ดูแลเด็ก ๆ สร้างความสุขให้ลูก ช่วงที่ โควิด -19 กำลังระบาด

ในระหว่างที่ทั่วโลกกำลังต้องเผชิญกับภาวะที่ถือว่ายิ่งกว่าสงครามโลกอย่างการแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัสหรือ COVID-19 ไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่นะคะที่จะเกิดภาวะเครียดฉับพลันจนส่งผลกระทบกับจิตใจ หรือบางคนถึงขนาดหวาดระแวง ขังตัวเองอยู่ในบ้านเพราะกลัวการติดเชื้อ (1) ซึ่งนั่นก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อสภาวะจิตใจแม้แต่น้อย อย่างกรณีคนใกล้ตัวของดิฉันเอง เมื่อรู้ว่าการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสได้เกิดการแพร่กระจายในหลายพื้นที่ รัฐบาลเองก็เลยต้องประกาศให้อยู่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง และการต้องอยู่บ้านเพื่อระงับการแพร่ระบาดนี้เอง กลายเป็นการสร้างความวิตกกังวล ความตื่นตระหนัก และความทุกข์อันมากมายจนคนใกล้ตัวหลาย ๆ คน ต้องอยู่ในสภาวะความเครียดที่สะสมทำให้ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ดิฉันที่อยู่ในฐานะแม่ ถือเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก ๆ นะคะ เพราะการที่จะต้องรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโคโรนาไวรัสว่าก็ยากแล้ว แต่การรับมือกับเด็ก ๆ ในช่วงโควิดซึ่งพวกเขากำลังอยู่วัยเรียนรู้ และชื่นชอบการทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือนอกสถานที่ เป็นอะไรที่ยากกว่ามาก ๆ และที่ดูจะแย่ลงไปกว่านี้คือการที่ดิฉันและลูก ๆ อาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นประเทศลำดับต้น ๆ ที่การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสมีมากที่สุด (2) เพราะฉะนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องสั่งปิดสวนสาธารณะและสนามเด็กเล่นในหลาย ๆ พื้นที่เพื่อระงับการแพร่กระจายของโคโรนาไวรัส จากที่เด็ก ๆ ผู้ชื่นชอบในกิจกรรมนอกสถานที่แบบขั้นสุด กลับต้องมาอยู่แต่ในบ้าน จะวิ่งเอย จะกระโดดเอย จะไล่จับกันเอย ดูเหมือนจะต้องมีขีดจำกัด ไม่มีอิสระเหมือนอยู่นอกบ้าน แทนที่จะได้ปลดปล่อยพลัง แต่กลับต้องมาถูกดูดพลังแทน มิหนำซ้ำ…การได้เล่นกับเพื่อน ๆ โดยเฉพาะเด็กวัยอนุบาล ที่โรงเรียนก็ต้องถูกสั่งปิด ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้นนะคะ เพราะในต่างประเทศเองก็พากันปิดยาวไปแบบไม่มีกำหนดเปิด ซึ่งแน่นอนว่า 90 % ของนักเรียนทั่วโลกต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านแทน แต่เด็กนักเรียนบางกลุ่มที่อยู่ ๆ ก็มารู้ตัวว่าตัวเองได้ถูกถอดถอนไปจากระบบการศึกษาซะดื้อ ๆ กลายเป็นว่าเด็ก ๆ เหล่านี้ก็ได้รับผลกระทบที่อาจจะทำให้พวกเขาไม่ได้รับการศึกษาที่ดีหรือเต็มที่เหมือนก่อน การอ่านหนังสือ การเขียนตัวอักษร หรือแม้แต่การคำนวณก็ถดถอยลงไปด้วย ลองจินตนาการนะคะว่าถ้าโรงเรียนต้องถูกสั่งปิดไปอีก 1 ปี คิดดูสิคะว่าผลกระทบเหล่านี้จะส่งผลต่อไปในกับลูกกับหลานเราไปกี่รุ่นกี่อายุ (3) เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ออกไปเล่นข้างนอกก็ไม่ได้ เพื่อนก็ไม่ได้เจอ การศึกษาก็แย่ลง แค่คิดก็รู้สึกสงสารเจ้าตัวเล็กของเราซะแล้วสิคะ





