ทุกครั้งที่เราซื้อสลัดสำเร็จรูปมาทานหรือเวลาที่เราออกไปทานสลัดตามร้านอาหารข้างนอก เพื่อน ๆ เคยสงสัยกันบ้างไหมคะ ว่าในแต่ละจานนั้นมีผักสลัดประเภทไหนบ้างที่เราทานและไม่ชอบ? แล้วแต่ละตัวมีชื่อเรียกว่าอะไรบ้าง? เพราะแม้ว่าน่าตาของผักสลัดจะดูคล้าย ๆ กัน แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าผักแต่ละสายพันธุ์ก็มีรสชาติและประโยชน์ที่ต่างกันออกไป ผักบางชนิดก็มีรสขม บางชนิดก็มีกลิ่นเหม็นเขียวที่ไม่น่าอภิรมย์สักเท่าไหร่ และบางชนิดก็มีประโยชน์มากกว่าเรื่องขับถ่าย เพื่อให้เพื่อน ๆ ได้รู้จักคุณค่าทางโภชนาการและประโยชน์ของผักสลัดที่คนไทยนิยมทานกัน วันนี้เราจึงได้รวบรวม “10 ผักสลัด ไขมันต่ำ ประโยชน์สูง” มาฝากกันค่ะ จะมีอะไรบ้าง? แล้วหน้าตาจะเหมือนกันที่เพื่อน ๆ เคยบ้างมั้ย? ตามมาดูกันเลยจ้าา!
1. ผักกาดหอม (Lettuce)

จริงแล้ว ๆ ผักกาดหอมที่เราเรียกกันจนเคยชินมีอีกชื่อว่า กรีนโครอล (Green Coral Lettuce) เป็นผักสลัดที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป มักใช้เป็นผักเครื่องเคียงเสิร์ฟคู่กับสาคูไส้หมู ข้าวเกรียบปากหม้อ หรือขนมจีบ ลักษณะใบของผักกาดหอมจะมีขนาดใหญ่ มีสีเขียวอ่อน และค่อนข้างหยิกมากกว่าผักกาดหอมสายพันธุ์อื่น ๆ เทกเจอร์จะมีความกรอบหน่อย ๆ รสชาติเบา ๆ ทานง่าย ไม่ขมและไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นทานผักสลัด การเก็บรักษาผักกาดหอมนั้นสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้ประมาณ 3-4 วัน แต่จะต้องห่อใส่ถุงพลาสติกป้องกันไอเย็นสัมผัสโดนใบผักกาดหอม มิเช่นนั้นจะทำให้ใบเหี่ยวและช้ำได้ง่าย
คุณค่าทางโภชนาการ & ประโยชน์ ของผักกาดหอม (1,2)
ผักกาดหอมเป็นผักที่มีแคลอรี ไขมัน และโซเดียมที่ต่ำมาก โดยจะอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ, ไฟเบอร์, ธาตุเหล็ก, โฟเลต, วิตามินเอ และวิตามินซีในปริมาณที่สูง มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ, ช่วยลดโคเลสเตอรอลในเลือด, ช่วยลดน้ำหนัก, ส่งเสริมสุขภาพสมอง, บำรุงสายตา ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย
2. ผักกาดแก้ว (Iceberg Lettuce)

ผักกาดแก้วหรือที่มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า คริปส์เฮด (Crisphead) ลักษณะเด่น ๆ ของผักกาดแก้วคือจะเป็นหัวกลม ๆ ส่วนใบจะมีความแข็งแรง ม้วนเป็นลอนหลวม ๆ เทกเจอร์เน้นไปทางกรุบกรอบ ตรงปลายใบจะมีความหยักเล็กน้อย ดูภายนอกจะเป็นทรงกลมคล้ายกับกะหล่ำปลี แต่ใบกะหล่ำปลีจะแข็งและม้วนกันแน่นมากกว่า นิยมทานเป็นสลัด หรือทานคู่กับทาโก้, แซนด์วิช และเบอร์เกอร์ เนื่องจากความกรอบของมันจะช่วยเพิ่มรสสัมผัสตอนเคี้ยวให้อร่อยมากยิ่งขึ้น