้อีก ซึ่งรสชาตินี่เราขอบอกเลยว่าเนียนนุ่มตามสไตล์ชีสเค้กสุด ๆ แถมยังเพิ่มกลิ่นหอมคาราเมลจากหน้าเค้กอีกต่างหาก และที่เพื่อน ๆ คาดไม่ถึงก็คือชีสเค้กตัวนี้ใช้วัตถุดิบน้อยและมีวิธีการทำที่ง่ายมาก ๆ ไปดูกันเลยค่ะ
วัตถุดิบบาสก์ชีสเค้ก
- ไข่ไก่
- ครีมชีส
- แป้งเค้ก
- น้ำตาลทราย
- วิปปิ้งครีม
- น้ำมะนาว
วิธีทำบาสก์ชีสเค้ก
ไม่พูดพร่ำทำเพลงเราจะนำครีมชีสออกมาพักในอุณหภูมิห้องก่อนค่ะ วิธีนี้จะช่วยให้ครีมชีสนุ่มและตีได้ง่ายขึ้น จากนั้นนำครีมชีสมาตีด้วยตะกร้อไฟฟ้าจนเนื้อเหลวขึ้น ไม่จับตัวเป็นก้อนเหมือนตอนแรกแล้ว จากนั้นค่อย ๆ ใส่ไข่ไก่และน้ำตาลทรายลงไปทีละนิด ๆ เนื้อขนมจะได้เนียนสวย เมื่อไข่และครีมชีสเข้ากันดีแล้วเราจะใส่วิปปิ้งครีมตามลงไปทีละน้อย ๆ เช่นกันค่ะ การค่อย ๆ เพิ่มส่วนผสมลงไปทีละนิดเนี่ยจะช่วยให้เนื้อขนมเนียนสวยและตีง่ายขึ้น ไม่จับตัวเป็นก้อน ตีต่อจนเนื้อขนมเนียนสวยแล้วร่อนแป้งเค้กลงไป ตีจนส่วนผสมทั้งหมดเข้ากัน
หลังจากส่วนผสมเข้ากันดีแล้วพักไว้ก่อนค่ะ หันมาเตรียมพิมพ์อบขนมกันบ้าง แนะนำให้เพื่อน ๆ ใช้พิมพ์เค้กขนาด 1 ปอนด์ในการทำนะคะ และควรจะเป็นพิมพ์ชนิดไม่มีก้นหรือถอดก้นได้เพราะเมื่อสุกแล้วบริเวณฐานขนมจะค่อนข้างติดแน่นนิดนึง จากนั้นตัดกระดาษไขให้มีขนาดเท่ากับก้นและขอบพิมพ์ ทาน้ำมันหรือเนยด้านในของพิมพ์เพื่อยึดกระดาษ วางกระดาษลงไปแล้วเทขนมใส่ตามลงไปเลยค่ะ เคาะเบา ๆ เพื่อไล่ฟองอากาศ จากนั้นนำเข้าเตาอบอุณหภูมิ 220 องศาเซลเซียส เปิดไฟบน-ล่าง อบประมาณ 30 นาทีขึ้นอยู่กับปริมาณของเนื้อขนม
ครบตามกำหนดแล้วเราจะพักขนมไว้ในเตาอบจนขนมเย็นตัวลงก่อน จากนั้นนำออกมาแช่ตู้เย็นทิ้งไว้อย่างน้อย 3 ชั่วโมง จึงนำออกมาตัดเสิร์ฟได้ค่ะ ไม่แนะนำให้นำขนมออกมาเลยทั้งที่ยังร้อน ๆ เพราะบาสก์ชีสเค้กเนี่ยจะมีความเหลว ไม่เฟิร์มแน่นเหมือนเค้กทั่วไป ตอนอบเสร็จใหม่ ๆ ขนมจะยังเหลว ๆ อยู่ ถ้าเอาออกมาเลยก็จะเละไม่เป็นรูปร่างได้นั่นเองค่ะ
4. เค้กไข่ไต้หวัน

เปลี่ยนมาทำขนมฝั่งเอเชียของเรากันบ้าง พูดถึงเค้กไข่หลายคนคงจะเคยได้ยินกิตติศัพท์ของเจ้าเค้กไข่ไต้หวันยอดฮิตกันมาบ้างแล้ว หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเจ้าเค้กตัวนี้นี่มันช่างนุ่ม ฟู และเด้งดึ๋งน่ารักสุด ๆ รสชาติจะหอมกลิ่นเนยและไข่ เนื้อเค้กมีความนุ่มฟูจนแทบจะละลายในปาก ยิ่งได้ทานพร้อมกับชาร้อน ๆ สักแก้วนี่น่าจะฟินน่าดู โดนสปอยมาอย่างนี้แล้วเราอดใจไม่ไหวเดินเข้าครัวทำเค้กไข่ไต้หวันทานเองดีกว่า ไปทำพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
