วิธีใช้ ชุดตรวจโควิดแบบแอนติเจน Antigen Test Kit (ATK)

สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้มีป่วยผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่มีจำนวนสูงทะลุหลักหมื่นต่อวัน นอกจากนี้ในเขตชุมชนหลาย ๆ แห่งที่มีประชากรหนาแน่นก็ยังมีข้อจำกัดในการตรวจหาเชื้อแต่ละวันอีกด้วย ทำให้ยังมีประชาชนอีกหลายคนที่อาจจะติดเชื้อแล้วแต่ยังไม่ได้รับการตรวจยืนยันจากห้องปฏิบัติการของภาครัฐอย่างเป็นทางการและอาจกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อได้โดยไม่รู้ตัว

ดังนั้นเพื่อให้การควบคุมโรคโควิด-19 สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อให้ขั้นตอนบริการตรวจรักษารวดเร็วมากขึ้น จึงได้มีการประกาศให้ประชาชนทั่วไปสามารถใช้ “ชุดตรวจโควิดแบบตรวจหาแอนติเจน” หรือที่เรียกว่า “Antigen Test Kit (ATK)” สำหรับตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 (เชื้อที่ทำให้เกิดโรค COVID-19) เบื้องต้นได้ด้วยตัวเองแล้ว

โดยประกาศฉบับนี้เพิ่งเริ่มประกาศไปเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา เนื่องจากผลการประเมินในประเทศไทยพบว่า Antigen Test Kit มีประสิทธิภาพการใช้งานที่น่าเชื่อถือ ซึ่งอ้างอิงจากการตรวจหาเชื้อโควิดจำนวน 5 หมื่นคนเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับการตรวจวิธี RT-PCR ได้ข้อสรุปว่า Antigen Test Kit มีความผิดพลาดเพียงแค่ 3% เท่านั้น และในขณะนี้เองทางภาครัฐก็ได้พยายามเร่งจัดหาและกระจายชุดตรวจ Antigen Test Kit ให้กับประชาชนที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้ตรวจหาเชื้อด้วยตัวเอง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ซึ่งประชาชนสามารถไปรับชุดตรวจโควิดได้ฟรีได้ ณ จุดรับตรวจโควิดหรือสถานที่ที่รัฐจัดตั้งไว้ให้

หมายเหตุ ทั้งนี้หากคุณไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่ต้องการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตัวเองเพื่อความสบายใจ ก็สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปนะคะ


ชุดตรวจโควิดด้วยตัวเอง Antigen Test Kit (ATK) คืออะไร

ชุดตรวจโควิดด้วยตัวเอง Antigen Test Kit (ATK) คืออะไร

Antigen Test ที่เราเรียกกัน จริง ๆ มีชื้อเรียกอีกอย่างว่า Rapid Antigen Test (แรบิด แอนติเจน เทส) หรือแปลเป็นไทยก็คือชุดทดสอบแอนติเจนแบบรวดเร็ว ที่ใช้วิธีการตรวจหาโปรตีนของไวรัสผ่านสารคัดคลั่ง แต่การจะให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำได้นั้น ผู้ทดสอบจะต้องได้รับเชื้อมาแล้วอย่างน้อย 5-14 วัน เพราะหากเชื้ออยู่ในช่วงระยะฝักตัวอาจทำให้ผลเป็นลบได้ (ไม่ติดโควิด) แต่หากพบว่าผลเป็นบวก (ติดโควิด) ก็ยังไม่สามารถมั่นใจได้ 100% นะคะว่าคุณจะติดโควิดจริง ๆ เพราะต้องยันยืนผลทดสอบอีกครั้งด้วยการตรวจวิธี RT-PCR จากห้องปฏิบัติการ แต่สำหรับกรณีของประเทศไทยในขณะนี้ หากคุณไม่อยากตรวจ RT-PCR แบบจ่ายเงินเอง คุณอาจจะต้องรักษาตัวแบบ Home Isolation หรือ Community Isolation ไปก่อน เพราะทางภาครัฐก็มีน้ำยาทดสอบตรวจหาโควิดในปริมาณที่จำกัด แต่หากพบว่าคุณมีอาการรุนแรงหรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยง คุณจะได้รับการตรวจด้วยวิธี RT-PCR จากภาครัฐค่ะ (เลื่อนลงด้านล่างเพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