สำหรับแม่ ๆ คนไหนที่มีลูกคนเดียว คงจะเข้าใจและเห็นภาพมากขึ้น หากแม่ ๆ ที่ต้อง work from home แล้วล่ะก็ แทบจะไม่มีเวลาได้เล่นกับลูกเลยด้วยซ้ำ เด็ก ๆ บางคนอาจรู้สึกโดดเดี่ยว วิตกกังวล เบื่อ และอาจมีความรู้สึกกลัว หรือ โศกเศร้ามากขึ้นจากผลกระทบของไวรัสที่มีต่อตนเองและครอบครัว

ในฐานะแม่คนหนึ่ง ที่ลูก ๆ ของแม่เองก็ต้องเผชิญกับภาวะที่ส่งผลต่อจิตใจเนื่องจากโคโรนาไวรัสเหมือนแม่ ๆ หลายคน อ้าว!!?? แล้วแม่รู้ได้อย่างไรคะ ว่าลูก ๆ แม่ได้รับผลกระทบทางจิตใจ ก็สังเกตจากพฤติกรรมลูกนั่นแหละค่ะ จากเด็ก ๆ ที่เคยสดใสร่าเริง แต่กลับมานั่งหงอยอยู่หน้าระเบียง มองดูนกบินผ่านไป ผีเสื้อบินผ่านมา แต่ก็ออกไปวิ่งไล่จับมันไม่ได้ แล้วลูกก็เผลออุทานขึ้นมาว่า “อยากให้ไวรัสหายไปเร็ว ๆ จัง จะได้ออกไปเล่นข้างนอกเหมือนเดิม” เท่านั้นแหละค่ะ แม่ก็รู้แล้วว่าต้องเริ่มทำอะไรสักอย่างแล้ว เพื่อที่จะให้ลูก ๆ กลับมามีความสุข และมีจิตใจร่าเริงแจ่มใส แม้ในช่วงที่เราไม่สามารถออกจากบ้านได้ เพราะรอยยิ้มของลูกมีค่ามากกว่าสิ่งอื่นใด จริงมั้ยล่ะคะ? วันนี้แม่จึงอยากจะนำเสนอเนื้อหาเพื่อช่วยเปิดโลกแห่งความโดดเดี่ยว ให้กับเด็ก ๆ การระวังแหล่งข้อมูลและแนวคิดต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนผู้ปกครองและกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะให้เด็ก ๆ ได้เข้าใจโคโรนาไวรัส ความท้าทายที่จะนำมาสู่โลกของพวกเขาและสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้เพื่อปกป้องตัวพวกเขาเองจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสกันค่ะ

นอกจากนี้เรายังจะแนะนำเด็ก ๆ ให้รู้จักกับเนื้อหาสร้างสรรค์ที่จะสร้างความบันเทิงและให้การหลบหนีเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการที่สนุกสนานและมหัศจรรย์ ซึ่งแน่นอนค่ะว่าการให้ลูกดูโทรทัศน์ หรือการดูวีดีโอต่าง ๆ ผ่านมือถือ แทปเล็ต ก็เป็นสิ่งที่หลาย ๆ ครอบครัวเริ่มนำมามีบทบาทในการการสร้างความบันเทิงให้กับเด็ก ๆ ที่บ้านไม่มากก็น้อย แต่จะทำอย่างไรให้ลูกของคุณปลอดภัยขณะใช้พื้นที่ออนไลน์เหล่านี้ขณะติดอยู่ที่บ้านระหว่างการระบาดของโคโรนาไวรัส แม่ก็มีข้อมูลดี ๆ ที่แม่เคยหาไว้ตอนที่ต้องกักตัวกับลูก ๆ ในช่วงล็อคดาวน์ (lockdown) มาบอกต่อ ซึ่งอาจมีประโยชน์กับหลาย ๆ ครอบครัว ที่จะสามารถนำเอาไปประยุกต์หรือปฏิบัติตามกันได้เลยค่ะ