วัตถุดิบเค้กไข่ไต้หวัน
- ไข่ไก่
- เนยจืด
- แป้งเค้ก
- น้ำตาล
- เกลือ
- น้ำมะนาว
- นมสด
- น้ำเปล่า
วิธีทำเค้กไข่ไต้หวัน
เราหยิบไข่ออกมาก่อนค่ะ แยกไข่แดงและไข่ขาวเตรียมไว้ให้เรียบร้อย จากนั้นละลายเนยจืดด้วยไมโครเวฟ ตามด้วยอุ่นนมให้ร้อนแล้วนำทั้งสองอย่างมาผสมกัน คนจนส่วนผสมเข้ากันดีแล้วร่อนแป้งเค้กตามลงไป คนจนส่วนผสมทั้งหมดเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน นำไข่แดงมาผสมและคนให้เข้ากัน เติมเกลือเล็กน้อยแล้วคนต่อจนเกลือละลายดี เนื้อขนมจะมีความเหลว ๆ หน่อย ไม่หนืดเหมือนขั้นตอนแรก ๆ หันกลับมาที่ไข่ขาวกันบ้าง เติมน้ำมะนาวลงไปนิดหน่อยแล้วใช้ตะกร้อไฟฟ้าตีจนไข่ขาวฟูขึ้นเป็นฟองหยาบ ๆ ใช้น้ำตาลทรายประมาณ 75 กรัม แบ่งใส่ครั้งละนิด ขณะเดียวกันก็ต้องตีไข่อยู่ตลอด ตีจนน้ำตาลทรายละลายดีและไข่ขาวฟูจนตั้งยอดอ่อน มีเนื้อเนียนเหมือนครีม
ตักไข่ขาวประมาณหนึ่งลงมาผสมกับไข่แดงที่เตรียมไว้ก่อนหน้า ตะล่อมให้ส่วนผสมเข้ากันดีแล้วนำไข่ขาวที่เหลือตามลงไป ค่อย ๆ ตะล่อมจนส่วนผสมทั้งหมดเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน เนื้อขนมจะมีสีอ่อน ๆ นุ่ม ๆ หันมาต้มน้ำเปล่าให้เดือดรอไว้ ใช้พิมพ์ขนมรูปต่าง ๆ ห่อก้นพิมพ์ด้วยกระดาษฟอยล์ จากนั้นตัดกระดาษไขให้มีขนาดเท่ากับก้นและขอบพิมพ์ ทาเนยบริเวณขอบด้านในแล้ววางกระดาษไขลงไป เทเนื้อขนมตามลงไปได้เลยค่ะ ไม่ต้องเทจนถึงขอบพิมพ์นะคะ เว้นที่ว่างไว้สักนิดเพราะตอนอบขนมจะฟูขึ้นมาอีก จากนั้นนำเข้าเตาอบอุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส นาน 65 – 70 นาที เมื่อขนมสุกได้ที่แล้วนำออกมาพักให้หายร้อนก่อนแล้วค่อยแกะออกจากพิมพ์และตัดเสิร์ฟค่ะ
5. บราวนี่