โดยปัจจุบันนี้ Rapid Antigen Test เป็นที่ยอมรับและเป็นที่นิยมใช้ทดสอบหาเชื้อที่ทำให้เกิดโรค COVID-19 เพราะเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับการคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อในเขตที่มีประชากรจำนวนมาก เนื่องจากมันเป็นการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิดแบบเชิงรุกที่ใช้เวลาประมาณ 5-30 นาทีก็สามารถรู้ผลเบื้องต้นได้ทันที ถือเป็นการตรวจคัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อที่รวดเร็วที่สุด ที่จะช่วยทำให้เฝ้าระวังและควบคุมโรคได้ง่ายขึ้น โดยที่คุณเองก็ไม่จำเป็นต้องออกไปข้างนอกบ้าน เพื่อเพิ่มความเสี่ยงในการรับเชื้อหรือแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นอีกด้วย 

ซึ่งชุดตรวจโควิดแบบแอนติเจนนั้นก็มีหลายแบบ หลายยี่ห้อ และก็ยังหาซื้อได้ง่ายตามขายยา โดยหลัก ๆ แล้วจะแบ่งการทดสอบออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ทดสอบผ่านทางโพรงจมูก (Nasal), โพรงหลังจมูก (Nasopharyngeal) และทางช่องปากและลำคอ (Oropharyngeal) หรือเป็นการใช้น้ำลาย โดยความลึกในการแหย่ไม้สวอปที่จมูกหรือทางปากก็จะต่างกันตามแต่ละยี่ห้อ และในบางยี่ห้อก็จะเป็นการทดสอบหลาย ๆ วิธีรวมกันในชุดตรวจชุดเดียวที่มากกว่า 1 วิธีด้วย ดังนั้นก่อนจะทำการตรวจเชื้อโควิดด้วยตัวเอง คุณจะต้องอ่านเอกสารหรือคู่มือการใช้งานของชุดตรวจโควิดที่ซื้อมาอย่างละเอียดด้วยนะคะ เพราะการทดสอบที่ไม่ถูกต้องตามคำแนะนำของสินค้า อาจทำให้ผลตรวจออกมาผิดพลาดได้


วิธีตรวจโควิดด้วย ชุดทดสอบแอนติเจน หรือ แรบิดแอนติเจน เทส

ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบกล่องบรรจุชุดตรวจให้เรียบร้อย ดูวันหมดอายุของชุดตรวจข้างกล่องหรืออาจจะอยู่ในซองบรรจุภัณฑ์ภายใน อ่านคู่มืออย่างละเอียดก่อนใช้งาน (โดยแต่ละยี่ห้ออาจมีวิธีการใช้งานแตกต่างกัน) เช็ดทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวที่ใช้ทดสอบด้วยการฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ให้ปราศจากการปนเปื้อน และควรล้างมือให้สะอาดอย่างน้อยเป็นเวลา 20 วินาทีก่อนเริ่มทดสอบ

วิธีตรวจโควิดด้วย ชุดทดสอบแอนติเจน หรือ แรบิดแอนติเจน เทส

ขั้นตอนที่ 2 เมื่อแกะกล่องออกมาแล้วจะพบอุปกรณ์สำหรับทดสอบ ได้แก่ แถบทดสอบ, ไม้สวอป (swab), หลอดสำหรับใส่น้ำยาทดสอบ และซองบรรจุน้ำยาทดสอบ ซึ่งทุกอย่างจะต้องอยู่ในซองหรือบรรจุภัณฑ์ที่ปิดมิดชิดเท่านั้น

วิธีตรวจโควิดด้วย ชุดทดสอบแอนติเจน หรือ แรบิดแอนติเจน เทส

ขั้นตอนที่ 3 เริ่มจากแกะแถบทดสอบ เมื่อแกะแล้วให้เริ่มทำการทดสอบภายในระยะเวลา 30 นาที ไม่ควรแกะตั้งทิ้งไว้เป็นเวลานาน จากนั้นให้แกะตัวน้ำยาทดสอบอย่างระมัดระวัง และบีบน้ำยาใส่ในหลอดเปล่า นำหลอดไปเสียบตรงช่องที่ยืดติดกับกล่อง

วิธีตรวจโควิดด้วย ชุดทดสอบแอนติเจน หรือ แรบิดแอนติเจน เทส

ขั้นตอนที่ 4 ต่อมาคือวิธีแกะไม้สวอป ให้แกะซองตรงด้ามจับ เพื่อลดโอกาสการปนเปื้อนตรงสำสี และพยายามอย่าจับด้ามสวอปจนเลยขีดที่กำหนด (แต่บางยี่ห้อก็อาจไม่มีขีดบอกมาให้ ในกรณีนี้ก็พยายามจับเฉพาะตรงปลายด้ามแทนนะคะ)