8 เคล็ดลับดี ๆ ในการดูแลจิตใจลูกให้มีความสุขในช่วงโควิด -19 (4)

1. ตั้งคำถามหรือถามคำถามแบบเปิดและตั้งใจฟังลูก

คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มต้นด้วยการชวนลูกของคุณพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาหรือสิ่งที่ทำให้พวกเขารู้สึกไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต หรืออาจจะเป็นปัญหาที่ค้างคาใจของพวกเขาที่ได้รับการสะสมมา เช่น กรณีลูก ๆ บ้านนี้ ที่ตื่นเช้ามาก็บ่น กินข้าวเที่ยงเสร็จแล้วก็บ่น ทำไมไม่ได้ออกไปเดินเล่น เดินย่อยอาหารอย่างที่เคยปฏิบัติเป็นประจำ ทำให้พวกเขารู้สึกเป็นสิ่งใหม่ที่ต้องปรับตัว เลยอาจจะมีการขัดอกขัดใจกันไปบ้าง แต่เมื่อเรารู้ถึงปัญหาของลูกแล้ว เราก็จะนำกลับมาค้นหาว่าเราจะมีข้อเสนอแบบอื่นให้พวกเขาเป็นตัวเลือกใหม่ได้อย่างไรและพวกเขาสามารถนำมาปฏิบัติตามได้มากแค่ไหน อย่างกรณีที่ไม่ได้ไปเดินยืดเส้นยืดสายหลังรับประทานอาหาร แม่เองก็เสนอให้ทำโยคะเด็ก ๆ ตามลักษณะท่าทางของสัตว์ประเภทต่าง ๆ ที่พวกเขาเรียนรู้มากจากห้องเรียนออนไลน์ ก็สนุกกันไปอีกแบบ หรืออาจใช้ข้อเสนอแนะจากลูก ๆ ก็ครื้นเครงกันไปอีกแบบ อย่างลูกคนโตก็เสนอว่าให้ทำเป็นแผนที่ ตัดกระดาษเป็นลูกศร และเดินตามไปจนพบจุดหมาย โดยใช้บริเวณในบ้านที่คุณพ่อคุณแม่เห็นสมควรเลยค่ะ

กิจกรรมที่ทำร่วมกับเด็กๆ ในบ้าน เพื่อป้องกันไวรัสโควิด 19
พยายามหากิจกรรมที่ทำร่วมกับเด็กๆ ในบ้าน เพื่อป้องกันไวรัสโควิด 19

แต่หากพวกเขายังเด็กมาก โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ยังไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับการแพร่ระบาด คุณพ่อคุณแม่อาจไม่จำเป็นต้องยกประเด็นขึ้นมา แต่เพียงแค่ใช้โอกาสนี้เตือนพวกเขาเกี่ยวกับหลักปฏิบัติด้านสุขอนามัยที่ดี โดยไม่ต้องกลัวและสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างไม่ต้องกังวล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณพ่อคุณแม่ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและอนุญาตให้บุตรหลานพูดคุยได้อย่างอิสระ เราจะได้รู้ว่าลูกมีความคิดอย่างไร และเราควรชี้แนะพวกเขาในเรื่องไหนบ้าง การวาดภาพเรื่องราวและกิจกรรมอื่น ๆ อาจช่วยเปิดการสนทนาได้ด้วยนะคะ อย่างเช่น การเล่นเกมส์ทายภาพ แม่ก็จะวาดภาพสิ่งของที่สกปรก หากลูกหยิบภาพสิ่งของที่สกปรกขึ้นมา เราก็อาจลองตั้งคำถามกับลูกว่า “เมื่อลูกจับสิ่งของสกปรกเหล่านี้ควรทำอย่างไรดีจ๊ะ?” เด็ก ๆ ก็จะตอบพร้อมกันว่า “ล้างมือให้สะอาด” แบบนี้เราก็จะรู้ว่า พวกเขาพอที่จะเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการสื่อ นั่นคือการล้างมือบ่อย ๆ นั่นเองค่ะ นอกจากนี้การสอนลูกผ่านวีดีโอการ์ตูนต่าง ๆ ที่ให้ตระหนักต่อการล้างมือ และสอนให้ล้างมืออย่างถูกต้องนั้น ก็ถือเป็นการใช้สื่อออนไลน์ได้อย่างเหมาะสมและอยู่สายตาเราอีกด้วย ที่สำคัญที่สุดอย่าลดหรือหลีกเลี่ยงข้อกังวลของพวกเขา อย่าลืมรับรู้ความรู้สึกของพวกเขาและรับรองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะรู้สึกกลัวกับสิ่งเหล่านี้ แสดงให้เห็นเมื่อว่าคุณกำลังรับฟังโดยให้ความสนใจอย่างเต็มที่และตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาเข้าใจว่าพวกเขาสามารถพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ได้ทุกเมื่อที่ต้องการค่ะ

