เราเชื่อว่าผู้คนโดยส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยคุ้นหูกับไวรัส RSV มากเท่าไหร่นัก บางคนก็ไม่รู้ตัวว่าติดไวรัส RSV ไปแล้ว เนื่องจากมันเป็นไวรัสที่มีอาการเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่สำหรับผู้ปกครองคุณพ่อคุณแม่ที่มีเด็กเล็กในบ้าน มักจะคุ้นเคยกับไวรัสชนิดนี้เป็นอย่างดี…
ในช่วงฤดูฝนอย่างนี้ไม่เพียงแต่ไข้หวัดและไข้เลือดออกเท่านั้นที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องเฝ้าระวังลูกน้อยเป็นพิเศษ เพราะยังมีไวรัสอีกชนิดที่มักพบได้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กได้ นั่นก็คือ “ไวรัส RSV (อาร์เอสวี)” แม้ว่ามันอาจจะดูเหมือนไข้หวัดธรรมดา แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรจะชะล่าใจ และจากตัวเลขที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้กรมควบคุมโรคแนะนำถือวิธีสังเกตอาการบุตรหลานของท่านอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะเตรียมตัวรักษาได้ทันท่วงที หากเด็ก ๆ ติดเชื้อไวรัส RSV
ไวรัส RSV คืออะไร
เชื้อไวรัส RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ และเป็นไวรัสพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนหรือฤดูหนาว ซึ่งมันจะติดต่อจากสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อผ่านช่องทางตา, จมูก, ปาก และการสูดอากาศหายใจที่มีเชื้อปะปนอยู่ในอากาศ (จากการไอหรือจามของผู้ติดเชื้อ) โดยผู้ที่ติดเชื้อนั้นจะมีการผลิตเสมหะออกมาเป็นจำนวนมากกว่าปกติ มันสามารถปิดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้เด็ก ๆ หายใจลำบาก ซึ่งก่อให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กเล็กมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากทารกหรือเด็กเล็กมีทางเดินหายใจขนาดเล็กที่ยังไม่ค่อยพัฒนา จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis) หรืออาจจะเป็นโรคปอดบวม (Pneumonia) ได้ค่ะ
อันที่จริงแล้วการติดเชื้อไวรัส RSV สามารถเป็นได้ทุกคนในทุกเพศทุกวัย แต่การแสดงอาการที่รุนแรงกว่ากลุ่มคนอายุอื่น ๆ มักจะพบได้ในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี, เด็กที่คลอดก่อนกำหนด (ก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์), ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อน อาทิเช่น โรคเบาหวาน, โรคที่เกี่ยวกับปอด, โรคหัวใจ หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติเป็นต้น กลุ่มนี้จะมีอาการที่รุนแรงกว่าปกติ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ อาจจะทำให้ออกซิเจนในเลือดต่ำและต้องใส่ท่อช่วยหายใจเป็นพิเศษ
วิธีการแพร่กระจายของเชื้อ RSV
จากที่กล่าวไปแล้วว่าเชื้อไวรัส RSV นั้นติดต่อจากสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อผ่าน ตา, ปาก และ จมูก เพราะไวรัสจะแพร่กระจายเมื่อผู้ติดเชื้อไอหรือจามได้ สารคัดหลั่งที่เป็นน้ำลาย น้ำมูก หรือเสมหะ จะสามารถเข้าไปปะปนในอากาศหรือพื้นผิวสัมผัส เมื่อผู้คนอื่นหายใจเข้าไปหรือหยิบจับสิ่งของขึ้นมาก็จะได้รับเชื้อผ่านได้โดยง่าย อาทิเช่น ลูกของคุณอาจติดเชื้อได้หลังจากสัมผัสของเล่นที่มีเชื้อไวรัสแล้วเอาไปสัมผัสทางตา ปาก หรือจมูก เป็นต้น เพราะ RSV สามารถอยู่บนพื้นผิวได้นานถึง 24 ชั่วโมง และเด็กที่ติดเชื้อสามารถติดเชื้อได้นานถึง 3 สัปดาห์ แม้ว่าอาการจะหายไปแล้วก็ตาม
อาการของ RSV
ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักจะแสดงอาการหลังจากรับเชื้อเข้ามาแล้ว 4-6 วัน โดยอาการของเชื้อไวรัส RSV จะเหมือนไข้หวัดธรรมดาที่มีไข้, มีน้ำมูก, มีอาการไอ หรือเจ็บคอร่วมด้วย ซึ่งตรงนี้แหละค่ะที่ทำให้ผู้ปกครองไม่ทันเฉลียวใจจนรู้ตัวช้าในที่สุด ดังนั้นผู้ปกครองจะต้องติดตามอาการของเด็กที่มีอาการแรกเริ่มตามที่ระบุไปข้างต้นอย่างใกล้ชิด รวมถึงต้องดูหลาย ๆ ปัจจัย อาทิเช่น เด็กมีอาการในช่วงหน้าหนาวหรือฤดูฝน, เด็กมีเสมหะมากจนผิดสังเกต เป็นต้น
แนะนำ ปรอทวัดไข้ และ เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายแบบอินฟาเรด
![]() | ปรอทวัดไข้ดิจิตอล Glowy Star: Digital Thermometer รุ่น ET-101 | |
![]() | Cofoe เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย/วัตถุ แบบอินฟราเรด | |
![]() | ปรอทวัดไข้ดิจิตอล Terumo Digital Clinical Thermometer C205 | |
![]() | Infrared Forehead Thermometer เครื่องวัดอุณหภูมิแบบอินฟราเรด เครื่องวัดไข้ |
ซึ่งสำหรับกลุ่มคนที่เสี่ยงจะมีอาการรุนแรงถึงขั้นหายใจเหนื่อยง่าย หน้าอกบุ๋ม และเสียงของปอดที่ทำงานผิดปกติ (เสียงหายใจที่มีเสียงหวีด) รวมถึงรับประทานอาหารน้อยลงและมีอาการซึม ๆ ให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะในเด็กเล็กอาจทำให้เป็นหลอดลมฝอยอักเสบได้