จากนั้นให้ใช้ไม้สวอปแหย่เข้าไปในรูจมูก สำหรับความลึกนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละยี่ห้อที่กำหนดในคู่มือนะคะ อย่างในรูปก็จะแหย่ให้ลึกประมาณ 2.5 ซม. ขึ้นไป โดยให้หมุนไม้สวอปไปมาในรูจมูกข้างละ 10 ครั้ง และสำหรับยี่ห้อในตัวอย่างก็สามารถทดสอบผ่านน้ำลายในลำคอได้ด้วยการหมุนไม้สวอปไปมา 4 ครั้งค่ะ (ให้ใช้ชุดทดสอบอันใหม่แยกกันเลยนะคะ)

วิธีตรวจโควิดด้วย ชุดทดสอบแอนติเจน หรือ แรบิดแอนติเจน เทส

สินค้าลดราคาในช้อปปี้ & ลาซาด้า - ดีลดี เบสท์รีวิวเลือกให้สินค้าลดราคาในช้อปปี้ & ลาซาด้า - ดีลดี เบสท์รีวิวเลือกให้สินค้าลดราคาในช้อปปี้ & ลาซาด้า - ดีลดี เบสท์รีวิวเลือกให้

ขั้นตอนที่ 5 จากนั้นนำไม้สวอปไปใส่ในหลอดน้ำยาที่เราเตรียมไว้ แล้วหมุนก้านสวอปไปมาในหลอดอย่างน้อยเป็นเวลา 15 วินาที จากนั้นดึงไม้สวอปออกและปิดฝาหลอดให้แน่น

วิธีตรวจโควิดด้วย ชุดทดสอบแอนติเจน หรือ แรบิดแอนติเจน เทส

ขั้นตอนที่ 6 ค่อย ๆ หยดน้ำยาทดสอบลงไปในแถบทดสอบช่อง S ประมาณ 2 หยด (ขึ้นอยู่แต่ละยี่ห้อ) ระหว่างหยดน้ำยาโปรดตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นน้ำยาจริง ๆ ไม่ใช่ฟองอากาศด้วยนะคะ และรอผลทดสอบประมาณ 30 นาที (ขึ้นอยู่แต่ละยี่ห้อ) ซึ่งผลลัพธ์ที่เป็นบวก (ติดโควิด) สามารถปรากฏได้ตลอดเวลาหลังจาก 20 นาทีแรก แต่ทั้งนี้เพื่อความมั่นใจโปรดรอให้ครบ 30 นาทีจะดีที่สุดค่ะ

หมายเหตุ การทดสอบในเด็กสามารถทำได้ แต่เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ควรได้รับการทดสอบโดยผู้ใหญ่อย่างใกล้ชิด


ผลการตรวจหาแอนติเจน COVID-19 แบบเร่วด่วน (Antigen Test Kit) ดูอย่างไร? ผลตรวจออกมาแล้วต้องทำอย่างไรต่อไป?