2. ให้ความซื่อสัตย์และความไววางใจกับลูก

นั่นหมายความว่าคุณแม่คุณแม่อาจจะต้องอธิบายความจริงด้วยวิธีที่เป็นมิตรกับเด็ก เพราะเด็ก ๆ เองก็มีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่เป็นความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ที่พวกเขาอาศัยอยู่ แต่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองเองก็ต้องมีความรับผิดชอบในการดูแลให้พวกเขาปลอดภัยจากการระบาดของโคโรนาไวรัสด้วยนะคะ ใช้ภาษาที่เหมาะสมกับวัย และสังเกตปฏิกิริยาของพวกเขาว่าไวต่อระดับความวิตกกังวลมากน้อยแค่ไหน อย่างตอนเมื่อลูกคนโตของแม่ กลับไปโรงเรียนวันแรกหลังหยุดเรียนที่บ้านมาเป็นเวลาหนึ่งเทอม

โควิค 19 อธิบายให้เด็กๆ เข้าใจอย่างไรดี
อธิบายเกี่ยวกับ โควิค 19 ให้เด็กๆ เข้าใจอย่างไรดี

เมื่อลองสอบถามและพูดคุยกับลูกแล้ว แม่ก็สบายใจนะคะว่า ลูกมีความวิตกกังวลน้อยมากในการไปโรงเรียนและใช้ชีวิตแบบ new normal ตามสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างดีเยี่ยมเลยทีเดียว เพราะลูกชายบอกว่า หากเราล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และพยายามรักษาระยะห่างตามป้ายในโรงเรียนที่ทำมาเพื่อใช้เป็นเครื่องเตือนความจำให้เด็ก ๆ อย่างสม่ำเสมอเมื่อต้องอยู่กันเป็นกลุ่ม ลูกชายก็บอกว่าเราจะป้องกันตัวเองจากโคโรนาไวรัสได้นะครับแม่จ๋า…..แต่เขาก็อาจมีความกังวลเล็กน้อยตามที่บอกเล่าว่า…วันนี้อาจลืมรักษาระยะห่างกับเพื่อน ๆ ตอนเล่นกันในสนามเด็กเล่นไปบ้าง แบบนี้เป็นต้น

เราเองก็จะพยายามแนะนำว่าต้องทำอย่างไรเพื่อคลายความกังวลของลูกไปค่ะ แต่หากคุณไม่สามารถตอบคำถามของพวกเขาได้ อย่าเดา อย่าพูดเกินความจริง และอย่าพยายามใช้วิธีขู่ให้เด็ก ๆ รู้สึกกลัวจนเตลิดเปิดเปิงนะคะ ให้ใช้โอกาสนี้แหละค่ะเป็นการสำรวจและหาคำตอบร่วมกัน เพราะเดี๋ยวนี้มีเว็บไซต์ขององค์กรต่าง ๆ เช่น UNICEF และองค์การอนามัยโลกซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่ดี ในเว็บไซต์จะอธิบายว่าข้อมูลบางอย่างทางออนไลน์ไม่ถูกต้องและควรเชื่อถือผู้เชี่ยวชาญ

