เราเชื่อว่าหลายคนในที่นี้คงมีความสงสัยเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติเมื่อรู้ว่าตัวเองติดโควิด เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมโรคและรักษาโรคนั้นมีมากมายเหลือเกิน จะโทรไปเบอร์ไหนหรือติดต่อหน่วยงานใด แต่ละครั้งก็คงจะรู้สึกเกร็งไปหมด เพราะกลัวว่าจะโทรผิดจนทำให้เจ้าหน้าที่เสียเวลาต่าง ๆ นานา 108 เหตุผลที่สร้างความวิตกกังวลให้แก่คุณ ซึ่งเราบอกเลยว่าทุกอย่างมีขั้นตอนที่ง่ายนิดเดียวและไม่ยุ่งยากอย่างที่คิดค่ะ ในวันนี้เราจึงมาบอกถึง “วิธีเตรียมตัวอย่างไร เมื่อรู้ว่าตัวเองติดโควิด” มาฝากกัน จะต้องเริ่มต้นจากตรงไหน? จะต้องโทรไปหาใคร? จะเข้ารักษาที่ไหน? เรามาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
เมื่อสงสัยว่าตัวเองติดโควิด
สิ่งแรกจะที่ทำให้คุณมีความสังสัยได้ว่าตัวเองติดโควิดแล้วหรือไม่ ก็คือ กรณีแรกคุณเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงเพราะได้ใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโควิดในเวลาไม่นานมานี้ และกรณีที่สองคุณมีอาการที่น่าสงสัยว่าจะติดเชื้อโควิดระลอกใหม่ เรามาดูแต่ละกรณีกันค่ะ ว่ามีข้อมูลอะไรที่คุณจะต้องรู้เพื่อเตรียมตัวไว้ก่อนได้บ้าง
กรณีที่ 1 : เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องตรวจเชื้อ + กักตัว 14 วัน (1,2)
ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คือผู้ที่มีโอกาสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ หรือได้คลุกคลีกับบุคคลที่ติดโควิด ซึ่งดูจาก :
- มีการไอจามใส่กัน (ถือว่าเป็นกรณีที่มีเสี่ยงสูงมากที่จะติดเชื้อ),
- มีการพูดคุยกันมากกว่า 5 นาที โดยที่ไม่ได้สวมหน้ากาก,
- มีการอยู่ในห้องเดียวกันนานกว่า 15 นาที โดยห้องนั้นเป็นพื้นที่ปิดที่อากาศไม่ถ่ายเท และไม่ได้ใส่หน้ากาก
ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องทำอย่างไรบ้าง?
Step 1 ตรวจเชื้อโควิดครั้งแรกก่อนเริ่มกักตัว : เมื่อรู้ตัวว่าเราเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เราจะต้องตรวจเชื้อทันที คุณสามารถค้นหาสถานที่บริการตรวจโควิด 19 ใน กทม และต่างจังหวัดได้จากข้อมูลนี้
Step 2 ระหว่างรอผลตรวจโควิด ให้เริ่มกักตัว 14 วัน : หากคุณกำลังรอผลตรวจโควิด สิ่งแรกที่คุณจะต้องทำเริ่มคือการกลับไปกักตัวตลอดระยะเวลาที่ต้องรอผล และควรกักตัวให้ครบ 14 วัน (ทำไมต้องกักตัว 14 วัน) โดยการจะกักตัวอยู่ที่บ้านหรือกักตัวในสถานที่ที่หน่วยงานกำหนดไว้นั้นจะต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป หากคุณจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงมากทางรัฐอาจจะต้องให้คุณกักตัวสังเกตอาการในพื้นที่ที่กำหนด
ในกรณีที่คุณได้กักตัวที่บ้าน ในระหว่างที่กักตัวนั้นคุณไม่ควรเดินทางไปยังสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน หากมีความจำเป็นต้องออกไปข้างนอกจริง ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้สวมหน้ากากอนามัย (หน้ากากผ้าแบบไหนปลอดภัยที่สุด), หมั่นล้างมือเป็นประจำ (เรียนรู้วิธิล้างมือให้สะอาด), ควรเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร (วิธีเว้นระยะห่างจากสังคมเพื่อลดการระบาดของเชื้อ) และหลีกเลี่ยงสถานที่คนแออัดมาก ๆ พร้อมทั้งไม่ลืมจะใช้งานแอปพลิเคชันหมอชนะและไทยชนะ
แนะนำให้อ่านบทความเรียนรู้วิธีกักตัวอยู่บ้าน 14 วัน ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ในกรณีที่คุณเป็นกลุ่มเสี่ยง
Step 3 เมื่อรู้ผลตรวจโควิดของรอบแรก :
-