ส่วนรสชาติจริง ๆ ของผักกาดแก้วนั้นแทบจะไม่มีรสชาติเลย เมื่อเทียบกับผักกาดหอมแล้วผักกาดแก้วมีรสชาติน้อยกว่ามาก แถมยังไม่เหม็นอีกด้วย ทานแล้วช่วยดับกระหายได้ดีเนื่องจากมีความฉ่ำน้ำพอสมควร มีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่ดื่มน้ำน้อย ถือว่าเป็นผักสลัดที่ค่อนข้างทานง่าย เก็บรักษาได้นาน 5-7 วัน เหมาะสำหรับคนที่ต้องการซื้อมาเก็บไว้ทานหลาย ๆ มื้อมากค่ะ
คุณค่าทางโภชนาการ & ประโยชน์ ของผักกาดแก้ว (3-6)
ผักกาดแก้วเป็นแหล่งรวมวิตามินเอ, วิตามินเค และวิตามินซีที่ดี ทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินบี วิตามินบี 6 และโฟเลต เหมาะสำหรับใช้ลดน้ำหนักเพราะมีแคลอรีเพียง 16 แคลอรีต่อ 100 กรัม โดยส่วนใหญ่ประกอบด้วยน้ำประมาณ 96% และไฟเบอร์อีกจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีโพแทสเซียมในปริมาณระดับปานกลาง มันจึงมีส่วนช่วยในการต่อสู้กับโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ด้วย ใบที่กรอบและแน่นของมันจะคอยเก็บความชื้นและเส้นใยอาหารเอาไว้ จึงช่วยให้คุณขับถ่ายได้อย่างราบรื่น ป้องกันอาการท้องผูกได้ดีมากค่ะ
3. กรีนโอ๊ค (Green Oak Lettuce)

กรีนโอ๊คจัดอยู่ในหมวดเดียวกับผักกาดหอมอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่นิยมทานกันอย่างแพร่หลาย ลักษณะใบของกรีนโอ๊คจะมีความอ่อนนุ่มที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความหยักศกทั่วทั้งใบ หลาย ๆ คนบอกว่าความนุ่มของมันช่วยทำให้ทานผักง่ายขึ้น เพราะเคี้ยว ๆ เพียงไม่กี่คำก็กลืนได้ทันที รสชาติจะออกหวานนิด ๆ เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นทานผักสด สำหรับการเก็บรักษานั้นบอกเลยค่ะว่าช้ำง่ายมาก แช่ในตู้เย็นเพียง 1-2 วันก็เหี่ยวแล้วค่ะ
คุณค่าทางโภชนาการ & ประโยชน์ ของกรีนโอ๊ค (1,2)
สำหรับคุณค่าทางโภชนาการนั้นเนื่องจากกรีนโอ๊คจัดอยู่ในตระกลูเดียวกับผักกาดหอม ดังนั้นมันมีจึงวิตามินและแร่ธาตุใกล้เคียงกับผักกาดหอมทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น วิตามินเอ, วิตามินบี 1, วิตามินซี, วิตามินเค, โมลิบดีนัม, ไฟเบอร์, แมงกานีส, โพแทสเซียม, ทองแดง และธาตุเหล็ก โดยการทานกรีนโอ๊คจะช่วยปรับปรุงการย่อยอาหาร ทำให้คุณขับถ่ายง่ายขึ้น ช่วยส่งเสริมการลดน้ำหนัก อีกทั้งยังดีต่อสตรีมีครรภ์อีกด้วยนะคะ
4. เรดโอ๊ค (Red Oak Lettuce)

