ทำอย่างไรเมื่อลูกแพ้นมวัว : สาเหตุ และคำแนะนำในการรักษา

ในปัจจุบันนี้คุณอาจจะรู้จักอาการแพ้อาหารหลายสิ่งมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาการแพ้ไข่หรือแพ้ถั่ว แต่อาการแพ้นมวัว (Cow milk allergy : CMA) เป็นอาการที่พบมากที่สุดในอาการทั้งหมดที่กล่าวมา ซึ่งอาการแพ้นมวัวนี้คือการแพ้โปรตีนที่อยู่ในนมวัว จะมีความรุนแรงแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล แต่หากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดมีลูกแพ้นมวัวก็ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะอาการแพ้นมดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตลอดชีวิต แต่จะมีอาการดีขึ้นและหายไปในที่สุด (มีเปอร์เซ็นต์เพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่อาการแพ้นมวัวยังคงมีอยู่)

อาการแพ้นมวัว

ซึ่งก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่ลูกของคุณอาจจะเป็นหนึ่งในเด็กที่แพ้นมวัว หากคุณไม่แน่ใจว่าลูกของคุณมีความเป็นไปได้ในการแพ้นมวัวมากน้อยเพียงใด คุณสามารถพาเด็กไปตรวจเลือดเกี่ยวกับการแพ้อาหารในเด็กได้ที่โรงพยาบาล เพื่อที่จะได้รับมือและป้องกันได้อย่างทันท่วงที เพราะอาหารเป็นสาเหตุของอาการแพ้มากที่สุด การที่เราจะให้เด็กทานอะไรก็ต้องศึกษาให้ดีว่าอาหารประเภทไหนที่ทานได้และอาหารอะไรที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับเด็กเล็ก เนื่องจากระบบย่อยอาหารของเด็กนั้นยังไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และในวันนี้หากคุณอยากศึกษาอาการแพ้นมวัวในเด็กว่าเป็นอย่างไร เราก็มีคำตอบพร้อมวิธีป้องกันและรักษามาฝากกันค่ะ




สาเหตุการแพ้นมวัว (1,4,5,6)

  1. พันธุกรรม นี่คือสาเหตุหลัก ๆ ของการแพ้นมวัวเลยก็ว่าได้ โดยหากมีประวัติคนในครอบครัวเคยมีอาการแพ้นมวัวมาก่อนนั้น เด็กก็มีโอกาสสูงที่จะมีอาการแพ้นมวัวได้
  2. เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของเด็กที่ผิดปกติ
  3. หากคุณแม่ท่านใดไม่ให้ลูกทานนมแม่ หรือหย่านมแม่เร็วเกินไป

สำหรับอาการแพ้โปรตีนนมวัวจะเกิดกับเด็กวัยทารกมัก ซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ (1)

  1. อาการเกิดแบบรวดเร็ว (Immediate CMA)
    โดยเมื่อดื่มนมเข้าไปจะเกิดอาการขึ้นทันที คือเด็กจะมีอาการหายใจหอบมีเสียงหวี๊ด อาเจียน มีอาการบวม และคันตามตัว ท้องเสียและอาจถ่ายเป็นเลือด
  2. อาการเกิดแบบช้า (Delayed CMA)
    เกิดอาการแพ้แต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจเกิดภายในหลายชั่วโมงหลังดื่มนนมเข้าไป หรือเป็นวันภายหลังจากได้ดื่มนมวัว อาการใกล้เคียงกันกับแบบที่เกิดอาการแบบรวดเร็ว โดยจะมีอาการท้องเสียถ่ายเหลว และอาจจะมีเลือดปนมาด้วย

อาการของการแพ้นมวัว (1,3,4,5,6)

อาการแพ้นมวัวจะมีการแสดงอาการผิดปกติหลายๆอย่างของระบบอวัยวะหรืออาจจะเป็นที่หนึ่งที่ใดของร่างกายก็ได้ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นก็แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลเช่น

  • ผิวหนัง เช่น มีผื่นตามผิวหนัง อักเสบตามผิว ผื่นลมพิษ อาการหน้าบวม ปากบวม ตาบวม เป็นต้น
  • ระบบย่อยอาหาร เช่น ปวดท้องแบบเป็นๆ หายๆ อาเจียน ท้องร่วง เป็นต้น
  • ระบบหายใจ เช่น หอบเหนื่อย มีเสมหะดังครืดคราดเป็นระยะๆ น้ำมูกไหล เป็นต้น
  • โรคแพ้ผื่นคันผิวหนังอักเสบ Eczema ที่ไม่ดีขึ้นหลังจากการรักษา