ดังนั้นจึงสรุปสั้น ๆ แบบเข้าใจง่าย ๆ ได้ว่า ในเด็กโตและผู้ใหญ่ RSV อาจทำให้เกิดอาการไอหรือเป็นหวัด แต่ในเด็กเล็กอาจทำให้หลอดลมฝอยอักเสบได้
การรักษา RSV ในเด็ก
การรักษาโดยส่วนใหญ่นั้นจะเป็นไปตามอาการของเด็ก ไม่มียารักษาเฉพาะเจาะจง เช่นการทานยาแก้ไอ, ยาละลายเสมหะ, ยาลดน้ำมูก, ยาลดไข้, ยาพ่นขยายหลอดลม และการดูดเสมหะ เป็นต้น ตามแต่อาการ
สำหรับเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงและในผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อ RSV ไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่บางคนที่ติดเชื้อ RSV โดยเฉพาะทารกที่อายุน้อยกว่า 6 เดือนและผู้สูงอายุ อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หากพบว่ามีปัญหาในการหายใจหรือภาวะขาดน้ำ ในกรณีเหล่านี้ส่วนใหญ่การรักษาตัวในโรงพยาบาลจะใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน

หากเด็กมีอาการเริ่มต้นเหมือนไข้หวัดและไม่ดีขึ้นใน 3 วัน จะต้องรีบพาเด็กพบแพทย์โดยทันที ในส่วนของเด็กวัยที่โตแล้วหรือผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อ RSV จะมีอาการที่ดีขึ้นหลังรักษา 1-2 สัปดาห์
วิธีป้องกัน RSV
- การล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาดเป็นเวลา 20 วินาที โดยเฉพาะให้ล้างก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
- สำหรับเด็ก ๆ ควรจะล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ
- ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับคนอื่น อาทิเช่น แก้วน้ำ-ช้อนส้อม หรืออะไรก็ตามที่สามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อได้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปยังพื้นที่ที่มีผู้คนแออัดจำนวนมาก และเป็นสถานที่ปิดที่ไม่มีอากาศถ่ายเท
- พยายามทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำมาก ๆ รวมถึงควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ สิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่ติดเชื้อ RSV ในการดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันการขาดน้ำจากการสูญเสียของเหลวในร่างกาย
- สำหรับผู้ที่ป่วยติดเชื้อแล้ว ควรงดออกไปนอกสถานที่ หรือพื้นที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก และควรจะสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เพื่อป้องกันทุกครั้งที่ออกไปข้างนอก รวมถึงควรจะปิดปากด้วยทิชชู่หรือแขนเสื้อส่วนบน(ไม่ใช่มือ) ทุกครั้งที่มีการไอหรือจาม เพื่อลดการแพร่เชื้อให้แก่คนรอบข้าง
- หากเด็กมีอาการเหมือนป่วยเป็นไข้หวัด ให้รีบทำการแยกเด็กออกจากเด็กปกติทันที และพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยโรคและเพื่อให้เด็กได้รับการรักษาที่ถูกต้อง

คำแนะนำ : CDC ระบุว่า เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรสวมหน้ากากผ้า เพราะจะทำให้เด็ก ๆ หายใจไม่ออก และพวกเขาก็ยังเด็กเกินกว่าจะบอกให้คุณรู้ได้ หากคุณมีความจำเป็นต้องออกไปข้างนอกพร้อมลูก ให้คุณอุ้มลูกแนบอกหรือให้ลูกอยู่ในรถเข็นที่มีผ้าคลุมปิดกั้นให้เรียบร้อย
จะเห็นได้ว่าไวรัส RSV นั้น มีการใช้มาตรการในการป้องกันเดียวกันกับเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ถือว่าไม่ได้เป็นไวรัสที่น่ากลัวอะไร หากเราร่วมมือกันทำตามคำแนะนำ เพราะฉะนั้นผู้ปกครองไม่ควรจะตื่นตระหนกจนเกินเหตุ แต่ควรจะรับมือกับการระบาดของไวรัส RSV ได้อย่างมีสติและครอบรอบ แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค RSV แต่เราสามารถลดอัตราการติดเชื้อหรือการแพร่กระจายได้จากการล้างมือบ่อย ๆ , การทำความสะอาดของใช้ส่วนตัวด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ, หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยติดที่เชื้อ, หลีกเลี่ยงการออกไปยังสถานที่มีผู้คนหนาแน่น, ไม่ใช้ของร่วมกับคนอื่น และควรสวมหน้ากากอนามัยทุกเพื่อลดการติดเชื้อนะคะ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ขอบคุณข้อมูลจาก
- แนะผู้ปกครองสังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ระวังป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV โดย กรมควบคุมโรค
- ไวรัส RSV ของฝากที่มาพร้อมกับปลายฝนต้นหนาว โดย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- Causes : Bronchiolitis โดย NHS
- About RSV โดย CDC