เรดโอ๊คเป็นผักสลัดที่ใครเห็นเป็นต้องจำได้ เพราะน้องมาในสีทูโทนเขียวแดง โดยช่วงก้านของใบจะเป็นสีเขียว ส่วนช่วงกลางใบไปจนถึงขอบใบจะเป็นสีแดงอมน้ำตาลเข้ม ลักษณะใบของเรดโอ๊คไม่ว่าจะเป็นผิวสัมผัสหรือรูปทรงจะมีความคล้ายกับกรีนโอ๊คทุกอย่าง นั่นคือมีความหยักศกทั่วทั้งใบและก็มีความนิ่มเหมือนกัน ส่วนรสชาติก็หวานนิด ๆ ทานง่าย ไม่ขม ไม่เหม็น ด้วยความสวยของใบเรดโอ๊คทำให้นิยมทานคู่กับผักสลัดสีเขียวชนิดอื่น ๆ เพื่อแต่งแต้มจานสลัดให้ดูสวยงามน่ารับประทาน ข้อเสียเพียงอย่างเดียวของเรดโอ๊คคือเมื่อถูกบรรจุในถุงที่ปิดมิดชิด จะทำให้เราดูตรวจสอบความช้ำของใบก่อนซื้อยากมาก เนื่องจากสีใบที่เข้มเกินไปทำให้เรามองไม่เห็นรอยช้ำเลยค่ะ
คุณค่าทางโภชนาการ & ประโยชน์ ของเรดโอ๊ค (1,2,7)
แน่นอนว่าเรดโอ๊คก็มีคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกับผักกาดหอมและกรีนโอ๊คทุกประการ เป็นแหล่งไฟเบอร์ชั้นดี มีแคลอรีต่ำ ปราศจากไขมันและโคเลสเตอรอล อุดมไปด้วยวิตามินเอ, วิตามินเค, วิตามินซี, โฟเลต และธาตุเหล็กอีกเล็กน้อย โดยจะเน้นไปที่วิตามินเอจำนวนมาก ซึ่งเป็นวิตามินที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพดวงตา รวมถึงมีส่วนช่วยสนับสนุนภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง และช่วยลดการดูดซึมโคเลสเตอรอลในเลือดได้อีกด้วย สำหรับสีแดงที่เราเห็น ๆ อยู่นั้นก็มาจากสารต้านอนุมูลอิสระที่ชื่อว่า “แอนโธไซยานิน” ที่มีความสำคัญในการปกป้องดวงตาเมื่อเราอายุมากขึ้นอีกด้วยนะคะ
5. ผักคอส / ผักกาดโรเมน (Cos / Romaine Lettuce)

สำหรับน้องผักชนิดนี้มีชื่อเรียกที่หลากหลายมากเลยค่ะ หากอยากโกอินเตอร์หน่อยก็เรียกน้องว่า “ผักโรเมน” เมื่อย้ายมาอยู่เมืองไทยบางคนก็เรียกน้องว่า “ผักกาดหวาน” แต่ถ้าอยากให้ดูสนิทสนมเป็นกันเองมากขึ้นก็เรียกน้องว่า “ผักคอส” แล้วกันค่ะ สำหรับผักคอสจะมีลักษณะใบเรียวยาว มีเขียวอ่อนสวยน่ารับประทาน มีรสชาติเฉพาะตัว รสชาติออกหวาน ๆ ผสมขมนิด ๆ แต่จะไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว จุดเด่นคือความกรอบอร่อยที่ลงตัว เพราะตรงส่วนบนของใบจะอ่อนนุ่ม ในขณะที่ส่วนล่างจะกรุบกรอบและมีรสขมเล็กน้อย นิยมนำไปทำเป็นเมนูซีซ่าร์สลัดหรือทานคู่กับหมูย่างเกาหลีก็อร่อยเข้ากันสุด ๆ เพราะเป็นผักที่ทนความร้อนได้ดีกว่าผักสลัดชนิดอื่น ทำให้ความร้อนจากเนื้อย่างไม่ส่งผลต่อความกรอบเลยแม้น้อย และแม้ว่าผักคอสจะเก็บได้นานหลายวันแต่เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด แนะนำว่าควรทานภายใน 2-3 วันหลังจากซื้อมาจะดีที่สุดค่ะ
คุณค่าทางโภชนาการ & ประโยชน์ ของผักคอส (8)