- หากผลเป็นบวก (ติดเชื้อ) หมายความว่าคุณเป็นผู้ติดเชื้อโควิดเรียบร้อยแล้ว คุณจะต้องเข้ารับการรักษาอย่างเป็นทางการจากโรงพยาบาล ซึ่งการรักษาจะต้องมีการเฝ้าดูอาการและต้องกักตัวคุณในพื้นที่ปิด หากคุณไม่ได้มีอาการที่รุนแรงคุณอาจจะได้รับการรักษาที่ Hospitel หรือ รพ.สนาม เป็นต้น (ความแตกต่างหว่าง Hospitel & รพ.สนาม) จากนั้นทางหน่วยงานรัฐจะต้องไล่ไทม์ไลน์ของคุณ เพื่อค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงคนอื่นจากคุณต่อไป คุณสามารถอ่านข้อปฏิบัติเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ “เมื่อรู้ว่าผลตรวจโควิดเป็นบวก (ติดโควิด 19)“
- หากผลเป็นลบ (ไม่ติดเชื้อ) แสดงว่าคุณไม่ได้ติดโควิด ผู้สัมผัสกับคุณก่อนหน้านี้ถือว่าปลอดภัยไม่มีความเสี่ยงให้ต้องกังวล แต่การที่ตรวจผลโควิดครั้งแรกเป็นลบไม่ได้เป็นที่ยืนยัน 100% ว่าคุณไม่ได้ติดเชื้อโควิดแต่อย่างใด อย่าเพิ่งชะล่าใจไปค่ะ เพราะมันอาจจะอยู่ในระยะฝักตัวของเชื้อที่ตรวจหาไม่เจอ ดังนั้นจะต้องมีการติดตามต่อไปจนกว่าจะครบระยะเวลากักตัว 14 วัน ดังนั้นแม้ว่าจะรู้ผลตรวจรอบแรกก่อน 14 วันแล้วว่าไม่ติดโควิด แต่ก็ต้องกักตัวต่อจนครบ 14 วัน (ไม่ว่าจะในกรณีกักตัวที่บ้านหรือกักตัวในสถานที่ที่รัฐบบาลจัดไว้ให้)
Step 4 หลังจากกักตัวครบ 7 วันแรก : จะมีการตรวจเชื้อในครั้งที่ 2 (ไม่ว่าผลรอบแรกจะออกมาเป็นบวกหรือลบก็ต้องตรวจครั้งที่ 2 ค่ะ) หากผลออกมาว่าไม่ติดโควิด ทางรัฐก็ยังไม่ได้ปล่อยผ่านทันทีเพราะตอนนี้เพิ่งได้ 7 วันเท่านั้น ดังนั้นหากพบความผิดปกติหรือมีอาการอะไรที่น่าสงสัยในขณะที่กักตัว อาจจะมีการตรวจเชื้อรอบที่ 3,4,5 ตามมาได้ ขึ้นอยู่กับอาการในช่วงที่กักตัวของคุณด้วย เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าการฝักตัวของเชื้อไม่ได้มีระยะเวลา 14 วันเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะในบางกรณีเชื้ออาจจะใช้เวลานานกว่านั้นค่ะ
กรณีที่ 2 : ตรวจสอบอาการโควิด (ระลอกใหม่เมษายน 2564) (3)
- ตาแดง
- มีผื่น
- มีน้ำมูกไหล
- ไม่มีไข้ (ข้อนี้สำคัญมากค่ะ เพราะมันไม่มีไข้เหมือนกับอาการโควิดในรอบแรกทำให้เราไม่ทันระวังตัว)
หากพบว่าตัวเองมีอาการตามที่ระบุมาให้รีบไปพบแพทย์ทันที โดยสามารถติดต่อตรวจเชื้อได้ที่โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งจะมีให้เลือกแบบ Pooled Saliva Samples และ Pooled Nasopharyngeal & Throat Swab Samples โดยให้คุณเลือกสถานที่บริการตรวจเชื้อที่สะดวกที่สุดเลยค่ะ
การตรวจโควิด-19 ด้วยตัวอย่างน้ำลาย (Pooled Saliva Samples)

การตรวจโควิด-19 ด้วยตัวอย่างป้ายหลังโพรงจมูกและป้ายลำคอ (Pooled Nasopharyngeal and Throat Swab Samples)

เมื่อรู้ว่าผลตรวจโควิดเป็นบวก (ติดโควิด 19) ต้องทำอย่างไร (4)
1. เตรียมเอกสารสำคัญ
- บัตรประจำตัวประชาชน
- ใบผลตรวจ COVID 19 (ที่เป็นบวก)
2. แจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบในการรับคุณไปรักษา
- โทรไปยังหน่วยงานที่รับชอบ :
- 1330 สายด่วน สปสช. ช่วยประสานงานจัดหาเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด สามารถได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- 1669 สายด่วย COVID-19 เฉพาะกิจ สามารถโทรในเวลา 08.00-22.00 น. ทุกวัน
- 1668 สายด่วนของกรมการแพทย์ ติดต่อประสานงานหาเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด สามารถได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- ผู้ป่วยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล สามารถ ติดต่อผ่านไลน์ @sabaideebot ได้
- 1422 สายด่วน กรมควบคุมโรค
- 1646 สายด่วน ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กทม.