อีกหนึ่งเมนูยอดฮิตที่ทานกันทั่วบ้านทั่วเมืองต้องยกให้กับบราวนี่ค่ะ เมนูนี้จะว่าเป็นเค้กก็ไม่ใช่ จะเป็นคุกกี้ก็ไม่เชิง แถมยังมีลักษณะความข้น ความฉ่ำของเนื้อบราวนี่ให้เลือกอีกมากมาย ซึ่งบราวนี่เนี่ยมีส่วนผสมหลัก ๆ แค่สองสามชนิดเองค่ะ นั่นก็คือไข่, แป้ง และผงโกโก้หรือช็อกโกแลต เมื่อนำวัตถุดิบทั้งสามอย่างมาผสมจนเข้ากันดีแล้วก็นำไปเข้าเตาอบจนขนมสุกดี แต่เอ๊ะ! แล้วคนที่ไม่มีเตาอบแต่อยากทำบราวนี่ทานเองจะทำยังไงดีล่ะ ไม่ต้องห่วงค่ะเพื่อน ๆ เองก็สามารถทำบราวนี่ทานเองได้ที่บ้าน เพียงแค่มีหม้อทอดไร้น้ำมันหรือหม้อหุงข้าวเท่านั้นเอง ตามไปดูวิธีการทำได้ที่ เมนูจากหม้อหุงข้าว: บราวนี่ และ เมนูบราวนี่จากหม้อทอดไร้น้ำมัน
6. ขนมไข่

มูฟมาทำขนมแบบไทย ๆ กันบ้างดีกว่าค่ะ เริ่มต้นจากขนมที่หาทานง่ายและทำง่าย ๆ กันก่อนดีกว่า ขนมไข่ก็เป็นอีกหนึ่งเมนูที่สามารถหาทานได้ง่ายและทำเองได้ที่บ้านเพียงแค่มีเตาอบเท่านั้นค่ะ ซึ่งหลังจากอบเสร็จใหม่ ๆ นี่เราขอบอกเลยว่ากลิ่นหอมฟุ้งไปทั้งจังหวัดด้วยส่วนผสมของเนยและไข่ เนื้อขนมจะมีความนุ่มฟูคล้าย ๆ เค้กขนาดเล็กจิ๋ว ผิวด้านนอกค่อนข้างจะกรอบนิด ๆ เพิ่มเท็กซ์เจอร์ กัดเข้าไปตอนร้อน ๆ อุ่น ๆ ก็จะได้กลิ่นหอมที่ตีเข้าจมูก ไหนจะรสหวานละมุนลิ้นและเนื้อสัมผัสนุ่มฟูอีก อดใจไม่ไหวแล้วไปทำเลยดีกว่า
วัตถุดิบขนมไข่
- ไข่ไก่
- เนยสด
- น้ำตาลทราย
- ผงฟู
- แป้งเค้ก
- น้ำมะนาว
- น้ำเปล่า
วิธีทำขนมไข่
เราจะเริ่มจากการตอกไข่ใส่ภาชนะ จากนั้นเติมน้ำตาลทรายและน้ำมะนาวเล็กน้อย ใช้ตะกร้อไฟฟ้าตีให้น้ำตาลละลายดีและเนื้อขนมฟูเป็นเนื้อเนียนให้มากที่สุด ไข่ได้ที่แล้วเราจะหันมาผสมแป้งและผงฟูเข้าด้วยกัน จากนั้นร่อนแป้งใส่ลงในเนื้อขนมที่ตีไว้ ใช้ตะกร้อมือหรือไม้พายค่อย ๆ ตะล่อมแป้งให้เข้ากับเนื้อขนมอย่างช้า ๆ และเบามือ ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าแป้งและเนื้อขนมจะเนียนเป็นเนื้อเดียวกันเลยค่ะ เสร็จแล้วตักขนมใส่ถุงบีบเตรียมไว้
หยิบพิมพ์ขนมไข่ขึ้นมาค่ะ ทาเนยลงบนพิมพ์ให้ทั่ว จากนั้นนำพิมพ์เปล่า ๆ เข้าเตาอบจนพิมพ์ร้อนได้ที่ นำออกมาแล้วรีบบีบขนมใส่ลงในพิมพ์ขณะที่กำลังร้อน ๆ เลยค่ะ วิธีนี้จะช่วยให้เนื้อขนมไม่ติดกับพิมพ์ บีบขนมใส่จนเต็มพิมพ์แล้วกระแทกพิมพ์เล็กน้อยแล้วนำกลับเข้าไปอบอีกครั้งในอุณหภูมิ 190 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 10 นาที ขึ้นอยู่กับขนาดของพิมพ์ค่ะ หลังจากขนมสุกดีแล้วนำพิมพ์ออกมา แซะขนมออก ทาเนยแล้วรีบหยอดขนมตามลงไปตอนที่พิมพ์ยังร้อน ๆ นำเข้าเตาอบเหมือนเดิม แค่นี้ขนมไข่หอม ๆ ก็พร้อมรับประทาน