ผักกาดโรเมนหรือผักคอสจะอุดมไปด้วยไฟเบอร์จำนวนมาก ทั้งยังเป็นแหล่งรวมวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็น อาทิเช่น แมกนีเซียม, ฟอสฟอรัส, โพแทสเซียม, โฟเลต, วิตามินเอ, วิตามินซี และวิตามินเค หากถามว่าผักกาดหอมชนิดใดที่มีไฟเบอร์มากที่สุด? ก็ต้องยกให้ผักคอสจริง ๆ ค่ะ เพราะผักคอส 100 กรัม จะมีไฟเบอร์ประมาณ 2 กรัม ในขณะที่ผักกาดแก้วมีไฟเบอร์ประมาณ 1.7 กรัม ส่วนผักกาดหอมชนิดอื่น ๆ ที่มีสีเขียวจะไฟเบอร์ประมาณ 0.9 กรัม ดังนั้นใครที่มีปัญหาเรื่องระบบขับถ่ายต้องทานผักคอสเท่านั้นค่ะ และหากมองในแง่ของวิตามินแล้ว ผักคอสหนึ่งถ้วยให้ วิตามินเอมากกว่า 50% ของความต้องในแต่ละวันของคุณ ดังนั้นจึงส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพดวงตาในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ
6. เรดโครอล / ผักกาดหอมแดง (Red Coral Lettuce)

เรดโครอลหรือผักกาดหอมแดง ที่หากมองดูเผิน ๆ แล้วจะคล้ายกับเรดโอ๊คเพราะเป็นผักสีเขียวแดงเหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วเรดโครอลจะมีลักษณะของใบที่หยิกมากกว่าคล้ายกับปะการังตามชื่อของมัน (Coral – ปะการัง) ทั้งยังมีขนาดใหญ่กว่าด้วย โดยสีแดงของเรดโครอลจะเป็นสีแดงอมม่วงที่ดูสว่างกว่า ส่วนสีแดงของเรดโอ๊คที่เป็นสีแดงอมน้ำตาลที่ดูหม่น ๆ สำหรับเรดโครอลจัดเป็นผักชนิดเดียวกันกับผักกาดหอม (กรีนโครอล) ตัวแรกที่เรารีวิวไว้ แต่จะต่างกันก็แค่สี ดังนั้นใบของมันจึงมีเนื้อสัมผัสกรอบและชุ่มฉ่ำอยู่ตลอดเวลา ทั้งยังมีรสชาติอ่อน ๆ แต่ก็มีรสขมเล็กน้อยนะคะ ทำให้นำไปทานเมนูอื่น ๆ ได้หลากหลาย เพราะนอกจากทานสด ๆ แล้วก็ยังสามารถผัด ตุ๋น นึ่ง และย่างได้อีกด้วย แต่หากถามว่าระหว่างเรดโครอลกับกรีนโครอลควรเลือกทานแบบไหนดี? ก็ต้องตอบตามตรงว่ายิ่งผักมีใบสีเขียวมากเท่าไหร่ก็ยิ่งให้สารอาหารมากขึ้นเท่านั้นค่ะ
คุณค่าทางโภชนาการ & ประโยชน์ ของเรดโครอล (1,2)
เรดโครอลหรือผักกาดหอมแดงเป็นหนึ่งในผักสลัดที่มีแคลอรีต่ำมาก และยังเป็นแหล่งรวมของวิตามินเอและเบต้าแคโรทีนที่ดีเยี่ยม อีกทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินเค, วิตามินซี, และโฟเลต นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุมากมาย เช่น ธาตุเหล็ก, แมกนีเซียม, แคลเซียม และโพแทสเซียม นอกจากช่วยให้ขับถ่ายคล่องแล้วก็ยังดีต่อการลดน้ำหนัก อีกทั้งยังช่วยดูแลสุขภาพดวงตา, ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก, ลดความเสี่ยงของโรคเกาต์ รวมถึงช่วยรักษาโรคโลหิตจางได้ด้วยค่ะ
7. ฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก (Frillice Iceberg Lettuce)