- 1506 กด 6 สายด่วน สปสช
- 02-872-1669 ผู้ป่วยฉุกเฉินขั้นวิกฤต (UCEP)
- 1323 สายด่วนสุขภาพจิต
- จากนั้นให้คุณบอกข้อมูลต่าง ๆ แก่เจ้าหน้าที่และแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้
- **** หมายเหตุ **** สำหรับคนที่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หากแจ้งหน่วยงานต่าง ๆ ไปแล้ว แต่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษาผู้ป่วยโควิด ให้แจ้งผ่านทาง LINE @bkkcovid19connect อีกครั้ง (วิธีใช้ @bkkcovid19connect >> กด)
3. ระหว่างรอ งดเดินทางออกจากที่พัก หรือเดินทางข้ามจังหวัด
- หากฝ่าฝืน ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 34
4. ระหว่างรอ ห้ามใกล้ชิดกับคนในครอบครัวหรือคนอื่น
- หากเป็นไปได้ให้แยกห้องออกมาต่างหาก
- พยายามสวมหน้ากากตลอดเวลา
- แยกของใช้ส่วนตัวออกจากคนในครัวครอบ
- พยายามรักษาระยะห่างกับคนอื่น และหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
5. แยกการใช้ห้องน้ำ (ถ้ามี)
- หากทำได้ให้แยกการใช้ห้องน้ำด้วย
- ในกรณีที่ไม่สามารถแยกได้ ทุกครั้งใช้ห้องน้ำควรจะเช็ดด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์ และระหว่างกดชักโครกต้องปิดฝาเสมอ
6. ระหว่างรอ หากมีอาการสามารถรักษาตัวเองตามอาการได้
- หากมีไข้ให้ทานยาพาราเซตามอลและหมั่นเช็ดตัวเพื่อลดไข้
7. เตรียมของใช้ส่วนตัว ของที่จำเป็น
8. ระหว่างเดินทางไปรักษา
- ให้สวมหน้ากากตลอดเวลา
- พยายามรักษาระยะห่างกับคนอื่น
วิธีแจ้งผู้ป่วยโควิดในกรุงเทพฯ ที่ยังไม่ได้รับการรักษาพยาบาล ผ่านไลน์ @bkkcovid19connect
เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยติดโควิดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ทำให้การประสานงานรับผู้ป่วยเข้ารักษาเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะช่องทางติดต่อรับแจ้งเรื่องไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย ดังนั้นเพื่อให้ผู้ป่วยที่รอการรักษาและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานสามารถดำเนินการได้รวดเร็ว จึงได้มีการเพิ่มช่องทางรับแจ้งเรื่องผ่าน LINE : @bkkcovid19connect ขึ้นมา
ซึ่งการแจ้งข้อมูลผู้ป่วยผ่าน LINE : @bkkcovid19connect จะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานสะดวกยิ่งขึ้น เพราะตัวระบบจะมีการจัดลำดับฐานข้อมูลของผู้ป่วยอย่างชัดเจนและยังทำการลดข้อมูลซ้ำซ้อนจากการที่ผู้ป่วยโทรไปแจ้งหลาย ๆ หน่วยงานได้อีกด้วย ซึ่งตัวระบบจะใช้เวลาเพียงไม่นานในการตรวจสอบยืนยันข้อมูลของผู้ป่วย เมื่อตรวจสอบเรียบร้อยแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไปยังผู้แจ้งหรือผู้ป่วยภายในเวลา 1 ชั่วโมง ดังนั้นสิ่งคุณสามารถช่วยได้คือการเข้าไปกรอกข้อมูลให้ครบถ้วนและรอการติดต่อกลับเจ้าหน้าที่ ซึ่งเราจะมาดูวิธีแจ้งข้อมูลผ่าน LINE : @bkkcovid19connect กันค่ะว่าจะมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง?
ขั้นตอนที่ 1 ไปที่แอปพลิเคชัน LINE แต่หากคุณยังไม่ติดตั้งแอปฯ ให้ทำการดาวน์โหลดก่อน ซึ่งคุณสามารถกดดาวน์โหลด LINE ได้จากลิ้งก์ที่เราใส่ให้ได้เลยค่ะ LINE บนระบบ Android และ LINE บนระบบ iOS เมื่อติดตั้ง LINE และลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ LINE เรียบร้อยแล้ว จากนั้นไปหน้าหลักของแอปพลิเคชัน LINE และกดที่เพิ่มเพื่อนตามรูปเลยค่ะ
![]() |
![]() |
![]() |
ขั้นตอนที่ 2 จากนั้นพิมพ์ “@bkkcovid19connect” และกดค้นหา หากคุณพิมพ์ชื่อถูกต้อง ระบบจะขึ้นบัญชีผู้ใช้ BKK COVID-19 ตามรูปประกอบด้านล่าง และให้คุณกดเพิ่มเพื่อน จากนั้นให้กดที่ปุ่มแชท
![]() |
![]() |
![]() |
ขั้นตอนที่ 3 เมื่อเข้าสู่หน้าแชทของระบบคัดกรอง COVID-19 ในกรุงเทพมหานคร แล้วตัวแชทจะส่งข้อความมาแบบอัตโนมัติให้คุณกดที่ปุ่มแจ้งข้อมูลผู้ป่วยโควิดตามรูป จากนั้นระบบจะขอสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูล LINE ของคุณ ให้คุณกดที่ปุ่มอนุญาต และระบบจะขึ้นหน้ากรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ซึ่งต้องกรอกให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนถัดไปไม่ได้นะคะ (ในกรณีที่คุณแจ้งข้อมูลแทนผู้ป่วยตัวจริง ให้กรอกเลขประชาชนของผู้ป่วยเท่านั้น)
![]() |
![]() |
![]() |
ขั้นตอนที่ 4 ทำการกรอกข้อมูลทุกอย่างตามความเป็นจริง และต้องกรอกให้ครบถ้วน ช่องไหนที่มีเครื่องหมาย * สีแดง หมายความว่าคุณจำเป็นต้องกรอกลงไป ส่วนช่องไหนที่ไม่มีเครื่องหมาย * หมายถึงคุณอาจจะกรอกหรือไม่กรอกก็ได้ค่ะ เมื่อกรอกข้อมูลส่วนตัว, ข้อมูลสำหรับติดต่อญาติ, ข้อมูลการนำตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล และข้อมูลเกี่ยวกับโควิด 19 เรียบร้อยแล้วให้กดที่ถัดไปตามรูปเลยค่ะ
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ขั้นตอนที่ 5 ขั้นตอนนี้จะเป็นการแนบหลักฐานที่เป็นไฟล์รูปภาพ อาทิเช่น ผลตรวจว่าคุณติดเชื้อโควิด 19 ถ้าคุณมีใบผลตรวจที่ยันยืนได้ก็สามารถแนบรูปภาพมาด้วยได้ค่ะ จากนั้นกดบันทึกข้อมูลและเมื่อทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ระบบจะขึ้นข้อความ “ทำการบันทึกข้อมูลเรียบร้อยแล้ว กรุณารอการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ และงดการกรอกข้อมูลซ้ำ หากไม่มีการเปลี่ยนข้อมูล”
ย้ำอีกครั้งว่าแอปพลิเคชัน LINE ตัวนี้ (@bkkcovid19connect บัญชีผู้ใช้ BKK COVID-19) เป็นการจัดทำขึ้นมาสำหรับแจ้งข้อมูลผู้ป่วยติดเชื้อที่รอการรักษา ซึ่งต้องอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้นนะคะ
โรงพยาบาลสนาม vs Hospitel
ในกรณีที่ติดเชื้อแล้วแต่ทางโรงพยาบาลไม่มีเตียงรองรับที่เพียงพอ เนื่องจากต้องการสำรองเตียงให้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจริง ๆ โรงพยาบาลจะส่งตัวผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลในเครือ หรือ อาจจะส่งไปโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel (หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ) ก็ได้ค่ะ ซึ่งความแตกต่างระหว่างทั้งสองแบบนี้คือ