7. ขนมหม้อแกง

ตามมาติด ๆ กับขนมไทยโบราณที่อาจจะหาทานยากสักหน่อยในปัจจุบัน ตอนเด็ก ๆ นี่เราเคยได้ยินคำว่าหม้อแกงอร่อยต้องเป็นหม้อแกงเมืองเพชรอยู่บ่อย ๆ และหลังจากได้ลองชิมแล้วเราก็เข้าใจแล้วค่ะว่าทำไมหม้อแกงเมืองเพชรถึงได้ขึ้นชื่อลือชาไปทั่ว เพราะนอกจากกลิ่นหอมของกระเทียมเจียวแล้วเนี่ย จุดเด่นของขนมหม้อแกงจะอยู่ที่เนื้อคัสตาร์ดไข่ที่มีความนุ่มละมุน มีรสหวานนุ่มนวลของน้ำตาลมะพร้าว เมื่อกัดลงไปแล้วก็จะได้กลิ่นหอมอ่อน ๆ อบอวลอยู่ในปาก พร้อมทั้งเนื้อขนมยังนุ่มสุด ๆ แต่ตอนนี้จะให้เดินทางไปซื้อขนมหม้อแกงถึงเพชรบุรีก็คงจะไม่สะดวกสักเท่าไหร่เราเลยขอยกเพชรบุรีมาไว้ในครัวก็แล้วกันค่ะ ไปดูกันเลยกว่าว่าวัตถุดิบและวิธีการทำขนมหม้อแกงจะมีอะไรบ้าง
วัตถุดิบขนมหม้อแกง
- ไข่เป็ด
- หอมแดง
- ใบเตย
- แป้งข้าวเจ้า
- น้ำตาลมะพร้าว
- เกลือ
- กะทิ
- น้ำมันพืช
วิธีทำขนมหม้อแกง
ก่อนทำขนมเรามาทำหอมเจียวกันก่อนดีกว่าค่ะ ให้เพื่อน ๆ ซอยหอมเจียวตามแนวขวาง หอมจะได้ออกมาเป็นวงสวยงามค่ะ ซอยบาง ๆ หอมแดงจะได้กรอบ ๆ เสร็จแล้วตั้งกระทะใส่น้ำมัน เปิดไฟกลางค่อนอ่อน รอจนน้ำมันเริ่มอุ่นแล้วนำหอมลงไปเจียวจนเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทองเลยค่ะ ขณะเจียวก็ต้องคนอยู่ตลอดเวลานะคะ หอมเหลืองได้ที่แล้วเทออกจากกระทะใส่กระชอนเพื่อกรองหอมเจียวและน้ำมันออกจากกัน พักไว้ก่อน
ต่อมาล้างทำความสะอาดใบเตยและไข่เป็ด เช็ดให้แห้งสนิท นำใบเตยมาหั่นท่อน หันมาผสมกะทิและแป้งข้าวเจ้าเข้าด้วยกัน คนจนแป้งละลายเป็นเนื้อเดียวกันกะทิเลยค่ะ เสร็จแล้วตอกไข่ใส่ภาชนะใบใหญ่ ๆ หน่อยนะคะ ใส่ใบเตยลงไป เติมน้ำตาลมะพร้าวแล้วขยำไปเรื่อย ๆ จนกว่าน้ำตาลจะละลายดีเลยค่ะ จากนั้นเติมกะทิลงไปทีละน้อยและใส่เกลือตัดรสหวานลงไปอีกนิด ขยำจนส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดีแล้วนำมากรองผ่านผ้าขาวบางและรองกระชอนอีกหนึ่งชั้นเพื่อกรองเอาฟองและเศษลิ่มไข่ออก เนื้อขนมจะเนียนสวย
หยิบเอาภาชนะที่จะใส่หม้อแกงออกมาค่ะ นำน้ำมันหอมเจียวมาทาลงบนภาชนะให้ทั่ว ขนมจะได้ไม่ติดพิมพ์ ขณะเดียวกันก็หันไปวอร์มเตาอบรอได้เลยค่ะ เพื่อน ๆ จะใช้เตาอบไฟฟ้าหรือหม้ออบลมร้อนก็ได้นะคะ เสร็จแล้วหันมาเทขนมใส่พิมพ์จนเกือบเต็ม นำเข้าเตาอบอุณหภูมิ 170 องศาหรือ 150 องศาสำหรับเตาอบไฟฟ้า ส่วนเวลาเนี่ยอาจจะไม่สามารถระบุได้เพราะการอบขึ้นอยู่กับปริมาณของขนมค่ะ เพื่อน ๆ อาจจะคอยสังเกตด้วยสายตาตัวเองนิดนึง