วิธีตรวจโควิดด้วย ชุดทดสอบแอนติเจน หรือ แรบิดแอนติเจน เทส

ผลเป็นบวก ขึ้น 2 ขีด (ขีด C และ T) = ติด COVID-19

  1. แจ้งเจ้าหน้าที่ : แจ้งเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานบริการใกล้บ้านที่คุณสามารถติดต่อได้ เพื่อเข้าสู่ระบบดูแลที่บ้านหรืออาจเป็นการรับรักษาตัวจากสถานพยาบาลตามอาการความรุนแรงของคุณ
    • 1.1 โทร 1330 กด 15 หรือ 1668
    • 1.2 กรณีที่มีอาการรุนแรงโทร 1669
  2. ระหว่างรอเจ้าหน้าที่ประเมินอาการ ควรลดการแพร่เชื้อโดยการ :
    1. 2.1 ให้คุณแยกกักตัวออกจากผู้อื่น
    2. 2.2 แจ้งผู้ที่ใกล้ชิดกับคุณ / ผู้ที่เสี่ยงสัมผัสทราบทันที เพื่อให้พวกเขาตรวจหาเชื้อ
    3. 2.3 สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
    4. 2.4 สังเกตอาการป่วยตัวเองเป็นประจำ (หากพบว่าตัวเองมีอาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ ให้ติดต่อเจ้าหน้า)
      • การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายด้วยปรอทวัดไข้ ค่าไม่ควรสูงกว่า 38 °C
      • การตรวจวัดระดับออกซิเจนด้วยเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ค่าไม่ควรต่ำกว่า 96% หรือหากคุณไม่มีเครื่องวัด ก็สังเกตว่าตัวเองเริ่มหายใจลำบากมากขึ้นหรือไม่ก็ได้ค่ะ
    5. 2.5 เตรียมพร้อมเกี่ยวกับ สิ่งที่ควรมีเมื่อต้องรักษาโควิดด้วยตัวเองจากที่บ้าน ระหว่างรอการรักษาจากรัฐ
  3. รูปแบบการรักษา : 
    1. 3.1 อาการไม่หนัก Home Isolation เข้ารับการรักษาในระบบดูแลตัวเองจากที่บ้าน
    2. 3.2 อาการไม่หนัก Community Isolation เข้ารับการรักษาดูแลตัวเองในระบบชุมชน
    3. 3.3 อาการหนัก / จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง (สูงอายุ – ตั้งครรภ์ – 7 โรคเสี่ยง) ตรวจแบบ RT-PCR และเข้าสู่ระบบการรักษาหาเตียงต่อไป
  4. ขั้นตอนการรักษา : แบบ Home Isolation / Community Isolation จะอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้
    1. 4.1 จัดระบบการรักษาตามสถานการณ์ของผู้ติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็น รักษาตัวจากที่บ้าน/ชุมชน ให้ดีที่สุด
    2. 4.2 มีการจัดส่ง ปรอทวัดไข้, เครื่องวัดออกซิเจน และยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรให้ผู้ป่วย
    3. 4.3 จัดส่งอาหารถึงบ้าน 3 มื้อ/วัน
    4. 4.4 มีแพทย์ติดตามประเมินอาการของคุณ 2 ครั้ง/วัน ด้วยการ VDO Call หรือ Telehealth
    5. 4.5 หากพบว่าเริ่มมีอาการรุนแรง ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจ RT-PCR และเข้าสู่ระบบการรักษาหาเตียงต่อไป
    6. 4.6 กรณีที่เตียงเต็มให้โทรสายด่วน 1330 , 1668 , 1669
    7. 4.7 ระหว่างรอเตียงจะมีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาโรคโควิด-19 ให้เพื่อประคับประคองอาการ
    8. 4.8 ถ้าอาการดีขึ้น ให้กักตัวต่อจนครบ 14 วัน (นับแต่ตั้งคุณเริ่มมีอาการ หรือตรวจเจอ)

ผลเป็นลบ ขึ้นขีดเดียว (ขีด C) = อาจจะไม่ติด COVID-19

แม้ว่าผลตรวจจะเป็นลบหรือหมายความว่าไม่ติด COVID-19 แต่ก็ยังเพิ่งนิ่งนอนใจนะคะ เนื่องจากคุณอาจจะอยู่ในระยะฝักตัวของเชื้อที่ไม่สามารถตรวจพบเชื้อ SARS-CoV-2 ได้ ดังนั้นให้คุณทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ค่ะ

  1. รอตรวจใหม่ : รอตรวจใหม่ภายหลังอีกประมาณ 3-5 วัน (จะเป็น 5-7 วันก็ได้ค่ะ เพื่อความมั่นใจ)
    • หากรอครบตามกำหนดและตรวจครั้งที่ 2 แล้วพบว่าผลยังคงเป็นลบ (ไม่ติดโควิด) ให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ
    • หากคุณจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสัมผัส แม้ว่าตรวจครั้ง 2 แล้วพบว่าผลยังคงเป็นลบ ก็ให้กักตัวต่อจนครบ 14 วัน และจึงให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ
  2. ป้องกันการแพร่ระบาด : ระหว่างที่รอนั้นควรแยกกักตัวออกจากผู้อื่น เว้นระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 2 เมตร
  3. ตรวรทันทีที่มีอาการ : หากในระวังที่รอพบว่ามีอาการคล้ายกับว่าจะเป็นโควิดให้คุณทำการทดสอบซ้ำทันทีเลยค่ะ

ขึ้นขีด T ขีดเดียว หรือไม่ขึ้นเลย = ใช้ชุดตรวจอันใหม่


ข้อควรระวังการใช้ Antigen Test Kit (ATK)