3. แสดงวิธีป้องกันตนเองและเพื่อน ๆ

วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการดูแลเด็ก ๆ ให้ปลอดภัยจากโคโรนาไวรัส รวมถึงโรคอื่น ๆ ด้วย นั่นก็คือการกระตุ้นให้ล้างมือเป็นประจำนั่นเองค่ะ ไม่จำเป็นต้องเป็นบทสนทนาที่น่ากลัว ร้องเพลงพร้อมกัน หรือเต้นตามจังหวะเพลงสุดโปรดในขณะล้างมือ ก็ถือเป็นการเพิ่มความสนุกและเรียนรู้ไปด้วยกันได้อย่างเฮฮาปาร์ตี้แน่นอนค่ะ อย่างบ้านนี้ ก็จะหยิบเอาเพลงที่ทั้งคนพี่และคนน้องร้องกันได้ และเชื่อว่าเด็กเล็ก ๆ หลายคนก็ร้องได้แน่นอน เพราะเป็นเพลงฮิตติดหูนั่นก็คือเพลง “Happy Birthday” นั่นเองค่ะ ร้องวนไปเลยค่ะ 3 รอบในขณะล้างมือ

สอนให้เด็ก ๆ ล้างมือด้วยการ้องเพลง Happy Birthday
สอนให้เด็ก ๆ ล้างมือด้วยการ้องเพลง Happy Birthday

แถมคุณพ่อคุณแม่เองยังสามารถแสดงให้เด็ก ๆ เห็นถึงวิธีปกปิดอาการไอหรือจามด้วยข้อศอกไปในตัวได้เลยนะคะ อธิบายให้พวกเขามั่นใจเลยค่ะ วิธีนี้แหละถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด และอธิบายอย่างมีเหตุผลว่าทำไมเราอาจจะไม่สามารถเข้าใกล้คนที่มีอาการเหล่านั้นมากเกินไปและขอให้พวกเขาบอกคุณพ่อคุณแม่ให้เร็วที่สุดหากว่าพวกเขาเริ่มรู้สึกว่ามีจะมีไข้หรือไม่ หรือมีอาการไอหรือหายใจลำบากมากขึ้นค่ะ

4. นำเสนอความมั่นใจ

เมื่อเราเห็นภาพที่น่าหนักใจมากมายบนโทรทัศน์หรือออนไลน์ แน่นอนค่ะว่าบางครั้งตัวเราเองยังอาจรู้สึกว่ามีวิกฤตอยู่รอบตัวเรามากมาย แต่สำหรับเด็ก ๆ แล้ว พวกเขาอาจจะแยกความแตกต่างระหว่างภาพบนหน้าจอกับความเป็นจริงส่วนตัวของตนเองไม่ได้และอาจเชื่อว่าตนเองกำลังตกอยู่ในอันตรายแล้วล่ะก็ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกของคุณรับมือกับความเครียดนี้ได้

โดยเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เล่นและผ่อนคลายเมื่อทำได้ อย่างตอนเราได้รับข่าวสารเรื่องโคโรนาไวรัสใหม่ ๆ เด็ก ๆ เองก็ได้มีโอกาสดูข่าวในโทรทัศน์ ภาพไวรัสที่มีหนาม ๆ อาจจะไปเพิ่มความกลัวความกังวลให้กับเด็ก ๆ บ้าง แม่เองก็จะพยายามหาวิธีที่ไม่ให้พวกเขารู้สึกกลัวมากขึ้น โดยการใช้ดินน้ำมันปั้นเป็นรูปโคโรนาไวรัส แล้วใช้วิธีนี้สอนให้พวกเขาห่างไกลจากโคโรนาไวรัสได้อย่างไร เช่น การรักษาระยะห่าง การล้างมือ เป็นต้นค่ะ โดยใช้ดินน้ำมัน ของเล่นสุดโปรดของเด็ก ๆ เป็นตัวอย่างการเรียนรู้ให้พวกเขาได้ทั้งมีกิจกรรมในการปั้นดินน้ำมัน และเรียนรู้ไปด้วยพร้อม ๆ กัน ค่ะ และที่สำคัญไม่แพ้กันนั่นก็คือการรักษากิจวัตรและตารางเวลาให้มากที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนเข้านอนหรือช่วยสร้างสิ่งใหม่ในสภาพแวดล้อมใหม่นั่นเองค่ะ