- Hospitel (หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ) คือโรงแรมที่เปลี่ยนตัวเองเป็นกึ่งโรงพยาบาล ไว้สำหรับรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิดเฉพาะกิจ โดย Hospitel จะรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลต้นทางมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5-7 วัน และต้องมีผลภาพถ่ายรังสีปอดที่คงที่ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงหรือไม่แสดงอาการ นอกจากนี้ผู้ป่วยจะต้องไม่มีโรคประจำตัวที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย โดยผู้ป่วยจะห้ามออกจากห้องพักที่ทาง Hospitel ได้จัดเตรียมไว้ให้เด็ดขาด ซึ่งไม่ต้องเป็นกังวลไปนะคะ หากเรามีอาการรุนแรงขึ้นมาก็สามารถได้รับการรักษาทันท่วงที เพราะทาง Hospitel จะมีระบบการดูแลรักษาที่เกี่ยวทางการแพทย์หรือสาธารณสุขไว้พร้อมตลอด
- โรงพยาบาลสนาม เป็นการจัดตั้งที่พักชั่วคราวขึ้นมา ไว้สังเกตอาการของผู้ติดเชื้อหรือผู้มีความเสี่ยง ที่มีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการ ในพื้นที่ที่มีการควบคุม ซึ่งจะมีการคัดกรองผู้ป่วยจากอาการหรือความเสี่ยงก่อน เพื่อจะได้จัดแยกให้เป็นระเบียบและเพื่อให้ง่ายต่อการป้องกัน โดยในโรงพยาบาลสนามจะมีการรักษาพยาบาลเบื้องต้นที่เกี่ยวทางการแพทย์หรือสาธารณสุขไว้เช่นเดียวกัน รวมถึงมีระบบการป้องกันการแพร่ระบาดที่มีมาตรฐานไว้พร้อมเสมอ
การแบ่งกลุ่มผู้ป่วยตามอาการ (11)
กลุ่มที่ 1 : ไม่มีอาการ (20% ของผู้พบเชื้อ)
กลุ่มนี้จะสังเกตอาการ 2-7 วัน ณ โรงพยาบาล จากนั้นก็จะส่งตัวไปยังสังเกตอาการที่อื่นต่อ อาทิเช่น หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ, โรงพยาบาลเฉพาะกิจ หรือ Hospitel เป็นระยะเวลา 14 วันนับจากตรวจพบเชื้อ
เมื่อหายดีแล้ว สามารถกลับบ้านได้ตามปกติ แต่จะต้องสวมหน้ากากตลอดเวลาที่อยู่นอกบ้าน และจะต้องรักษาระยะห่าง 2 เมตร เน้นการดำดำรงชีวิตโดยการแยกห้องทำงาน ห้องนอน (หากคุณใช้ห้องร่วมกันให้วางเตียงห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร) ไม่กินข้าวร่วมกับผู้อื่น โดยเป็นเวลา 1 เดือน ในส่วนของห้องน้ำ พยายามไม่ใช้ห้องน้ำส่วนรวม หากที่บ้านไม่มีห้องน้ำแค่ห้องเดียว คุณจะต้องเป็นคนใช้ห้องน้ำลำดับสุดท้ายของสมาชิกในครอบครัว ในระหว่างวันที่มีการใช้ห้องน้ำคุณจะต้องกดชักโครกแบบปิดฝาและแยกขยะติดเชื้อออกจากกันให้ชัดเจน
กลุ่มที่ 2 : อาการไม่รุนแรงคล้ายไข้หวัด (อายุมากกว่า 60 ปี หรือเป็นโรคเรื้อรัง)
ได้รับการรักษาตามอาการในโรงพยาบาล 2-7 วันพร้อมกับให้ยารักษาไวรัส หากอาการไม่รุนแรงให้สังเกตอาการต่อที่ Hospitel หรือที่อื่น ๆ อย่างน้อย 14 วันนับจากมีอาการ เมื่อหายดีแล้วให้บ้านได้ แต่จะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่ม 1
กลุ่มที่ 3 : อาการไม่รุนแรงคล้ายไข้หวัด ปอดปกติ แต่มีปัจจัยเสี่ยง
ให้ยารักษาไวรัสและดูอาการของปอด หากอาการดีขึ้นให้ไปให้สังเกตอาการต่อที่ Hospitel หรือที่อื่น ๆ อย่างน้อย 14 วันนับจากมีอาการ เมื่อหายดีแล้วให้บ้านได้ แต่จะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับกลุ่ม 1 และ 2
กลุ่มที่ 4 : ปอดอักเสบไม่รุนแรง (12% ของผู้พบเชื้อ)
ให้ยารักษาไวรัสและได้รับการรักษาในโรงพยาบาล
กลุ่มที่ 5 : ปอดอักเสบรุนแรง (3% ของผู้พบเชื้อ)