8. ฝอยทอง

การทำฝอยทองถือว่าเป็นเมนูปราบเซียนเพราะนอกจากจะมีขั้นตอนการทำที่ค่อนข้างจะซับซ้อนแล้วเมนูนี้ยังต้องการความพิถีพิถันเป็นพิเศษ เริ่มตั้งแต่การบรรจงตอกไข่และเลือกเอาเศษไข่ขาวออกด้วยมือล้วน ๆ จากนั้นต้องหันมาควบคุมปริมาณความข้นหนืดของน้ำเชื่อมให้ออกมาพอดีไม่หวานหรือจืดจนเกินไป ขั้นตอนอาจจะดูเยอะและต้องใช้ความอดทนมากหน่อยแต่เชื่อเถอะค่ะว่าหลังจากเสร็จสมบูรณ์แล้วเพื่อน ๆ จะต้องภูมิใจในความวิจิตรอ่อนช้อยของตัวเองแน่นอน เพราะสิ่งที่คุณจะได้กลับมาก็คือแพฝอยทองที่เหลืองอมส้มสวยงามและมีขนาดเส้นตรงใจของคุณเป๊ะ ๆ กลิ่นฝอยทองหอม ๆ และรสหวานเย็นจะช่วยปลอบประโลมให้คุณหายเหนื่อยได้แน่นอนค่ะ อย่ารอช้าไปเข้าคอร์สฝึกความพิถีพิถันกันเถอะ
วัตถุดิบฝอยทอง
- ไข่เป็ด
- ไข่ไก่
- ใบเตย
- น้ำตาลทราย
- น้ำเปล่า
วิธีทำฝอยทอง
ก่อนอื่นเราจะต้องล้างเปลือกไข่ให้สะอาดก่อนค่ะ ตามด้วยล้างและหั่นท่อนใบเตยเตรียมไว้ เสร็จแล้วเราจะเตรียมภาชนะสามใบสำหรับใส่ไข่แดง, ไข่ขาว และไข่น้ำค้าง ภาชนะหนึ่งใบจะต้องรองด้วยกระชอนและมีผ้าขาวบางรองข้างบน ซึ่งไข่น้ำค้างก็คือไข่ขาวชั้นนอกที่มีลักษณะเหลว ๆ เหมือนน้ำ แต่เจ้าไข่น้ำค้างนี่แหละจะเป็นตัวช่วยให้ฝอยทองของเราเป็นเส้นสวยและไม่ขาดง่าย วิธีการทำเราจะตอกไข่เบา ๆ แล้วค่อย ๆ แกะและเทไข่แดงพร้อมไข่ขาวลงในภาชนะหนึ่งใบ ขั้นตอนนี้อาจจะต้องใช้ความรวดเร็วพอประมาณ เพราะหลังจากไข่ขาวหลุดออกจากเปลือกแล้วเราจะต้องพลิกเปลือกไข่ขึ้นมาทันทีเพื่อกันไม่ให้ไข่น้ำค้างหลุดตามไปด้วย จากนั้นเทไข่น้ำค้างลงในภาชนะอีกหนึ่งใบ ทำจนครบหมดทุกใบแล้วเราจะใช้มือค่อย ๆ ช้อนไข่แดงขึ้นมาแล้วดึงเอาเศษไข่ขาวออกให้หมดเกลี้ยง วางลงในภาชนะที่มีผ้าขาวบางค่ะ
ตั้งหม้อใส่น้ำและน้ำตาลในปริมาณเท่า ๆ กัน เปิดไฟอ่อน ๆ แล้วคนจนน้ำตาลละลายกลายเป็นน้ำเชื่อม ตอนที่น้ำเชื่อมยังเหลว ๆ อยู่เราจะเทใส่ภาชนะเอาไว้ก่อนเพื่อใช้เป็นน้ำเชื่อมใส จากนั้นตั้งกระทะใส่น้ำและน้ำตาลอีกครั้งในปริมาณเท่ากันเหมือนเดิม ใส่ใบเตยเพิ่มความหอมลงไปอีกนิด เปิดไฟกลางค่อนอ่อนแล้วคนไปเรื่อย ๆ จนกว่าน้ำตาลละลายและน้ำงวดลงจนหนืดขึ้นเล็กน้อย ระหว่างรอหันมาบีบไข่แดงผ่านผ้าขาวบางเพื่อกรองเอาเศษลิ่มไข่ออก จากนั้นผสมไข่น้ำค้างลงในไข่แดงแล้วคนให้เข้ากัน