การรักษา (1,3,4,5,6)

การรักษาที่ถูกต้องและดีที่สุดคือ การงดดื่มนมวัว และงดผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากนม เช่น ชีส, โยเกิร์ต, ไอศกรีม, เนย หรือเนยเทียมเป็นต้น โดยการงดดื่มนมวัวนั้นไม่ได้หมายความว่าต้องงดตลอดชีวิต แต่เป็นการงดเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง และค่อยๆกลับมาทดลองดื่มใหม่โดยเริ่มจากในปริมาณน้อย ๆ ก่อน และหากไม่มีการผิดปกติใดๆ ก็สามารถเพิ่มปริมาณขึ้นได้

ในกรณีเด็กทารกที่ทานนมแม่และยังมีอาการแพ้นนมวัวอยู่ คุณแม่ต้องงดดื่มนมวัวและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากนมวัวทุกชนิดด้วยเช่นกันในระหว่างช่วงที่คุณแม่ต้องให้นมลูก แต่ก็มีทางเลือกอื่นสำหรับเด็กที่หย่านมแม่หรือไม่ได้ทานนมแม่แล้วมีอาการแพ้นมวัว นั่นคือการให้เด็กทานนมผงทดแทนซึ่งมีประเภทนมทางเลือกดังนี้ (2)

นมถั่วเหลือง
  1. นมถั่วเหลือง แต่ก็ต้องคอยเฝ้าสังเกตอาการเด็ก เพราะมีเด็กที่แพ้นมวัวมีโอกาสที่จะแพ้นมถั่วเหลืองด้วย โดยทารกควรมีอายุอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไปจึงเหมาะกับการกินนมถั่วเหลือง หากเด็กมีอายุน้อยกว่า 6 เดือน อาจมีอัตราการแพ้นมถั่วเหลืองสูง
  2. นมวัวชนิด Extensively hydrolyzed formula (eHF) เป็นนมวัวที่ผลิตจากโปรตีนนมวัวที่ได้ผ่านการย่อยสลายให้มีการย่อยสลายให้น้อยที่สุด นมชนิดนี้ราคาค่อนข้างสูง
  3. นมชนิด amino acid formula (AAF) เป็นนมที่มีโปรตีนเป็นกรดอะมิโน เด็กส่วนใหญ่จะแพ้นมชนิดนี้ แต่ราคาสูงมาก





หากคุณพ่อคุณแม่มีลูกที่แพ้นมวัวก็ไม่ต้องกังวลมากไปนะคะ เพราะโดยทั่วไปแล้วเด็กที่แพ้โปรตีนจากนมวัวมีโอกาสที่จะหายจากอาการแพ้ได้เมื่ออายุมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามแต่คุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็กมาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการเข้ารับการตรวจวินิจฉัย และตรวจหาอาการแพ้โปรตีนจากนมวัวเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อคุณพ่อคุณแม่จะได้รู้เท่าทัน และเพื่อหาแนวทางการรักษาให้กับลูกรัก จะได้เติบโตสมวัยและสุขภาพที่แข็งแรง

สำหรับใครที่อยากได้เคล็ดลับการเลี้ยงลูกจากประสบการณ์โดยตรงของคุณแม่ วันนี้เราก็มีบทความมาแนะนำกัน ไม่ว่าจะเป็น อาการติดเชื้อไวรัส RSV ในเด็ก พร้อมวิธีป้องกัน, อยากให้ลูกเก่งสร้างได้ด้วยทักษะ EF, วิธีช่วยเหลือเด็กสำลัก, รับมือกับลูกวัยทอง 2 ขวบ (Terrible Two), การเลี้ยงลูกเชิงบวก, เมนูอาหารสำหรับเด็กกินยาก และ วิธีแก้ปัญหาโรคอ้วนในวัยเด็ก กันค่ะ ซึ่งจะมีอะไรดี ๆ บ้างนั้นคงต้องกดเข้าไปอ่านแล้วนะคะ

References

  1. What should I do if I think my baby is allergic or intolerant to cows’ milk?
  2. Types of formula milk – Your pregnancy and baby guide
  3. โรคแพ้นมวัว : สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย
  4. Cow’s milk allergy: evidence-based diagnosis and management for the practitioner
  5. Cow’s milk allergy: From allergens to new forms of diagnosis, therapy and prevention
  6. Milk allergy
Best Review Asia

Best Review Asia

เขียน แปล เรียบเรียงบทความ และพิสูจน์อักษร จากทีมเบสท์รีวิว เอเชีย เราหวังว่าบทความนี้จะให้ประโยชน์กับทุก ๆ คนค่ะ

Next Post

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง