เพื่อน ๆ เคยลดน้ำหนักกันวิธีไหนบ้างคะ ออกกำลังกาย, อดอาหาร (if 16/8), กินอาหารเสริมควบคุมน้ำหนัก, รับประทานอาหารคลีน หรือที่ฮิต ๆ กันในตอนนี้อย่าง “คีโต” หลายคนอาจเคยได้ยินการลดน้ำหนักในรูปแบบคีโต หรือ “คีโตเจนิค” แต่หลาย ๆ คนอาจยังไม่เข้าใจว่าจริง ๆ แล้วการลดน้ำหนักโดยการรับประทานแบบคีโตเจนิคจริง ๆ แล้วมันคืออะไรกันแน่ วันนี้จะพาไปหาคำตอบกันค่ะ
คีโตเจนิค คืออะไร?
การกินคีโตคือการวางแผนการรับประทานอาหารที่มีหมู่คาร์โบไฮเดรตที่ต่ำเป็นพิเศษ ซึ่งสามารถช่วยให้คุณลดน้ำหนักได้อย่างลดเร็ว อาหารคีโตทั่วไปจะประกอบไปด้วยไขมันเน้น ๆ ประมาณ 70 – 80% และรองลงมาเป็นหมู่โปรตีน 16-20 % ส่วนแคลอรี่ที่เหลือเพียง 5-10% นี้แหละค่ะจะมาจากหมู่คาร์โบไฮเดรตหรืออาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล เป็นต้น ดูตัวอย่างเมนูอาหารคีโต
ซึ่งหากคุณเป็นหนึ่งคนที่บริโภคอาหาร 2,000 แคลอรี่ต่อวัน นั่นหมายความว่าคุณสามารถรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต ซึ่งนั่นก็รวมไปถึงคาร์โบไฮเดรตที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผักและผลไม้เพียง 100 แคลอรีต่อวันเท่านั้น เมื่อคุณรับประทานด้วยวิธีคีโต ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “คีโตซีส” (Ketosis) หรืออธิบายง่าย ๆ นั่นคือ ร่างกายของคุณได้เผาผลาญคาร์โบไฮเดรตทั้งหมดและจำเป็นต้องเริ่มเผาผลาญไขมันเพื่อเป็นพลังงานต่อไป (1,2)
ผลข้างเคียงจากการกินอาหารคีโต
แปลกแต่จริง!! (1,7)
เป็นเรื่องจริงที่การปฏิบัติตามสูตรอาหารที่มีไขมันสูงและคาร์โบไฮเดรตต่ำอย่างคีโตเจนิตอย่างเคร่งครัด สามารถช่วยขยับตัวเลขในเครื่องชั่งได้ แต่เชื่อมั้ยคะว่า การลดน้ำหนักแบบคีโตนี้มีผลข้างเคียงอื่น ๆ จากอาหารคีโตที่คุณรับประทานเข้าไปนี่และค่ะ บางส่วนอาจจะเป็นผลดี แต่บางส่วนอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคุณได้ นี่คือสิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับอันตรายและผลกระทบจากอาหารคีโตก่อนตัดสินใจลองด้วยตัวคุณเองนะคะ
1.ไข้คีโต (1,3,7)
อ่านไม่ผิดค่ะ คุณสามารถเป็นไข้คีโตได้ซึ่งเป็นเรื่องจริง แต่ไม่ใช่ไข้หวัดที่คุณจะรู้สึกตัวร้อนหรือไม่สบายหรอกนะคะ การเป็นไข้คีโตไม่ได้เกี่ยวกับอุณหภูมิแต่อย่างใด หากแต่คุณจะเกิดอาการอึดอัด ไม่สบายตัว เช่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ และท้องร่วงได้ นั่นเป็นเพราะการที่คุณตัดคาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลัก และทำให้ร่างกายของคุณสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็วในช่วงแรก ๆ แต่ปกติแล้วคุณจะเริ่มรู้สึกดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ค่ะ
นอกจากนี้การที่คุณรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ คุณจึงไม่อาจได้รับคาร์โบไฮเดรตที่จำเป็นต่อการผลิดเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารเคมีในสองที่ช่วยควบคุมอารมณ์เช่นเดียวกับการนอนหลับและความอยากอาหาร ซึ่งนั่นก็อาจทำให้คุณรู้สึกว่าไม่มีความสุขหรือมีอารมณ์ที่แปรปรวนเกิดขึ้นได้ค่ะ
2. พฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไป (4)