  1. อุณหภูมิการจัดเก็บ : ตรวจสอบอุณหภูมิในการจัดเก็บชุดตรวจโควิดตามที่คู่มือกำหนดก่อนนำมาใช้งาน
  2. วันหมดอายุ : ตรวจสอบวันหมดอายุของชุดตรวจโควิดทุกครั้งการนำมาใช้งาน
  3. ซองหรือบรรจุภัณฑ์ : ห้ามฉีกซองหรือเปิดบรรจุภัณฑ์ตลับทดสอบทิ้งไว้ จนกว่าจะเริ่มใช้งานจริง
  4. พื้นที่ทดสอบ : ควรเป็นพื้นที่สะอาดปราศจากการปนเปื้อน
  5. การอ่านผล : ตรวจสอบระยะเวลาในการอ่านผลตรวจอย่างเคร่งครัด การอ่านผลที่เร็วเกินไปหรือช้าเกินไปจะทำให้ผลทดสอบออกมาผิดพลาดได้
  6. ห้ามใช้ซ้ำ : ไม่นำชุดทดสอบอันเดิมกลับมาใช้ซ้ำ
  7. การทิ้ง : นำชุดตรวจโควิดที่ใช้แล้วรวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปแช่น้ำยาฆ่าเชื้อ ใส่ถุงปิดที่มิดชิด และนำไปทิ้งให้เหมาะสม
  8. หลังใช้งาน : ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งภายหลังการทดสอบ

ชุดทดสอบแอนติเจน (Antigen Test) และ ชุดทดสอบแอนติบอดี (Antibody Test) ต่างกันอย่างไร?

ชุดทดสอบแอนติเจน (Antigen Test) และ ชุดทดสอบแอนติบอดี (Antibody Test) ต่างกันอย่างไร

ชุดทดสอบแอนติเจน

  • ตรวจหาโปรตีนของเชื้อไวรัส
  • ใช้สารคัดหลั่งในการตรวจ (โพรงจมูก น้ำลาย)
  • อนุญาตให้ประชาชนตรวจเองได้ รู้ผลไม่เกิน 30 นาที

ชุดทดสอบแอนติบอดี

  • ตรวจวัดระดับภูมิตอบสนองต่อไวรัส
  • ใช้เลือดในการตรวจ
  • ต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น

Rapid Antigen Test จะแตกต่างจากการ Antibody Test หลายอย่างมาก ๆ แม้ว่าหน้าตามันจะคล้ายกันก็ตาม แต่เพื่อความแน่ใจหากคุณซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์โปรดตรวจสอบให้ดีก่อน หรือทางที่ดีควรซื้อชุดตรวจโควิด Antigen Test ผ่านร้านขายยาที่มีเภสัชกร ไม่ควรซื้อทางออนไลน์เนื่องจากอาจจะไม่ได้มาตรฐานค่ะ


References :

  1. Rapid antigen test
  2. Your step-by-step guide for COVID-19 self-testing
  3. ข้อควรระวังการใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit เพจ ไทยรู้สู้โควิด
  4. ขอส่งแนวปฏิบัติการตรวจคัดกรองด้วย Antigen Test Kit (ATK) และการตรวจหาเชื้อโควิด 19 เว็บไซต์ กรมควบคุมโรค
  5. สปสช.เร่งจัดหาและกระจายชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ให้ ปชช.กลุ่มเสี่ยงตรวจเองฟรีเพิ่ม หลังพบประสิทธิภาพใช้งานได้ดี มีพลาด 3 % จาก 5 หมื่นคน เพจ สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
  6. การตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุดตรวจโควิด-19 Antigen Test Kit เพจ ไทยรู้สู้โควิด
Mine Melody

Mine Melody

สวัสดีค่ะทุกคนนน ผู้เขียนขออนุญาตใช้นามแฝงว่า Mine Melody นะคะ แม้ว่าชื่อนี้จะไม่ใช่ชื่อจริง ๆ แต่ก็ยินดีที่ได้รู้จักคุณผู้อ่านที่น่ารักทุกท่าน 😘

ส่วนตัวแล้วผู้เขียนสนใจด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ และจะพยายามอธิบายให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย 😎 อีกทั้งยังสนใจเรื่องต่าง ๆ ที่อยู่ในเทรนด์อย่าง สกินแคร์, เครื่องสำอาง, แฟชั่น ตลอดจนข่าวบันเทิง แน่นอนว่าเนื้อหาในทุก ๆ บทความที่เขียนไป ขอให้เพื่อน ๆ มั่นใจได้เลยว่ามีแหล่งอ้างอิงจากเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้จ้า!!

หากเพื่อน ๆ มีข้อสงสัย หรืออยากแชร์ไอเดียใด ๆ ร่วมกับผู้เขียน สามารถติดต่อผ่าน E-mail เว็บไซต์ของเราได้เลยค่ะ 😇

Next Post