ให้ยารักษาไวรัสและได้รับการรักษาในห้อง ICU
คำแนะนำในการเตรียมตัวก่อนเข้าโรงพยาบาลสนาม (5,6)
สำหรับ Hospitel นั้นดูเหมือนจะไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมากเป็นพิเศษ เพราะที่พักค่อนข้างได้รับความสะดวกสบายอยู่แล้วทั้งยังมีความเป็นส่วนตัวมากกว่า ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกำลังในการจ่ายค่ารักษาของแต่ละคนด้วย แต่สำหรับโรงพยาบาลสนามอาจจะต้องมีความเตรียมพร้อมกันสักหน่อย เนื่องจากหลาย ๆ อย่างก็ไม่ได้เอื้ออำนวยผู้ป่วย/ผู้มีความเสี่ยงมากนัก ซึ่งเรามาดูกันค่ะว่าจะเราค้องเตรียมพร้อมอย่างไรบ้าง?
- ของใช้ส่วนตัว อาทิ ผ้าขนหนูผ้าเช็ดตัว, หวี, โรลออน, แก้วน้ำ, ผ้าอนามัย, ชุดสวมใส่ตามความเหมาะสม และอื่น ๆ ตามแต่คุณเห็นว่าจำเป็น
- ของใช้ในห้องน้ำ อาทิ แปรงสีฟัน, ยาสีฟัน, สบู่, ยาสระผม, โฟมล้างหน้า เป็นต้น
- เครื่องนอนต่าง ๆ อย่างเช่น หมอน, ผ้าห่ม, ที่รองนอน หรือ Topper ตามแต่ใครจะสะดวกแบบไหน
- อย่าลืมเตรียมชุดชั้นในและกางเกงในให้เพียงพอต่อระยะเวลาในการกักตัวและรักษา
- ยารักษาโรคประจำตัวของคุณ รวมถึงอาหารวิตามินเสริมต่าง ๆ ที่คุณทานเป็นประจำ
- ปลั๊กไฟ สำหรับต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าอาทิเช่น ที่ชาร์จแบตมือถือ
- แบตสำรอง (Power Bank) ในกรณีฉุกเฉิน
- อุปกรณ์ที่ให้ความบันเทิงต่าง ๆ อาทิ สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต หรือ โน๊ตบุ๊ค อย่าลืมพวกหูฟังไปด้วยนะคะ
- ทิชชูเปียกและทิชชูแห้งสำรองไปด้วย
- ที่ปิดตานอนในกรณีที่ต้องการความมืดในการนอนหลับพักผ่อน
ข้อปฏิบัติเมื่อต้องเข้าพักในโรงพยาบาลสนาม (12)
1. สิ่งที่ห้ามนำเข้าไป : อาหาร, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, อุปกรณ์สำหรับเล่นการพนัน, ทรัพย์สินมีค่าที่ไม่จำเป็น, บุหรี่หรือสารเสพติด, อาวุธ และของมีคม สำหรับอาหารนั้นบางที่ก็จะให้ส่งอาหารเพิ่มเติมจากภายนอกได้ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นทุกคนจะได้รับอาหาร 3 มื้อต่อวันจากทางโรงพยาบาลสนามอยู่แล้วค่ะ
2. ห้ามออกจากบริเวณที่กำหนด : จะต้องพักอยู่ในอาคารที่พักตลอดเวลา
3. ห้ามสลับ แลกเตียง
4. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
5. อาบน้ำและเปลี่ยนชุดใหม่ทุกวัน
6. รักษาความสะอาดบริเวณที่พัก
7. ไม่นั่งทานอาหารร่วมกัน
8. เมื่อมีการทิ้งขยะ จะต้องทิ้งลงถังที่เตรียมไว้ให้และหลังทิ้งเสร็จ จะต้องปิดฝาถังให้เรียบร้อย
9. หากมีอาการที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น มีไข้ ไอมากขึ้น รู้สึกเหนื่อย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่
เมื่อไหร่เราจะได้ฉีดวัคซีน (7,8)
สำหรับประชาชนทั่วไปจะเริ่มจองคิวฉีดวัคซีนในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 นี้ ผ่าน :
- “หมอพร้อม” ที่มีให้เลือกทั้งแบบแอปพลิเคชัน และ line Official Account
- “อสม.” หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
ซึ่งเราจะเห็นว่ามีบางคนทำไมถึงได้ฉีดไปแล้ว? นั้นก็เพราะพวกเขาจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้ค่ะ :
- บุคลากรทางการแพทย์, สาธารณสุข และ อสม.
- เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความเสี่ยงสูงในการสัมผัสกับผู้ป่วย
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงสูง
- ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
- คนที่อยู่ในจังหวัดเสี่ยงสูง (อาทิเช่น กทม, ภูเก็ต, สมุทรสาคร, ตาก, สุราษ, สมุทรปราการ, นนทบุรี, ชลบุรี, ปทุมธานี และระยอง จังหวัดเหล่านี้ถือเป็นจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงเป็น 10 อันดับแรกของประเทศไทย)
ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 14 เมษายน 2564 ตอนนี้ได้มีการฉีดไปแล้ว สำหรับเข็มแรกคือ 505,744 ราย และเข็มที่สองคือ 73,561 ราย สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ “วัคซีนโควิด 19 ในไทย เริ่มฉีดเมื่อไหร่ และใครได้ฉีดก่อน ?”
มาตรการป้องกันโควิด จากกระทรวงสาธารณสุข (9)
มาตรการองค์กร
- ใช้วิธี “work for home” ให้พนักงานทำงานจากที่พักอาศัย รวมถึงการจัดการประชุมต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด สำหรับพนักงงานที่ยังไม่มีประสบการณ์ทำงานจากที่บ้านสามารถเข้าไปอ่าน วิธี work for home อย่างไรให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน และสำหรับใครที่รู้ตัวว่าเริ่มมีปัญหาปวดหลังจากการทำงานแบบ work for home สามารถเข้าไปอ่าน วิธีแก้อาการปวดหลังจาก work for home ได้เลยค่ะ
มาตรการสังคม
- ลดกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีคนแออัดหรือพลุกพล่าน
- หลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัด
- ขอความร่วมมือจากทุกคนในการเป็นหูเป็นตาคอยสอดส่องผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง
มาตรการสาธารณสุข
- คัดกรองเชิงรุก แยกผู้มีความเสี่ยงสูง-เสี่ยงต่ำ เพื่อจะได้จำกัดพื้นที่ให้แคบลง ในป้องกันและลดการระบาด
- ดูแลผู้ป่วยติดเชื้ออย่างทั่วถึง
- ฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในกลุ่มเสี่ยง
มาตรการส่วนบุคคล
- เว้นระยะห่างทางสังคม
- ใส่หน้ากากตลอดเวลาที่อยู่ข้างนอกหรือในสถานณ์การที่รู้สึกว่าเสี่ยง และอย่าเอาหน้ากากไว้ใต้คาง
- หมั่นล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ และต้องล้างมือให้ถูกวิธี
- ให้ความร่วมมือในการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายทุกครั้ง
- หากพบว่าตัวเองมีความเสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้อหรือมีอาการคล้ายกับติดโควิดให้ตรวจเชื้อโควิดอย่างเร็วที่สุด และกักตัว 14 วัน (เมื่อไหร่ควรไปตรวจโควิด 19)
- อย่าลืมติดตั้งและใช้งานแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” และ “หมอชนะ” เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบและควบคุม
คำแนะนำหากพบผู้ติดเชื้อโควิด สำหรับบริษัท / ที่ทำงาน (10)
ด้านบุคคล
- ให้พนักงงานที่ติดเชื้อหยุดงานทันที เพื่อแยกออกจากพนักงานคนอื่น
- แจ้งเจ้าหน้าควบคุมโรคให้เขตพื้นที่ภายใน 3 ชั่วโมง
- พนักงงานคนไหนหรือคนที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ ถือว่ามีความเสี่ยงสูงทั้งหมด ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีตรวจเชื้อ และต้องกักตัว 14 วัน เพื่อดูอาการต่อไปด้วย
- ผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำให้แยกตัวเองออกจากพนักงานคอื่น และสังเกตอาการ 14 วัน หากพบว่าตัวเองมีอาการให้รีบไปพบแพทย์ทันที
ด้านสถานที่
- ปิดทำการสถานที่ที่พบผู้ติดเชื้อ 1-3 วัน เพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้อครั้งใหญ่
- ทำความสะอาดสิ่งของและพื้นผิวต่าง ๆ ที่ผ่านการสัมผัส เช่น ลูกบิดประตู, โต๊ะ, เก้าอี้ และราวบันได เป็นต้น
- ระมัดระวังในเรื่องการเก็บขยะต่าง ๆ ที่อาจะเป็นขยะติดเชื้อ ดังนั้นควรปิดปากถุงให้เรียบร้อยและควรใช้ถุงขยะสีแดง
- ผู้ที่ทำหน้าที่ทำความสะอาดจะต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันให้เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นถุงมือทำความสะอาด, รองเท้ายาง, ผ้ากันเปื้อน, ผ้าปิดจมูก หรือแว่นตาป้องกัน รวมถึงชุดที่ใช้ทำความสะอาด หากไม่มีชุดป้องกันที่ได้มาตรฐาน ควรแยกซักเสื้อผ้าที่ใส่ในวันนั้นออกจากชุดอื่น ๆ และต้องซักด้วยน้ำยาสูตรฆ่าเชื้อ (วิธี ซักผ้าอย่างไรให้สะอาด ห่างไกลจากเชื้อโควิด 19)
- อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำความสะอาดจะต้องแยกออกจากอุปกรณ์ชุดเดิม และน้ำยาที่ใช้ในการทำความสะอาดจะต้องเป็นน้ำยาสูตรฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพสูง (วิธีทำ ผ้าเช็ดทำความสะอาดสำหรับฆ่าเชื้อ โควิด 19)
ด้านความเตรียมพร้อมของระบบและสภาพแวดล้อม
- มีเครื่องวัดอุณหภูมิที่มีมาตรฐาน หากเป็นไปได้ควรเป็นเครื่องที่ไม่ต้องใช้คนควบคุม เพื่อรักษาระยะห่าง
- มีจุดจ่ายเจลแอลกอฮอล์ (วิธีการทำแอลกอฮอล์เจลล้างมือ แบบไม่ต้องล้างออก, ใช้อย่างไรแอลกอฮอล์เจลล้างมือให้มีประสิทธิภาพที่สุด)
- มีวิธีจัดการแยกทำลายขยะที่สามารถติดเชื้อได้ เพื่อป้องกันพนังงานคนอื่นติดเชื้อ
- มีวิธีจัดการกับระบบระบายอากาศเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
นอกจากนี้คุณควรจะติดตามเพจ Facebook กระทรวงสาธารณสุขของจังหวัดที่ตัวเองอาศัยอยู่ด้วย เพื่อได้จะรู้ความเคลื่อนไหวของโรคโควิดได้อย่างรวดเร็วที่สุดค่ะ
References
- เพจ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข : ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง
- เพจ ไทยรู้สู้โควิด : การกักตัว
- เพจ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค : อาการโควิดรอบใหม่
- เพจ ไทยรู้สู้โควิด : หากทราบผลว่า ติดเชื้อโควิด ควรทำอย่างไร
- เพจ ไทยรู้สู้โควิด : Hospitel & รพ.สนาม
- เพจ กรมการแพทย์ : การจัดตั้ง Hospitel และโรงพยาบาลสนาม
- เพจ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค
- เพจ ไทยรู้สู้โควิด : สรุปการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
- เพจ ไทยรู้สู้โควิด : มาตรการป้องกันโควิด
- เพจ ไทยรู้สู้โควิด : คำแนะนำ กรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด19 สำหรับ บริษัท สถานที่ทำงานและคอนโดมิเนียม
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ : สู้โควิดไปด้วยกัน
- เพจ ไทยรู้สู้โควิด : ข้อปฏิบัติเมื่อผู้ป่วยโควิด19ต้องเข้าพักในโรงพยาบาลสนาม