ใช้ดินน้ำมันปั้นเป็นรูปโคโรนาไวรัส ลดความหวาดกลัวสำหรับเด็ก ๆ
ใช้ดินน้ำมันปั้นเป็นรูปโคโรนาไวรัส ลดความหวาดกลัวสำหรับเด็ก ๆ

หากครอบครัวคุณอาจกำลังประสบกับการแพร่ระบาดในพื้นที่ของคุณ ก็อาจจะต้องเตือนบุตรหลานของคุณเป็นพิเศษ ว่าพวกเขาจะไม่ได้รับความเสี่ยงนี้หากปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพวกเขาว่าเราสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัยแน่นอนค่ะ หากลูกของคุณรู้สึกไม่สบายก็ให้อธิบายว่าพวกเขาจำเป็นต้องกักตัวอยู่บ้านหรือที่โรงพยาบาลเพราะปลอดภัยกว่าสำหรับพวกเขาและเพื่อน ๆ สร้างความมั่นใจให้กับพวกเขาว่าคุณรู้ว่ามันยาก ซึ่งอาจจะดูเป็นเรื่องน่ากลัวหรือน่าเบื่อไปบ้างในบางครั้งสำหรับเด็ก ๆ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถสร้างความมั่นใจให้กับพวกเขาได้ว่าการปฏิบัติตามกฎจะช่วยให้ทุกคนปลอดภัยจากโคโรนาไวรัส ตัวอย่างเด็ก ๆ ที่บ้าน อาจจะมองเห็นคนรอบข้างบางคนไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัย พวกเขาก็อาจคิดว่าไม่จำเป็นต้องใส่ก็ได้หรือเปล่า? สิ่งที่สามารถสร้างความมั่นใจให้พวกเขาได้ดีที่สุด ก็คือตัวอย่างจากคุณพ่อคุณแม่นั่นเองค่ะ

5. ตรวจสอบว่าพวกเขาโดน หรือ มีส่วนในการกลั่นแกล้งในเรื่องการระบาดของโคโรนาไวรัสหรือไม่

การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสในปัจจุบัน ทำให้มีรายงานการเหยียดผิวมากมายทั่วโลก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องตรวจสอบว่าบุตรหลานของคุณไม่ได้ประสบหรือมีส่วนในการถูกกลั่นแกล้ง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส อาจจะดูเหมือนไกลตัวเรานะคะ แต่มีเด็ก ๆ หลายคนที่ถูกกลั่นแกล้งจากการสวมใส่หน้ากากอนามัย และหนึ่งในนั้นก็เป็นลูกของแม่เองค่ะ

บอกให้เด็ก ๆ เข้าใจถึงข้อดีของการสวมหน้ากากอนนามัย
บอกให้เด็ก ๆ เข้าใจถึงข้อดีของการสวมหน้ากากอนนามัย

สิ่งที่แม่ย้ำนักย้ำหนาเมื่อออกไปข้างนอก คือการสวมใส่หน้ากากอนามัย และลูก ๆ ก็ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แต่เมื่อโดนล้อจากเด็กคนหนึ่งในสนามเด็กเล่นว่า “ดูสิ ๆ เด็กคนนี้ใส่หน้ากากอนามัย ต้องติดโคโรนาไวรัสมาแน่ ๆ” และพากันวิ่งหนีลูก ๆ ของแม่ และงอแงจะถอดหน้ากากอนามัยเพราะไม่อยากโดนเด็กคนอื่น ๆ ล้อเลียน