ใช่ค่ะ!! คุณจะมีพฤติกรรมการกินของคุณที่อาจเปลี่ยนไป เพราะการตัดคาร์โบไฮเดรตออก เหมือนเป็นการทำให้สมองที่ปล่อยสารเคมีที่เรียกว่า นิวโรเปปไทด์วาย (neuropeptide Y หรือ NPY) ซึ่งจะบอกร่างกายของเราว่า ฉันต้องการคาร์โบไฮเดรตนะ แต่เมื่อเราไม่ได้รับคาร์โบไฮเดรดเหล่านั้นตามที่ร่างกายของเราต้องการ สารเคมีตัวนี้แหละค่ะที่จะถูกสร้างขึ้นและสามารถเพิ่มความอยากซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการพัฒนารูปแบบการกินที่ไม่ค่อยจะมีวินัย กินจุกกินจิก ซึ่งล้วนแล้วจะเกี่ยวข้องกับการตอบสนองทางชีววิทยาของร่างกายต่อการที่เราตัดคาร์โบไฮเดรตไปนั่นเองค่ะ
3. น้ำหนักคุณอาจขึ้นมาอีกครั้ง (5,6)
ถึงแม้ว่าอาหารคีโตเป็นที่เลื่องลือมากว่าสามารถลดน้ำหนักได้อย่างรวดเร็วแซงทางโค้งในตอนแรก นั่นเป็นเพราะคาร์โบไฮเดรตมีน้ำมากกว่าโปรตีนหรือไขมัน ดังนั้นเมื่อคุณหยุดรับประทานอาหารจำพวกแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตนั้น ส่วนเกินทั้งหมดจึงถูกขับออกมาทางปัสสาวะ ทำให้เวลาคุณยืนบนเครื่องชั่ง จะเห็นตัวเลขที่น้อยลงไปและทำให้คุณดูผอมลงเล็กน้อยนั่นเอง แต่พอกินมสักพัก เอ๊ะ!!! ทำไมน้ำหนักไม่ลดลง? หรือ ลดลงช้าจัง? ซึ่งหลายคนก็เริ่มมีความกังวลใจแล้วใช่มั้ยล่ะคะ?
4. อาการท้องผูก (7)
อาหารคีโตอาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบบ่อยสำหรับคนที่วางแผนการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ รวมถึงการรับประทานอาหารแบบคีโต เพราะเมื่อร่างกายของคุณขับน้ำออกมามากขึ้น เป็นไปได้ที่จะทำให้ไม่มีน้ำมากพอที่จะทำให้สิ่งต่าง ๆ หรืออาหารที่เรารับประทานเข้าไปเคลื่อนไหวได้อย่างสะดวก แทนที่จะผ่านเข้าสู่ร่างกายอย่างราบรื่น ก็เหมือนมีอะไรไปอุดตันไม่ให้ออกมา การเพิ่มปริมาณน้ำของคุณก็ช่วยได้นะคะ
5. อาการท้องร่วง (8)
ในขณะเดียวกัน คุณอาจมีอาการท้องร่วงได้นะคะ เนื่องจากเมื่อเรารับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ตับของเราจะปล่อยน้ำดีเข้าไปในระบบย่อยอาหารเพื่อช่วยในการย่อยสลายการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ๆ เช่น อาหารคีโต นั่นหมายความว่าตับต้องปล่อยน้ำดีออกมามากเกินไปเพื่อใช้ในการย่อยสลายไขมัน อีกทั้งน้ำดีก็ยังถือว่าเป็นยาระบายตามธรรมชาติ ดังนั้นการที่มีน้ำดีมากจนเกินไป จึงทำให้อุจจาระมีการเร่งสปีดที่เร็วขึ้นในการเคลื่อนผ่านระบบการย่อยอาหารของคุณ ซึ่งนำไปสู่อาการท้องร่วงนั่นเองค่ะ
6. การหายใจที่เปลี่ยนไป (9)
เราเรียกผลข้างเคียงนี้ว่า “Keto Breath” เกิดจากการที่ร่างกายของคุณเข้าสู่ภาวะคีโตซิส มันจะเริ่มสร้างผลพลอยได้ตัวหนึ่งที่เราเรียกว่า “คีโตน” ซึ่งรวมถึงอะซิโตนด้วย เป็นสารเคมีที่ร่างกายของคุณผลิตขึ้นเองตามธรรมชาติ และการที่จะขับคีโตนออกจากร่างกายคุณได้นั้นคือการที่คุณต้องหายใจออก และโดยปกติลมหายใจจะมีกลิ่นที่แตกต่างออกไปด้วยค่ะ
7. กระหายน้ำตลอดเวลา (10)
อย่าแปลกใจนะคะ หากคุณพบว่าทำไมฉันถึงคอแห้งตลอดเวลาในขณะที่รับประทานอาหารคีโต นั่นเป็นเพราะการขับน้ำที่เพิ่มขึ้น ทำให้ร่างกายของคุณกระหายน้ำมากขึ้นนั่นเอง ดังนั้นควรดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อให้ปัสสาวะคุณมีสีใสหรือสีเหลืองจาง ๆ ค่ะ
8. ความอยากอาหาร (11)
การลดน้ำหนักมักหมายถึงการที่เรามีความรู้สึกหิว และกำลังต่อสู้กับความอยาก ความโหยอาหารที่มากขึ้น แต่เมื่อคุณลดน้ำหนักด้วยคีโต กลายเป็นว่าคุณรู้สึกตรงกันข้าม ไม่ได้รู้สึกหิว หรืออยากอาหารมากมากขนาดนั้น ซึ่งมันดูสวนทางกับการลดน้ำหนักซะเหลือเกิน แต่กระนั้น ผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ ท่านก็ยังหาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้ แต่วิเคราะห์กันว่าอาจจะเป็นเพราะการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำมาก สามารถยับยั้งการผลิตฮอร์โมนแห่งความหิว อย่าง ฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin Hormone) ได้นั่นเองค่ะ
9. ผิวพรรณที่อาจแย่ลง (12)
คุณอาจเริ่มสังเกตเห็นความแตกต่างของผิวในการรับประทานอาหารคีโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณเคยเป็นหนึ่งคนที่ติดน้ำตาลมาก่อน การขึ้น ๆลง ๆ มาก ๆ ของระดับน้ำตาลในบางคน อาจจะไปส่งสัญญาณการปล่อยฮอร์โมนที่เพิ่มการผลิตน้ำมัน ทำให้เกิดรูขุมขน ทำให้เกิดสิวได้
10. อาการสมองล้า (7)
บางคนจะอาจรู้สึกเหมือนสมองของเรามีเมฆหมอกปกคลุมอยู่ทำให้เกิดอาการสมองล้า นั่นเป็นเพราะสมองของเราต้องการคาร์โบไฮเดรตประเภทที่เหมาะสมสำหรับพลังงานและคนที่รับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ อาจทำให้มีคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายต้องการไม่เพียงพอ ซึ่งอาจทำให้สมองล้า ความจำสั้น และไม่ค่อยมีสมาธิได้ค่ะ
11. ภาวะไตเครียด (7)
ไตมีบทบาทสำคุญในการเผาผลาญโปรตีนและเป็นไปได้ว่าการที่คุณรับประทานสารอาหารที่มากจนเกินไปนั้นอาจส่งผลเสียต่อการทำงานของไต โดยเฉพาะอาหารคีโตที่เน้นในเรื่องของอาหารที่มีไขมันสูงกว่าอาหารประเภทโปรตีนนั่นเองค่ะ
12. ปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ (13,14,15)
ถึงแม้การที่เรารับประทานอาหารคีโตที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำเป็นพิเศษจะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องโรคอ้วนและโรคเบาหวานประเภท 2 ลงได้ แต่การที่อาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำซึ่งส่วนใหญ่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งไขมัน เช่น เนื้อสัตว์ เนย และชีสมาก ๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาเกี่ยวกับหัวใจได้ คุณจึงควรดูแลในเรื่องของคอเลสเตอรอลและสุขภาพหัวใจโดยแพทย์เป็นประจำด้วยนะคะ
ถึงแม้ว่าอาหารคีโตเจนิค จะสามารถใช้ในการลดน้ำหนักและจัดการกับน้ำตาลในเลือดได้ แต่เราก็สามารถเลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่อร่อยและหลากหลายได้โดยเสริมด้วยการลดน้ำหนักแบบคีโต เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายทั้งหมดของคุณเอง หากคุณรู้สึกว่ามีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งอาจจะเกิดจากผลข้างเคียงจากการลดน้ำหนักแบบคีโต ก็ควรขอคำแนะนำหรือปรึกษาแพทย์ และอย่าลืมว่าการออกกำลังกายเป็นประจำ ก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ร่างกายของคุณแข็งแรงแถมมีหุ่นสวย ๆ ได้อีกด้วยค่ะ
อาหารคีโต กินอะไรได้บ้าง ?
หากคุณเลือกที่จะใข้วิธีคีโตเจนิคในการลดน้ำหนัก การเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญ ลองไปอ่านดูเลยค่ะว่ามีอะไรบ้าง?
อาหารทะเล :
โดยเฉพาะอาหารทะเลประเภทปลา เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาซาบะ หรือ ปลาแมคคาเรล ที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 และวิตามินบีรวม (16)
ผักที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ :
แน่นอนว่าผักเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เพราะมีทั้งวิตามิน แร่ธาตุ และไฟเบอร์ แต่หากเราเลือกรับประทานผักหรือพืชที่คาร์โบไฮเดรตสูง

อย่างเช่น มันฝรั่ง ที่อาจทำให้ร่างกายของคุณรับประทานแป้งมากเกินไป เพราะฉะนั้นควรเลือกรับประทานผักที่มีแป้งต่ำ เช่น หน่อไม้ฝรั่ง, บลอคโคลี่, กระหล่ำดอก, ผักโขม, มะเขือเทศ, แตงกวา, ซูกีนี และผักกาดแก้ว เป็นต้น
ชีส :
ชีสถือเป็นอาหารโปรดของผู้ที่ลดน้ำหนักแบบคีโต เพราะชีสมีคาร์โบไฮเดรตที่ต่ำ แต่ให้ไขมันสูง ซึ่งคุณสามารถเลือกรับประทานชีสที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำได้เช่น ครีมชีส, บลูชีส, เชดด้าชีส, พาเมซอนชีส, โมเซลล่าชีส และโพรวาโลนชีส เป็นต้น
อะโวคาโด :
อะโวคาโดถือเป็นอาหารที่ให้ทั้งไฟเบอร์ และอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ เช่น โพแทสเซียม แถมเป็นไขมันดีและมีคาร์โบไฮเดรตต่ำ (17,18)
เนื้อสัตว์ต่าง ๆ :
การรับประทานเนื้อสัตว์ถือเป็นการได้รับโปรตีนเน้น ๆ แถมยังไม่มีคาร์โบไฮเดรตมาให้กวนใจแม้แต่น้อย อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมของวิตามินบี และแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย (19)
ไข่ :
ไข่นี่ถือเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากที่สุดอีกหนึ่งอย่างในจักรวาลนี้ ซึ่งไข่ 1 ฟองให้คาร์โบไฮเดรตเพียง 1 กรัมเท่านั้นเองค่ะ
กรีกโยเกิร์ต :
โดยเฉพาะกรีกโยเกิร์ตแบบรสดั้งเดิมที่ไม่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ให้โปรตีนสูงแต่คาร์โบไฮเดรตต่ำ ที่คุณสามารถเลือกเป็นอาหารว่างในระหว่างการลดน้ำหนักแบบคีโตได้ค่ะ
น้ำมันมะกอก :
ซึ่งเป็นแหล่งไขมันดีที่ปราศจากคาร์โบไฮเดรต ดีต่อสุขภาพหัวใจ และมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ (20,21)
ถั่วต่าง ๆ :
จัดเป็นอาหารไขมันดีที่คาร์โบไฮเดรตต่ำ เช่น อัลมอนด์, แมคคาเดเมีย, มะม่วงหิมพานต์, พิคาชิโอ หรือ แม้แต่เมล็ดธัญพืชต่าง ๆ เช่น เมล็ดเจีย, เมล็ดฟักทอง, งา หรือ แฟลกซ์ซีด ก็มีประโยขน์และสามารถนำมาเป็นของว่างก็ดีเหลือเกินค่ะ
ผลไม้ตระกูลเบอรี่ :
ไม่ว่าจะเป็นแบลคเบอรี่, บลูเบอรี่, สตรอเบอรี่ หรือราสเบอรี่ ที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำมากเมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่น ๆ
ดาร์กชอคโกแลตหรือผงโกโก้ :
หลาย ๆ คน คงยิ้มหวานเมื่อนึกถึงอาหารประเภทนี้เลยใช่มั้ยคะ ก็ทั้งอร่อยทั้งหอม แถมยังมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระและช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจอีกด้วย แต่ก็ต้องเลือกที่ปราศจากน้ำตาลด้วยนะคะ (22)
น้ำมันมะพร้าว :
ใช่ค่ะ!! น้ำมันมะพร้าวเหมาะมากสำหรับคนที่จะลดน้ำหนักแบบคีโต เพราะน้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติพิเศษที่มีกรดไขมันหลักในน้ำมันนั่นก็คือกรดลอริก ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคอ้วนสามารถลดน้ำหนักและไขมันหน้าท้องได้นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมระบบเผาผลาญให้เราได้เบริ์นไขมันหน้าท้องได้อีกด้วยล่ะค่ะ (23,24,25,26)
ประเภทของคีโตเจนิค (27)
อาหารคีโตเจนิคมีหลากหลายประเภท ได้แก่:
- อาหารคีโตเจนิคมาตรฐาน (SKD) : คือการรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตต่ำ โปรตีนปานกลาง และอาหารที่มีไขมันสูง โดยทั่วไปประกอบด้วยไขมัน 70% โปรตีน 20% แลรับประทานคาร์โบไฮเดรตเพียง 10% เท่านั้น
- อาหารคีโตเจนิคแบบวัฏจักร (CKD) : อาหารนี้จะเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาที่มีการรับประทานคาร์โบไฮเดรตเข้าไปสูงขึ้น เช่น รับประทานแบบคีโตเจนิค 5 วัน และอีก 2 วันจะรับประทานคาร์โบไอไฮเดรตที่สูง
- อาหารคีโตเจนิคแบบกำหนดเป้าหมาย (TKD) : อาหารนี้ช่วยให้คุณสามารถเพิ่มคาร์โบไฮเดรตได้เมื่อมีการออกกำลังกายร่วมด้วย
- อาหารคีโตเจนิคโปรตีนสูง : รูปแบบนี้จะค่อนข้างคล้ายคลึงกับอาหารคีโตเจนิคมาตรฐาน แต่จะไปเน้นหมู่โปรตีนที่มากกว่า ซึ่งอัตรส่วนมักจะเป็นไขมัน 60% โปรตีน 35% และรับประทานคาร์โบไฮเดรต 5%
อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาเฉพาะอย่างกว้างขวางในรูปแบบอาหารคีโตเจนิกแบบโปรตีนมาตรฐานและโปรตีนสูงเท่านั้น การจะใช้อาหารคีโตเจนิคที่เป็นแบบวัฏจักร์หรือแบบกำหนดเป้าหมายนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นวิธีการขั้นสูงที่จะนำมาใช้โดยนักเพาะกายหรือนักกีฬาเป็นหลักค่ะ ก่อนจากกันเรามีบทความเกี่ยวกับตารางกินคีโต (Keto) 7 วันมาฝากกันด้วยนะคะ รับรองว่าคุณจะได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจมาก ๆ ค่ะ
สำหรับใครสนใจวิธีลดน้ำหนักในแบบอื่น ๆ ที่สามารถลดน้ำหนักด้วยตัวเองจากที่บ้านได้ง่าย ๆ โดยเน้นให้ลดน้ำหนักได้อย่างรวดเร็วและเห็นผลจริง เพื่อน ๆ สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลได้จากบทความที่เราเขียนไว้เลยค่ะ
- สายเน้นกินโปรตีนเป็นก็ต้องเป็นบทความ ลดน้ำหนักแบบ Atkins และ ลดน้ำหนักแบบ Carnivore
- สายลดน้ำหนักแบบนับแคลที่ต้องการไดเอทให้สมดุลกับอาหารที่กินก็ต้องทานอาหารที่แคลต่ำ ๆ อย่าง ของว่างแคลต่ำ
- สายสุขภาพจะต้องถูกใจกับบทความอาหารที่ควรกินและไม่ควรกิน อาทิเช่น ประโยชน์จากข้าวโอ๊ต, เมนูอกไก่, เมนูอาหารเช้าแบบคลีน, เมนูอาหารคลีนจานเดียวแคลอรี่ต่ำ และ วิธีทำโยเกิร์ตเองเลยค่ะ