จุดเด่นของฟิลเลย์ ไอซ์เบิร์กคือลักษณะใบที่หยิกเป็นพิเศษคล้ายกับเกล็ดน้ำแข็งจนเป็นที่มาของชื่อ “ไอซ์เบิร์ก” แม้ว่าหน้าตาจะคล้ายกับผักกาดหอมแต่จะหยิกมากกว่าค่ะ ในส่วนความกรอบนั้นฟิลเลย์ ไอซ์เบิร์กก็ยังกรอบมากกว่าด้วย จึงช่วยเพิ่มเนื้อสัมผัสขณะที่เคี้ยวได้ดี ทำให้รู้สึกอร่อยไปอีกแบบ ในส่วนของรสชาตินั้นค่อนข้างทานง่าย แต่จะมีรสขมเล็กน้อย ตรงแกนด้านล่างของใบมีความฉ่ำน้ำพอสมควร ช่วยดับกระหายได้ดี เรียกว่าเป็นลูกผสมระหว่างผักกาดหอมกับผักกาดแก้วก็ได้ค่ะ สามารถใช้ทานเป็นผักเครื่องเคียงหรือทานสด ๆ เป็นจานสลัดก็ได้เช่นกัน การเก็บรักษาอยู่ได้นานประมาณ 3-4 วันเลยค่ะ
คุณค่าทางโภชนาการ & ประโยชน์ ของฟิลเลย์ ไอซ์เบิร์ก (1,2)
ฟิลเลย์ ไอซ์เบิร์กมีสารอาหารเช่นเดียวกับผักกาดหอมสีเขียวชนิดอื่น ๆ ที่มีแคลอรีต่ำ อุดมไปด้วยไฟเบอร์ ธาตุเหล็ก โพแทสเซียม และวิตามินซีจำนวนมาก จึงมีส่วนช่วยในการสร้างเม็ดเลือด, ช่วยเรื่องระบบย่อย, บำรุงสายตา, บำรุงกล้ามเนื้อ, เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน, ทั้งยังช่วยล้างผนังลำไส้ และช่วยขับน้ำนมสำหรับคุณแม่มือใหม่อีกด้วยนะคะ
8. บัตเตอร์เฮด (Butterhead Lettuce)

ชื่อบัตเตอร์เฮดนี้ได้มาจากลักษณะของใบที่อ่อนนุ่มราวกับเนย มีรูปทรงกลม ๆ เหมือนหัวกะหล่ำปลี ใบจะซ้อนกันหนาแต่จะไม่อัดแน่นมากเกินไป มองเผิน ๆ จะคล้ายกับกลีบดอกกุหลาบ มีทั้งสีเขียวเข้ม สีเขียวอ่อน และสีแดง แต่โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นสีเขียวเข้มมากกว่า สายพันธุ์บัตเตอร์เฮดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ บอสตัน (Boston) และ บิบบ์ (Bibb) ดังนั้นจึงทำให้หลายคนเรียกบัตเตอร์เฮดว่า “ผักกาดบอสตัน” ในส่วนของรสชาตินั้นจะมีความหวานกรอบ (กรอบไม่มาก) และฉ่ำน้ำ เข้ากันได้ดีกับน้ำสลัด อีกทั้งยังเหมาะที่จะใช้ทำแซนด์วิชและเบอร์เกอร์เพราะลักษณะใบที่แบนราบทำให้จัดวางได้สวยงาม หากคุณกำลังพยายามตัดพวกแป้งหรือคาร์โบไฮเดรต ให้ใช้ใบบัตเตอร์เฮดมาห่อแทนแผ่นแป้งเนื่องจากมันมีขนาดใหญ่และยืดหยุ่นได้ดีมาก ในการเก็บรักษานั้นหากเก็บบัตเตอร์เฮดไว้ในถุงที่ปิดสนิทและนำไปแช่เย็น ก็จะสามารถอยู่ได้นาน 2-3 วัน
คุณค่าทางโภชนาการ & ประโยชน์ ของบัตเตอร์เฮด (9)
บัตเตอร์เฮดมีธาตุเหล็ก, วิตามินเอ และวิตามินเคสูงเป็นพิเศษ รองลงมาก็จะเป็น โฟเลต แมงกานีส และโพแทสเซียม ที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกและต่อสู้กับโรคที่เกิดจากการอักเสบ ทั้งยังมีส่วนช่วยในการมองเห็น เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น ส่งเสริมการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงและยังช่วยลดความเหนื่อยล้าได้อีกด้วย
9. ผักร็อคเก็ต / ผักอลูกูล่า (Rocket / Arugula Lettuce)