สิ่งที่แม่ทำคืออธิบายเลยค่ะว่าการใส่หน้ากากอนามัยไม่ได้แปลว่าเราป่วยหรือติดเชื้อ แต่มันคือการป้องกัน พูดคุยและอธิบายอย่างหนักแน่นเพื่อคลายข้อสงสัยและความรู้สึกไม่สบายใจ หากพวกเขาถูกล้อเลียนหรือโดนกลั่นแกล้งไม่ว่าจะเป็นการกระทำหรือวาจาจากผู้อื่นแล้วล่ะก็ แน่นอนค่ะว่า ลูกก็อาจจะมีความกดดันและวิตกกังวลเพิ่มขึ้น แนะนำให้เด็ก ๆ ที่กำลังประสบปัญหาในเรื่องแบบนี้ ไม่ว่าจะโดนหยอกล้อหรือถูกรังแกที่โรงเรียน หรือสถานที่ต่าง ๆ พวกเขาสามารถบอกหรือปรึกษาคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ใหญ่ที่พวกเขาไว้วางใจ เตือนบุตรหลานของคุณว่าทุกคนควรได้รับความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียนหรือที่ไหนก็ตาม เพราะการกลั่นแกล้งเป็นสิ่งที่ผิดเสมอและเราควรมีส่วนร่วมในการมีความเมตตาและสนับสนุนซึ่งกันและกันเสมอค่ะ

6. มองหาตัวช่วย

สิ่งสำคัญคือต้องให้เด็ก ๆ รู้นั่นก็คือ การที่พวกเขารู้ว่ามีคุณพ่อคุณแม่ และผู้คนมากมายยินดีที่จะช่วยเหลือกันด้วยความเมตตาและความเอื้ออาทรหากพวกเขาต้องการกำลังใจหรืออยากจะแบ่งปันเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิตในช่วงที่ทั้งโลกประสบปัญหาของการระบาดของโคโรนาไวรัส ตัวอย่างเช่น การแบ่งปันหรือปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขนักวิทยาศาสตร์ รวมถึงคนอื่น ๆ ที่พยายามหาวิธีป้องกันและหยุดยั้งการระบาด และดูแลชุมชนให้ปลอดภัย อาจเป็นเรื่องสบายใจมากที่รู้ว่าคนที่มีความเห็นอกเห็นใจกำลังลงมือทำสิ่งที่เหมือนกันกับพวกเขาค่ะ




7. ดูแลตัวเอง

คุณพ่อคุณแม่ถือเป็นตัวอย่างให้ลูก ๆ ได้เป็นอย่างดี คุณสามารถช่วยให้ลูก ๆ ของคุณดูแลตัวเองได้ดีขึ้นหากตัวคุณเองก็ดูแลตัวเองอย่างดีเช่นกัน เพราะไม่เพียงแค่เด็ก ๆ ที่กำลังเผชิญกับปัญหา คุณพ่อคุณแม่เองก็เช่นกัน เมื่อคุณหันมาดูแลใส่ใจตนเองได้ดีเยี่ยมแล้วล่ะก็ เด็ก ๆ ก็จะตอบสนองต่อการกระทำและสิ่งที่คุณทำด้วยเช่นกัน

โควิด 19: ติดต่อ สื่อสาร ส่งความคิดถึงแก่ผู้สูงวัยอย่างไรดี
ติดต่อ สื่อสาร กับครอบครัว อย่างพ่อแม่ของเราบ้าง

หากคุณรู้สึกท้อแท้หรือไม่มีกำลังใจในการต่อสู้กับปัญหาการระบาดของโคโรนาไวรัสแล้วล่ะก็ ดังนั้น…เด็ก ๆ เองจะมีกำลังใจมาดูแลตัวเองได้อย่างไร จริงมั้ยคะ? เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องให้พวกเขารู้ว่าคุณใจเย็นและควบคุมกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ได้เป็นอย่างดี แต่หากคุณรู้สึกกังวลหรือเสียใจในบางครั้งบางคราว ก็ให้ใช้เวลากับตัวเองและติดต่อกับครอบครัว เพื่อนและคนอื่น ๆ ที่เชื่อถือได้ หาเวลาทำสิ่งต่าง ๆ ที่จะช่วยให้คุณผ่อนคลายและสบายใจขึ้นค่ะ