และท้ายที่สุด หากคุณไม่แน่ใจว่าตัวเองเหมาะสำหรับการน้ำหลักวิธีไหน คุณสามารถเข้าไปอ่านบทความเราเขียนเปรียบเทียบการลดน้ำหนักแต่ละวิธี เลยค่ะรับรองว่าคุณจะต้องเจอวิธีที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์คุณที่สุด
References
- Ketogenic diet: Is the ultimate low-carb diet good for you?
- “กินคีโตยังไง ไม่ให้อันตราย ไม่ให้กลับมาอ้วนใหม่” เพจ Facebook อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์
- What is keto flu?
- Neuropeptide Y in relation to carbohydrate intake, corticosterone and dietary obesity
- Ketogenic enteral nutrition as a treatment for obesity: short term and long term results from 19,000 patients
- Ketogenic Diet for Obesity: Friend or Foe?
- Ketogenic Diet
- The Effect of Medium Chain Triglycerides on Time to Nutritional Ketosis and Symptoms of Keto-Induction in Healthy Adults: A Randomised Controlled Clinical Trial
- Measuring breath acetone for monitoring fat loss: Review
- Ketogenic diet in endocrine disorders: Current perspectives
- Do ketogenic diets really suppress appetite? A systematic review and meta-analysis
- Nutrition and acne: therapeutic potential of ketogenic diets
- Effects of Ketogenic Diets on Cardiovascular Risk Factors: Evidence from Animal and Human Studies
- Low-carbohydrate-diet score and the risk of coronary heart disease in women
- Saturated Fat
- Seafood Long-Chain n-3 Polyunsaturated Fatty Acids and Cardiovascular Disease
- Ketogenic diets and physical performance
- Effect of a Moderate Fat Diet With and Without Avocados on Lipoprotein Particle Number, Size and Subclasses in Overweight and Obese Adults: A Randomized, Controlled Trial
- Diets with high-fat cheese, high-fat meat, or carbohydrate on cardiovascular risk markers in overweight postmenopausal women: a randomized crossover trial
- Phenolic Compounds Isolated from Olive Oil as Nutraceutical Tools for the Prevention and Management of Cancer and Cardiovascular Diseases
- Health Effects of Phenolic Compounds Found in Extra-Virgin Olive Oil, By-Products, and Leaf of Olea europaea L.
- Cacao seeds are a “Super Fruit”: A comparative analysis of various fruit powders and products
- Lauric Acid Stimulates Ketone Body Production in the KT-5 Astrocyte Cell Line
- Lauric acid-rich medium-chain triglycerides can substitute for other oils in cooking applications and may have limited pathogenicity
- An open-label pilot study to assess the efficacy and safety of virgin coconut oil in reducing visceral adiposity
- Effects of dietary coconut oil on the biochemical and anthropometric profiles of women presenting abdominal obesity
- Ketogenic diets: Boon or bane?