การเรียกชื่อผักชนิดนี้จะมี 2 แบบคือเรียกว่า “ร็อคเก็ต” ที่เป็น British English ส่วนอีกชื่อคือ “อลูกูล่า” ซึ่งเป็นแบบ American English ดังนั้นใครจะสะดวกใจเรียกแบบไหนก็มีความหมายเดียวกันค่ะ ร็อคเก็ตเป็นผักที่มีลักษณะของใบที่แตกต่างจากผักทั่วไป ทำให้มองครั้งแรกก็รู้ทันทีว่านี้คือร็อคเก็ต!! รสชาติของร็อคเก็ตจะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีทั้งรสเผ็ดร้อน (คล้ายมัสตาร์ด) ผสมเปรี้ยวปนขมเล็กน้อย นิยมทานร่วมผักใบเขียวชนิดอื่น ๆ ผสมกับน้ำส้มสายชูหมักบัลซามิก, มะเขือเทศ และพาร์เมซานชีส รับรองว่าอร่อยอย่าบอกใครเลยค่ะ แนะนำให้ทานร็อคเก็ตแบบดิบจะได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์มากกว่าการนำร็อคเก็ตไปผ่านความร้อนค่ะ
คุณค่าทางโภชนาการ & ประโยชน์ ของร็อคเก็ต(10-12)
เนื่องจากร็อคเก็ตเป็นพืชสีเขียวที่เต็มไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระอีกมากมาย อาทิเช่น วิตามินซี, วิตามินเค, วิตามินเอ, กรดโฟลิก, แคโรทีนอยด์, โพแทสเซียม, แมงกานีส, เหล็ก และแคลเซียม ดังนั้นมันจึงเหมาะสำหรับใช้ดีท็อกซ์ร่างกาย, ช่วยเพิ่มสุขภาพกระดูก, ต้านการอักเสบ, ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน, ป้องกันมะเร็งบางชนิด, ช่วยปรับปรุงสายตา, เพิ่มการดูดซึมแร่ธาตุ และส่งเสริมการลดน้ำหนัก อีกทั้งยังลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานอีกด้วย
10. เบบี้สปิแนช (Baby Spinach)

เบบี้สปิแนชหรือก็คือผักโขมย่อส่วนที่สามารถนำมาปรุงทำเป็นอาหารด้วยการต้ม อบ หรือรับประทานแบบดิบ ๆ ก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่ผู้คนมักนิยมนำเบบี้สปิแนชมาผสมในไข่เจียวและเครื่องสมูทตี้มากกว่า ลักษณะของใบเบบี้สปิแนชจะกลมมนมีขนาดเล็ก ค่อนข้างอ่อนนุ่ม ทำให้เคี้ยวได้ง่าย เหมาะสำหรับทั้งเด็กและผู้สูงอายุ หากทานแบบดิบ ๆ จะมีรสชาติหวานอร่อย (หวานกว่าผักโขม) คุณสามารถเก็บเบบี้สปิแนชในตู้เย็นได้ประมาณ 2-3 วัน แต่หากไม่ชอบทานแบบดิบ ๆ แนะนำให้ลวกใบเบบี้สปิแนชแล้วแช่แข็งไว้ก็ได้ค่ะ โดยจะสามารถเก็บได้นานประมาณ 10 เดือน
คุณค่าทางโภชนาการ & ประโยชน์ ของเบบี้สปิแนช (1-12)
เบบี้สปิแนชอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุมากมาย อย่าง แคลเซียม, โฟเลต, ธาตุเหล็ก, แมกนีเซียม, ฟอสฟอรัส, โพแทสเซียม, วิตามินเอ, วิตามินบี 6, วิตามินซี, วิตามินอี และวิตามินเค ทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระอย่าง ลูทีน ซีแซนทีน ไนเตรต และเควอซิติน ซึ่งล้วนดีต่อสุขภาพโดยรวมทั้งสิ้น จึงช่วยดูแลสุขภาพดวงตา, สุขภาพหัวใจ, ช่วยป้องกันมะเร็ง, ลดความเสี่ยงของโรคโลหิตจาง, ช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก, เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันทำให้ร่างกายของคุณต่อสู้กับการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้โฟเลตก็ยังดีต่อคุณแม่ที่ตั้งครรภ์อีกด้วยนะคะ