สินค้าลดราคาในช้อปปี้ & ลาซาด้า - ดีลดี เบสท์รีวิวเลือกให้สินค้าลดราคาในช้อปปี้ & ลาซาด้า - ดีลดี เบสท์รีวิวเลือกให้สินค้าลดราคาในช้อปปี้ & ลาซาด้า - ดีลดี เบสท์รีวิวเลือกให้

8. ปิดการสนทนาด้วยความระมัดระวัง

สิ่งสำคัญคือต้องคุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ว่าเราจะไม่ปล่อยให้เด็กตกอยู่ในความทุกข์ ความกังวล หรือความไม่สบายใจ เมื่อการสนทนาของคุณและลูกจบลง คุณควรพยายามวัดระดับความวิตกกังวลโดยดูภาษากายของพวกเขา เช่น สีหน้าดูมีความวิตกกังวล หรือ มีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น พิจารณาว่าพวกเขาใช้น้ำเสียงปกติในการสนทนาอยู่หรือไม่

นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่อาจจะสังเกตจังหวะการหายใจของพวกเขาเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอะไรผิดปกติเมื่อจบบทสนทนา คุณพ่อคุณแม่ควรบอกให้พวกเขารู้ว่า คุณสามารถสนทนากับลูกได้ตลอดเวลา ทำให้พวกเขารู้ว่าคุณมีความห่วงใยและคุณจะรับฟังและเตรียมพร้อมทุกเมื่อที่พวกเขารู้สึกกังวล หรือมีความไม่สบายใจค่ะ

บทสรุป

เป็นอย่างไรกันบ้างคะสำหรับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่นำมาฝากกันในวันนี้ ไม่ว่าวันนี้คุณจะอยู่ที่ไหนของโลกใบนี้ คุณก็ต้องเผชิญกับโคโรนาไวรัสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากเอาปัญหานี้มาบั่นทอนจิตใจในแต่ละวัน แล้วเราจะดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างไร จริงมั้ยคะ? ในเมื่อเราไม่สามารถบอกให้เจ้าโคโรนาไวรัสออกไปซะเดี๋ยวนี้ เราก็ต้องกลับมาเรียนรู้ถึงวิธีป้องกัน รักษาสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง เพราะหากคุณไม่สามารถจะปรับตัวให้เข้ากับ New normal ได้

แล้วลูก ๆ ของคุณที่ต้องการกำลังใจจากคุณล่ะคะ พวกเขาก็ต้องมาเผชิญกับความทุกข์ ความวิตกกังวล และความหวาดกลัว ที่หันไปหาที่พึ่งพึงอย่างคุณพ่อคุณแม่ก็ยังทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นตัวเราเองจึงต้องกลับมาตั้งหลักและเข้มแข็งเพื่อเป็นกำลังใจ สร้างความสุขและรอยยิ้มให้ลูกของคุณให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย แม้โควิดจะทำให้เราต้องปวดใจในหลายเรื่องก็ตาม หากวันนี้คุณหมดกำลังใจในการต่อสู้กับสถานการณ์โควิด กลับไปมองสิ่งมีชีวิตตัวน้อย ๆ ที่รอยยิ้มแห่งความสุขของพวกเขาจะทำให้คุณฟันฝ่าการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสไปได้ค่ะ ตื่นตัวได้ แต่อย่าตื่นตระหนกนะคะ เราจะผ่านห้วงเวลานี้ไปด้วยกัน พวกเราทาง Best Reviews ก็ขอเป็นหนึ่งกำลังใจเล็ก ๆ ให้คุณปลอดภัยและมีความสุขกับการใช้ชีวิตในช่วงโควิดนี้ค่ะ

References

1. Coping with Stress
2. Coronavirus disease (COVID-19) pandemic
3. UNICEF ออกแถลงการณ์ “เด็ก ๆ ไม่สามารถรับผลกระทบของการปิดโรงเรียนต่อไปได้อีกปี”
4. How to talk to your children about coronavirus (COVID-19)

Arrani Benitez

Arrani Benitez

คุณแม่ลูกสอง ผู้รักสุขภาพ และชอบสรรหาสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกเสมอ ไม่ว่าจะเรื่องของใช้ หรือโภชนาการที่ดี

Next Post