น้ำเชื่อมงวดดีแล้วรอให้น้ำในกระทะเดือดเบา ๆ เฉพาะกลางกระทะ จากนั้นหยิบกรวยฝอยทองขึ้นมาค่ะ ใช้นิ้วอุดรูบริเวณปลายกรวยไว้ก่อนแล้วเทไข่ลงไปในกรวย ยกกรวยเหนือกระทะน้ำเชื่อมความสูงตามต้องการ ชอบเส้นใหญ่วางต่ำ ๆ ชอบเส้นเล็กวางสูง ๆ ปล่อยนิ้วที่อุดรูออกไข่จะไหลออกมา วนกรวยเป็นวงกลมรอบ ๆ วงน้ำที่เดือดจนได้แพขนาดตามต้องการ จากนั้นใช้ตะเกียบลากผ่าครึ่งจากขอบด้านหนึ่งไปอีกด้านแล้วยกขึ้น ส่ายฝอยทองในน้ำเชื่อม 2 – 3 รอบ แล้วยกลงล้างในน้ำเชื่อมใส ยกขึ้นวางบนตะแกรงแล้วจัดเป็นแพให้สวยงาม ก่อนเริ่มรอบใหม่ตักเอาเศษลิ่มไข่ออกจากกระทะให้หมดก่อน ทำจนหมดแล้วพักให้ฝอยทองเย็นตัวจึงจัดเสิร์ฟได้ค่ะ
9. สังขยาฟักทอง

ถัดมาเป็นสังขยาฟักทองเนื้อเนียนนุ่มที่สอดไส้อยู่ภายในฟักทองเนื้อหวานมัน หลายคนอาจจะเคยทานเมนูนี้มาบ้างแล้วและต้องติดใจกับรสชาติความอร่อยแน่นอน ขอบอกเลยว่าสังขยาฟักทองเป็นอีกหนึ่งเมนูของหวานแบบไทย ๆ ที่มีมานานและสามารถทำได้ง่าย ๆ ที่บ้านค่ะ เพียงแค่เพื่อน ๆ ผสมไข่เป็ดและไข่ไก่เข้าด้วยกัน ขยำพร้อมกับน้ำตาลมะพร้าวรสชาติหวานละมุนและใบเตยกลิ่นหอมจับใจที่ช่วยลดกลิ่นคาวของไข่ได้เป็นอย่างดี เนื้อขนมเข้ากันได้ที่แล้วก็จะนำมากรองผ่านกระชอนเพื่อเพิ่มความเนื้อนุ่มของเนื้อคัสตาร์ดและค่อย ๆ ยอดลงในฟักทองที่คว้านเอาไส้ออกเรียบร้อยแล้ว จากนั้นนำมานึ่งด้วยความร้อนที่กำลังพอดี ใช้เวลาไม่นานสังขยาฟักทองรสชาติหวานอร่อยก็พร้อมรับประทานแล้วค่ะ ยิ่งได้แช่เย็นก่อนทานก็จะยิ่งเพิ่มความอร่อยขึ้นอีกเท่าตัว พิมพ์ไปก็กลืนน้ำลายไป เราไปดูวัตถุดิบและวิธีการทำสังขยาฟักทองแบบละเอียดได้ที่ เมนูไข่: สังขยาฟักทอง กันเลย
10. ขนมผิง

ปิดท้ายกันด้วยขนมไทยโบราณอีกหนึ่งชนิดที่หาทานได้ยากแต่ทำเองได้ง่าย ๆ เช่นกัน ขนมผิงเปรียบเสมือนคุกกี้แบบไทย ๆ ที่มีรสชาติหวานอ่อน ๆ เนื้อสัมผัสเบา ๆ ที่คนไทยทานเล่นกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมทีขนมผิงดัดแปลงมาจากขนมโปรตุเกส คนแรกที่คิดค้นเจ้าขนมน่ารักชนิดนี้ขึ้นมาก็คือท้าวทองกีบม้าค่ะ จากสูตรโปรตุเกสก็นำมาดัดแปลงใช้ของไทย ๆ ให้คนไทยทานจนกลายมาเป็นขนมผิงน่ารัก ๆ อย่างที่เรากำลังจะทำกันในวันนี้ เอาล่ะ ไปดูกันเลยดีกว่าว่าเจ้าขนมผิงเนี่ยมีวัตถุดิบและวิธีการทำอย่างไรบ้าง