วิธีล้างผักอย่างไรให้สะอาดและปลอดสารพิษ (13-15)
ถึงแม้ว่าการกินผักและผลไม้จะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่หากคุณทานผักและผลไม้ที่มีสารพิษที่ตกค้างก็อาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี ฉะนั้นการทานผักและผลไม้ในแต่ละครั้งจึงต้องล้างให้สะอาดก่อนทุกครั้ง เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วผักและผลไม้มักจะมีสิ่งปนเปื้อนติดมาด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็น เชื้อโรคเชื้อแบคทีเรียจากดินหรือจะเป็นพวกสารเคมีที่ใช้กำจัดศัตรูพืช ดังนั้นการล้างผลไม้และผักสดเพื่อลดสารตกค้างจึงเป็นเรื่องสำคัญมากค่ะ
- แช่ในน้ำเกลือ : การล้างด้วยน้ำเกลือที่มีความเข้มข้น 10% โดยแช่ทิ้งไว้เป็นเวลา 20 นาที จะช่วยลดสิ่งสกปรกหรือสิ่งปนเปื้อนที่เกาะอยู่บนพื้นผิวของผักและผลไม้ออกไปได้ประมาณ 75-80%
- แช่ในน้ำส้มสายชู : ผสมน้ำส้มสายชู 10% ในน้ำสะอาด 90% คนให้เข้ากัน จากนั้นก็ให้นำผักและผลไม้มาแช่ไว้ประมาณ 20 นาที แล้วจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง น้ำส้มสายชูจะสามารถขจัดแบคทีเรียหลายชนิดในอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพเลยค่ะ
- ทำความสะอาดด้วยเบกกิ้งโซดา : การล้างผักและผลไม้ด้วยเบกกิ้งโซดาในปริมาณ ½ ช้อนโต๊ะ จะช่วยกำจัดพวกสารเคมีพวกยาฆ่าแมลงได้ โดยการแช่ทิ้งไว้อย่าง 15 นาที แล้วจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง วิธีนี้จะช่วยล้างสารพิษออกได้อย่างน้อย 90-95% ค่ะ
- ล้างด้วยน้ำเย็น : ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อค่ะว่าการล้างผักและผลไม้ด้วยน้ำเย็นเพียงอย่างเดียวก็สามารถลดสารพิษที่ตกค้างได้ถือเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่ไม่ต้องใช้ไอเทมลับใด ๆ เลยค่ะ
- ใช้เครื่องล้างผัก : สำหรับใครที่ต้องการตัวช่วยประหยัดเวลามากกว่านี้ คุณสามารถใช้เครื่องล้างผักและผลไม้ที่จะทำงานโดยการปล่อยโอโซนออกมาเป็นฟองเล็ก ๆ ในน้ำ เมื่อก๊าซไปเกาะตัวกับสารเคมี, แบคทีเรีย และเชื้อโรคต่าง ๆ แล้ว มันจะเกิดการออกซิไดส์จนเซลล์แตกและถูกกำจัดออกไป ยิ่งใช้คู่กับน้ำยาล้างผักและผลไม้ก็ยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
วิธีเก็บผักสลัดให้สดได้นานที่สุด
แยกประเภทผักออกจากกัน
อย่างที่ทราบกันดีว่าผักสลัดจัดเป็นผักที่เน่าเสียได้ง่ายที่สุด ดังนั้นหากคุณไม่อยากให้ผักชนิดอื่น ๆ ในตู้เย็นเน่าเสียตาไปด้วย ควรแยกประเภทผักออกจากกันค่ะ
ควรล้างผักก่อนเก็บในตู้เย็นหรือไม่ ?
จริง ๆ แล้วเราไม่ควรล้างผักก่อนนำไปเก็บในตู้เย็นค่ะ หากจะรับประทานค่อยนำออกมาล้างจะดีกว่า เพราะถ้าล้างผักแล้วเราผึ่งไม่แห้งดีความชื้นที่หลงเหลืออยู่นั้นจะเป็นตัวเร่งทำให้ผักเน่าเร็วยิ่งขึ้น แต่หากคุณมั่นใจว่าสามารถทำให้ผักแห้งได้อย่างสนิทก็สามารถล้างผักก่อนเก็บได้ค่ะ

แต่อย่างไรก็ดี เรามีเคล็บลับที่ช่วยให้คุณเก็บผักแบบที่ล้างแล้วได้โดยไม่ต้องกังวลว่ามันชื้นเกินไปนั่นคือการนำกระดาษทิชชูแผ่นใหญ่ (Kitchen roll) มาห่อตัวผักสลัดเอาไว้ โดยห่อแบบหลวม ๆ ไม่ต้องแน่นมากนะคะ วิธีนี้จะช่วยดูดซับความชื้นจากผักได้อย่างดีเลยค่ะ
เก็บในภาชนะที่มิดชิด
เมื่อล้างและห่อผักด้วยกระดาษทิชชูเรียบร้อยแล้วให้เพื่อน ๆ นำถุงซิปล็อคมาเก็บผักไว้ โดยอย่าลืมไล่อากาศและปิดปากถุงให้สนิท หากไม่แน่ใจว่าไล่อากาศออกหมดแล้วหรือไม่ ให้เพื่อน ๆ ใช้หลอดดูด ดูดอากาศภายในถุงออกได้ค่ะ หรือหากไม่มีถุงซิปล็อคสามารถใช้ฟิล์มห่ออาหาร (พลาสติกแรป) ก็ได้เช่นกันค่ะ นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหนึ่งวิธีที่ง่ายและสะดวกกว่าคือการใช้กล่องพลาสติกสุญญากาศ ซึ่งวิธีเราจะไม่ต้องห่อด้วยกระดาษทิชชู แต่จะนำกระดาษทิชชูวางไว้ที่ด้านล่างและด้านบนผักเท่านั้น เพียงเท่านี้ก็จะเก็บผักได้นาน1-2 อาทิตย์เลยค่ะ
References :
- Bioactive compounds in lettuce: Highlighting the benefits to human health and impacts of preharvest and postharvest practices
- Nutritional value, bioactive compounds and health benefits of lettuce (Lactuca sativa L.)
- Lettuce, iceberg (includes crisphead types), raw
- Effects of Vegetables on Cardiovascular Diseases and Related Mechanisms
- Folates in lettuce: a pilot study
- Iceberg Lettuce
- Intakes of Lutein, Zeaxanthin, and Other Carotenoids and Age-Related Macular Degeneration During 2 Decades of Prospective Follow-up
- Lettuce, cos or romaine, raw
- Lettuce, butterhead (includes boston and bibb types), raw
- Design of an anti-inflammatory diet (ITIS diet) for patients with rheumatoid arthritis
- Vitamin K and bone health
- Antioxidants
- 7 Tips for Cleaning Fruits, Vegetables
- Fruit and Vegetable Safety
- Effectiveness of Commercial and Homemade Washing Agents in Removing Pesticide Residues on and in Apples