วัตถุดิบขนมผิง
- ไข่เป็ด
- แป้งถั่วเขียวหรือแป้งมันสำปะหลัง
- น้ำตาลทราย
- กะทิอบควันเทียน
วิธีทำขนมผิง
ขั้นตอนแรกเราจะนำแป้งมาคั่วในกระทะจนกว่าแป้งจะสุกหรือร้อนก่อนค่ะ ขั้นตอนนี้ต้องแน่ใจนะคะว่ากระทะหรือตะหลิวที่นำมาใช้ต้องแห้งสนิท ไม่มีไอน้ำ เพราะถ้ามีไอน้ำเนี่ยแป้งจะเกาะตัวเป็นก้อน ไม่สามารถนำมาใช้ได้ค่ะ แป้งร้อนได้ที่แล้วยกลงใส่ภาชนะแล้วพักให้หายร้อนก่อน หันมาเทกะทิใส่หม้อตามด้วยน้ำตาลในปริมาณเท่า ๆ กัน จากนั้นนำขึ้นตั้งเตา ใช้ไฟกลางเคี่ยวไปเรื่อย ๆ จนกว่าน้ำตาลจะละลายดีและส่วนผสมในหม้อเป็นฟูค่อนข้างจะละเอียด วิธีสังเกตคือเราจะยกตะหลิวขึ้น ถ้าน้ำกะทิไหลลงมาเป็นสายไม่ขาดท่อนแปลว่ากะทิได้ที่ดีแล้วค่ะ ยกลงพักให้หายร้อน
ตอกไข่ใส่ภาชนะ แยกเอาเฉพาะไข่แดงใส่ลงในหม้อกะทิ คนให้ส่วนผสมเข้ากันดี จากนั้นค่อย ๆ แบ่งกะทิใส่ภาชนะที่มีแป้งอยู่ นวดจนกว่าแป้งจะเข้ากับส่วนผสมทั้งหมดดีและจับตัวเป็นก้อน หลังจากนั้นเราจะปั้นแป้งเป็นก้อนกลม ๆ เล็ก ๆ หรือจะปั้นเป็นรูปร่างต่าง ๆ ตามชอบเลยค่ะ วางลงบนถาดที่รองด้วยกระดาษไข พักให้แป้งแข็งขึ้นอีกสักครู่แล้วนำเข้าเตาอบอุณหภูมิ 170 องศาเซลเซียส ใช้ไฟบน – ล่างประมาณ 15 – 20 นาทีค่ะ ครบเวลาแล้วนำขนมออกจากเตา พักให้หายร้อนสนิทก่อนจึงเก็บใส่ภาชนะหรือนำมารับประทาน
และทั้งหมดนี่ก็คือสูตรเมนูขนมหวานที่มีส่วนผสมของไข่ที่เรานำมาฝากเพื่อน ๆ คะ เป็นอย่างไรกันบ้างคะ เมนูที่เรานำมาฝากมีเมนูโปรดเพื่อน ๆ บ้างมั้ยเอ่ย? หลังจากได้ลองอ่านสูตรและวิธีทำแล้วเพื่อน ๆ อยากลองทำขนมทานกันแล้วใช่ไหมล่ะ ระวังอย่าเผลอทำทานบ่อยจนลืมออกกำลังกายกันล่ะ แล้วก็หลาย ๆ เมนูเนี่ยจะใช้ใช่แดงเป็นส่วนผสมจนต้องแยกไข่ขาวออกมาค่อนข้างเยอะ เพื่อน ๆ ไม่ต้องทิ้งไข่ขาวเหล่านั้นไปก็ได้นะคะ มันน่าเสียดายมาก ๆ เลย เราสามารถนำไข่ขาวเหล่านั้นมาดัดแปลงเป็นเมนูจากไข่ขาวได้อีกมากมายเลยค่ะ ถือว่าทำขนมแล้วทานเมนูไข่ขาวเข้าไปทดแทนสักนิดจะได้รู้สึกผิดน้อยลง (รึเปล่า?)
Reference
- ขนมไทย– วิกิพีเดีย